ต้มสับปะรดกับหมู
เป็นอาหารที่เห็นมาตั้งแต่เป็นเด็ก
และบอกได้เลยว่าแค่ชิมไปครั้งเดียวก็ไม่อยากกินอีกเลย
แถมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมยายกับตาจึงชอบกินเจ้าต้มสับปะรดนี้จัง
รู้สึกเหมือนว่าอาหารชนิดนี้ไม่น่านำมากินเป็นกับข้าวได้ เพราะคิดอยู่เสมอว่า สับปะรดเป็นของหวาน
ทุกครั้งที่ยายของฉันทำต้มสับปะรดกับหมู
ฉันก็จะหลีกเลี่ยงไม่ยอมกิน เพราะหน้าตาของมันไม่เชิญชวนเอาเสียเลย
การกินผลไม้ร้อนๆในน้ำแกงนี่มันเป็นเรื่องแปลกมาก
ถึงกระนั้นดูเหมือนว่า อาหารชนิดนี้จะเป็นขวัญใจของผู้สูงอายุเสียจริง เพราะขนาดวันทำบุญเลี้ยงพระ ยายก็ยังอดที่จะทำเจ้าต้มประหลาดนี้ไม่ได้ แต่พอเห็นหลวงตา และอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายนั่งซดน้ำอาหารจานนี้อย่างเอร็ดอร่อย
ฉันก็พอจะเข้าใจว่า
อาหารบางชนิดเหมาะสมกับคนบางอายุ
คนสูงอายุชอบต้มซุปร้อนๆที่กินแล้วคล่องคอชื่นใจ
แต่คนหนุ่มสาวต้องอาหารรสจัด เคี้ยวอร่อยเท่านั้น
หลังจากลืมอาหารจานนี้ไปนานหลายสิบปี อยู่ดีๆก็นึกถึงขึ้นมาได้ว่าเคยกิน
แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีคนทำขายมากนัก
จะมีก็แค่ตามบ้านที่ทำอาหารกินเอง สงสัยว่าเราคงถึงเวลาซดน้ำซุบรสเปรี้ยวๆหวานๆของต้มสัปรดเสียแล้ว
..... ( อายุเข้าเกณฑ์ )
ต้มสับปะรดกับหมูเป็นอาหารเก่าแก่ของเมืองไทย มีทำกินกันทุกภาค บางคนบอกว่าพบมากที่ภาคตะวันออก
แต่ฉันก็เห็นมีทุกที่ ทุกภาค เพียงแต่มีคนทำกินน้อยลง มาลองทำต้มสับปะรดกินกันดีกว่า วันนี้ แม้คนส่วนใหญ่จะใช้ต้มกับหมูสามชั้น
แต่ฉันชอบต้มกับไก่มากกว่า เพราะใช้เวลาในการเคี่ยวน้อยดี
ไปจ่ายเครื่องปรุงกันค่ะ
1.ต้มสับปะรด
ก็ต้องซื้อสับปะรด เลือกซื้อแบบที่เขาเรียกว่า
“สับปะรดแกง”
ที่มีความสุกของเนื้อน้อย สีเนื้ออ่อน เนื้อแข็งไม่ฉ่ำ และมีรสเปรี้ยว
ส่วนใหญ่จะมีขายที่แผงขายผัก
หากซื้อที่แผงขายผลไม้จะได้สับปะรดกิน ที่มีรสหวานฉ่ำ
ไม่เหมาะที่จะนำมาทำอาหาร
2.หมูสามชั้น
หรือไก่ ฉันใช้ไก่ส่วนน่องที่เนื้อจะนุ่มแต่ไม่เละ
3.เครื่องแกง
: กะปิ พริกไทย
รากผักชี หอมแดง กุ้งแห้ง
4.
เครื่องปรุงรส : น้ำตาลโตนด
น้ำปลาหรือซีอิ้วขาว
เริ่มปรุง
-
หั่นหมูเป็นชิ้นขนาด
1 ½ นิ้ว แต่ถ้าเป็นไก่
ฉันชอบชิ้นใหญ่หน่อย
- สับปะรดปอกเปลือกเอาตาออกให้หมด
ล้างน้ำนำมาหั่นเป็นชิ้นๆ ขนาดตามใจ เอาแบบว่าสามารถกินได้ชิ้นละคำก็แล้วกัน
- แช่กุ้งแห้งให้นุ่มสักพัก
บีบน้ำออกให้หมด นำมาตำให้ละเอียด ใส่ หอมแดง พริกไทย กะปิ รากผักชี โขลกรวมให้ละเอียดเป็นเครื่องแกง ต้องขอโทษด้วยที่ไม่สามารถบอกปริมาณได้ว่า
ใส่อะไรแค่ไหน เพราะเท่าที่ทำมา ไม่เคยวัด
ชั่ง ตวง ใช้วิธีกะจำนวนเอา
ก็ใช้อย่างละนิดละหน่อย ที่ต้องระวังก็คือกะปิ บางท่านที่ไม่ชอบอาจจะไม่ใส่ก็ได้ ส่วนท่านที่จะใส่ ใช้เพียง 1 หรือครึ่งหัวนิ้วแม่มือก็พอ( นิ้วหัวแม่มือ : เป็นหน่วยวัดปริมาณเครื่องปรุงประจำบ้านของเรา
)
- ตั้งหม้อใส่น้ำซุป
หรือน้ำเปล่า บางบ้านเขาจะเอาเครื่องแกงลงผัดกับน้ำมันก่อน แล้วเอาหมูหรือไก่ลงไปผัดให้สุกพอห่ามๆ
ก่อนจะใส่ลงไปในหม้อน้ำซุป
วิธีนี้จะช่วยให้น้ำแกงมีกลิ่นหอมขึ้น
แต่น้ำแกงจะมันมาก เพราะนอกจากน้ำมันที่ใช้ผัดแล้ว ยังมีน้ำมันจากหมูสามชั้น และไก่ออกมาอีกด้วย ฉันชอบแบบไทยๆที่น้ำแกงใสไม่มีน้ำมันลอยบนหน้า
จึงไม่ผัดเครื่องแกง โดยเมื่อน้ำซุปเดือดจึงใส่เครื่องแกงลงไปเคี่ยวเลย
- เมื่อน้ำแกงเดือดอีกครั้ง
ใส่ไก่ หรือหมูลงไป ตามด้วยสับปะรดเคี่ยวสักพักให้เนื้อสัตว์และสับปะรดสุกดี อย่าเพิ่งเติมเครื่องปรุงรส ต้องชิมน้ำแกงก่อนว่าหวาน
เค็ม แค่ไหน เพราะเครื่องแกงจะมีกะปิ และกุ้งแห้งที่มีรสเค็ม
ส่วนสับปะรดเมื่อโดนความร้อน ไม่ว่าจะด้วยการต้มหรือการย่าง ความหวานจะออกมา
หากเป็นสับปะรดแกงจะมีรสเปรี้ยวด้วย
แต่ถ้าใช้สับปะรดกินที่เนื้อสุกฉ่ำจะมีแต่ความหวาน
- หลังจากชิมรสน้ำแกงแล้ว
ค่อยเติมน้ำปลา หรือซีอิ้ว กับน้ำตาลโตนด
หากไม่เปรี้ยวคงต้องแอบใส่น้ำมะนาวสักหน่อย ( สับปะรดแกงไม่ต้องใส่น้ำมะนาว)
น้ำตาลต้องใส่หลังสุด เพราะน้ำตาลจะทำให้เนื้อหมู หรือไก่เปื่อยช้า
- ฉันจะให้น้ำแกงเดือดแค่ช่วงใส่เครื่องปรุงเท่านั้น หลังจากนั้น จะตักฟองออกให้หมด ในช่วงที่เคี่ยวลดไฟลงให้เดือดปุดๆ
เพื่อให้น้ำแกงใส
-รสของต้มสับปะรดจานนี้
จะมีรสเค็ม เปรี้ยว หวาน อย่างอ่อนๆ ไม่เข้มข้น แต่จะหอมเครื่องแกงมาก ทำเสร็จอย่าเพิ่งกิน
ควรทำไว้ล่วงหน้า เช่นจะกินมื้อเย็นก็ทำตอนเช้า
เพราะการปล่อยทิ้งไว้จะช่วยให้รสดีขึ้นมาก
ทั้งเนื้อหมูและเนื้อสับปะรดจะมีรสน้ำแกงซึมเข้าไป เมื่อถึงเวลากินก็นำมาอุ่น ซดร้อนๆ ชื่นใจมาก
เอ๊ะ....นี่เราแก่แล้วจริงๆด้วย
ดีนะคะที่ป้าคิดทำตอนนี้ ไม่งั้นจะเสียดายแย่เลย ซดน้ำแกงอุ่นๆ อร่อยมากค่ะ ทำรสอ่อนๆ หอมกลิ่นเครื่องปรุง ที่บ้านทำต้องเป้นหมูสามชั้นค่ะ ต่อรองกัน ขอสองชั้นได้มั้ย เขาบอกสองชั้นน้อยไป จะเอาสามชั้น คนกินนี่เรื่องมากซะจริงๆ
ตอบลบขอคุณค่ะป้าแดง...
ตอบลบ