บ้านป้าLily หลังนี้เปิดไว้เพื่อให้เป็นที่ที่เพื่อนๆมานั่งตั้งวงคุยกันด้วยเรื่องที่เราชอบ
โดยมีป้า Lily มานั่งเล่าเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แถมสนุกสนานให้ฟังอีก
วันที่ท้องฟ้าสดใสในเวลาแดดร่มลมตกไม่มีอะไรดีไปกว่าการมานั่งที่ ชานเรือนของบ้านป้าLily อีกแล้ว


ยินดีต้อนรับทุกท่านจ๊ะ

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อีกครั้งกับ “มะละกา”



เคยอ่านพบบทความเกี่ยวกับ การเที่ยวอย่างนักเดินทาง จากที่ไหนสักแห่ง เมื่อหันมามองตัวเอง ก็รู้ว่าเราก็คือนักเดินทางคนหนึ่งเช่นกัน เพราะเราได้ปฏิบัติอย่างเขาบอกไว้ครบทุกข้อที่ว่า

 การไปเยือน สถานที่ต่างๆ หลายๆ แห่ง ไม่ได้ทำให้คุณเป็นนักเดินทาง เพราะนักเดินทางแตกต่างจากนักท่องเที่ยวที่การได้ไปสัมผัสสถานที่แต่ละ แห่งอย่างลึกซึ้ง เรียนรู้และค้นหาเสน่ห์ของที่แห่งนั้น อย่าง 5 กิจกรรมนี้

 1.เดินเล่นอย่างอิสระไปเรื่อยๆ ไม่ ต้องตามหนังสือไกด์บุ๊กเล่มไหน เหนื่อยเมื่อไรก็หยุดพัก ซึมซับกับบรรยากาศรอบด้าน ปล่อยให้เท้าเราพาไปค้นพบอะไรใหม่ๆ และทำให้เราได้รู้จักสถานที่ไหนในมุมของเราเอง คุณอาจจะไปเจอสถานที่ประทับใจของคุณเองที่แตกต่างจากคนอื่น

 2.ไปเดินตลาดสด ที่ ซึ่งทำให้เรารู้ความเป็นไปและได้เห็นตัวตนของเมืองนั่นอย่างเด่นชัดที่สุด เป็นที่ผู้คนชาวท้องถิ่นได้ใช้ชีวิตให้เราไปสัมผัสของจริงด้วยตาตนเอง

 3.ทานอาหารพื้นเมืองรสชาติดั้งเดิมสักครั้ง ถ้าไม่ชอบ มื้อหน้าก็ค่อยหาอาหารที่ชอบทาน ไม่แน่นะคุณอาจพบเมนูโปรดจานใหม่ก็ได้

 4.พักโรงแรมที่สะท้อนถึงสไตล์ของเมือง อย่างศิลปวัฒนธรรมหรือวิถีความเป็นอยู่ ให้รู้สึกว่าเราได้ไปเยือนจริงๆ ไม่ใช่ก้าวเท้าไปแล้วรู้สึกไม่ต่างจากโรงแรม 5 ดาว ในกรุงเทพฯ

 5.ซื้อข้าวของพื้นเมืองเก็บเป็นที่ระลึกโดยอาจเลือกหาของที่คุณสะสมในสไตล์ของเมืองนั้น คุณจะได้อยากเก็บพร้อมทั้งช่วยเตือนความทรงของทริปไปด้วย

  อีกครั้งกับ “มะละกา”

 อดแปลกใจตัวเองไม่ได้ว่า เหตุใดจึงพิสมัยเมืองนี้เสียจริง  วันนี้เป็นการเดินทางมา มะละกา ครั้งที่สองของฉัน  ทั้งๆที่ก็ยังมีคนทักว่า    “ ไปทำไม๊ !! ไม่เห็นมีอะไรเลย”  แต่ ฉันก็ยังเต็มใจและสุขใจกับการกลับมาเมืองนี้อีกครั้ง  ทันทีที่รถของเราเข้าเขตเมือง  ฉันจึงรู้สึกเหมือนกำลังกลับบ้าน และคิดถึงลมเย็นๆยามเช้าของที่นี่เต็มทนแล้ว

การมาเมืองมะละกา  ฉันรู้สึกเหมือนมาอยู่ในเมืองแห่งนิทาน  เพราะเมืองนี้เป็นเมืองที่รวบรวมอารยธรรมของคนหลายชาติเข้าไว้  ส่วนหนึ่งคือคนจีน  ที่มีวิถีชีวิตผสมผสานกับคนมาเลย์พื้นเมือง  ช่างเป็นวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์สำหรับฉันเหลือเกิน  รึว่า .....ฉันเคยอยู่ที่นี่มาก่อน.... 

 
เรื่องราวของเมืองมะละกา มีผู้คนเขียนไว้ในเวบไซต์มากมาย และเมื่อไม่นานมานี้ ฉันก็นำรูปและเรื่องบางมุมขึ้นบล็อก และ Facebook ไว้ที่ .....   





โปรดติดตามชมภาพงามๆได้

มา “มะละกา” ครั้งนี้ ฉันไม่คิดจะเรียกว่ามาเที่ยว แต่ถือเป็นการมาตามหาสิ่งที่อยากรู้อยากเห็นเพิ่มเติมให้แก่ชีวิตมากกว่า  โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินของคนเมืองนี้

พูดถึง ชาวบาบ๋า-นอนย่า แล้ว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้หรับฉันคือ  อาหารของเขา   เพราะก่อนที่จะมา ฉันได้รับการเตือนว่า อย่าคาดหวังกับอาหารมาเลเซีย   โดยเฉพาะอาหารนอนย่า  เพราะมันคือ อาหารไทยที่ไม่อร่อยนั่นเอง (ปารานกันหรือพวกชาวจีนฮกเกี้ยนที่แต่งงานกับชาวพื้นเมืองมาเลย์ ผู้ชายจะถูกเรียกว่า บาบ๋า ผู้หญิงจะเรียกว่า ย่าย๋า หรือ นอนย่า  และมีอาหารที่มีชื่อคือ อาหารนอนย่า ) 

ครั้งนี้ หากฉันเก็บคำเตือนเรื่องอาหารเหล่านั้นไว้ในสมอง  ก็ดูจะเป็นเรื่องโหดร้ายสำหรับคนบาบ๋า นอนย่า ไปหน่อย  ฉันจึงไม่สนใจและเดินหน้าหาร้านอาหารของชาวนอนย่าหลายรูปแบบเพื่อชิมให้รู้กันไปเลย


ฉันเริ่มต้นด้วยการตื่นแต่เช้า  และออกเดินไปตลาดสด  เพื่อดูวิถีชีวิตของชาวบ้านเมืองนี้  และที่นี่ ฉันก็ได้พบกับอาหารที่ตามหา ตามรอยมาจากหนังในทีวี และอยากทดลองชิมมากมาย
อากาศตอนเช้าเย็นสบาย  เพราะหลังจากฝนตกหนักเมื่อคืนที่ผ่านมา  เช้านี้แสงแดดใสๆส่องลงมาสะท้อนตัวอาคารเก่าที่ฉันแอบหลงรัก  ช่างเป็นภาพที่สวยงามเหลือเกิน 




ตลาดที่ฉันไป เป็นตลาดเล็กๆของชุมชน  สินค้าที่ขายส่วนใหญ่เป็นอาหาร โดยเฉพาะอาหารเช้าของคนพื้นบ้าน ที่ปะปนกันทั้งคนจีน และมาเลย์  ช่างเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่อบอุ่นยิ่ง
อาหารเช้าหลากชนิดวางขายละลานตา  อาหารพื้นบ้านที่ขาดไม่ได้คือหมี่ และข้าวเหนียวต้มในใบมะพร้าว และข้าว Nasi Lemak  



ข้าว Nasi Lemak   หรือข้าวห่อมาเลย์  อาหารหลักที่หาทานได้ทั่วไปในประเทศนี้  ข้าวชนิดนี้เป็นข้าวที่หุงด้วยกะทิ คล้ายข้าวมันบ้านเรา คนขายจะตักข้าวมันใส่ในใบตองสด  วางไข่เจียว หรือไข่ดาว หรือไข่ต้มลงไปบนข้าว ใส่ผักบุ้งลวก  ปลาเค็มตัวเล็กๆทอด แตงกวาหั่นสองสามชิ้น  จากนั้นก็ราดด้วยน้ำพริกผัด ที่มีรสเปรี้ยวหวานคล้ายกับน้ำพริกเผา ผสมกับน้ำจิ้มสะเต๊ะ  ที่มีเสน่ห์คือการห่อข้าวด้วยใบตองรูปทรงดูดีทีเดียว



เดินผ่านร้านทอดปาท่องโก๋  หรือเฉ๋าก้วย  ที่ปกติไม่ค่อยกล้ากินของทอดมากนัก แต่ปาท่องโก๋เจ้านี้ช่างยั่วยวนอารมณ์เสียจริง ขอชิมหน่อยนะ  ก่อนจะเดินชมตลาด ที่มีอาหารแปลกตามากมาย



จากอาหารคาว ก็มาถึงอาหารหวาน จำพวกขนมพื้นเมืองบ้าง

สิ่งแรกที่มองหาคือ KAYA หรือสังขยา  
ที่มีคนบอกว่าของเขาอร่อยจริงๆ

Kuih Lapis Rainbow คล้ายขนมชั้นบ้านเรา

Rempah Udang ข้าวเหนียวไส้กุ้ง 

และ Pulut Inti ( ข้าวเหนียวหน้ากระฉีก)


มาถึงอาหารประจำเมืองที่เรียกว่าอาหารนอนย่า Nyonya   ความที่เป็นคนทานอาหารรสไม่จัดมาก จึงแอบติดใจเล็กๆ  และเที่ยวติดตามหาว่าอาหารเหล่านั้นชื่ออะไร  และมีวิธีทำอย่างไร 

วันนี้เรามาลองทำอาหารนอนย่า ที่ฉันสั่งมาเป็นอาหารกลางวันทานกันดีไม๊คะ 
อาหารนอนย่า คล้ายกับอาหารไทย ปนจีน  ดังนั้นคนที่มีเชื้อจีนจะรู้สึกว่าทำได้ไม่ยากเลย  เพราะคนจีนที่อพยพมาอยู่มาเลเซีย และประเทศไทยส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมเรื่องอาหารแบบเดียวกัน แถมยังชื่ออาหารเหมือนกันอีกด้วย อย่างเช่น  จับฉ่าย  ปอเปี๊ยะ  เต้าเจี้ยว  ก๋วยเตี๋ยว  เฉาก๊วย ฯลฯ

อาหารจานแรกที่ทำให้ติดใจ คือ Ayam Pongteh หรือไก่ตุ๋นมันฝรั่ง

 Ayam Pongteh (Nyonya Chicken and Potato Stew) อายำ โปงเต๊ะ(ไม่แน่ใจว่าเรียกถูกหรือไม่ ) เป็นไก่ตุ๋นกับมันฝรั่ง ปรุงรสด้วยเต้าเจี้ยว และน้ำตาลมะพร้าว  รสเค็มและหวานอ่อนๆ หอมเต้าเจี้ยว ที่บางคนบอกว่ากลิ่นและรสไม่เหมือนเต้าเจี้ยวบ้านเรา  แต่ฉันคิดว่าน่าจะเป็นรสของส่วนผสมระหว่างหอมแดงกับเต้าเจี้ยวมากกว่า ( รสคล้ายกะปิ)


  เครื่องปรุง

หอมแดงปอกเปลือก 2 หัว สับหยาบๆ
กระเทียม 5 กลีบ ปอกเปลือกสับหยาบ  (น่าจะเป็นกระเทียมเมืองจีนที่หัวใหญ่นะ)
น้ำมันพืช 1/4 ถ้วย
เต้าเจี้ยว
1/4 ถ้วย
ซีอิ้วดำหวาน
1 ช้อนโต๊ะ
ซีอิ้วขาว 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลมะพร้าว หรือน้ำตาลปี๊บ สับหยาบ
2 ช้อนโต๊ะ
ไก่ ครึ่งกิโล  หั่นเป็นชิ้นพอคำได้ประมาณ 18 ชิ้น
มันฝรั่งหัวเล็กต้มสุก 4  หัว ( พันธุ์Yukons  หรือ Reds จะดีกว่า Russets), ปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นพอคำ
น้ำ 3 ถ้วย
เกลือสำหรับปรุงรส 
 
วิธีทำ
1. ตำหัวหอม กระเทียม  รวมกันแบบหยาบๆไว้
2. ตั้งกระทะไฟกลาง  ใส่น้ำมันพืช ใส่เครื่องที่ตำไว้ลงผัด  

    ประมาณ  2 นาที ระวังอย่าให้ไหม้    
3. ใส่เต้าเจี้ยวลงไปในกระทะที่ผัดเครื่อง ตามด้วยซีอิ้วดำหวาน 
    และน้ำตาลปี๊บ  คนให้ทั่ว ตั้งไฟให้น้ำตาลละลายและเหนียว
    ราวๆ 30 วินาที
4. ใส่เนื้อไก่ และมันฝรั่งลงไปผัดรวมกัน  เติมน้ำ 3 ถ้วย
5. พอน้ำเดือด ลดไฟลง และเคี่ยวต่อ 1 ชั่วโมง หรือจนกว่าไก่จะนุ่ม 

    อย่าลืมคนเป็นระยะๆ กันไหม้
6. เมื่อไก่เปื่อยดีแล้ว  ชิมรสดู แต่งรสด้วยเกลือ และซีอิ้วขาว 
    เสริฟกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยจัง

Chap Chai ชื่อคุ้นๆ ซึ่งก็คือ จับฉ่าย แบบเดียวกับบ้านเรานั่นเอง

 เครื่องปรุง

 กระหล่ำปลี 500 กรัม
 เห็ดเข็มทอง 30 กรัม
 เห็ดหูหนูดำ 20 กรัม ถ้าใช้แบบแห้งให้แช่น้ำก่อน
 วุ้นเส้น 30 กรัม แช่น้ำให้นิ่ม
 ฟองเต้าหู้ 2 แผ่น แช่น้ำให้นิ่ม
 เผือกแห้งทอด 1 ชิ้น ( อันนี้ไม่เคยเห็นเหมือนกันว่าเป็นอย่างไร   
 หากไม่มีก็ไม่ต้องใช้)
 น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
 ซีอิ้วขาว 2 ช้อนโต๊ะ
 พริกไทย
 น้ำเปล่า 2  ถ้วย

 
วิธีทำ
  ตั้งกระทะ ใส่น้ำมัน  ใส่ผักกะหล่ำที่หั่นแล้วลงผัด 
  ตามด้วยเห็ดเข็มทอง และเห็ดหูหนู  คนบ่อยๆ กันไหม้
  ใส่วุ้นเส้น  และฟองเต้าหู้
  ใส่ซีอิ้ว  น้ำเปล่า และพริกไทย
  ใช้ฝาปิดกระทะให้เดือด ชิมรส  ลักษณะจะเป็นอาหารแบบน้ำขลุกขลิก
   เสริฟพร้อมข้าวสวย 

 
Assam fish  หรือแกงส้มแบบบาบ๋า  ดูจะเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงมาก ประมาณว่า    “ ต้มยำกุ้ง” บ้านเรา รสคล้ายแกงส้มแต่อ่อนกว่า  Assam แปลว่า “ เปรี้ยว” ซึ่งก็มาจากน้ำมะขามเปียกเช่นเดียวกับแกงส้มบ้านเรา
 
เครื่องปรุง

หัวปลา และปลาทั้งตัว โดยหั่นเป็นชิ้นใหญ่ๆ ขนาดสำหรับคนละชิ้น
หอมแดง 6  หัว, หั่นหยาบๆไว้ จะได้ง่ายสำหรับตำเป็นน้ำพริก
กระเทียม 2-3 กลีบ
พริกแห้งป่น  1-2 ช้อนโต๊ะ
ตะไคร้ 2 ต้น
น้ำมันพืชเล็กน้อย
น้ำเปล่า
น้ำมะขามเปียก พอประมาณ
กระเจี๊ยบสด 5 ฝัก
เกลือสำหรับปรุงรส

วิธีทำ

- ปั่นหรือตำ หอม  กระเทียม และพริกแห้ง ให้เป็นน้ำพริก
- ตะไคร้ 2 ต้น ตัดเป็นท่อน ทุบพอแตก
- ตั้งกระทะ ใส่น้ำมัน ผัดน้ำพริกพอหอม และ ออกสีน้ำตาล 
  ใส่ตะไคร้ที่บุบไว้ ผัดสักครู่ให้หอม
-เติมน้ำ 1 ถ้วย หรือมากกว่าก็ได้ ดูว่าเครื่องแกงต้องไม่ข้นเกิน หรือ 
 ใสเกินไป
-พอเครื่องแกงเดือด ใส่น้ำมะขามเปียก ระวังอย่าใส่มาก เพราะหาก 
 เปรี้ยวเกินไปจะแก้ลำบาก
-ลองชิมดูว่าเปรี้ยวพอรึยัง  ดีกรีความเปรี้ยว ให้น้อยกว่าแกงส้มของ
 เราสัก 25 เปอร์เซ็นต์
-ใส่หัวปลา และเนื้อปลา รอให้เดือดสักพัก อย่าคนมากเนื้อปลาจะ 
 เละ และคาว 
- ใส่กระเจี๊ยบสด เติมรสด้วยเกลือ
- รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ

ไข่เจียวนอนย่า Cincaluk Omelet
ตอนสั่งจานนี้ก็นึกไม่ออกว่าเจ้า Cincaluk นี่คืออะไร เพียงแต่อยากกินไข่เจียว พอจานนี้มาถึงจึงร้องอ๋อ “ ไข่เจียวถั่วฝักยาว”นี่เอง

เครื่องปรุง

-ไข่ 4 ใบ
-ถั่วฝักยาวหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ 1 ช้อนโต๊ะพูนๆ
-หอมแดงปอกเปลือก ซอยเป็นเส้นบางๆ
-พริกไทยขาวป่น
-น้ำมันฟืช 

วิธีทำ
ตอกไข่ใส่ชาม ผสมถั่วฝักยาว  หอมซอย และพริกไทยป่น ตีให้ผสมจนเข้ากันดี
ตั้งกระทะไฟแรงสุด พอควันขึ้นในกระทะ ก็ใส่ส่วนผสมไข่ลงไป
ทอดให้สุกทั้งสองด้าน ระวังไหม้  
เสริฟทันที อร่อยแบบไข่เจียวยังไงยังงั้นเลย

 
Kari Ayam แกงเผ็ดไก่ 

แกงเผ็ดแบบนอนย่า  เป็นแกงที่ใช้ไก่ทั้งตัวยกเว้นเครื่องใน   และใช้เครื่องเทศมากกว่าของไทย เขาจะเคี่ยวจนกลิ่นเครื่องเทศหอมเข้าไปในเนื้อไก่  แกงนี้ชาวปารานกัน จะรับประทานกับข้าวเหนียวที่หุงกับผงขมิ้น ( nasi kunyit) หรือ กับโรตี 

เครื่องปรุง

ไก่ทั้งตัว 1 ตัว เอาหัว คอ  ขา และเครื่องในออก หั่นเป็นชิ้นใหญ่พอประมาณ
มันฝรั่งปอกเปลือก ตัดเป็นชิ้นพอคำ 200 กรัม
หัวกะทิ 
200 มิล
ใบแกง 1 ช่อใช้แต่ใบ (ไม่ใจว่าเป็นใบที่ทางใต้เรียกว่าใบหมุย หรือไม่ แต่ดูในแกงแล้ว เห็นแต่ใบมะกรูด)
โป้ยกั๊ก 1 ดอก
กานพลู 2 ชิ้น

อบเชย
1 แท่ง
น้ำมันพืช
5 ช้อนโต๊ะ
น้ำเปล่า
1 ถ้วย ½ 

เครื่องแกง

กระเทียม กลีบ
หอมแดง
18 หัว
พริกใหญ่แห้ง แกะเมล็ดออก แช่น้ำให้นิ่ม
12 เม็ด
ขมิ้นสด 15 กรัม
ลูกผักชี
15 กรัม
fennel (เทียนข้าวเปลือก
) 1 ช้อนโต๊ะ
ยี่หร่า
1 ช้อนโต๊ะ
กะปิย่าง
20 กรัม
ตะไคร้ ส่วนสีขาว
1 ต้น
เครื่องปรุงรส  เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ  น้ำตาล 1 ช้อนชา 

วิธีทำ

ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันพืช ใส่เครื่องเทศทั้งหมด คือ อบเชย โป๊ยกั๊ก กานพลู ลงผัดให้หอมด้วยไฟอ่อน 
ค่อยๆใส่เครื่องแกงที่ตำปนกันจนละเอียดลงผัดด้วยจนหอมตลบบ้าน
ใส่ไก่ลงไปผัด ตามด้วยมันฝรั่ง ใบมะกรูด 
ใส่น้ำเปล่า คนให้เข้ากัน ปิดฝากระทะ ลดไฟลงเคี่ยวจนไก่ และมันฝรั่งนุ่ม
ใส่หัวกะทิ  เกลือ น้ำตาล  เคี่ยวต่อจนงวดลงเหลือน้ำแกงขลุกขลิก ด้วยไฟอ่อน ประมาณ 20-30 นาที 
ตักเสริฟ กับขนมปัง หรือข้าวเหนียวหุงกับขมิ้น (nasi kunyit ) หรือ โรตี (roti jala


 
มาถึงขนม ชิ้นแรกเป็นขนมที่นางเอกเรื่อง Little Nyonya  ( เยี่ยเหนียง) ทำขายเป็นข้าวเหนียวปิ้งไส้ กุ้ง เรียกว่า Rempah Udang
 
ขนมชนิดนี้ เป็นขนมที่ฉันกินเป็นอาหารเช้า  ซึ่งต้องหาซื้อตามตลาดพื้นบ้าน   ความที่บ่นอยากกินมาก สมาชิกผู้ร่วมเดินทางของฉันจึงรีบตื่นแต่เช้า ออกไปซื้อเจ้า Rempah Udang มาให้เป็นอาหารเช้าสมใจ อร่อยจริงๆ 

เครื่องปรุง
 
ข้าวเหนียว 1
 กิโล ล้างให้สะอาด แช่น้ำไว้ 1 คืน

หัวกะทิ 350 มิล
น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ
เกลือ 1 1/2 ช้อนชา
ใบเตยสด 8 ใบ ม้วนแล้วผูกเป็นมัดไว้


 ส่วนไส้

กุ้งสด ครึ่งกิโล ปอกเปลือกสับเป็นชิ้นเล็กๆ
มะพร้าวขูดละเอียด  8  
ออนซ์
ลูกผักชีป่นละเอียด  2 ช้อนชา
หอมแดง 8 หัว
ตะไคร้ หั่นบางๆ1 ต้น
กระเทียม 3 หัว
เกลือ 1/2 ช้อนชา


ส่วนห่อ

ใบตอง ขนาด 6" x 3"
 ล้าง เช็ดให้แห้ง  ทาน้ำมัน
ไม้กลัด สำหรับเย็บใบตอง 

 
วิธีทำ


  • นำข้าวเหนียวที่แช่แล้วมานึ่ง พร้อมกับใบเตย ประมาณ 20นาที
  • ผสมกะทิ เกลือ น้ำตาล จากนั้นนำข้าวเหนียวนึ่งมาใส่ในชามผสม เทกะทิที่ปรุงรสแล้วลงไปคนให้เข้ากัน ปิดฝา ทิ้งไว้สัก 5 นาที
  • เทข้าวเหนียวผสมกะทิกลับไปในที่นึ่ง นึ่งต่ออีก 15 นาทีจนสุกดี  ยกลงแต่ยังคงปิดฝาโถไว้ให้ข้าวเหนียวนุ่ม 
 
ทำไส้ขนม
    
  • คั่วมะพร้าวป่น ในกระทะแห้งให้เป็นสีน้ำตาล และมีกลิ่นหอม จนกระทั่งมีน้ำมันออกมา ระวังอย่าให้ไหม้  พักไว้
    • ซอยหอมแดง ตะไคร้  กระเทียม ผสมลูกผักชีป่น  ตั้งกระทะใส่น้ำมัน ผัดส่วนผสมนี้จนหอม ใส่กุ้งสับ ปรุงรสด้วยเกลือ คนไปจนเกือบแห้ง  ใส่มะพร้าวคั่วลงไปผัดให้เข้ากัน

    วิธีห่อ

    • ตัดใบตองตามขนาดที่ระบุ ตักข้าวเหนียวแผ่บนใบตอง
    • ตักส่วนผสมของไส้ลงไปบนข้าวเหนึยวให้เป็นเส้นตรงกลางแผ่นข้าวเหนียว 
    • ม้วนข้าวเหนึยวปิดไส้ ห่อใบตองเป็นรูปแท่งยาว เย็บปิดหัวท้ายด้วยไม้กลัด 
    • ท่านที่ห่อไม่เป็น ลองใช้เครื่องมือทำซูชิ มาช่วยได้
    • ปิ้งด้วยเตาถ่านหรือเตาไฟฟ้า จนมีกลิ่นหอมของใบตอง เป็นอันเสร็จพิธี

    Pulut Tekan  


    ช่วงกลางวัน ฉันเดินผ่านร้านขนมนอนย่าอีกครั้ง อดไม่ได้ที่จะหยุดชิม Pulut Tekan  ขนมหน้าตาคล้ายสบู่กรดที่เคยใช้ สมัยเป็นเด็ก

    Pulut Tekan  เป็นข้าวเหนียวนึ่งกับกะทิ  ใช้สีของดอกอัญชันมาผสมกับข้าวเหนียวบางส่วน  ให้ดูเป็นลวดลายคล้ายหินอ่อน 
    ดอกอัญชัน ชาวปารานกันเรียกว่า 'Bunga Telang' เขาจะทานขนมนี้ด้วยการราดด้วยน้ำตาลมะพร้าวเคี่ยวเป็นคาราเมล  หรือรับประทานกับ Kaya ( สังขยา)  เป็นขนมอีกชนิดที่ติดใจมาก

     
    เครื่องปรุง 
       
    • ข้าวเหนียว 500 กรัม  ล้างให้สะอาดแช่ทิ้งไว้ 4 ชั่วโมง จากนั้นเทน้ำทิ้งแผ่ให้แห้ง
        • หัวกะทิ 350 มิลลิกรัม
        • น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ
        • เกลือ 1 ช้อนชา
        • ดอกอัญชันแห้ง 1/2 ช้อนชา ผสมน้ำสุก 1/4 ถ้วย (บ้านเราใช้คั้นจากดอกสดก็ใช้ได้)  
        • ใบตองสดไว้รองถาดขนม 
        วิธีทำ
        1. ผสมข้าวเหนียวกับเครื่องปรุงทั้งหมด ใส่ที่นึ่ง นึ่งประมาณ  45 นาที 
        2. ตักข้าวเหนียวสุก 1/3 ส่วนลงในชามผสม เทน้ำผสมสีดอกอัญชัญลงไปคลุกให้เคลือบข้าวเหนียวจนทั่ว
        3. เทข้าวเหนียวสุกที่เหลือลงไปในอ่างผสม คลุกเบาๆ ให้เป็นลายหินอ่อน สีขาวแซมน้ำเงิน  ( หรือลายสบู่กรด) 
        4. ปูใบตองลงบนก้นถาดขนมสี่เหลี่ยม ขนาด 7 นิ้ว เทข้าวเหนียวที่ผสมกันแล้วลงในถาด เกลี่ยให้ทั่วถาด ใช้ฝา หรือกระดานสี่เหลี่ยมขนาดเท่าถาด ปิดข้าวเหนียว แล้วค่อยๆกดลงให้ข้าวเหนียวอัดติดกันเป็นแผ่นเค้ก หนาประมาณ 2 นิ้ว หาของหนักๆทับฝาปิดไว้สักพัก จนข้าวเหนียวเย็นลงและคงรูป
        เวลารับประทาน ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ราดด้วยน้ำตาลเคี่ยว หรือทานกับสังขยา 


         
         มาเมืองมะละกา ทั้งทีต้องแวะกินหวานเย็นกันหน่อย ร้านอร่อยเจ้านี้มี ชื่อว่าร้าน Jonker 88 ของอร่อยร้านนี้คือNyonyaCendol   หรือ “Ice Kajang”


         Cendol ก็คือลอดช่องน้ำกะทิ สั่งมา 1 ถ้วย ตัวลอดช่องนอนอยู่ก้นถ้วย มีน้ำแข็งบดละเอียดอยู่ด้านบน ราดด้วยน้ำกะทิที่ส่งกลิ่นหอมมาก   ตามด้วยน้ำตาลมะพร้าวเคี่ยว     (คล้ายลอดช่องน้ำตาลโตนดที่จังหวัดเพชรบุรี)


         Cendol หรือลอดช่องดูจะเป็นขนมพื้นๆสำหรับคนทั่วไป  แต่ขนมที่ฉันชอบกลับเป็น พุ๊ดดิ้งสาคู ที่เรียกว่า Sago Pudding (Gula Melaka)

        คำว่า Gula Melaka  แปลว่าน้ำตาลมะพร้าว  ที่นำมาเคี่ยว
          
        ส่วนผสม

        • น้ำ 10  ถ้วย
        • สาคูเมล็ดเล็ก 7  ออนซ์  ล้างแล้วผึ่งให้แห้ง
        • น้ำตาลมะพร้าว 7 ออนซ์
        • น้ำ ส่วนที่ 2 อีก 1/2  ถ้วย
        • น้ำกะทิ 2 ถ้วย

        วิธีทำ


        1. ต้มน้ำ 10 ถ้วยในหม้อใบโตให้เดือด  ค่อยๆใส่เมล็ดสาคูลงไปในน้ำที่เดือด เพื่อไม่ให้สาคูติดกัน  เมื่อเดือดอีกครั้งค่อยๆลดไฟลง  คนบ่อยๆกันติดก้นหม้อ รอจนสาคูสุกเม็ดใส ประมาณ 30 นาที จากนั้นยกลง ตักสาคูใส่ในพิมพ์ขนม ปล่อยให้เย็น นำแช่ในตู้เย็นค้างคืน  
        2. ทำน้ำตาลเคี่ยว  ใส่น้ำตาลมะพร้าวลงในกระทะ  ใส่น้ำส่วนที่ 2 (1/2 ถ้วย)ต้มให้เดือด เคี่ยวจนเหนียว จากนั้นยกลงกรอง 1 ครั้งเพื่อไม่ให้มีกากน้ำตาลปนในน้ำตาลเคี่ยวนี้
        3. นำสาคูออกจากพิมพ์  ใส่ถ้วยแก้ว  ราดด้วยน้ำกะทิ  โรยด้วยน้ำตาลเคี่ยว อร่อยชื่นใจ


        คุยเรื่องอาหารมาจนเหนื่อย  คงต้องหยุดเรื่องอาหารการกินของชาวบาบ๋า ย่าย๋า หรือ นอนย่า ไว้เท่านี้ก่อน เกรงว่าจะพากันอ้วนตามฉันกันหมด  
         
        ก่อนจากกัน อย่าลืมจิบโกปี้ แบบฉบับของคนมะละกา แก้คอแห้งกันก่อนนะคะ Enjoy !!!