บ้านป้าLily หลังนี้เปิดไว้เพื่อให้เป็นที่ที่เพื่อนๆมานั่งตั้งวงคุยกันด้วยเรื่องที่เราชอบ
โดยมีป้า Lily มานั่งเล่าเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แถมสนุกสนานให้ฟังอีก
วันที่ท้องฟ้าสดใสในเวลาแดดร่มลมตกไม่มีอะไรดีไปกว่าการมานั่งที่ ชานเรือนของบ้านป้าLily อีกแล้ว


ยินดีต้อนรับทุกท่านจ๊ะ

วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ขนมกง ที่ กงไกรลาศ




   หลังจากหยุดพักการเดินทาง เพราะอาการบาดเจ็บที่หัวเข่ามา 2 เดือน แถมด้วยโรคเล็กๆน้อยที่ได้ทีมารุมกินโต๊ะอิฉันกันสนุกสนานจนทำให้ไม่สามารถลุกขึ้นมาเล่าอะไรต่ออะไรให้เพื่อนในบล็อกได้อ่านอยู่นาน
   วันนี้ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่กลับมาจากการทดลองเดินทางไกลไปเที่ยวสุโขทัย  เลยนำเอาเรื่องประทับใจของอำเภอเล็กๆอำเภอหนึ่งมาเล่าสู่กันฟัง
อำเภอนั้นคือ “ อำเภอกงไกรลาศ”  ช่างเป็นชื่อที่ไพเราะเพราะพริ้งเสียจริง  แต่ต้องขอสารภาพเลยว่านี่เป็นครั้งแรกที่ได้ยินชื่อนี้  หากคนเมืองนี้จะน้อยใจหรือต่อว่าในความรู้น้อยของดิฉันก็ยินดีน้อมรับ  แต่ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ฉันต้องรีบตัดสินใจเดินทางไปทันทีที่มีคนชวน 

   การเดินทางครั้งนี้นอกจากจะเป็นการไปท่องเที่ยวหาความรู้แล้ว  ยังเป็นการทดลองเดินทางไกลแบบนั่งรถนานๆครั้งแรกของดิฉันหลังจากที่หยุดรักษาตัวมานานอีกด้วย เพราะอีกไม่นานฉันยังมีแผนการเดินทางอีกหลายทริปรออยู่

   การไปเที่ยวครั้งนี้ฉันไม่ได้ไปแบบส่วนตัว แต่ไปแบบกลุ่มใหญ่ที่บางครั้งรู้สึกอึดอัดใจหลาย เรื่องโดยเฉพาะเรื่องการแย่งกันถ่ายรูป  บางจุดแทบจะต้องแหวกศรีษะผู้คนเพื่อขอถ่ายรูปสถานที่สำคัญๆกันเลยก็มี  แถมเวลาวิทยากรอธิบายรายละเอียดให้ฟัง  กลับมีแต่เสียงคุยกันจนแทบไม่ได้ยินคำอธิบาย

   อย่างไรก็ตาม  สมัยนี้เรามีแหล่งข้อมูลให้ค้นคว้า จึงไม่ต้องไปถามหาให้ยุ่งยาก ดังนั้นวันนี้ฉันจึงสามารถเล่าเรื่องเมือง “กงไกรลาศ” ได้อย่างไม่ติดขัด ขอบคุณ ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  มาณ. ที่นี้



   อำเภอกงไกรลาศ เป็น 1 ใน 9 อำเภอของจังหวัดสุโขทัย  จังหวัดที่ฉันเคยเดินทางไปทางงานแบบสายฟ้าแลบหลายต่อหลายครั้ง  คือไปถึงก็ทำงานแล้วก็ขึ้นเครื่องบินกลับ  เวลารถวิ่งผ่านสถานที่ท่องเที่ยวครั้งใด ได้แต่มองแบบอาลัยอาวรณ์  ครั้งนี้ฉันมาแบบอิสระชน ที่จะเที่ยวได้ตามใจตัวเองเสียที

    ก่อนจะเข้าสู่ตัวเมืองสุโขทัย เราต้องผ่านอำเภอ “ กงไกรลาศ” ที่ดูเหมือนว่าส่วนราชการ และคนในชุมชนพยายามพลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยงทางวัฒนธรรมขึ้นมาให้ได้   แม้ในช่วงที่ไปจะอากาศร้อน  จำนวนนักท่องเที่ยวมากเกิน (จนหมดอารมณ์) แต่เหตุที่ต้องเขียนถึงเมืองนี้ก็เพราะได้เห็นความพยายามและความสามัคคีของคนในเมืองนี้ นั่นเอง
    ก่อนจะตระเวนชมเมือง  เราควรทราบว่าคำขวัญ หรือของเด่นของเมืองเขามีว่า

ทองม้วนชวนกิน อร่อยลิ้นขนมผิง
ปลาร้าเด็ดจริง ยอดยิ่งน้ำปลาดี


   ธรรมชาติของเมือง  อำเภอกงไกรลาศตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดสุโขทัย อยู่ในเขตพื้นที่ราบลุ่มน้ำยมตอนล่าง ไม่มีภูเขา มีแม่น้ำยมไหลผ่านเป็นสายหลักของอำเภอ แม่น้ำยมที่ไหลผ่านบริเวณอำเภอกงไกรลาศมีความคดเคี้ยว จึงทำให้บริเวณนี้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากบ่อยครั้ง บริเวณตอนใต้ของอำเภอ


ประวัติ

   กงไกรลาศเดิมเป็นแขวงหนึ่งของเมืองสุโขทัย ปรากฏหลักฐานการตั้งเป็นอำเภอกงไกรลาศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ โดยมี พระกงไกรลาศ  ดำรงตำแหน่งนายอำเภอคนแรก ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่บนเกาะเล็ก ๆ ชื่อ “เกาะกง


   ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ในสมัยหลวงบุรีไทยพิทักษ์  ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอกงไกรลาศเป็นอำเภอบ้านไกร เนื่องจากเกาะกงมีน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก ไม่สะดวกในการติดต่อราชการของประชาชน ในปีเดียวกันนั้นจึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยม  

     ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ในสมัย นายเปลี่ยน สิทธิเวช ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอบ้านไกรเป็นอำเภอกงไกรลาศ ดังเดิม เนื่องจากชื่อกงไกรลาศ ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยมาช้านาน



    ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ในสมัย นายเอื้อน รงค์ทอง ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ได้พิจารณาเห็นว่าบริเวณที่ว่าการอำเภอเดิมคับแคบขยายไม่ได้ ทั้งยังมีน้ำท่วมถึง ประกอบกับอาคารที่ว่าการอำเภอเริ่มชำรุดทรุดโทรม จึงให้ขออนุญาตย้ายไปสร้างที่แห่งใหม่ กระทรวงมหาดไทยได้อนุญาตให้ย้ายไปสร้างที่แห่งใหม่บริเวณริมถนนสิงหวัฒน์ หลักกิโลเมตรที่ ๒๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านกร่าง เนื้อที่ ๒๕ ไร่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเดิม ๓ กิโลเมตร เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๕ จนถึงปัจจุบัน สถานที่เดิมใช้เป็นที่ตั้งสถานีอนามัยตำบลกงจนถึงปัจจุบัน




   วันที่เราไปเที่ยวเมืองนี้  ชาวเมืองได้จัดรถคอกหมู ซึ่งก็คือรถโดยสารที่ต่อตัวรถด้วยไม้ ทาสีสันสดุดตา  บรรทุกคนได้ 3 แถววิ่งตระเวนพาเราไปตามซอกมุมต่างๆของเมือง 




   สิ่งที่ฉันชอบเอามากๆคือ บ้านเรือนชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ที่ยังคงถูกรักษาไว้ในแบบดั้งเดิม  คือเป็นบ้านชั้นเดียว หรือ 2 ชั้นแบบเก่า  แทบไม่มีตึกแถวโผล่มาให้รำคาญตา   ผู้คนเมืองนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มคนเชื้อสายจีนและลาวโซ่ง ที่อพยพมาทางเรือจากจังหวัดลพบุรี มาตั้งรกรากเพื่อทำมาหากินบริเวณเกาะกลางน้ำชื่อว่า เกาะกง




   เกาะกง เกาะกง เป็นเกาะที่อยู่กลางแม่น้ำยม มีอายุกว่า 130 ปี แต่ก่อนเคยเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอแห่งแรกของอำเภอกงไกรลาศ โดยมีพระยากงไกรลาศ เป็นนายอำเภอคนแรก อยู่ฝั่งตรงข้ามกับศาลเจ้าพ่อดาบทอง เป็นที่อาศัยของชาวพื้นเมืองเดิม มีอาชีพหลักทางด้านการประมง การทำเครื่องมือหาปลา และการต่อเรือ ดังนั้นบ้านจึงมีลักษณะเป็นบ้านใต้ถุนสูง ในช่วงฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมขังตลอดเวลา การสัญจรไป-มาต้องใช้เรือเป็นพาหนะ ซึ่งที่หมู่บ้านนี้จะได้เห็นการทำเครื่องมือจับปลาหลากหลายรูปแบบ  (น่าเสียดายที่ช่วงที่ฉันไปเป็นช่วงหน้าแล้ง  แม่น้ำยมจึงแทบจะแห้งขอด)




   ต่อมาเมื่อเมืองขยายขึ้นก็มีกลุ่มชาวจีน จากพระนครศรีอยุธยา ชาวจีนแต้จิ๋ว และจีนไหหลำเข้ามาติดต่อค้าขาย จึงมีการก่อสร้างท่าเรือสำหรับขนส่งสินค้าบริเวณท่าเรือบ้านกง ต่อมาการเดินทางติดต่อกันระหว่างจังหวัดทางบกเริ่มสะดวกมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแพเริ่มย้ายที่อยู่อาศัยมาอยู่บนบก ปัจจุบันท่าเรือเกาะกงได้เลิกใช้ไปแล้วแต่ชาวบ้านยังคงรักษาวิถีชิวิตแบบดัง เดิมเอาไว้


สถานที่สำคัญของเมืองคือ

   วัดกงไกรลาศ หรือ วัดหลวงพ่อโตวิหารลอย วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อโต (วิหารลอย) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย สร้างขึ้นประมาณปี 2333 เล่ากันว่าในสมัยที่พม่ายกทัพมาตีเมืองพิษณุโลกได้เดินทัพผ่านและพักแรมที่ บ้านกงแห่งนี้ ด้วยความคึกคะนองและอยากลองดีของทหาร จึงยิงปืนใหญ่ถล่มวิหารหลวงพ่อจนพังเสียหาย แต่ไม่โดนองค์พระ มีเพียงรอยกระสุนทะลุจีวรด้านซ้ายให้เห็นเท่านั้น



      เล่าต่อกันมาว่าความเสียหายของวิหารในครั้งนั้น ทำให้หลวงพ่อโตต้องตากแดด ตากฝนอยู่นานหลายสิบพรรษา จนกระทั่งคืนหนึ่งของวันเพ็ญเดือนสาม ชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดนั้น ได้ยินเสียงแผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่นมาจากทางวัด แต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งรุ่งเช้า ต่างพบว่าหลวงพ่อโตได้แสดงปาฏิหาริย์เคลื่อนองค์ท่าน จากที่เดิมไปประทับใต้ต้นคูน ซึ่งอยู่ห่างจากที่เดิมราวสามวา
     สำหรับคำว่า วิหารลอยนั้น มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ทุกปีที่น้ำท่วมล้นขอบตลิ่งแม่น้ำยมซึ่งติดกับวัด ศาลาและกุฏิต้องทำการยกสูงมากกว่าหกศอกเพื่อหนีน้ำ แต่วิหารหลวงพ่อโตอยู่ในบริเวณเดียวกันนั้น กลับดูเสมือนลอยพ้นน้ำ เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นอีกในปี พ.ศ.2485 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ วิหารลอยก็ไม่ถูกน้ำท่วม ชาวบ้านเชื่อว่าใต้วิหารหลวงพ่อ อาจมีเรือสล่าเงินและสล่าทองหนุนค้ำให้วิหารลอย



   ศาลเจ้าพ่อดาบทอง ศาลเจ้าพ่อดาบทองเป็นศาลเจ้าที่มีมาประมาณ 200 ปี โดยชาวจีนสมัยแรกที่เดินทางเข้ามาค้าขายรวมตัวกันก่อตั้งขึ้นท่าเทียบเรือใน อดีต ปัจจุบันเป็นร้านค้าและบ้านเรือนริมแม่น้ำ เพื่อให้พ่อค้าขนส่งสินค้า หรือพ่อค้าที่เดินเรือผ่านหน้าศาล ได้กราบไหว้และบนบานเพื่อขอให้การเดินทางเป็นไปโดยสวัสดิภาพ ปราศจากภัยอันตรายทั้งปวง แต่ละปีทางสมาคมชาวจีน ได้จัดทำพิธีฉลองศาลในวันไหว้พระจันทร์



     วิถีชีวิตเลียบลุ่มน้ำยม  มีทั้งการหาปลาตลอดแนวริมน้ำโดยใช้เครื่องมือหาปลาชนิดต่างๆ มีการแปรรูปผลิตจากปลาประเภทปลาแดดเดียว ปลาร้า ปลาจ่อม โรงงานผลิตปลาร้าแหล่งใหญ่แห่งแรกในจังหวัดสุโขทัย โรงงานผลิตน้ำปลาปลาสร้อยที่ขึ้นชื่อประจำจังหวัด นอกจากนี้ยังมีการทำขนมไทยเช่นทองม้วน ทองพับ ขนมผิง เจ้าอร่อยประจำจังหวัดได้ที่นี่เช่นกัน



   ร้านขนมผิงแม่ติ๋มแง้มประตูขายขนมผิง ที่เป็นขนมไทยดั้งเดิมได้รับการถ่ายทอดมากว่า 40 ปี โดยมีต้นตำรับมาจากจังหวัดอยุธยา ขนมผิงแม่ติ๋มเป็นร้านที่มีชื่อเสียงมากเนื่องจากเป็นร้านเดียวที่ยังใช้ วิธีการทำขนมผิงแบบเดิม คือใช้เตาถ่านอบขนม จึงทำให้ขนมผิง มีรสชาติหวาน หอม กรอบ อร่อย แต่หลังจากเคยออกรายการทางทีวี ทำให้สินค้าขายดีมากลูกค้าต้องต่อคิวแย่งกันซื้อ จนทางร้านต้องแง้มประตูบานไม้พับให้เหลือช่องเล็ก ๆ ขาย ต่อมาจึงเรียกขนมผิงแง้มประตูขาย” 
    ร้านทองม้วน ที่มีชื่อของเมืองนี้มีหลายร้าน เช่นแม่สงวน หรือพ่อเจริญ  แม่สงวน เหลืองสุวรรณ ได้ริเริ่มทำทองม้วนขึ้นเป็นรายแรกของตำบลกงไกรลาศ และเคยได้ทำขึ้นทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี แต่วันที่เราไป เป็นร้านพ่อเจริญ ซึ่งก็อร่อยไม่แพ้กัน


อาหารนานาชนิดที่ตลาดริมยม 




   สำหรับอาหารกลางวัน ของเราที่กงไกรลาศ  ตามที่เป็นที่รู้กันว่าเมืองนี้มีชื่อเสียงเรื่องการจับปลาในแม่น้ำยม  ดังนั้นเราจึงมีอาหารที่ทำจากปลาถึง 6 อย่าง ใน 7 จานที่นำมาเสริฟ  หากท่านใดไม่ชอบปลาคงต้องห่อข้าวไปกินแบบอิฉันเลยจ๊ะ  อาหารที่ทำให้เรากินในวันนั้น รับรองว่าเป็นอาหารรสดั้งเดิมของชุมชนแน่นอน  เพราะบรรดาแม่ครัวล้วนเป็นคนพื้นเพริมแม่น้ำยมทั้งสิ้น 


   ปัญหาของการสื่อสารระหว่างคนต่างถิ่นอย่างเรา กับคนเมืองนี้จึงเกิดขึ้น ทั้งๆที่ก่อนมาก็มีรุ่นพี่ของฉันสอนมาแล้ว แต่ก็ลืมไป  เพราะคนที่นี่ใช้ศัพท์ในการเรียกอาหารและสิ่งของแปลกไปจากเรา เช่น คำว่า“ปลาเห็ด” จะแปลว่า “ทอดมัน”    “ไข่เดื่อ” แปลว่า “ ไข่อ่อนในพุงไก่ ” ต้มยำไข่เดื่อ คือ ต้มยำไข่อ่อน นั่นเอง 


   ตลาดริมยม 2437 เป็นตลาดอาหารยามเย็น หรือถนนคนเดินที่เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวในวันเสาร์แรกของเดือน  โดยร้านค้าจะขายสินค้าซึ่งเป็นอาหารแบบโบราณบนบนแคร่ไม้ไผ่เรียงต่อกัน ที่ข้างถนน แล้วตั้งแคร่ไม้ไวให้คนที่มา เดินตลาดได้นั่งกินอาหารต่างๆที่ซื้อจากแม่ค้าบนแคร่นี้   
   การแต่งกายของคนขายต้องแต่งตัวแบบย้อนยุค และห้ามใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติก เราจึงได้เห็นอาหารหลายชนิดที่ใส่ใบตอง หรือหม้อดิน ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวหยกใบตอง
 




ขนมเปียกปูน และขนมกง 



    แต่เนื่องจากคณะของเราไม่ได้ไปในวันที่เขามีตลาดกัน  ดังนั้นทางชุมชนจึงได้ยกตลาดมาจัดให้เราได้ดู และชิมกันแบบปาร์ตี้ย้อนยุคที่สุโขทัย  ทำให้พอได้เห็นบรรยากาศ 
    มีอีกสถานที่หนึ่งที่มีคนมาชมคือ  ห้องสมุดประชาชนของอำเภอกงไกรลาศซึ่งเป็น สถานที่ที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ แนววิทยาศาสตร์ เรื่องกาเหว่าที่บางเพลง  อันเป็นผลงานประพันธ์ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเรื่องแนววิทยาศาสตร์ ที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อ พ.ศ 2537 โดยใช้ห้องสมุดประชาชนของอำเภอกงไกรลาศ เป็นฉากของโรงพยาบาลของเรื่อง



   เราจบการท่องเที่ยวเมืองนี้ภายในเวลาค่อนวัน แม้อากาศจะร้อนแต่ฉันก็ได้เห็นได้รู้วิถีชีวิตที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน  ได้กินอาหารและขนมที่ไม่เคยกินที่ไหนอร่อยเท่านี้เลย แถมมีชื่อคล้องกับชื่อเมืองอีกด้วย  นั่นคือขนมกง คิดว่าคงจำขนมนี้ไปอีกนาน และบอกกับตัวเองว่า คงต้องแอบมาอีกสักครั้งแน่นอน











ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย