บ้านป้าLily หลังนี้เปิดไว้เพื่อให้เป็นที่ที่เพื่อนๆมานั่งตั้งวงคุยกันด้วยเรื่องที่เราชอบ
โดยมีป้า Lily มานั่งเล่าเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แถมสนุกสนานให้ฟังอีก
วันที่ท้องฟ้าสดใสในเวลาแดดร่มลมตกไม่มีอะไรดีไปกว่าการมานั่งที่ ชานเรือนของบ้านป้าLily อีกแล้ว


ยินดีต้อนรับทุกท่านจ๊ะ

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

เที่ยวญี่ปุ่น ตอนที่ 1 ปฐมนิเทศ

 จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับคอมพิวเตอร์  ทำให้ข้อมูล บทความ และรูปภาพที่ทำไว้หายไปหมด  จนทำให้ต้องกลุ้มใจอยู่นาน  ระหว่างที่รอการกู้ข้อมูล ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะได้คืนมาหรือไม่  ฉันก็นึกเสียดายความรู้รอบตัวที่ได้เขียนไว้  นึกในใจว่า หากเสียไปก็นับเป็นเรื่องสูญเปล่าจริงๆ  โดยบทความเก่าๆที่เขียนไว้ เป็นการรวบรวมประสบการณ์ในการท่องเที่ยวเสียเป็นส่วนใหญ่  แม้จะเคยนำขึ้นเวบไซต์ของตัวเองมาเมื่อสี่ปีที่แล้ว  แต่ก็ยังดูว่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยอ่าน   

วันนี้ ...เมื่อได้ข้อมูลคืนมา  จึงไม่ลังเลเลยที่จะนำมาให้เพื่อนๆได้อ่านอีกครั้ง  โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น  ซึ่งทุกวันนี้สามารถไปได้โดยง่ายดาย  ไม่ต้องขอวีซ่าแล้ว  ดังนั้นจึงขอเชิญทุกท่านหาความรู้ความสนุกเพลิดเพลินไปกับเรื่องการเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขอเรียนให้ทราบว่า  ไม่เหมือนกับหนังสือท่องเที่ยวทั่วไปแน่นอน  โดยจะแบ่งเป็น 4 ตอนยาวๆ ดังนี้

ตอนที่ 1 ชื่อปฐมนิเทศ  เป็นการนำเสนอภาพรวมของการเตรียมตัวไปเที่ยว  การวางแผน และวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น

ตอนที่ 2  ชื่อ โอ อิ ชิ๊.... เป็นเรื่องของอาหารญี่ปุ่น

ตอนที่ 3   ชื่อ อาบน้ำร้อน นอนตื่นเช้า เป็นประสบการณ์การอาบน้ำแบบญี่ปุ่น 

ตอนที่ 4   ชื่อ พักผ่อน นอนวัด  เวลาไปเที่ยวนอนแต่โรงแรมมามากแล้ว  คราวนี้ชวนไปนอนวัดกันบ้าง



เที่ยวญี่ปุ่น ตอนที่ 1  

 ปฐมนิเทศ


         ในขณะที่ยังพอมีแรงเดิน ก็อยากรีบเที่ยวให้มากที่สุด  ก่อนที่จะเดินไม่ไหว เพราะการท่องเที่ยวของดิฉัน ไม่ได้ไปเหมือนคนอื่นที่ส่วนใหญ่จะซื้อบริการ ของบริษัททัวร์   แต่มักจะเดินลากกระเป๋าหาที่พัก ที่กินเอง จึงไม่ได้สบายเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป
        ปีนี้ดิฉันและเพื่อนวัยเดียวกัน  ตกลงใจว่าจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น  การท่องเที่ยวครั้งนี้ของเราช่างโชคดีอย่างมหาศาล ที่ได้ลูกชายของเพื่อน เป็นผู้หาข้อมูล และวางแผนเที่ยวให้ทั้งหมด โดยมี Concept ของทัวร์ที่เน้นไปในการ ชมมรดกโลกของประเทศญี่ปุ่น ให้มากที่สุด
        การวางแผนเที่ยวครั้งนี้ นับว่าหลานชาย ทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตลอดทั้ง 9 วันของการเดินทาง   ดิฉันก็ได้แต่นึกชื่นชมความสามารถของเขาอยู่ในใจ หากไม่ได้มีการค้นคว้าหาข้อมูลการเดินทาง และรายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยวไว้ล่วงหน้าแล้ว การเดินทางครั้งนี้คงไม่ออกมาสวยงามอย่างที่เป็น งานนี้จึงต้องขอยกเครดิต ให้กับหลานชายไปเต็มๆ สักล้านเปอร์เซ็น
       กลับจากการท่องเที่ยว ตั้งใจว่าจะเล่ารายละเอียดของการเดินทางให้ทุกคนฟัง แต่มาพบว่า ช่วงที่ไปครั้งนี้   ดิฉันไม่ได้ศึกษารายละเอียดของประเทศนี้มาก่อน จึงมักจะไปทำอะไรเปิ่นๆไปหลายอย่าง ดังนั้นก่อนจะเล่ารายละเอียดของการ เที่ยวญี่ปุ่น 9 วันของเรา   คงต้องพูดถึงเรื่องที่ผู้เดินทางควรจะรู้ล่วงหน้าไว้บ้างก่อนจะไปประเทศญี่ปุ่น  จะได้ไม่ไปทำขายหน้าเจ้าของบ้านเขา  โดยจะขอเริ่มที่ภาพรวมของ Trip นี้ให้ทุกท่านได้เห็นก่อนว่า เราไปที่ไหน เดินทางอย่างไร นอนแบบไหน และทานอะไรกันบ้าง ( เรื่องรับประทานนี่ เป็นหัวใจของท้องเรื่องเลยล่ะ)
       
         เริ่มด้วยการวางแผนฯ สิ่งที่ต้องชมเชยผู้จัดแผนการเดินทาง คือ น้องพี  โดยก่อนวางแผนฯ จะถามก่อนว่า ไปเที่ยวครั้งนี้คุณป้า ให้ความสำคัญไปกับสิ่งไหนบ้าง เพื่อที่จะได้วางแผนฯ และหาข้อมูลให้ถูกใจลูกทัวร์ คำตอบของดิฉันมีดังนี้ 
 
       อันดับหนึ่ง สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็น มรดกโลก
       อันดับสอง ขอเที่ยวสถานที่ที่มีธรรมชาติสงบ สวยงาม หรือหมู่บ้านเล็กๆในชนบท ที่ยังมีวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านของท้องถิ่น 
       อันดับสาม ขอพักท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม และสบาย ทั้งกาย และ ใจ
       อันดับสี่ เน้นเรื่องอาหาร จำพวกขนมเค็กที่ขึ้นชื่อของประเทศญี่ปุ่น อาหารคาวไม่เน้น แต่หากจะทาน ควรเป็นอาหารของร้านที่มีชื่อเสียงของท้องถิ่นเท่านั้น
      เมื่อทราบความประสงค์ของคุณป้า Lily  ซึ่งดูว่าเป็นโจทย์ที่ยากจริงๆ เพราะลำพังหาที่เที่ยวก็เหนื่อยแล้ว นี่ยังต้องหาที่รับประทานแบบสุดยอด ระดับ 5 ดาวของแต่ละท้องถิ่นให้ด้วยนี่ยิ่งยากกันไปใหญ่  แค่ตามรอยชิมร้านอร่อยในเมืองไทย  ก็หาร้านกันยากเย็นแสนเข็ญ แต่นี่ยังบังอาจ (ต้องใช้คำว่า  บังอาจจึงจะเหมาะสม ) เดินหาร้านอร่อยในต่างประเทศ ที่ไม่เคยไปมาก่อนเลยนี่ นับเป็นสุดยอดของความอยากรู้อยากชิมจริงๆ  ( สำหรับดิฉันนอกจาก บังอาจแล้ว ยังมีความไม่เจียมตัวร่วมด้วย อีกต่างหาก) แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ในการค้นคว้าทางอินเตอร์เนตของหลานชาย(จากเวบไซต์ภาษาญี่ปุ่น) ในที่สุดทัวร์ ตะลอนชิม ก็สำเร็จออกมา อย่างสมบูรณ์แบบจริงๆ

เส้นทางการเดินทาง
      เราเริ่มออกเดินทางจากประเทศไทยไปประเทศญี่ปุ่น โดยเข้าที่สนามบิน Kansai International Airport เมืองโอซากา แม้จะเข้าประเทศญี่ปุ่นที่เมืองนี้ แต่เรากลับเก็บเมืองนี้ไว้เป็นเมืองสุดท้าย เพราะสถานที่ท่องเที่ยวที่เราสนใจจะอยู่ที่เมืองเกียวโตเสียเป็นส่วนใหญ่ การจะเที่ยวให้ได้มากที่สุดจึงต้องวางแผนการเดินทางให้ดี ซึ่งหลานชาย ได้กำหนดเส้นทางเป็นวงกลม โดยมีเมืองโอซากาเป็นจุดศูนย์กลาง ที่มีรัศมีการเดินทางเกือบทุกจุดห่างจาก เมืองโอซากาไม่เกิน 3 ชั่วโมง แผนการท่องเที่ยวของเราจึงออกมาเป็นดังนี้
 วันที่ 1 OSAKA - KOBE
- ชม Meriken Park + Harbor Land - จุดชมวิวเมืองโกเบ และ อนุสรณ์การเกิดแผ่นดินไหว       
- เที่ยว Kitano-Cho ย่านการค้าเล็กๆ ที่เกิดตั้งแต่สมัยโกเบเริ่มเป็นเมืองท่า เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกมีร้านค้า ร้านอาหาร และร้านขายของบูติค มากมาย
- มื้อเย็น ต้องกิน เนื้อโกเบ เท่านั้น เป็นอื่นมิได้อีกแล้ว
 วันที่  2  พิชิตปราสาท Himeji
- ระหว่างทางแวะถ่ายรูปกับ Akashi Kaikyo Bridge - สะพานแขวนที่ยาวที่สุดในโลก
  จากนั้น เดินทางต่อไปยัง Himeji Castle ปราสาทที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นมรดกโลก
- ช่วงบ่ายเดินทางต่อไปยัง
Kinosaki onsen เมืองตากอากาศ แช่น้ำร้อนชื่อดังของญี่ปุ่น  ซึ่งเป็นเมืองขนาดเล็ก มีแม่น้ำเล็กๆอยู่กลางเมือง คนส่วนมากใส่ชุดยูคาตะเดินเล่นกันในเมือง แช่น้ำร้อน รับประทานอาหารเย็น แบบญี่ปุ่นในโรงแรม
  วันที่  3 บุก KYOTO
- ออกเดินทางไปยังเมือง KYOTO เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น และเป็นเมืองที่มีมรดกโลกมาก ที่สุดในประเทศ
- ลงมาเที่ยวเมือง Uji จากนั้นไปสำรวจ South   Kyoto
- เที่ยววัด Byodo-In Temple วัดเก่าแก่ของเขตนี้ และแวะร้านTsuen Tea ร้านชาเขียวร้านแรกของโลก
- เที่ยว Fushimi Inari Shrine (สถานที่ถ่ายทำเรื่อง Memoirs of a Geisha)
- รับประทานอาหารกลางวัน ที่ Kitsune Udon
- เที่ยวเขต Central Kyoto

      สถานที่น่าสนใจในเขตนี้  คือ
- Nijo Castle - ปราสาทใหญ่ของเมือง (เป็นมรดกโลก)
- Kyoto Imperial Palace - เป็นที่อาศัยของราชวงศ์จนถึงปี 1868

- Nishiki Market  ตลาดสดแบบญี่ปุ่นแท้ ตอนเย็นเดินเที่ยวบริเวณที่พัก ซึ่งอยู่ในย่าน Kawaramachi
- สำรวจ  Pontocho เป็นบ้านญี่ปุ่นเก่าๆ เป็นอีกถนนที่นักท่องเที่ยวมารอพบเกอิชากัน

  วันที่ 4 ล่องทะเลกรวด ฟังเสียงคลื่นหัวใจ
- ซื้อบัตร All Day Pass 500yen
- เดินทางไปเที่ยว Kinkakuji (Golden Pavilion) ไฮไลท์หนึ่งของเมืองเกียวโต
- วัดเซนชื่อดัง RyoanJi Temple ชมสวนหินแบบเซนที่โด่งดังมากในญี่ปุ่น
- Arashiyama สถานที่เดินเล่น พักผ่อนแบบธรรมชาติของเกียวโต เที่ยวชมวัด เดินเล่นริมแม่น้ำ ป่าไผ่
- เดินเที่ยวแถว ย่าน Gion ซึ่งเป็นย่านบ้านเก่าและเกอิชา

  วันที่ 5 Path of Philosophy
- เที่ยว วัด Toji มีตลาดนัดทุกวันที่ 21 ของเดือน ชมเจดีย์ที่สูงที่สุดในญี่ปุ่น อายุกว่า แปดร้อยปี
- เที่ยวบริเวณ East Kyoto ซึ่งมีสถานที่น่าสนใจ คือ
      1. Ginkakuji Temple - วัดเงิน เดินเล่นริมคลองมา     ตามPath of Philosophy แวะ  
ร้าน Yojiya คาเฟ่ดังของเกียวโต
      2. Heian-Jingu Shrine - ศาลเจ้าขนาดใหญ่ อายุกว่าพันปี
      3. เจดีย์ Yasaka
      4. Kiyomizu-dera - วัดที่มีน้ำสามสาย และถนนขึ้นไปวัดจะมีของขายตลอดทาง
      5.รับประทานอาหารเย็นแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมที่เรียวกัง โรงแรมแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม



วันที่  6  กวางเทวดา ที่ NARA
- ไปนารา เมืองหลวงเก่าอีกแห่งของญี่ปุ่น
- เข้าเที่ยววัด Todaiji วัดใหญ่ชื่อดัง มีกวางเดินทั่ววัด เดินเที่ยวในตัวเมือง ส่วนมากเป็นบ้านเรือนญี่ปุ่นแบบโบราณ บนถนนสายเล็กๆ

 วันที่ 7 นอนวัด
 -ไปเมือง Koyasan มีที่พักเป็น Temple Lodge เดินเที่ยวเล่นบนภูเขา ชมวัดต่างๆ
สถานที่สำคัญ Garan : Temple Complex ค้างคืนใน Temple Lodge (Shukubo)
 วันที่ 8 ยึด OSAKA
- เที่ยวAquarium (Kaiyukan) ที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น และปราสาทโอซาก้าใจกลางเมือง
ช่วงบ่ายเดินเที่ยวย่าน Shinsaibashi หรือ Dotonbori

 วันที่  9 Goodbye Japan
- Banpaku-kinen-koen สวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เคยใช้จัดงานExpoครั้งแรกในปี 1970
- เดินเที่ยวย่านชอปปิ้ง Dotonbori

    ตอนอ่านแผนเที่ยวข้างต้น สนุกสนานมาก ไม่รู้สึกว่าจะหนักหนาอะไร เพราะยังไม่เจอของจริง แม้จะเคยไปแถบนี้มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ก็เป็นแค่ ปาดทัวร์ บ้าง ชะโงกทัวร์ บ้าง ไม่ได้เห็นหรือสัมผัสลึกล้ำมากนัก เพราะทัวร์มักจะเน้นปริมาณสถานที่เข้าไว้ ไม่ลงรายละเอียดมากนัก เอาแค่ว่าให้พอกลับไปคุยว่าได้เคยไปมาแล้วเท่านั้น วันนี้จึงยังนึกภาพไม่ออกว่าจะเห็นอะไร
    แต่รู้สึกแปลกใจเมื่อหัวหน้าทัวร์ ( น้องพี ) อนุญาติแกมบังคับให้เปลี่ยนกระเป๋าเดินทาง จากใบใหญ่ไซต์ XL มาเป็นกระเป๋าลากขึ้นเครื่องใบเล็กเท่านั้น โดยให้นำเสื้อผ้าไปให้น้อยที่สุด  ตอนช่วงจัดกระเป๋าก็ไม่เข้าใจปนไม่สบอารมณ์เล็กน้อย ( อยากสวยอ่ะ)  แต่พอได้ไปใช้ชีวิตการเดินทางจริงๆ จึงรู้ และ คิดว่าหากใครคิดจะเดินทางเองก็ควร ได้รับคำแนะนำ และการเตรียมตัวให้กระจ่างก่อนไปบ้าง ดังนั้น  ก่อนจะเล่าว่าไปเที่ยวที่ไหนสนุกอย่างไร โปรดกัดฟันอ่านข้อแนะนำต่อไปนี้ก่อน แม้จะยาวสักหน่อย แต่รับรองว่ามีประโยชน์ต่อทุกท่านแน่นอน 
 การเตรียมกระเป๋า
      จากแผนฯข้างต้น มีเกร็ดเล็กๆน้อยๆ ที่อยากให้รู้ไว้เพื่อจะได้เตรียมตัวได้เหมาะสมกับสถานการณ์ และสภาพแวดล้อม คือ
 
      1. เนื่องจากต้องเดินทาง และย้ายที่พักเกือบทุกวัน และบ่อยครั้งที่ต้องฝากกระเป๋าไว้ตามตู้ฝากแถวสถานีรถไฟ  เนื่องจากโรงแรมอาจอยู่ไกลและเวลาที่จะเช็คอินมักจะเป็นช่วงบ่าย 3 โมงไปแล้ว จึงไม่ควรใช้กระเป๋าเดินทางใบใหญ่ ใช้แค่ใบเล็ก แบบมีล้อลากเท่านั้น อย่าใช้แบบหิ้ว หรือสะพายเด็ดขาด เพราะแค่ระยะทางภายในสนามบินแต่ละที่ที่กว้างใหญ่ คุณก็จะหมดแรงแบกแล้ว หากคิดว่าจะซื้อของฝากกลับบ้าน ( ซึ่งก็ไม่ควรนัก และ อาจไม่มีเวลานัก) ก็หากระเป๋าแบบพับได้ติดไปด้วยก็ไม่ว่ากัน
 
      2. ไม่ควรนำเสื้อผ้าไปมาก หากไป 10 วันก็แค่ 3 ชุดก็พอ  หากไปฤดูร้อนก็อนุญาตให้เพิ่มอีก 1ชุด กันเหม็น แต่ควรหาเวลาไปช่วงฤดูใบไม้ผลิที่อากาศเย็นสบายดีที่สุด ไม่หนาวมาก ไม่ร้อนมาก เหงื่อไม่ออก เสื้อผ้าไม่เปลือง  ยิ่งหากไปช่วงที่อากาศเย็นสบาย เหงื่อไม่ออกมากยิ่งไม่ต้องเปลี่ยนให้เปลืองเสื้อผ้าเลย  ข้อสำคัญ ที่ควรทราบคือ ทุกโรงแรมในประเทศญี่ปุ่น จะมีชุดนอน หรือชุดยูกาตะ ไว้ให้ คุณจึงไม่จำเป็นต้องเอาชุดนอนไป นอกจากนั้นยังมี ผ้าเช็ดตัวสารพัดชนิด  แชมพู  ครีมนวด ครีมอาบน้ำ หวี แปรงผม ไดร์เป่าผม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สำลี และ ค๊อตต้อนบัด ไว้ให้ จึงไม่ต้องนำไป ดิฉันเอาผ้าเช็ดตัวผืนเล็กไป ก็ต้องเอากลับมาโดยที่ยังไม่ได้หยิบมาใช้เลย
      สิ่งที่เอาไปได้คือ ของใช้ส่วนตัว จำพวก ที่บางแห่งไม่มีให้ เช่นเครื่องสำอาง  และครีมล้างเครื่องสำอาง ( ที่จริงหากไม่แต่งหน้าทาปากตอนเที่ยว ก็จะประหยัดพื้นที่ในกระเป๋าไปเยอะเลย และคงไม่มีใครอยากดูว่าเราสวยหรือไม่ด้วย จึงไม่จำเป็นต้องหอบกระเช้าเครื่องประทินโฉมไปให้หนัก กระเป๋าแต่อย่างใด )
      หากอากาศเย็นเอาเสื้อแจ็คเก็ตหัวหนาไปได้ แต่ไม่ต้องใส่ในกระเป๋า เพราะต้องใส่ช่วงเช้า และเย็น ส่วนตอนกลางวันหากร้อนก็ถอดมาผูกเอวไว้ อาจจะดูอ้วนท้วนไปหน่อย แต่นั่นเป็นวิธีเดียวที่จะจัดการให้มือว่างได้โดยไม่ต้องถือเสื้อแจ็คเก็ตไว้
 
      3. ควรสวมรองเท้าผ้าใบหรือ รองเท้าส้นเตี้ยคู่ที่คุ้นเคยเท่านั้น อย่าซื้อรองเท้าใหม่เพื่อการท่องเที่ยวนี้โดยมิได้ทดลองใส่เดินมาก่อนเด็ดขาด เพราะการเที่ยวของเราอาศัย สองน่อง สองขา กับรองเท้า2ข้างที่ไว้ใจได้เท่านั้น อย่าใส่รองเท้ามีส้น หรือส้นสูงแม้แต่น้อยนิดไปเที่ยวเด็ดขาด คุณไม่จำเป็นต้อง สวยสง่าสูงส่ง ในการท่องเที่ยวเลย เรื่องรองเท้า นับเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่ต้องเอาใจใส่ เพราะหากคุณมีปัญหากับรองเท้า การท่องเที่ยวของคุณมีหวังพัง หรือไม่คุณก็จะกลายเป็นตัวถ่วงคณะของคุณทันที
      หากมีพื้นที่ในกระเป๋าพอ แนะนำให้มีรองเท้าที่มีคุณสมบัติเดียวกันอีกคู่ จะได้เปลี่ยนสลับคู่ละวันเพื่อสุขภาพของเท้า แต่หากไม่มีที่ใส่ก็ไม่จำเป็น ส่วนถุงเท้าแนะนำให้ใช้ถุงเท้าเก่าที่นุ่ม ยิ่งเก่ายิ่งดี ใช้ไปแล้ว ก็ทิ้งไปเลย จะได้ลดพื้นที่และน้ำหนักกระเป๋า ( ที่ต้องลากทุกวัน)  ทั้งถุงเท้าและชุดชั้นใน ควรนำไปพอดีกับจำนวนวัน  อย่าพยายามคิดว่าจะไปซักที่โรงแรม เพราะกว่าจะเข้าที่พักก็ดึก ( เที่ยวจนหมดแรง) เช้าก็ต้องตื่นและเดินทางแต่เช้า รับรองว่าไม่มีเวลาซักแน่นอน  ทางที่ดีซื้อแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งดีกว่า ( มีขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป)  กรุณาอย่าใช้ของทั้งสองชนิดนี้ซ้ำวันเลย ได้โปรดเถอะ เห็นแก่สุขภาพของอวัยวะรับกลิ่น ของสมาชิกทัวร์เถอะ แค่ใส่กางเกงยีนส์ตัวเดียว 10 วันก็พอแล้ว

      4. ตั๋วรถไฟ บางประเทศมี ตั๋วรถไฟสำหรับนักท่องเที่ยว สามารถซื้อล่วงหน้าได้จากบริษัททัวร์ในบ้านเรา และจะไม่มีขายในประเทศของเขา เพราะเป็นตั๋วที่ขายให้เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น ตั๋วรถไฟของประเทศญี่ปุ่น ค่ารถไฟ และตั๋วรถบัสพาส โดยประมาณ 16,600เยน( Rate 0.36 ประมาณ 6,000บาท) ใช้ได้ประมาณ 3 วัน ขึ้นรถได้ไม่จำกัดเที่ยว
       เมื่อซื้อที่เมืองไทยจะได้ กระดาษพิมพ์รายละเอียดเหมือน E-Ticket ของสายการบิน เอากระดาษนี้พร้อม Passport ของแต่ละคนไปเปลี่ยนเป็นตั๋วรถได้ที่สนามบินประเทศญี่ปุ่นเมื่อเราไปถึง
     
     5. ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวที่จะไป และภาษาท้องถิ่น เป็นที่รู้จักกันดีว่า บางประเทศ เป็นประเทศที่รักชาติมาก จึงมักจะไม่ยอมพูด และ ไม่ยอมเรียนภาษาอื่น ดังนั้น เพื่อความอยู่รอดในประเทศนี้ คุณจึงควรรู้ภาษาของประเทศนั้นบ้าง หากพูดไม่ได้เลย แค่รู้คำที่จำเป็นๆก็พอ ครั้งนี้ ก็ได้ หลานชายอีก นั่นแหละ ที่พยายามไปเรียนภาษาญี่ปุ่นมาล่วงหน้า อีกทั้งยังค้นหาข้อมูลจุดที่จะเดินทางไปไว้อย่างละเอียด เราจึงมีชีวิตรอดมาได้โดยไม่อดข้าวตายเสียก่อน
     
      6. เนื่องจากที่ที่เราจะไปส่วนใหญ่ เป็นสถานที่ที่ไม่เคยมีบริษัททัวร์จัดไป เราจึงต้องเดินทางเอง แต่ สมัยนี้อุปกรณ์อีเลคโทรนิค และ คอมพิวเตอร์ มีประโยชน์ต่อการเดินทางมาก เพราะอุปกรณ์เหล่านี้สามารถใช้หาข้อมูลและทิศทางได้ดี  คือ I-Phone หรือ IPad ที่บรรจุข้อมูล แผนที่ สถานที่ท่องเที่ยว และ ที่พัก ตลอดจนร้านอาหารไว้ เพื่อใช้ค้นหา ( ก็บอกแล้วไงว่า มาแบบไม่เคยรู้จักมาก่อน) แต่ครั้งนี้ หลานมี สัมภาระมาน้อยมาก จึงพก Notebook เครื่องเล็กๆมาด้วย นอกจากจะค้นหาข้อมูลของวันต่อไปล่วงหน้าทุกคืนแล้วเรายังได้ดูข่าวของเมือง ไทยทุกวันอีกด้วย
7. เรียนรู้ ศึกษา เรื่องราว วัฒนธรรม ของสถานที่ที่จะไปบ้าง เพื่อที่จะได้เข้าใจคน และสิ่งแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่นในประเทศที่จะไปบ้าง  ข้อนี้ เป็นข้อที่ดิฉันพลาดไป  จึงต้องรีบนำมาบอกเพื่อนๆไว้ล่วงหน้า เริ่มจาก
      การไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นที่คนส่วนใหญ่คิดว่าจะได้เห็นความทันสมัยของ บ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอิเลคโทรนิค แต่เมื่อไปถึงแล้วจะพบว่าสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคุณค่า ส่วนใหญ่จะอยู่นอกเมืองใหญ่ โดยจะอยู่ในจังหวัดต่างๆซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของประเทศ ( ญี่ปุ่นสมัยโบราณ มีการย้าย หรือเปลี่ยนเมืองหลวงมากกว่าประเทศอื่น ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ปกครองประเทศในสมัยนั้น)
     และเป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งเมื่อได้พบว่า ผู้คนในเมืองเล็ก มีอุปนิสัยสุภาพ เงียบสงบ มีมารยาทที่อ่อนหวาน และมีความเอื้ออารีให้แก่เราเป็นอย่างมาก แม้ความเจริญทางวัตถุจะแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตของเขาอย่างมากแล้วก็ตาม แต่อุปนิสัยและบุคลิกของคนญี่ปุ่นก็ยังเป็นที่น่าชื่นชม บางท่านอาจจะเห็นว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนหยิ่ง เนื่องจากเขาจะไม่ค่อยพูดหรือทักทายเราเหมือนคนในประเทศตะวันตก นั่นเป็นเพราะเขาพูดภาษาอังกฤษได้น้อยมาก แต่เมื่อเราเข้าไปขอความช่วยเหลือแล้วละก็ แม้จะพูดไม่ได้แต่เขาจะแสดง อาการกระตือรือร้นที่จะช่วยเราจนเห็นได้ชัด อยากจะบอกว่าคนญี่ปุ่นสมัยนี้ไม่ปิดกั้นตัวเองเหมือนเก่า ทุกคนตั้งแต่เด็ก ไปจนถึงคนแก่ ต่างพยายามพูดภาษาอังกฤษเล็กๆน้อยๆกับเรา สิ่งนี้เองที่ทำให้การท่องเที่ยวของเราที่กลัวว่าจะลำบาก กลับง่าย และอบอุ่นมากขึ้น       
 หากไปญี่ปุ่น อย่าตั้งความประสงค์ว่าจะไปดูสิ่งทันสมัย เพราะไม่ต้องหาก็มีให้เห็นรอบตัว ตั้งแต่ออกจากเครื่องบินก็จะพบไปตลอดการเดินทาง ตั้งแต่ระบบการเดินทางทั้งรถยนต์ รถไฟ ระบบการสั่งอาหารที่ใช้เมนูแบบดูรูปและกดคูปอง ที่ฝรั่งเรียกว่า Pointing Menu แต่ที่ทันสมัยเหนือประเทศอื่น แม้แต่อเมริกาคือ ระบบห้องส้วม ที่ส่วนใหญ่ใช้ชักโครกไฟฟ้า นั่งแล้วอุ่นก้น ไม่ต้องกดน้ำให้เมื่อย ระบบทำให้ทุกอย่างเน้น ….ทุกอย่าง แม้แต่ในส้วมสาธารณะ ( ไม่เสียเงินทุกที่ และ98 % สะอาดมาก) เอาเป็นว่าความทันสมัยไม่ต้องไปตามหา มีให้ใช้ทุกที่ก็แล้วกัน                
 แต่สิ่งที่ต้องไปชมให้ได้คือความงดงามของสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ที่น่าชื่นชมตรงที่เขายังรักษาสภาพไว้ได้ดี หากจะเสียหายก็มิได้เกิดจากคนญี่ปุ่น แต่มักจะเกิดจากสงครามทั้งสงครามภายในประเทศก่อนที่จะรวมเป็นประเทศเดียว มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ญี่ปุ่นถูกระเบิดปรมาณูถล่ม โชคดีที่สถานที่สำคัญหลายแห่งรอดพ้นจากการทำลายมาได้
       สถานที่ท่องเที่ยวในญี่ปุ่นส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะไปชมวัด หรือศาลเจ้า และพระราชวังต่างๆ เพราะในสมัยโบราณ คนญี่ปุ่นนับถือเพียงศาสนาพุทธ และเทพเจ้าต่างๆ ส่วนศาสนาอื่นๆ เช่น ศาสนาคริสต์เข้ามาภายหลัง บ้านเมืองจึงเต็มไปด้วยวัด และศาลเจ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะมีศิลปะในการสร้างคล้ายๆกัน จนอาจจะสับสนจนแยกไม่ค่อยออกว่านี่เรามาเที่ยววัด หรือ ศาลเจ้า กันหว่า ส่วนพระราชวังมักจะมีปราสาทเป็นอาคารประธานให้เห็นเป็นส่วนใหญ่จึงตัดออกไปได้   เพื่อให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงขอแนะนำวิธีดูความแตกต่างระหว่างวัดในพุทธศาสนา กับศาลเจ้าดังนี้ 
 วัด  ซึ่งชื่อในภาษาอังกฤษ จะใช้คำว่า Temple  
 
      1. ในวัด เราจะพบกับอาคารที่เป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันได้แก่รูปปั้นพระพุทธรูป ซึ่งเป็นอาคารหลังใหญ่ที่สุด เป็นอาคารประธานของวัด ที่บ้านเราเรียกว่า โบสถ์ คนญี่ปุ่นเรียกหลายชื่อต่างกันตามท้องถิ่น เช่น Kondo , Hondo , Butsuden Amidado หรือ Hatto 
2. หอเรียนพระธรรม ที่บ้านเราอาจจะเรียนกันตามกุฏิท่านเจ้าอาวาส โรงเรียนพระปริยัติธรรม แต่วัดญี่ปุ่นต้องมีหอเรียน เรียกว่า Kodo เป็นที่ที่พระบวชใหม่จะมาเล่าเรียนพระธรรม บางครั้งอาจมีพิธีต่างๆในหอนี้ได้ 

     3. เจดีย์ หากเห็นเจดีย์สูงๆ ให้รู้ไว้เลยว่าเป็นวัด การสร้างเจดีย์ ของวัดญี่ปุ่น เป็นการนำเอาความเชื่อมาจากพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย ที่มีการสร้างสถูปเพื่อใช้เก็บพระธาตุ หรือพระอัฐิของพระพุทธเจ้า หรือหากไม่มีประธาตุก็จะมีรูปลักษณ์ที่ทำจำลองมาให้คล้าย   ( คงเหมือนบ้านเราที่มีรอยพระพุทธบาท) เจดีย์นี้สร้างให้มีจำนวนชั้นเป็นเลขคี่ คือ 3 หรือ 5 ชั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของวัด หากวัดใหญ่ก็ 5 ชั้น เรียกว่า Gojo no to วัดเล็กก็ 3 ชั้น เรียกว่า Sanju no to 

     4.หอระฆัง ทุกวัดต้องมีหอระฆังเพื่อตีบอกเวลาให้พระสงฆ์ลงมาสวดมนต์ทำวัตร ระฆังของวัดในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ มีขนาดใหญ่กว่าในบ้านเรามาก เวลาตีเสียงจะกึกก้องไปทั่วเมือง ความใหญ่จึงทำให้เสียงระฆังทุ้มกว่าบ้านเรา (และที่แปลกคือ ไม่ได้ยินเสียงหมาหอนเวลาวัดตีระฆังเหมือนบ้านเรา คงเป็นเพราะเสียงระฆังที่ดังทุ้มกว่ากระมัง บ้านเราระฆังใบเล็กจะเสียงแหลม รบกวนแก้วหู ทั้งหมาวัด หมาบ้านจึงหอนกันระงม  ยิ่งถ้าตีตอนใกล้รุ่งยิ่งทำให้บรรยากาศน่ากลัวมากขึ้น)
      หอระฆังของวัดในญี่ปุ่นจะมีบทบาทมากในวันขึ้นปีใหม่ หรือในวันสำคัญๆที่มีการอวยพร เพราะจะมีการตีระฆังถึง 108 ครั้ง เพื่อต้อนรับปีใหม่ หรืออวยพรให้แก่โลก โดยเรามักจะเห็นในข่าวต่างประเทศช่วงปีใหม่ทุกปี

      5. ประตูวัด ส่วนใหญ่จะมีประตูใหญ่สุดเพียงประตูเดียว มักจะสร้างให้อยู่ตรงทางเข้าไปสู่ อาคารประธาน หรือโบสถ์ของวัด บางวัดอาจมีประตูเล็กๆทางอื่นด้วย แล้วแต่ขนาดพื้นที่ของวัด ประตูวัดในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ หรือพูดได้ว่า อาคารทุกอาคารในวัดจะใหญ่โต และสวยงามวิจิตรมาก แสดงว่าในสมัยโบราณ พุทธศาสนาในประเทศนี้น่าจะรุ่งเรืองอย่างยิ่ง
  
    6. สุสาน หรือป่าช้า ดูจะเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่จะแสดงความแตกต่างระหว่างวัด กับศาลเจ้าได้เป็นอย่างดี เพราะศาลเจ้าไม่มีสุสาน หรือพิธีกรรมเรื่องงานศพ สุสานของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ โดยจะฝั่งศพ หรือเก็บกระดูกของบรรพบุรุษไว้ที่วัด เพื่อที่ลูกหลานจะได้มาเซ่นไหว้ในวันสำคัญๆเช่น วันตรุษ ฯต่างๆ หรือในวันครบรอบวันตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เรียกว่า Obon คล้ายวันเช็งเม้งในบ้านเรา กิจกรรมเกี่ยวกับงานศพจะมีที่วัดเท่านั้น จะไม่มีพิธีกรรมนี้ที่ศาลเจ้าเพราะ วิถีชินโตถือว่าเป็นเรื่องไม่มงคล 
 มาถึงศาลเจ้า ที่เรียกว่า Shrine 
ส่วนใหญ่จะเป็นศาล เจ้าในลัทธิชินโต Shinto ศาลเจ้าเป็นสถานที่ที่คนญี่ปุ่นสร้างไว้เพื่อประดิษฐานเทพเจ้าของลัทธิ ชินโต ซึ่งคนญี่ปุ่นนับถือคู่ขนานมากับศาสนาพุทธ คล้ายกับบ้านเราที่นับถือเทพเจ้าของจีนหลายๆองค์  เทพเจ้าของลัทธิชินโตที่คนญี่ปุ่นนับถือคือ Kami  
     คนญี่ปุ่นมาไหว้ศาลเจ้าก็เพื่อมาบนบานขอพรจากเทพเจ้าในเรื่องต่างๆ ในขณะที่วัดคือแหล่งบำเพ็ญบุญ และร่ำเรียนพระธรรมคำสั่งสอนให้จิตวิญญาณของคนอยู่ในความสงบสุข แต่ ดูเหมือนว่าศาลเจ้าจะเป็นหลายๆส่วนของวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นก็ว่าได้ เพราะคนญี่ปุ่นเวลาอยากได้อะไรให้สมปรารถนาก็จะมาขอที่ศาลเจ้า อยากรู้อนาคตก็มาเสี่ยงเซียมซี มีงานเทศกาลอะไรๆก็มาฉลองที่ศาลเจ้า ชายหญิงบางคู่มาแต่งงานที่ศาลเจ้า แม้แต่เด็กเกิดใหม่ก็พามาไหว้เจ้า ดังนั้นหากไม่นับคนที่มาเที่ยวแล้ว ศาลเจ้าจะมีผู้คนมามากกว่าและพลุกพล่านกว่าวัดมาก วัดจึงเป็นที่ที่สงบเงียบเหมาะแก่การร่ำเรียนพระธรรมอย่างยิ่ง



     1.วิธีสังเกตศาลเจ้า สิ่งแรกคือประตูที่สร้างด้วยต้นไม้ทั้งต้นทาสีแดงส้ม มีฐานสีดำเด่นเห็นมาแต่ไกล แม้จะสร้างแบบพื้นๆ ไม่ได้แกะสลักวิจิตรพิษดารเหมือนประตูวัด แต่ ประตูนี้ก็ใช้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นเลย เรียกว่า Torii  ยิ่งขนาดของศาลใหญ่แค่ไหน  ประตูก็จะใหญ่ตามไปด้วย ประตูที่ใหญ่มากๆ สร้างคร่อมข้ามถนนใหญ่เลยเห็นแล้วตื่นตามากคือ ประตูที่ศาลเจ้า Heien-Jingu  

บางศาลผู้คนจะบนบานด้วยการสร้างซุ่มประตูให้จนวางเรียงยาวให้เดินลอดได้ถึง 4 กิโลเมตร ( ศาลเจ้า Fushimi Innari ) โดยเชื่อว่าใครเดินรอดได้ตลอดจะโชคดี หากดูหนังเรื่องเกอิชา จะเห็นนางเอกวิ่งออกมาจากซุ้มประตูนี้ 
      2. รูปปั้นสัตว์ผู้เป็นผู้พิทักษ์ศาล ส่วนใหญ่จะเป็นรูปสิงโต หรือไม่ก็สุนัข ส่วนใหญ่จะตั้งรูปปั้นหรือรูปแกะสลักของสัตว์ชนิดนี้ไว้เป็นคู่ข้างทางเข้าศาล หลังจากเข้าประตูมาแล้ว แต่ที่ศาลเจ้า Fushimi Innari .ใช้รูปแกะสลักหินเป็นรูปสุนัขจิ้งจอกแทน เพราะเชื่อว่าสุนัขจิ้งจอกวิ่งไว และเป็นผู้นำคำอธิฐานของมนุษย์ไปส่งให้เทพเจ้าในสวรรค์ ดังนั้นเวลาจะเขียนคำอธิฐาน( Ema) ที่ศาลนี้จึงใช้ไม้ทำเป็นรูปหน้าสุนัขจิ้งจอก และยังแอบเห็นชาวบ้านนำ   อุด้ง ( ก๋วยเตี๋ยวญี่ปุ่น) หน้าเต้าหู้มาเซ่นไหว้สุนัขจิ้งจอกด้วย คล้ายๆกับให้รางวัล ( หรือติดสินบน)

     3. บ่อน้ำล้างมือ นับเป็นประเพณีที่ดีมาก ที่กำหนดให้คนที่มาศาลเจ้าต้องล้างมือ ล้างปากให้สะอาดก่อนเข้าไปในศาล เพื่อไหว้เทพเจ้า น้ำในบ่อทุกที่ช่างใสสะอาดมาก (ถ้าไม่เกรงว่าจะผิดประเพณี ก็อยากล้างหน้าล้างตาเสียเลย แต่คงโดนมองแบบแปลกๆแน่) บ่อน้ำส่วนใหญ่ทำมาจากหินทั้งแท่งที่แกะสลักให้เป็นถังน้ำ บางที่ก็ทำด้วยปูนซีเมนต์ ที่บ่อนอกจากจะมีน้ำแล้วยังมีกระบวยที่ทำด้วยไม้ไผ่ บางที่ทันสมัยก็ใช้ กระบวยสแตนเลส วางไว้ให้คนใช้ตักน้ำ
       ปัจจุบันบางศาลเจ้าตั้งอยู่ติดกับวัด  และเห็นบางวัดก็มีบ่อน้ำนี้ไว้ด้วย จึงไม่อยากใช้บ่อน้ำเป็นเป็นเครื่องตัดสินว่าที่นั้นเป็นวัด หรือศาลเจ้า 
4. ตัวอาคารหลัก ตัวศาลนี้จะแบ่งเป็นสองชั้น คือพื้นที่ชั้นนอก และชั้นใน   ชั้นในเรียกว่า Honden เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพของเทพเจ้า Kami ที่ไม่เปิดแสดงให้ผู้ใดเห็น สำหรับผู้ที่มากราบไหว้ขอพร จะต้องไหว้อยู่ที่พื้นที่ส่วนนอกที่เรียกว่า Haiden บางแห่งสร้างสองส่วนนี้แยกเป็นคนละอาคารเลยก็มี และเท่าที่เห็นทุกศาลจะมีขนาดใหญ่เช่นกัน แต่ดูว่าจะเล็กกว่าโบสถ์ของวัดเล็กน้อย 

    5. ศาลา สร้างเหมือนศาลาวัดบ้านเรา เนื่องจากศาลเจ้าเป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ดังนั้นจึงมีกิจกรรมต่างๆมากมายซึ่งก็จะมาจัดกันที่ศาลานี้ (ในวัดไม่มี) นอกจากกิจกรรมแล้ว ยังใช้เป็นที่แสดงละครแบบโบราณที่เรียกว่า Noh อีกด้วย บางศาลเจ้าที่ศาลาจะกลายเป็นที่แขวนโคมไฟ เพื่อแสดงชื่อผู้บริจาค ในยามค่ำคืนเมื่อจุดโคม ( เดี๋ยวนี้ใช้ไฟฟ้าแล้ว) ก็จะสามารถอ่านชื่อผู้บริจาคซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านค้าในชุมชนได้

      6.แผ่นเขียนคำอธิฐาน ที่เรียกว่า Ema ส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นจะเขียนคำอธิฐานของตนเองไว้บนแผ่นไม้ จากนั้นจึงแขวนไว้บนสถานที่ที่ทางศาลเจ้าเตรียมไว้ ทุกศาลจะมีแผ่นป้ายนี้เต็มไปหมด ส่วนแผ่นไม้อาจทำเป็นรูปต่างกันไป เช่นสี่เหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยมคางหมู รูปศาลาวัด แต่ที่ศาลเจ้า Fushimi Innari ทำเป็นรูปหน้าสุนัขจิ้งจอก เพราะเชื่อว่าสุนัขนี้จะนำคำอธิฐานไปให้เทพเจ้าอย่างรวดเร็วนั่นเอง
      7. ใบเซียมซี หรือ Omikuji จะมีทั้งที่ศาลเจ้าและวัด ใบที่ทำนายโชคดีมาก เรียกว่า Daikichi ส่วนใบทำนายโชคร้าย เรียกว่า Daikyo ใบทำนายนี้ผู้ที่ได้รับจะไม่นำกลับบ้าน โดยจะผูกไว้ที่กิ่งของต้นไม้ภายในวัด โดยเชื่อว่าคำทำนายเรื่องโชคดีจะเป็นจริง ส่วนโชคร้ายก็จะกลายเป็นดี จึงไม่แปลกที่เมื่อเข้าไปในวัดแล้วจะเห็นต้นไม้ที่ถูกผูกกระดาษติดกิ่งไม้ เต็มไปหมด

      8. เชือกสายสินธุ์ หรือที่เรียกว่า Shimenawa เป็นเชือกเส้นใหญ่ ที่มีกระดาษสีขาวพับเป็นรูปซิกแซก ( Gohei) และ ฟางข้าวแห้งห้อยอยู่เป็นระยะ มักจะแขวนไว้บนประตูเข้าวัด หรือที่ต้นไม้ และ ก้อนหิน ที่คนเคารพบูชา เราอาจเห็นได้ที่เอวของนักมวยปล้ำซูโม่ ระดับสูง ในวันที่มีการเฉลิมฉลองด้วย

 ศาลเจ้าเล็กๆตั้งตามซอย หรือชุมชนเล็กในเมือง


     เท่าที่เล่ามาคือความแตกต่างระหว่างวัด กับ ศาลเจ้า ที่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ โปรดอย่าดูจากศิลปกรรมการก่อสร้าง เพราะทั้งวัดและศาลเจ้า มีสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะและศิลปะแบบเดียวกันชนิดแยกไม่ออก และศาลเจ้าก็มีขนาดใหญ่ และมีความสำคัญพอๆกับวัดด้วย
     จากลักษณะสิ่งก่อสร้างก็มาถึงวิธีปฏิบัติตน เวลาเข้าวัด หรือเข้าศาลเจ้า ที่หลายคนสับสนว่าจะทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง ระหว่างการไหว้พระ กับการไหว้เทพเจ้า


การไหว้พระในวัด กับการไหว้เจ้าตามศาล 
จะมีขั้นตอนเหมือนกันใน 3 ตอนแรกคือ 


      1. ล้างมือ และปากให้สะอาดที่บ่อน้ำก่อนเข้าสู่โบสถ์ หรือ ศาล
 
   2. บางวัด บางศาลเจ้า จะมีตู้รับบริจาคเงิน เป็นตู้สี่เหลี่ยมกว้าง ยาว สูง ประมาณ 1 เมตร ด้านบนจะทำเป็นร่องๆ เพื่อให้ผู้บริจาคโยนเหรียญลงไปในกล่องนั้น การใส่เงินไม่ได้กำหนดว่าเท่าไร แล้วแต่ความศรัทธา ของแต่ละคน เงินนี้ไม่น่าเรียกว่าเป็นเงินบริจาค แต่น่าจะเรียกเหมือนเงินติดกัณฑ์เทศมากกว่า เพราะการจะใส่เงินหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า ผู้นั้นคาดหวัง ต้องการ หรือมีความสุขกับผลของการอธิฐานแค่ไหน เงินนี้ส่วนใหญ่เป็นเหรียญจำนวนเงินน้อยๆ ที่ทางวัดนำไปใช้ในการบูรณะ วัดเป็นส่วนใหญ่ 


      3. ต่อจากกล่องรับเงิน หรือเหนือกล่องรับเงิน จะมีผ้าสีสด หนึ่ง หรือสองผืน เป็นเส้นยาวมัดรวมกันห้อยลงมาจากขื่อศาลา หรือเสาวัด ที่ผ้าจะมีกระดิ่งลูกใหญ่ห้อยติดไว้ 1 ลูก ให้ดึงหรือสั่นผ้า เพื่อให้กระดิ่งดัง เชื่อว่านั่นเป็นการบอกพระ หรือเทพเจ้าว่าเรามาทำบุญแล้ว โปรดมารับคำอธิฐานของเราด้วย
 
      สามขั้นตอนนี้ใช้ได้ทั้งไปวัด และ ไปศาลเจ้า  สำหรับขั้นตอนต่อไปจะเริ่มต่างกันระหว่าง วัด กับ ศาลเจ้า คือ


      4. การไหว้เจ้า ในศาลเจ้า ให้ยืนสงบตั้งสมาธิโค้งอย่างสุภาพนอบน้อม 2 ครั้ง จากนั้น ตบมือ แปะ แปะ 2 ครั้ง ครั้งที่สาม แทนที่จะตบมือให้พนมมือไหว้พร้อมอธิฐาน เสร็จแล้วเอามือลง พร้อมโค้งอย่างนอบน้อมอีกครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี
ส่วนการไหว้พระในวัด เริ่มจาก ให้ยืนสงบตั้งสมาธิโค้งอย่างสุภาพนอบน้อม เพียง 1 ครั้งเท่านั้น จากนั้นยกมือขึ้นพนมพร้อมอธิฐานอย่างมีสมาธิ จบแล้วเอามือลง พร้อมโค้งอย่างนอบน้อมอีกครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี ห้ามตบมือ แปะ แปะ เด็ดขาด
               เอาล่ะ หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วล่ะก็ รับรองว่าสามารถไปวัดไปวาได้ไม่ต้องอายใครแล้ว สำหรับดิฉัน ขอสารภาพนะว่าไปทำผิดๆ ถูกๆมาแล้ว กลับมาจึงต้องรีบหาข้อมูลมาบอกกันก่อน หากไปญี่ปุ่นขอแนะนำให้เที่ยววัด เพราะวัด ส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณที่สงบไปด้วยธรรมชาติ แม้บางวันจะมีคนไปเที่ยวมาก แต่ก็ยังมีหลายมุมที่สวยและสงบ ไปแล้วรับรองว่าสบายใจกลับมาแน่นอน แล้วอย่าลืมซื้อผ้ายันต์สารพัดชนิดติดมือกลับมาด้วยล่ะ มีขายเต็มไปหมด ทั้งที่วัด และ ที่ศาลเจ้าเลยจ๊ะ
      
    วันนี้คงต้องจบเรื่องแนะนำชุดแรกไว้ก่อน โปรดติดตาม คำแนะนำ ตอนต่อไปที่มีประโยชน์ไม่แพ้กัน ส่วนเรื่องไปเที่ยวกำลังตามมาทีหลัง รับรองว่าสนุกแน่นอนจ๊ะ