บ้านป้าLily หลังนี้เปิดไว้เพื่อให้เป็นที่ที่เพื่อนๆมานั่งตั้งวงคุยกันด้วยเรื่องที่เราชอบ
โดยมีป้า Lily มานั่งเล่าเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แถมสนุกสนานให้ฟังอีก
วันที่ท้องฟ้าสดใสในเวลาแดดร่มลมตกไม่มีอะไรดีไปกว่าการมานั่งที่ ชานเรือนของบ้านป้าLily อีกแล้ว


ยินดีต้อนรับทุกท่านจ๊ะ

วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สะพานพระจันทร์เสี้ยว Yulong Bridge , Guilin


 เวลาแห่งความสุขในเมืองหยางซั่ว กุ้ยหลิน วันที่ 2 ค่อยๆเดินทางมาถึงอย่างเชื่องช้าเงียบสงบและเยือกเย็น   บรรยากาศอย่างนี้ทำให้นึกถึงความงามของ “เซียวเหล่งนึ่ง ” ที่ขึ้นชื่อว่า  มีใบหน้าที่ดูสงบเยือกเย็น บริสุทธิ์ดังหิมะ และเย็นชาราวน้ำแข็ง  ที่ต้องนำมาเปรียบกับ  หญิงงามคนนี้ก็เพราะชื่อของนางแปลว่า  ธิดามังกร


สำหรับคนที่กำลังรอใคร หรืออะไรสักอย่างแล้ว เวลาช่างเดินช้าเหลือเกิน  จำไม่ได้ว่าเมื่อคืนที่ผ่านมา นอนหลับไปตอนไหน  รู้แต่ว่าเช้านี้ต้องตื่นมาถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นให้ทัน  ดังนั้น...ทันทีที่ได้ยินเสียงไก่ขันแรกของวัน  ฉันก็ลุกขึ้นมาล้างหน้าล้างตา แต่งตัวนั่งรอพระอาทิตย์ที่ระเบียงห้อง ท่ามกลางความมืดที่หนาวจับหัวใจ ( อาบน้ำบ้าง...เป็นบางส่วน ขอบคุณที่เป็นห่วงค่ะ)  

ใกล้ 6 โมงเช้า เสียงไก่ขันดังมาไกลๆอย่างต่อเนื่อง  ฉันปลุกน้องสาวให้ลุกขึ้นมาฟังด้วยกัน  น่าแปลก ที่เสียงไก่ขันยามเช้า ทำไมมันจึงเหมือนกันทั่วโลก  น้องตื่นขึ้นมาแบบงงๆ  ที่ถูกปลุกขึ้นมาให้ฟังเสียงไก่ยามเช้า ..... แต่พอบอกว่าพระอาทิตย์กำลังจะขึ้น หล่อนก็ยอมลุกขึ้นมาล้างหน้าแต่งตัวอย่างเต็มใจ 

       ไม่นานนักเรา 2 คนก็มานั่งรอพระอาทิตย์แสงแรกของวันที่ระเบียงด้วยกัน  เกือบ 7 โมงเช้าแล้วท้องฟ้าเพิ่งมีแสงสว่าง  พระอาทิตย์ยังมาไม่ถึง มันทำให้ฉันคิดถึง วันที่รอถ่ายรูปยามเช้าที่ประเทศภูฏาน  คิดว่าน่าจะเป็นลักษณะเดียวกันที่บ้านเมืองตั้งอยู่ในที่ราบที่มีภูเขาล้อมรอบ  กว่าดวงอาทิตย์จะไต่พ้นยอดเขาก็สายมากแล้ว  ชาวเมืองภูฏานจึงมักนอนตื่นสาย ปล่อยให้ฉันนั่งรออยู่คนเดียว  วันนี้ก็คงเป็นเช่นนั้นอีกแล้ว 
 
หลังจากรอจนถึง 7 โมงเช้า เราสองคนก็จำต้องตัดใจออกจากห้องเพื่อไปหาอาหารเช้ากินก่อนที่รถจะมารับ  อาคังหลานชายนั่งรอที่ล๊อบบี้  มิใยที่พนักงานโรงแรมจะพยายามชวนเชิญเราให้กิน Breakfast ของโรงแรม แต่เราก็ยืนยันที่จะกินอาหารเช้าแบบพื้นเมืองให้ได้
 
 
 เราเดินออกมาตามถนนเพื่อหาร้านกาแฟ  จำได้ว่าเมื่อวานเราเห็นอยู่หลายร้าน แต่เช้านี้ไม่มีร้านใดเปิดขายเป็นอาหารเช้าเลย ฉันได้ขนมเค็กน้ำตาลมะพร้าวเคี่ยวมา 2 ชิ้น หวังว่าจะได้กินกับกาแฟเช้านี้  สงสัยว่าคงต้องเปลี่ยนเป็นมื้ออื่น  หลานชายรู้ว่าป้า 2 คนติดกาแฟ  จึงถามว่าจะเดินไป Mc Donalds ที่ถนน West Street หรือไม่   เรารีบปฏิเสธ เพราะหากจะมากิน Mc Donalds แล้วล่ะก็ นอนอยู่บ้านดีกว่า 




 
        ขณะเดินหาร้านกาแฟอยู่ข้างถนน  น้องสาวก็ร้องจ๊าก...ออกมาแล้วชี้ไปทางแม่น้ำ  เมื่อหันไปเห็นดวงไฟสีแดงเล็กๆ กำลังลอยโผล่ขึ้นมาจากหุบเขา   เราวิ่งข้ามถนนอย่างไม่คิดชีวิตไปยังริมแม่น้ำเพื่อถ่ายรูปพระอาทิตย์ที่กำลังลอยขึ้นมาอย่างช้าๆ  แสงสีทองค่อยๆอาบเปลี่ยนสีพื้นดินให้สว่างไสว  ฉันกดชัตเตอร์รัวแทบทุกวินาที  เพื่อเก็บภาพอาทิตย์ยามเช้าแห่งเมืองหยางซั่ว ในทุกมุมมองให้ได้มากที่สุด  ชาวบ้านเริ่มออกมาเดินตามทาง  ทุกคนมองกลุ่มเราที่ยืนถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นอย่างแปลกใจ  อืม....ฉันก็แปลกใจตัวเองเหมือนกันแหละ......
 

เวลาที่ใช้ในการถ่ายรูปผ่านมานานพอสมควร  มันทำให้เราต้องตัดสินใจว่า  เช้านี้เจออะไรที่กินได้ก็ต้องกินแล้ว  เพราะเหลือเวลาไม่มาก  หลังจากถามชาวบ้านแบบซื่อๆว่าคนที่นี่เขากินอะไรกันในตอนเช้า   คนแถวนั้นก็ใจดีชี้ให้เข้าไปในซอยตรงข้ามโรงแรม  พร้อมบอกว่า   “ เขากินกันในซอยนั้น  คุณจะกินได้หรือเปล่าล่ะ ลองไปดูซิ”  


 ที่หน้าปากซอยเป็นตลาดย่อมๆให้ชาวบ้านเอาผัก ผลไม้  และอาหารมาขาย  เดินเข้าไปไม่นานเราก็พบกับร้านก๋วยเตี๋ยวแบบกุ้ยหลิน  ร้านโจ๊ก  และร้านซาลาเปา กับน้ำเต้าหู้  เราเลือกร้านก๋วยเตี๋ยวที่มีที่นั่งกินตามสบาย  วันนี้ฉันเต็มใจอดกาแฟ เพราะอยากกินก๋วยเตี๋ยวพื้นเมืองที่อร่อยและมีชื่อเสียงสักชาม


ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ก่อนมาได้ดูรายการทำอาหารของ Chef Martin Yang บอกว่าก๋วยเตี๋ยวกุ้ยหลิน เป็นอาหารที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมมาก  คนกุ้ยหลินกินกันตั้งแต่มื้อเช้า จนถึงมื้อค่ำ  กินร้านไหนๆก็อร่อยเหมือนกันทั้งมณฑล  เมื่อวานเราก็ได้ชิมไป 1มื้อช่วงกลางวัน ในร้านที่สะอาดทันสมัยเกินไปสำหรับเรา  วันนี้เจอของจริงแล้ว  ร้านก๋วยเตี๋ยวแบบบ้านๆ ที่มีเสน่ห์ในตัวของมัน จะยอมพลาดโอกาสดีๆอย่างนี้ได้ยังไง



สภาพร้าน ถูกจัดให้สะดวกแก่ลูกค้าที่สุด  คนขายและอุปกรณ์ เครื่องปรุงทั้งหมด ตั้งอยู่นอกร้าน ซึ่งก็มีแค่เตาต้มน้ำซุบ  ถังใส่เส้นก๋วยเตี๋ยว ชั้นวางเนื้อสัตว์ และโต๊ะเครื่องปรุง ร้านนี้จัดว่าสะอาดเป็นระเบียบกว่าร้านแบบพื้นบ้านอื่น  หากจะหาร้านที่ดูดีกว่านี้คงยาก  ขนาดร้านก๋วยเตี๋ยวในรายการของ Chef  Yang  ยังดูเกะกะไม่เป็นระเบียบแบบนี้  และถ้าคิดว่ากินไม่ลงเพราะสภาพแวดล้อมแล้วล่ะก็  แนะนำให้นอนกิน Mc อยู่บ้านสบายกว่ากันเยอะ  อย่าเดินทางมาให้เหนื่อยเลย


วัฒนธรรมการกิน และลักษณะก๋วยเตี๋ยวแบบกุ้ยหลิน หรือบางพื้นที่ของประเทศจีนทางตอนใต้จะต่างกับแถบอื่นตรงที่  เส้นก๋วยเตี๋ยวจะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง  เส้นทำด้วยแป้งข้าวเจ้า ที่มีเนื้อแป้ง ( Texture) ต่างจากที่อื่น (น่าจะเป็นที่พันธุ์ข้าว หรือไม่ก็วิธีการหมักแป้ง)  ลักษณะเป็นเส้นกลมใหญ่ นุ่ม เหนียว ลื่น คล้ายเส้นขนมจีน แต่ใหญ่และเหนียวกว่า   เครื่องปรุง นอกจากน้ำซุปอร่อยๆแล้ว  ยังมีผักดองหลายชนิด ถั่วคั่ว ส่วนใหญ่เป็นถั่วเหลืองมากกว่าถั่วลิสง  ที่ขาดไม่ได้คือพริกนานาชนิด ทั้งพริกสดสับละเอียด  พริกดอง และพริกในน้ำซีอิ้ว  


ที่เป็นเช่นนี้เพราะ กุ้ยหลินเป็นแหล่งปลูก  แหล่งกิน  และทำน้ำพริกที่มีชื่อเสียง นั่นคือ  “ น้ำพริกกุ้ยหลิน” อาหารเกือบทุกชนิดจะมีส่วนผสมของพริก  ใครมาเที่ยวเมืองนี้ต้องซื้อน้ำพริกกลับไปเป็นของฝาก  คนที่นี่กินอาหารรสเผ็ดกันทั้งเมือง  ฉันเองก็ชอบที่จะใช้น้ำพริกกุ้ยหลินในการปรุงอาหารที่บ้านเช่นกัน  ไม่นึกเลยว่าจะได้มาแหล่งทำน้ำพริกนี้  แต่ต้องยอมแพ้คนกุ้ยหลิน ตรงที่เรากินเผ็ดสู้เขาไม่ได้  เจอพริกดองเข้าไปหน่อย อาม่าอย่างเราก็ปากเจ่อแล้ว




 วิธีกินก๋วยเตี๋ยวกุ้ยหลิน 

1. ลูกค้าทุกคนต้องเดินไปสั่งที่เจ้าของร้าน ซึ่งยืนอยู่ที่หม้อน้ำซุปหน้าร้าน  บอกว่าจะเอากี่ชาม  แม่ค้าก็จะหยิบเส้นมาลวกใส่ชามให้ 
 

2. จะกินเนื้อหมู หรือเนื้อวัว  ก็บอกไปแม่ค้าจะตักใส่ชามก๋วยเตี๋ยวที่ลวกและใส่น้ำซุปแล้ว ( เนื้อสัตว์จะปรุงรส และตุ๋นเครื่องเทศไว้แล้ว)


3.จากนั้นเราจ่ายเงิน พร้อมรับชามก๋วยเตี๋ยวมา 
 

4.เดินมาที่โต๊ะวางเครื่องปรุง ที่มีต้นหอมสับ ถั่วคั่ว และผักดอง 3 ถึง 4 ชนิด ล้วนเป็นผักที่มีรสเปรี้ยว เค็ม กรอบ  ต่างกันแค่รูปร่าง ว่าเป็นผักที่ทำจากใบ  หรือก้าน หรือหัว  ผักดองถือเป็นผัก และเครื่องปรุงรส หากไม่ใส่ก็จะมีแต่รสน้ำซุป ไม่มีรสสัมผัสของผัก   ผักดองนี้จะใส่เท่าใดก็ได้  กินแล้วจะเดินมาเติมอีกก็ได้ ไม่อั้น

5. เติมพริก ขาดไม่ได้สำหรับคนกุ้ยหลิน ต้องใส่พริกดอง หรือพริกสดสับ หรือทั้งสองอย่าง  ก๋วยเตี๋ยวของคนที่นี่จึงมีรสจัดมาก  สีน้ำในชามจะแดงตามปริมาณพริกที่แต่ละคนใส่ลงไป 




            สำหรับฉัน   ขอใส่แค่พอรู้รส เพราะสู้ความเผ็ดไม่ไหว แค่นี้ก็อร่อยสุดๆแล้ว ไม่น่าเชื่อเลยว่าคนไม่ชอบกินอาหารคาวตอนเช้าจะสามารถกินก๋วยเตี๋ยวชามโต (มาก) ได้เกือบหมด  แถมทางร้านยังมีปาท่องโก๋ ตัวยาววางไว้บริการลูกค้าด้วย( ต้องซื้อ)  เมื่อกินแกล้มกันแล้ว บอกได้คำเดียวว่าสุดยอด  กลับมาบ้านยังฝันอยากกินอีกเลย เพราะชอบก๋วยเตี๋ยวที่ใส่ผักกาดดองแบบไหหลำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว....ไปคราวหน้าต้องซื้อเส้นกลับมาทำกินบ้างน่าจะดี 


         เกือบถึงเวลานัดกับคนขับรถที่จะพาเราไปล่องแม่น้ำ “ หยู่หลง” แล้ว   เรารีบเดินกลับโรงแรม แต่จะให้รีบยังไง  ถ้าเจอแม่ค้าขายขนมแล้วล่ะก็  น้องสาวอิฉันเป็นต้องแวะซื้อร่ำไป  ไม่ใช่ว่าหล่อนหิว หรืออยากกิน แต่อยากรู้มากกว่า  บางกรณีก็ซื้อเพราะสงสารคนแก่ที่หาบขาย  ขนมที่เราแวะซื้อข้างทางเป็นขนมที่ทำจากแป้วข้าวเหนียว ปั้นเป็นก้อนกลมมีไส้ต่างกัน ส่วนใหญ่จะเป็นไส้ถั่วหวานๆ  แป้งมีทั้งแป้งขาว และแป้งใส่ใบผักต่างๆ  เมื่อทำเสร็จวางขนมบนใบไม้แล้วนำไปนึ่ง บางชนิดคลุกตัวขนมด้วยถั่วป่น บางชนิดก็มีแต่แป้ง  ลองชิมดูรสคล้ายขนมไหหลำที่ชื่อว่า  “ อี๊บั่ว” หรือคล้ายขนมต้ม บ้านเรา

       หลังจากอิ่มอร่อยกันดีแล้ว  เราก็ออกเดินทางไปหมู่บ้าน “ หยู่หลงYulong  ที่อยู่ไม่ห่างจากเมืองหยางซั่ว เท่าใดนัก เราถึงริมแม่น้ำชื่อเดียวกัน เวลา 9โมง ดูอุณหภูมิขณะนั้นอยู่ที่ 1 องศา  วันนี้อากาศดีมาก ท้องฟ้าใสสอาด ลมพัดเบาๆ แสงแดดอ่อนๆส่องทำมุม 45 องศา เป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การถ่ายรูปอย่างยิ่ง






        ทันทีที่เราเดินถึงท่าจอดแพ  บรรยากาศรอบตัวทำให้ฉันถึงกับตลึงในภาพทิวทัศน์รอบตัวที่งดงาม สมแล้วที่ชื่อว่า “ หยู่หลง”  เพราะ อยู่หลง จริงๆ 

             
       คำว่า “ หยู่หลงYulong  แปลว่า “ พบมังกร”  แม่น้ำ และหมู่บ้าน  รวมทั้งสะพานที่ฉันกำลังจะไปหา มีชื่อเดียวกัน ที่แปลว่าแม่น้ำพบมังกร  ฉันจึงนึกถึง “เซียวเหล่งนึ่ง “ แม่ธิดามังกร ที่สวยแบบเยือกเย็นเหมือนบรรยากาศวันนี้ 






      แม่น้ำหยู่หลง ที่ฝรั่งเรียก Dragon River  นี้เป็นที่กล่าวขานในหมู่นักท่องเที่ยวว่า เป็นแม่น้ำที่มีทัศนียภาพสองฝั่งที่งดงาม  แม้จะเป็นแม่น้ำสายย่อยที่เป็นกิ่งแขนงของแม่น้ำลี่เจียง  แต่ก็เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวทีเดียว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นอีกพื้นที่ที่มีทิวทัศน์ที่งดงามกว่าที่อื่นอีกหลายจุด   การเดินทางมาท่องเที่ยวด้วยการล่องแพชมความงามแบบสงบเงียบของแม่น้ำ  หรือปั่นจักยานไปตามเรือกสวนไร่นา หุบเขา และหมู่บ้านในบริเวณนี้ นับเป็นความประทับใจมียากแก่การลืม 












            สองฝั่งแม่น้ำ ยังคงสภาพธรรมชาติไว้ 99 % โดยพื้นที่ส่วนใหญ่  ใช้ในการทำนา  และเพาะปลูกผลไม้ นานาชนิด  สีสันของท้องนาจะเปลี่ยนไปตามวงจรของฤดูกาล เช่นเดียวกับสวนผลไม้ที่จะเปลี่ยนไปตามฤดูของแต่ละชนิด เช่นส้มลูกเล็กในช่วงฤดูหนาวต้นปีจะส่งสีเหลืองทองไปตลอดลำน้ำ   หรือลูกพลับในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ที่ให้สีแดงและเหลือง  ไม่ว่าเราจะเที่ยวล่องแพไม้ไผ่ หรือขี่จักยาน นักท่องเที่ยวจะสามารถแวะชมสวนพร้อมชิมและซื้อผลไม้ไปได้ตลอดลำน้ำ  ช่างเป็นการท่องเที่ยวที่มีความกลมกลืนผสมผสานกับธรรมชาติเสียจริง









        ที่ริมแม่น้ำ  มีแพที่ทำจากไม้ไผ่จอดเรียงรายมากมาย  การล่องแพทำได้ทั้งสองทาง คือล่องตามน้ำ กับทวนน้ำขึ้นมา  วันนี้เราจะล่องตามกระแสน้ำ จากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก  นั่นหมายความว่าเราจะต้องถ่ายรูปทวนแสงตลอดการเดินทาง  แต่ก็มิได้เป็นปัญหาใหญ่  เพราะแสงแดดยามเช้ายังไม่แรงจนเกินไป



 



มื่อแพถูกปล่อยลงน้ำ คนถ่อแพเรียกให้เรานั่งประจำที่  ที่นั่งบนแพเป็นเก้าอี้เหล็ก แพละ 2 ที่นั่ง ( มากกว่านี้คนถ่อคงไม่มีแรง)  ฉันเลือกนั่งคนเดียว เพราะอยากถ่ายรูปและสัมผัสธรรมชาติอย่างเงียบๆ 
 

แพนี้สร้างด้วยไม้ไผ่ลำโตขนาดเท่ากัน โชคดีที่เรามาเช้า น้ำในแม่น้ำนิ่งสงบ น้ำใสจนเห็นหญ้าใต้ผืนน้ำ  บางช่วงมีใบไม้ร่วงลอยมาตามกระแสน้ำที่ไหลเอื่อยๆ   แสงแดดไม่ร้อนจัด และคนมาล่องแพน้อยมาก  รู้สึกเหมือนว่าเราเป็นเจ้าของแม่น้ำนี้  


แพเริ่มลอยไปตามกระแสน้ำอย่างเอื่อยๆ  ทั้งคุ้งน้ำไม่มีเสียงใด นอกจากเสียงกดชัตเตอร์ของเราอย่างต่อเนื่อง  กับเสียงคนถ่อแพสองลำของเราคุยกันก้องลำน้ำ  ถ้าหากเปลี่ยนเป็นร้องเพลงให้ฟัง คงต้องจำช่วงเวลานี้ไปอีกนาน  ( หรือว่าโชคดีแล้วที่เขาไม่ร้องเพลง มิฉนั้นคงสยองขวัญไปอีกนาน) 


ณะกำลังชื่นชมธรรมชาติเพลินๆ  แพก็มาหยุดหน้าเขื่อนปูนที่กั้นขวางแม่น้ำไว้ คนถ่อแพส่งภาษาใบ้ ให้เราลงจากแพ  เราลงเดินข้ามไปยืนรออีกฝั่งหนึ่งของเขื่อน  ใจก็คิดว่า นี่เขาคงไม่เอาเรามาทิ้งไว้ที่นี่นะ  หันมาอีกที ...คนถ่อแพลำที่หนึ่งก็ออกแรงดันแพให้พุ่งข้ามเขื่อนปูนไปอย่างรวดเร็ว  แพตกลงไปท้ายเขื่อน น้ำแตกกระจาย  แพไม้ไผ่จมลงไปในน้ำ แต่แค่อึดใจก็โผล่ขึ้นมา ส่วนคนถ่อก็ยังคงรักษาตำแหน่งของตัวเองบนแพไว้ได้อย่างดี   อีกไม่กี่นาทีลำที่สองก็พุ่งตามลงไปอย่างปลอดภัย  จากนั้นทั้งสองลำก็กลับมารับเราขึ้นนั่งต่อไป











เขื่อนที่กั้นขวางแม่น้ำเหล่านี้ นับเป็นความรู้ใหม่  ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าแม่น้ำนี้มีเขื่อนกั้น  ยิ่งล่องไปก็ยังเจออีกเป็นระยะๆ  คิดแล้วน่าจะเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ต้องการรักษาระดับน้ำไว้ให้พอแก่การเพาะปลูก และล่องแพ  แม้จะมีหลายเขื่อน แต่เพียงเขื่อนแรกเท่านั้นที่เราต้องลงจากแพ  เพราะเขื่อนสูง ประกอบกับเป็นฤดูแล้งที่น้ำลดลง จึงไม่สามารถถ่อผ่านไปได้   นี่คือสีสันของการมาล่องแพหน้าแล้งในแม่น้ำนี้  เพราะต่อจากนี้ไปจนสุดเส้นทาง  เราต้องนั่งอยู่บนแพที่พุ่งทยานลงจากเขื่อน  นับเป็นการเดินทางที่สนุกเร้าใจไปอีกแบบ  หากมาในฤดูน้ำ ที่ระดับน้ำขึ้นสูง  การทยานผ่านเขื่อนคงราบเรียบไม่ตื่นเต้นอย่างนี้   และคงทำให้ช่วงเวลาของการล่องในแม่น้ำกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อไปตลอดทาง   เพราะแม้บรรยากาศจะดีแค่ไหน  คงสะกดความรู้สึกของเราได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น   ที่เหลือเราคงเบื่อกับความราบเรียบของมันแน่นอน


เนื่องจากเรามุ่งหน้าไปทิศตะวันออก  สายตาของเราจึงต้องมองทวนแสง การถ่ายรูปก็ย้อนแสงไปตลอดทาง ฉันไม่ใช้เทคนิค หรือMode อะไรพิเศษช่วยในการถ่ายย้อนแสงนี้เลย ปล่อยให้รูปออกมาตามธรรมชาติ คล้ายรูปขาวดำ ที่มีความงามแบบคลาสสิคเอามากๆ ฉันได้รูปภาพเงาสะท้อนในน้ำโดยไม่ต้องตามหา เพราะมีให้เลือกตลอดทาง
      









 ล่องแพมาสักพักแม่น้ำที่ตรงมาตลอดกลับกลายเป็นทางโค้ง   2 ฝั่งข้างคุ้งน้ำ มีต้นไผ่ขึ้นเป็นหย่อมๆ ในความขมุกขมัวที่เกิดจากการมองทวนแสง   ฉันเห็นเงาตะคุ่มของสิ่งก่อสร้างหนึ่งที่ขวางลำน้ำ  แม้จะมีกอไผ่บังบางส่วนไว้   แต่ก็ รู้สึกตื่นเต้นมาก อดบอกตัวเองไมได้ว่า

“ นี่ไงล่ะ สะพานพระจันทร์เสี้ยวที่ตามหา เรามาถึงแล้ว ”

 สะพานหยู่หลง Dragon Bridge  ที่ฉันแอบเรียกว่าสะพานพระจันทร์เสี้ยว  นี้เป็นสะพานเก่าแก่ ที่อยู่ผ่านกาลเวลามากว่า 400 ปี  เป็นสะพานที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงค์หมิง ( คศ.1368- 1644เป็นสะพานที่สร้างขึ้นด้วยหินแกรนิตสะกัด  เป็นรูปทรงโค้งตามสไตล์จีนโบราณ  สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเส้นทางสันจรของชาวบ้าน   แม้จะมีสะพานอื่นอีกหลายแห่งที่มีลักษณะคล้ายกัน  แต่สะพานนี้ก็ถูกเรียกชื่อตามชื่อแม่น้ำและหมู่บ้าน จึงจัดว่าเป็นสะพานที่มีชื่อเสียงที่สุดของแม่น้ำมังกรนี้











    ตั้งแต่วินาทีที่เห็นสะพาน ฉันก็เริ่มส่องกล้องไปยังเป้าหมาย แล้วกดชัตเตอร์ไม่ยั้ง  ตั้งแต่อยู่ฝั่งตะวันตกของสะพาน  จนลอดใต้สะพานไปอยู่ฝั่งตะวันออก ฉันกลับมุมหันหลังไปถ่ายรูปตามแสง เก็บไว้ทุกช่วงเวลา รูปที่ได้มีสีสันตามธรรมชาติ ซึ่งก็งามไปคนละแบบกับรูปที่ถ่ายทวนแสง  รูปชุดนี้จึงเป็นการเปรียบเทียบความงามจากทิศตะวันตก และ ทิศตะวันออก



          คนถ่อแพหยุดแพไว้กลางแม่น้ำ เพื่อให้เราถ่ายรูปอย่างจุใจ  ฉันหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเปิดดูรูปเก่าที่ใช้ในการตามหา  เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน  ตัวสะพานยังคงเหมือนเดิม ยังคงรูปลักษณะความงามแบบขลังเข้มแข็งแต่อ่อนโยนไว้ แม้แต่ต้นไม้เลื้อยที่ขึ้นอยู่ด้านข้าง เคยห้อยย้อยอย่างไรก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง   มีเพียงสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ที่มีผู้คนมาสร้างบ้านพักอาศัยอยู่ใกล้สะพานจนกลายเป็นหมู่บ้านย่อมๆ  อย่างไรก็ดี ต้องขอบคุณเขาที่ยังคงรักษาสะพานนี้ไว้   รอจนถึงเวลาที่ฉันมาชม  ขอบคุณสะพานพระจันทร์ของฉัน ที่มอบความสุขมาให้ในวันนี้ 

 







     การล่องแพของเราไม่ได้จบลงที่สะพาน  แต่ยังคงเดินทางต่อไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง  ตลอดทางเราผ่านสวนส้มที่มีลูกสีเหลืองทอง  ได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน ชาวสวน  แต่อีกอาชีพที่เกิดขึ้นในแม่น้ำนี้ นอกเหนือจากอาชีพถ่อแพ คืออาชีพดักถ่ายรูปคนมาเที่ยวช่วงที่แพพุ่งผ่านเขื่อน  ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะสนุกสนานกับการผจญภัยแบบนี้  แถมพอเห็นรูปตัวเองออกมาขำๆก็อดซื้อไม่ได้  นับเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านแถวนี้ไปด้วย

         ช่วงที่กำลังล่องแพ  ความเงียบสงบของธรรมชาติทำให้ฉันคิดเปรียบเทียบการล่องแม่น้ำหยู่หลง กับชีวิตของคนเรา   บางครั้งสายน้ำที่ราบเรียบ ก็ใช่ว่าจะราบรื่นตลอดสาย ขณะล่องแม่น้ำเพลินๆ เราอาจเจอเขื่อนขวางแม่น้ำอย่างไม่คาดคิด เหมือนเป็นกับดักที่รอเราอยู่ข้างหน้า  การจะผ่าฟันให้พ้นอุปสรรค ต้องอาศัยคนถ่อแพที่มีความชำนาญ  แต่ตัวเราก็ต้องมีความระมัดระวังตัวเองด้วยเช่นกัน  


         ตลอดสายน้ำ  เราต้องผ่านด่านเขื่อนนับไม่ถ้วน  ฉันเอาตัวรอดมาได้ เพราะเชื่อมือนายท้าย  เชื่อฟังคำแนะนำของเขา  เขาบอกให้ยกขาสูงไว้  จับที่นั่งให้แน่น ฉันก็ไม่เปียกน้ำ  เขาบอกให้เก็บกล้องใส่กระเป๋า แม้ฉันจะอยากถ่ายช่วงตกลงในน้ำ แต่ก็ต้องตัดใจเก็บ และกล้องก็ปลอดภัย 
 


อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอโดยไม่เตือนล่วงหน้า  ในเขื่อนสุดท้ายที่สูงกว่าทุกเขื่อนที่ผ่านมา  แม้จะมีประสบการณ์มาแล้ว  แต่พอความกลัว  ความตกใจในสถานการณ์  ทำให้เราขาดสติ  เกือบกระเด็นตกน้ำ  แม้จะไม่มีอันตราย แต่ฉันก็จมลงไปพร้อมแพ เปียกไปครึ่งตัว 
 นี่เป็นแค่ภาพสะท้อนของการเดินทาง เมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตจริง  คงไม่มีใครมีชีวิตที่ราบเรียบ รื่นเริงเสมอไป  ทุกคนล้วนมีปัญหาเป็นของตัวเอง  เราต้องมีความระมัดระวัง ทำใจเตรียมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา   หากอวดเก่งทำอะไรอย่างขาดสติ ไม่ระวังตัวให้ดี คงเจ็บมากกว่านี้   

เล่าเรื่องล่องแพอยู่ดีๆ ไหง๋เลี้ยวเข้าวัดแบบไม่รู้ตัวเสียแล้ว  ก็แค่รำพึงรำพันให้ฟังเท่านั้น ... อิฉันต้องขึ้นฝั่งก่อนแล้วเจ้าค่ะ  ต้องรีบกลับโรงแรมเพื่อเปลี่ยนรองเท้า ถุงเท้า ก่อนที่จะไม่สบายเพราะอากาศหนาวมาก  ส่วนกางเกงเปียกไม่มาก  เดี๋ยวก็แห้ง 
  คงต้องขอจบเรื่องล่องแม่น้ำชมสะพานพระจันทร์เสี้ยว ที่ เซียวเหล่งนึ่ง พยายามตามหาจนเจอไว้แค่นี้ก่อน  โปรดติดตามเรื่องเมืองเก่าที่ชื่อ “ ฉีผิง” ซึ่งเราจะเดินทางไปในช่วงบ่ายต่อไปนะคะ  ที่นี่เร็วๆนี้ค่ะ