บ้านป้าLily หลังนี้เปิดไว้เพื่อให้เป็นที่ที่เพื่อนๆมานั่งตั้งวงคุยกันด้วยเรื่องที่เราชอบ
โดยมีป้า Lily มานั่งเล่าเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แถมสนุกสนานให้ฟังอีก
วันที่ท้องฟ้าสดใสในเวลาแดดร่มลมตกไม่มีอะไรดีไปกว่าการมานั่งที่ ชานเรือนของบ้านป้าLily อีกแล้ว


ยินดีต้อนรับทุกท่านจ๊ะ

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เอี๋ยนหุย กับ ขงจื้อ....



เอี๋ยนหุย กับ ขงจื้อ....คติสอนใจ


คติสอนใจจากเรื่องราวของเอี๋ยนหุย ชายหนุ่มผู้เป็นลูกศิษย์ของขงจื้อ ได้รับ Forward มาจากเพื่อน เห็นว่ามีประโยชน์ สามารถที่นำมาปรับใช้กับชีวิตของเราได้ ลองอ่านและพิจารณาดูค่ะ



เอี๋ยนหุยใฝ่ศึกษา มีคุณธรรมงดงาม เป็นศิษย์รักของขงจื้อ  มีอยู่วันหนึ่ง เอี๋ยนหุยออกไปทำธุระที่ตลาด เห็นผู้คนจำนวนมากห้อมล้อมอยู่ท ี่หน้าร้านขายผ้า จึงเข้าไปสอบถามดู จึงรู้ว่าเกิดการพิพาทระหว่างคน ขายผ้ากับลูกค้า ได้ยินลุกค้าตะโกนเสียงดังโหวกเหวกว่า

“3 x 8 ได้ 23 ทำไมท่านถึงให้ข้าจ่าย 24 เหรียญล่ะ!



เอี๋ยนหุยจึงเดินเข้าไปที่ร้าน หลังจากทำความเคารพแล้ว ก็กล่าวว่า


พี่ชาย 3 x 8 ได้ 24 จะเป็น 23 ได้ยังไง? พี่ชายคิดผิดแล้ว ไม่ต้องทะเลาะกันหรอก



คนซื้อผ้าไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ชี้หน้าเอี๋ยนหุยและกล่าวว่า


ใครให้เจ้าเข้ามายุ่ง! เจ้าอายุเท่าไหร่กัน! จะตัดสินก็มีเพียงท่านขงจื้อเท่านั้น ผิดหรือถูกมีท่านผู้เดียวที่ข้าจะยอมรับ ไป  ไปหาท่านขงจื้อกัน
เอี่ยนหุยกล่าวว่า

ก็ดี หากท่านขงจื้อบอกว่าท่านผิด ท่านจะทำอย่างไร?”


คนซื้อผ้ากล่าวว่า

 หากท่านวินิจฉัยว่าข้าผิด ข้ายอมให้หัวหลุดจากบ่า! แล้วหากเจ้าผิดล่ะ?”


เอี๋ยนหุยกล่าวว่า

หากท่านวินิจฉัยว่าข้าผิด ข้ายอมถูกปลดหมวก(ตำแหน่ง)



ทั้งสองจึงเกิดการเดิมพันขึ้น

เมื่อขงจื้อสอบถามจนเกิดความกระจ่าง ก็ยิ้มให้กับเอี๋ยนหุยและกล่าวว่า


“3 x 8 ได้ 23 ถูกต้องแล้วเอี๋ยนหุย เธอแพ้แล้ว ถอดหมวกของเธอให้พี่ชายท่านนี้เสีย


เอี๋ยนหุย ไม่โต้แย้ง ยอมรับในการวินิจฉัยของท่านอาจารย์ จึงถอดหมวกที่สวมให้แก่ชายคนนั้น
ชายผู้นั้นเมื่อได้รับหมวกก็ยิ้มสมหวังกลับไป

 ต่อคำวินิจฉัยของขงจื้อ ต่อหน้าแม้เอี๋ยนหุยจะยอมรับ แต่ในใจกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น
เอี๋ยนหุยคิดว่าท่านอาจารย์ชรามากแล้ว ความคิดคงเลอะเลือน จึงไม่อยากอยู่ศึกษากับขงจื้ออีกต่อไป


 พอรุ่งขึ้น เอี๋ยนหุยจึงเข้าไปขอลาอาจารย์กลับบ้าน ด้วยเหตุผลที่ว่าที่บ้านเกิดเรื่องราว ต้องรีบกลับไปจัดการ  ขงจื้อรู้ว่าเอี๋ยนหุยคิดอะไรอยู่ ก็ไม่ได้สอบถามมากความ อนุญาตให้เอี๋ยนหุยกลับบ้านได้
ก่อนที่เอี๋ยนหุยจะออกเดินทาง ได้เข้าไปกราบลาขงจื้อ ขงจื้อกล่าวอวยพรและให้รีบกลับม า หากเสร็จกิจธุระแล้ว พร้อมกันนั้นก็ได้กำชับว่า


อย่าแฝงเร้นกายใต้ต้นไม้ใหญ่ อย่าฆ่าผู้ใดหากไม่ชัดแจ้ง



เอี๋ยนหุยคำนับพร้อมกล่าวว่า


ศิษย์จะจำใส่ใจ แล้วลาอาจารย์ออกเดินทาง 

 เมื่อออกเดินทางไปได้ระยะหนึ่ง เกิดพายุลมแรงสายฟ้าแลบแปลบ เอี๋ยนหุยคิดว่าต้องเกิดพายุลมฝนเป็นแน่ จึงเร่งฝีเท้าเพื่อจะเข้าไปอาศัยอยู่ไต้ต้นไม้ใหญ่ แต่ก็ฉุกคิดถึงคำกำชับของท่านอาจารย์ที่ว่า



อย่าแฝงเร้นกายใต้ต้นไม้ใหญ่ อย่าฆ่าผู้ใดหากไม่ชัดแจ้ง



เราเองก็ติดตามท่านอาจารย์มาเป็นเวลานาน ลองเชื่ออาจารย์ดูอีกสักครั้ง คิดได้ดังนั้น จึงเดินออกจากต้นไม้ใหญ่

 

ในขณะที่เอี๋ยนหุยเดินไปได้ไม่ไกลนัก บัดดล สายฟ้าก็ผ่าต้นไม้ใหญ่นั้นล้มลงมาให้เห็นต่อหน้าต่อตา เอี๋ยนหุยตะลึงพรึงเพริด คำกล่าวของพระอาจารย์ประโยคแรกเป็นจริงแล้ว หรือตัวเราจะฆ่าใครโดยไม่รู้สาเหตุ? เอี๋ยนหุยจึงรีบเดินทางกลับ กว่าจะถึงบ้านก็ดึกแล้ว แต่ไม่กล้าปลุกคนในบ้าน เลยใช้ดาบที่นำติดตัวมาค่อยๆเดาะดาลประตูห้องของภรรยา

เมื่อเอี๋ยนหุยคลำไปที่เตียงนอน ก็ต้องตกใจ ทำไมมีคนนอนอยู่บนเตียงสองคน! เอี๋ยนหุยโมโหเป็นอย่างยิ่ง จึงหยิบดาบขึ้นมาหมายปลิดชีพผู้ที่นอนอยู่บนเตียง เสียงกำชับของอาจารย์ก็ดังขึ้นมา



อย่าฆ่าผู้ใดหากไม่ชัดแจ้ง

เมื่อเขาจุดตะเกียง จึงได้เห็นว่า คนหนึ่งคือภรรยา อีกคนหนึ่งคือน้องสาวของเขาเอง



พอฟ้าสาง เอี๋ยนหุยก็รีบกลับสำนัก เมื่อพบหน้าขงจื้อจึงรีบคุกเข่ากราบอาจารย์และกล่าวว่า


ท่านอาจารย์ คำกำชับของท่านได้ช่วยชีวิตของศิษย์ ภรรยาและน้องสาวไว้ ทำไมท่านจึงรู้เหมือนตาเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับศิษย์บ้าง?”


ขงจื้อพยุงเอี๋ยนหุยให้ลุกขึ้น และกล่าวว่า



เมื่อวานอากาศไม่ค่อยสู้ดีนัก น่าจะมีฟ้าร้องฟ้าแลบเป็นแน่ จึงเตือนเธอว่า อย่าแฝงเร้นกายใต้ต้นไม้ใหญ่ และเมื่อวาน เธอจากไปด้วยโทสะ แถมยังพกดาบติดตัวไปด้วย อาจารย์จึงเตือนเธอว่า อย่าฆ่าผู้ใดหากไม่ชัดแจ้ง



เอี๋ยนหุยโค้งคำนับ



ท่านอาจารย์คาดการดังเทวดา ศิษย์รู้สึกเคารพเลื่อมใสท่านเหลือเกิน


ขงจื้อจึงตักเดือนเอี๋ยนหุยว่า



อาจารย์ว่าที่เธอขอลากลับบ้านนั้นเป็นการโกหก ที่จริงแล้วเธอคิดว่าอาจารย์แก่แล้ว ความคิดเลอะเลือน ไม่อยากศึกษากับอาจารย์อีกแล้ว เธอลองคิดดูสิ อาจารย์บอกว่า 3×8 ได้ 23 เธอแพ้ ก็เพียงแค่ถอดหมวก หากอาจารย์บอกว่า 3×8 ได้ 24 เขาแพ้ นั่นหมายถึงชีวิตของคนๆหนึ่ง เธอคิดว่าหมวกหรือชีวิตสำคัญล่ะ?”





 เอี๋ยนหุยกระจ่างในฉับพลัน คุกเข่าต่อหน้าขงจื้อ แล้วกล่าวว่า


ท่านอาจารย์เห็นคุณธรรมเป็นสำคัญ โดยไม่เห็นแก่เรื่องถูกผิดเล็กๆน้อยๆ ศิษย์คิดว่าอาจารย์แก่ชราจึงเลอะเลือน ศิษย์เสียใจเป็นที่สุด


 จากนั้นเป็นต้นไป ไม่ว่าขงจื้อจะเดินทางไปยังแห่ง หนตำบลใด เอี๋ยนหุยติดตามไม่เคยห่างกาย



จากตำนานเรื่องเล่านี้ ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงเพลงๆหนึ่งของอิวเค่อหลี่หลิน(นักร้องดูโอของไต้หวัน) ที่ร้องว่า



หากสูญเสียเธอไป ต่อให้เอาชนะทั้งโลกได้แล้วจะยังไง?”

เช่นกัน บางครั้งคุณอาจเอาชนะคนอื่นด้วยเหตุผลของคุณ แต่อาจจะสูญเสียสิ่งที่สำคัญที่สุดไป
เรื่องราวต่างๆ แบ่งเป็นหนักเบารีบช้า อย่าเป็นเพราะต้องการเอาชนะให้ได้ แล้วทำให้เสียใจไปตลอดชีวิต
เรื่องราวมากมายที่ไม่ควรทะเลาะ กัน ถอยหนึ่งก้าวทะเลกว้างฟ้างาม


ทะเลาะกับลูกค้า ต่อให้ชนะ ก็แพ้อยู่ดี

(วันที่ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ใหม่ คุณก็จะรู้สึก)


ทะเลาะกับเถ้าแก่ ต่อให้ชนะ ก็แพ้อยู่ดี

(วันที่ตรวจผลงานปลายปีมาถึง คุณก็จะรู้สึก)


ทะเลาะกับภรรยา ต่อให้ชนะ ก็แพ้อยู่ดี

(เธอไม่สนใจคุณ คุณก็หากับข้าวกินเองละกัน)


ทะเลาะกับเพื่อน ต่อให้ชนะ ก็แพ้อยู่ดี

(เคลียร์ไม่ได้ คุณอาจจะเสียเพื่อนไปเลย)


ใบชา เกิดสีสวยและกลิ่นหอมน่าลิ้มลองได้ ก็เพราะโดนน้ำร้อนลวก
ชีวิตของคนเราก็เช่นเดียวกัน เพราะเผชิญกับอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่า
จึงเหลือไว้ซึ่งเรื่องราวเป็นตำนานให้ได้เล่าขานน่าตามติด
ผู้ที่รู้สำนึกคุณอยู่เสมอ จึงเป็นผู้มีวาสนามากที่สุด







วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ถนนสายไหม - เที่ยวขอนแก่น ตอน 2

ถนนสายไหม


          หลังจากชิมอาหารกลางวันสไตล์อีสานครบชุดแล้ว เราก็เริ่มกิจกรรมการท่องเที่ยวนอกเมือง ด้วยจุดหมายหลักที่ต้องการไปดูมากที่สุดคือ การทอและขายผ้าไหมไทย โดยผู้นำทาง ได้เสนอให้ไปชมที่อำเภอชนบท อันเป็นแหล่งใหญ่ของการผลิตผ้าไหม
     ที่อำเภอนี้ นอกจากจะมีร้าน และโรงงานทอผ้าไหมขนาดเล็กเต็มเมืองแล้ว ยังมี แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตผ้าไหมให้เราได้ศึกษาอีกด้วย สถานที่นั้นคือ ศาลาไหมไทย ภายใน วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอชนบทนัก ดังนั้น ก่อนที่เราจะไปเดินช๊อปปิ้งซื้อผ้า เราจึงตรงไปยังศาลาไหมไทยเพื่อเรียนรู้เรื่องราวของผ้าฯกันก่อน
 
     วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น และมูลนิธิส่งเสริมสตรีในชนบท เป็นผู้บริหารจัดการ  ศาลาไหมไทยแห่งนี้ เพื่อดำเนินการฝึกอบรมกลุ่มสตรีและเยาวชนในท้องถิ่นให้มีทักษะในการทอผ้า การออกแบบลายผ้าและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผ้าไหมให้คงอยู่ และพัฒนาให้สอดคล้องกับแนวทางความต้องการของตลาด และที่สำคัญคือที่นี่ยังเป็นแหล่งรับซื้อและจำหน่ายผ้าไหมที่เป็นผลผลิตของผู้ที่ได้รับการอบรมอีกด้วย  นับเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ซึ่งเป็นเกษตรกร และ เยาวชนที่ด้อยโอกาสในการทำอาชีพอื่น
      ที่ศาลาไหมไทย มีผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่ทอโดยฝีมือสมาชิกไว้จำหน่าย และแสดงให้ชมมากมาย ผ้าไหมส่วนนี้นับเป็นผลงานที่เกิดจากความมานะพยายาม ของชาวบ้านในอำเภอชนบท ซึ่งเชื่อว่าเป็นแหล่งที่ผลิตผ้าไหมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยทีเดียว
      
        ศาลาไหมไทยแห่งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารเมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม 2536 โดยพระราชทานนามอาคารหลังนี้ว่าอาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาราชินี

       จากห้องโถงใหญ่ของอาคาร เราจะพบกับผ้าไหมหลากสีหลายลาย ไว้จำหน่าย แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ ห้องแสดงผ้าไหมโบราณ และผ้าไหมต้นแบบลายต่างๆ ที่ทางศูนย์ได้อนุรักษ์ไว้ ซึ่งอยู่บนชั้นสองของอาคาร ที่นี่ เราจะพบกับผ้าไหมสีสันและลวดลายต่างๆ เก็บไว้ในชั้นจัดแสดงอย่างดี
 
       นาทีแรกเมื่อมาถึงห้องนี้  ดิฉันแอบสงสัยในใจว่า ทั้งที่ห้องเปิดแอร์คอนดิชั่นไว้ แต่เหตุใดเขาจึงไม่เปิดไฟในห้องจัดแสดงฯ เราจึงต้องเข้ามาพบกับความมืดของห้อง ต่อเมื่อเราเข้ามาในห้องสักพักเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล ซึ่งเป็นวิทยากรและผู้ชำนาญการด้านการทอผ้า จึงเปิดไฟฟ้าให้แสงสว่างแก่ห้อง

      เมื่อห้องสว่างขึ้น เราก็ตาสว่างด้วยสีและลวดลายอันงดงามของผ้าไหมภายในห้องไปด้วยเช่นกัน   ท่านวิทยากรฯชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องปิดไฟ และปล่อยให้ห้องนี้อยู่ในความมืดในช่วงที่ไม่มีผู้เข้าชม  ก็เพื่อต้องการรักษาคุณภาพของผ้าและป้องกันความเสื่อมสภาพของผ้าที่จะถูกรบกวนโดยรังสีและแสงสว่างของหลอดไฟนีออนนั่นเอง

 
    ผ้าไหมในห้องนี้ มีหลายชนิดเนื้อผ้า โดยจะแบ่งชนิดกันตามจำนวน ตะกรอ” ( ตะกรอ หมายถึง เส้นด้ายยืน ในผ้าที่ทอ) เริ่มจาก 2 ตะกรอ จนถึงสูงสุด เป็นพันตะกรอ ผ้ายิ่งตะกรอน้อยก็จะยิ่งบาง ดังนั้นเวลาเราซื้อผ้าไหมจึงมักจะถามคนขายก่อนว่ากี่เส้นนั่นหมายถึง ว่า กี่ตะกรอ นั่นเอง
      
ราคาผ้าไหมก็จะขึ้นอยู่กับจำนวน ตะกรอ ยิ่งมากตะกรอก็ยิ่งแพง โดยเนื้อผ้าจะหนาแน่น และแข็งแรงขึ้น แต่ผ้าไหมทั้งหมดจะมีคุณสมบัติ ประจำตัวคือต้องมีปุ่มไหม ที่เกิดจากธรรมชาติของเส้นไหม การทอด้วยเครื่องทอแบบโบราณที่เรียกว่า “ กี่กระตุกจะทำให้เกิดปุ่มซึ่งเป็นลวดลายตามธรรมชาตินั่นเอง  แต่ผ้าที่ สาวเส้นไหม และทอด้วยเครื่องจักร์ เนื้อผ้าจะเรียบสนิท เส้นไหมที่สาววิธีโบราณด้วยมือจะมีสีเหลืองทอง แต่เส้นไหมที่สาวด้วยเครื่องจักร์จะมีสีขาว ซึ่งมักจะเป็นเส้นไหมที่นำมาจากต่างประเทศ เป็นส่วนใหญ่
 
      หากพูดถึงความนิยมแล้ว การทอด้วย กี่ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ตลอดมา อีกข้อสังเกตคือ ผ้าที่มีจำนวนตะกรอน้อย คือ 2 ตะกรอ จะบาง นุ่ม และเห็นลายที่ทอชัดทั้งสองด้านของผ้า แต่ผ้าที่ตะกรอมาก ตั้งแต่ 3 ตะกรอขึ้นไป เนื้อผ้าจะแน่นและเห็นลายชัดเพียงด้านเดียว


          ก่อนที่เราจะไปถึงการรักษาผ้าไหม วิทยากรฯได้เชิญชวนให้เราชมผ้าไหมลวดลายต่างๆที่ทางศูนย์ค้นคิดขึ้น โดยที่สุดของลวดลายผ้าเหล่านั้นชื่อ  ลายขอพระเทพซึ่งเป็นลวดลายที่ขอพระราชทานมาจากลวดลายชุดฉลองพระองค์ของพระองค์ท่าน ดังนั้นผ้าไหมผืนนี้จึงถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เพื่อไว้เป็นต้นแบบให้แก่ผู้ที่มาศึกษาได้ชมและฝึกหัดต่อไป

 
      ลายผ้านับเป็นการบ่งบอกถึงฐานะของผู้ใส่ เช่นลายที่เป็นรูป ครุฑยุตนาคหรือ นารายณ์อวตารเป็นลายที่ใช้สำหรับฉลองพระองค์ของราชวงศ์เท่านั้นลายเทพนมเป็นลวดลายของชนชั้นสูง ชาวบ้านก็จะไม่ใช้เช่นกัน ส่วนลายประจำอำเภอชนบท แห่งนี้ จะชื่อ ลาย จี้เพชร” 

      ลายผ้าที่ทางศูนย์ฯได้นำมาแสดงมีไม่ต่ำกว่า200 ลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลายที่ประชาชนทั่วไปใช้กัน เช่น ลายหมี่กงเก้า  ลายหมี่ดอกพิกุล  ลายหมี่เต่า  ลายหมี่ดอกบัว  ลายหมี่สร้อยเพชร  ลายหมี่ผีเสื้อ  ลายหมี่เข็มขัดนาค  ลายหมี่ขอเขมร  ลายหมี่ไข่เขมร ฯลฯ ที่มักใช้คำว่า หมี่นำหน้าเพราะที่อำเภอชนบท เป็นแหล่งของผ้ามัดหมี่นั่นเอง
 
      จบจากลายผ้า ก็มาถึงคุณสมบัติของผ้าไหมและวิธีการเก็บรักษา ท่านวิทยากรฯแสดงให้เห็นว่า ผ้าไหมทำมาจากเส้นไหมที่เป็นผลิตภัณฑ์จากตัวไหม ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นโปรตีน ดังนั้นเมื่อนำมาจุดไฟเผา ไหมที่ถูกเผาไฟจะลามไปรวดเร็ว กลิ่นไหมที่ไหม้คล้ายกลิ่นผมไหม้ เหลือเป็นเถ้าที่เมื่อบี้ดู ขี้เถ้าจะแตกเป็นผงให้เห็น แต่ผ้าไหมที่ทำจากไนล่อนและผ้าเคมี เมื่อถูกเผาเปลวไฟจะค่อยๆลามอย่างช้าๆ กลิ่นเหมือนยางไหม้ ส่วนเถ้าที่เหลือจะเป็นก้อนบี้ไม่แตก
 
      สำหรับวิธีการรักษาผ้าไหม เนื่องจากผ้าไหมเป็นโปรตีน จึงไม่ดูดซับเหงื่อไคล คนโบราณจึงใช้น้ำมะพร้าวในการซักทำความสะอาด จากนั้นล้างออกด้วยน้ำฝน เพราะน้ำทั้งสองชนิดเป็นน้ำที่ไม่มีส่วนผสมทางเคมีที่จะทำลายเนื้อผ้า ผ้าที่ซักแบบนี้จึงมีความมันแวววาว เรียกว่ายิ่งซักก็ยิ่งแวววาว
 
      สมัยนี้หากหาน้ำมะพร้าวไม่ได้ สารทำความสะอาดที่เหมาะสมคือ แชมพูของเด็กอ่อน ที่ไม่มีสารรุนแรงต่อผิวผ้า จากนั้นให้ค่อยๆบีบน้ำออกจากผ้า ไม่ควรบิดจนเป็นรอย ค่อยๆสลัดน้ำออกจากผ้าแล้วตากในที่ร่ม มีลมผ่าน เมื่อผ้าแห้งหมาดๆก็สามารถนำมารีดได้ เพียงแต่ควรรีดด้านในของผ้าแทนด้านนอก ผ้าจะได้ไม่เสียง่าย

      การเก็บรักษาผ้าที่ซักแล้ว ไม่ควรพับแบบผ้าทั่วไป เพราะหากเก็บไว้นานๆจะทำให้เส้นไหมหักเป็นรอย วิธีที่ถูกคือการม้วนเป็นเส้นแล้วเก็บในลังไม้หรือตู้ที่มืดหรือ มีแสงสว่างไม่มากนัก สำหรับการอบผ้าที่นิยมกันในปัจจุบันนี้นั้น ทางศูนย์ได้พิสูจน์แล้วด้วยการเปรียบเทียบผ้าที่ผ่านการอบกับผ้าโบราณที่ไม่เคยผ่านการอบ พบว่าการอบไม่สามารถรักษาอายุของผ้าไหมให้ยืนยาวได้ แต่กลับตรงกันข้ามเพราะจะยิ่งทำให้ผ้าเสื่อมสลายเร็วขึ้นไปอีก เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็ควรหยิบผ้าไหมของเราที่เก็บไว้ในตู้มหาสมบัติ ออกมาสำรวจดูด้วยว่า บัดนี้ได้ถูกมอดกินไปกี่รูแล้ว
 
      หลังจากชมผ้าไหมที่มีคุณค่าเสร็จ  เราออกจากศูนย์ฯมาด้วยความรู้เรื่องผ้าไหมอย่างเต็มปรี่ รู้สึกขอบคุณ ท่านวิทยากรของ วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น เป็นอย่างยิ่งที่ช่วยสอนให้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยทราบมาก่อน   และไม่ไกลจากศูนย์ฯนัก  เราก็มาถึงถนนสายผ้าไหมในตลาดเมืองชนบท   ที่มีบรรยากาศแปลกกว่าเมืองอื่นตรงที่ ทั้งสองฝั่งถนนเล็กๆ มีร้านขายผ้าไหมเต็มทั้งสองฝั่ง เป็นระยะทางเกือบกิโลเมตร นอกจากนักท่องเที่ยวที่เดินชมสินค้าแล้ว ในถนนยังมีเจ้าหน้าที่ของร้านขี่มอเตอร์ไซด์วิ่งไปรับผ้าไหมมาจากตามบ้านของคนทอผ้า หรือจากโรงงานนอกเมืองกันขวักไขว่
      ที่รู้สึกแปลกก็เพราะเป็นที่รู้กันว่า  ผ้าไหมเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาแพง และไม่ใช่ของจำเป็นต้องใช้ประจำวัน แต่การมีร้านค้าขายผ้าไหมมากมายในเมืองนี้  ดูราวกับว่าผ้าไหมเป็นสินค้าราคาถูกที่ขายดี ขายง่ายเหมือนขนมหม้อแกงอย่างนั้น

       เราใช้เวลาหลายชั่วโมงในการเดินดูผ้าไหมกันตลอดถนน และในที่สุดก็เลือกซื้อที่ร้านหนึ่ง เพราะเขาเพิ่ง ตัดผ้าไหม มาใหม่ๆ (การที่ร้านค้าไปตระเวนรับซื้อผ้าไหมจากคนทอ เขาจะเรียกว่า  ไปตัดเพราะการที่จะนำผ้าไหมออกจากกี่ที่ทอ จำเป็นต้องตัดเส้นด้ายที่ยึดผ้าไว้กับโครงของกี่ทอผ้า เพื่อนำผ้าออกจากเครื่องทอนั่นเอง ) ที่ร้านนี้ดิฉันเลือกซื้อได้ 3 ชิ้น เป็นผ้าสำหรับตัดทั้งชุด 2 ชิ้น และผ้าไหมยกหน้านาง 1 ชิ้น ใช้เงินไปประมาณ 8 พันบาท และจ่ายเงินอย่างง่ายดายโดยไม่ต้องคิดมาก
 
       ทีนี้รู้แล้วว่า แม้ผ้าไหมจะไม่ใช่สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่เป็นสินค้าที่ให้ความสุขทางใจ ถึงแพงแค่ไหนก็ขายดี   เพราะคนที่มาซื้อไม่ได้ซื้อแค่ผ้าไหม แต่มาซื้อความสุขไปด้วย ต้องสารภาพว่า ทุกวันนี้ดิฉันยังแอบตื่นขึ้นมากลางดึก เพื่อมาลูบๆคลำๆผ้าไหมทั้งสามชิ้นนี้อยู่เลยจ๊ะ เพราะสวยถูกใจจริงๆ ( และก็ยังไม่ได้นำไปตัดเป็นเสื้อสักที)

 
       หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเสียสตางค์แล้ว ขบวนสาวแก่ของเราก็มุ่งหน้ากลับเข้าเมืองขอนแก่น แต่เมื่อมาถึงสี่แยกตัดถนนมิตรภาพ อันเป็นถนนสายหลักผ่ากลางจังหวัดขอนแก่น เจ้าถิ่นก็บอกว่า ถนนแยกฝั่งตรงข้ามนี้เป็นทางเข้าอำเภอบ้านไผ่  ที่ต้องบอกก็เพราะว่า ที่อำเภอนี้มีร้านกล้วยแขกที่อร่อยที่สุดในประเทศไทยขายอยู่ ขณะที่พูดกันนั้นทุกคนในรถกำลังหิวกันมาก เราจึงตรงดิ่งเข้าอำเภอบ้านไผ่ เพื่อไปซื้อกล้วยแขกกันอย่างง่ายดายโดยไม่ต้องถามความเห็น



       ร้านนี้เป็นร้านไม่มีชื่อ ตั้งอยู่ตรงสี่แยกถนนไปที่ว่าการอำเภอ ตัดกับถนนเจนจบทิศ เจ้าของร้านหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสดี เราซื้อกล้วยแขกมากันหลายถุงด้วยความหิว ขณะที่นั่งทานกล้วยแขกนั้น เจ้าถิ่นพยายามเน้นให้รู้ว่าตั้งแต่ทานกล้วยแขกมาไม่มีเจ้าไหนอร่อยเท่านี้เลย   ดิฉันก็ยอมรับว่าอร่อยจริง แต่อาจเป็นเพราะมีความหิวเป็นปัจจัยเสริมหนึ่งที่ทำให้กล้วยถุงนี้อร่อยกว่าปกติก็ได้
 
     อันว่ากล้วยแขกนั้น แต่ละภาคก็อร่อยไม่เหมือนกัน ครั้นจะตกปากรับคำว่าร้านนี้อร่อยที่สุดในประเทศไทยก็ยังไม่สามารถทำได้ เพราะดิฉันเคยเห็นพ่อค้าในซอยละลายทรัพย์ ที่กรุงเทพฯ ร้องขายกล้วยแขกที่อร่อยที่สุดในประเทศไทยเหมือนกัน และที่สำคัญ ทุกจังหวัดต้องมีกล้วยแขกที่อร่อยของตนเองอยู่ทุกที่ หากจะตัดสินคงต้องเดินสายชิมทั่วไทยก่อน แต่ความที่เมื่อเช้าเราพ่ายแพ้สงครามไก่ย่าง ไปหนึ่งแมตช์แล้ว ครั้นจะเปิดศึกกล้วยแขกอีก ก็รังแต่จะเจ็บตัวเอาง่ายๆ จึงได้แต่พยักหน้าหงึกๆ ตามไปพร้อมกับมีกล้วยแขกเต็มปาก เอาเป็นว่าอร่อยที่สุดในภาคอีสานแล้วกัน เหลือตำแหน่งให้ภาคอื่นเขาบ้าง
 
     เราขับรถชมตลาดบ้านไผ่สักพัก ก็เดินทางกลับเข้าเมืองขอนแก่น เพราะเวลาล่วงเลยมาเย็นมากแล้ว ขากลับไม่มีใครดูวิวข้างทางเลย อาจเป็นเพราะโดนพิษกล้วยแขกกระมัง จึงหลับกันสนิทปล่อยให้คนขับนั่งตื่นอยู่คนเดียว
     ประมาณสองทุ่ม เราจึงอาบน้ำแต่งตัวเดินทางมาร้านอาหารที่พรรคพวกหมายตาไว้ว่าจะให้ดิฉันไปชิมอาหารค่ำแบบอีสาน ซึ่งก็อยากรู้เหมือนกันว่าจะต่างกับอาหารกลางวันอย่างไร

            ร้านนี้ชื่อ ร้านเรียมตั้งอยู่ถนนหน้าเมือง ริมบึงแก่นนคร อาหารค่ำคืนนี้ก็เป็นอีกมื้อหนึ่งที่เป็นอาหารอีสานล้วนๆ   อาหารที่สั่งมาคือ หมกเห็ด (คล้ายห่อหมก) แต่ทำเป็นชิ้นใหญ่เต็มจานและใช้ย่างแทนการนึ่ง ลาบปลาตอง ดูคล้ายทอดมัน แต่เป็นชิ้นใหญ่กว่ากัน รสชาติกำลังดี ลาบปลาคัง คล้ายลาบไก่ แต่ใช้ปลาคังสดๆมาลวกและทำเป็นลาบ โชคดีที่ไม่มีกลิ่นคาวของปลา ส่วน ไส้กรอก อีสานทอด และ ไก่ย่าง ก็ต้องสั่งมาเพราะเป็นอาหารประจำทุกมื้อ

      ที่ชอบมากคือ อ่อมไก่ ซึ่งมีลักษณะเป็นคล้าย แกงจืดวุ้นเส้น ที่ใส่ผักหลายชนิด ไม่เผ็ดมากนักทานร้อนๆแล้วชื่นใจดี แต่ที่แปลกที่สุดในชีวิตคือ พวง นมย่าง ที่เมื่อบอกชื่อแล้วก็ให้สงสัยนักว่า คืออะไรกัน  พรรคพวกชาวขอนแก่นจึงอธิบายว่า จานนี้คือส่วนที่เป็นเต้านมของหมู นำมาหมักกับน้ำปลาแล้วย่าง จิ้มกับน้ำจิ้มแจ่วจะอร่อยมาก เพราะมีลักษณะเนื้อกรุบๆ   ด้วยความอยากรู้จึงลองทานแบบกลัวๆกล้าๆ  พอเห็นดิฉันทานจานนี้ได้ เพื่อนจึงสั่งแบบทอดมาให้ชิมอีกจาน ก็อร่อยแบบสยิว แปลกไปอีกอย่าง
 
     หลังจากอิ่มกันดีแล้ว สาวๆก็พาดิฉันตระเวนชมเมืองขอนแก่นยามราตรีสักพัก จนเหนื่อยและแยกย้ายกันไปพักผ่อน  ขณะนั่งรถกลับที่พัก  รู้สึกแปลกที่ในทุกมื้ออาหาร ที่เราทานกัน ไม่ใครถาม หรือชวนดิฉันให้สั่งของหวานมาทานเลย  และสาวๆเมืองนี้ก็ไม่ทานของหวานหลังอาหารคาวด้วย  ซึ่งมันทำให้ดิฉันรู้สึกหงุดหงิดที่ไม่มีขนมหวานล้างปากหลังอาหารคาว  เหมือนว่าติดยาเสพติดอย่างนั้น
 
      เมื่อสาวๆเห็นอาการงุ่นง่านของดิฉัน  จึงพากันสงสารยิ่งนัก ดังนั้นก่อนที่เราจะกลับถึงที่พัก จึงแวะไปทาน เต้าส่วนปาท่องโก๋ ( แบบที่เคยทานที่บุรีรัมย์ ) หนึ่งถ้วย ซึ่งก็ช่วยให้อาการเครียดก่อนนอนหายไปได้เป็นอย่างดี  คืนนั้นฝันถึงแต่ไก่ย่างลอยมาเต็มห้อง  สงสัยคงเป็นเพราะอาหารที่รับประทานย่อยไม่ทันกระมัง

 
              ถึงวันเดินทางกลับ  ดิฉันมีเวลาอีกครึ่งวันก่อนเครื่องบินจะออก เพื่อไม่ให้เสียเที่ยวที่มาเมืองขอนแก่น เจ้าถิ่นจึงพาไปทานอาหารเช้าแบบเวียดนามแท้ๆอีกแบบหนึ่ง คราวนี้เราไปกันที่ร้าน  ซุปเปอร์หมู กาแฟว่ากันว่าร้านนี้เป็น ร้านอาหารเช้าของคนขอนแก่นเจ้าของพื้นที่ ในขณะที่ร้านอื่นเป็นร้านของนักท่องเที่ยว จึงไม่แปลกที่เมื่อมาถึงร้านนี้  บรรดาสาวเจ้าถิ่นจึงทักทายลูกค้าในร้านแบบกันเองหลายโต๊ะ และที่สำคัญคือเราได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเจ้าของร้าน ซึ่งคุ้นเคยกันดีกับแก๊งค์สาวขอนแก่นของเราเป็นอย่างมาก
 
       ที่หน้าร้านนี้ เห็นมีอาหารเวียดนามหลายชนิดวางโชว์ไว้ เช่นหมูยอแผ่นโตๆ ขนมปังเวียดนาม เส้นก๋วยจั๊บและขนมเบื้องญวนแบบแห้งให้ลูกค้าได้ซื้อกลับไปบ้าน  ทันทีที่นั่งโต๊ะ เจ้าของร้านก็เข้ามาคุยด้วย  พร้อมแนะนำอาหารให้เราทันที วันนั้นเราสั่งพิซซ่าเวียดนาม” “ ขนมปากหม้อ” “ ปอเปี๊ยะทอดและ ก๋วยจั๊บญวนมาทาน  อาหารที่สั่งมานี้ นอกจากปอเปี๊ยทอดแล้ว ที่เหลือนับเป็นของใหม่ที่ดิฉัน  ไม่เคยทานมาก่อนทั้งสิ้น แต่เป็นตายอย่างไรก็ต้องชิมให้หมดทุกอย่าง มิให้เสียโอกาสอันดีงามนี้ไปได้



      เริ่มด้วย พิซซ่าเวียตนามที่ในตัวของเขามีสองส่วนคือส่วน ที่เป็นแป้งนิ่ม และส่วนที่เป็นแป้งกรอบ โรยหมูหยองและเครื่องปรุงที่ผัดสุกแล้วไว้ภายใน  เวลาเคี้ยวจะทั้งกรอบและนุ่มหวานเค็มอร่อยแปลกดี ส่วน ขนมปากหม้อก็ คือข้าวเกรียบปากหม้อไส้ต่างๆนั่นเอง แป้งเป็นแป้งข้าวเกรียบบางและเหนียว ไส้เป็นไก่หรือหมูผัดกับเครื่องปรุงและผัด ให้เข้ากัน ทานกับน้ำจิ้มหวานอมเปรี้ยว มีเผ็ดเล็กน้อย   ส่วน ปอเปี๊ยทอดไม่ต้องพูดถึงเพราะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ปิดท้ายด้วย ก๋วยจั๊บญวนที่เส้นเหมือนวุ้นเส้น แต่มีขนาดอ้วนกว่า ทำมาคล้ายแกงจืด หรือก๋วยเตี๋ยวน้ำใส สามารถปรุงรสได้ตามใจชอบ
 




         หลังจากชิมเสร็จ เห็นพ่อครัวกำลังทำ พิซซ่าญวนอยู่อย่างทะมัดทะแมง ความอยากรู้จึงเดินไปขอดูวิธีทำ ซึ่งพ่อครัวก็แสดงให้ดูอย่างชำนาญ เริ่มด้วยการละเลงแป้งข้าวเกรียบปากหม้อลงไปบนผ้าที่ขึงไว้บนปากหม้อน้ำ(ใบใหญ่กว่าที่เคยเห็นมา)ที่กำลังเดือด จนแป้งสุกใส จากนั้นจึงตักแป้งที่สุกนี้ขึ้นไปวางไว้บนแป้งข้าวเกรียบชนิดกรอบ ที่ทำไว้แล้ว ขอบอกก่อนว่า การวางแป้งซ้อนกันอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้นะ ต้องฝึกกันพอสมควรทีเดียว มิฉะนั้นแป้งนิ่มจะม้วนตัวหรือตกไปอยู่บนพื้นได้
     จากนั้นจึงโรยด้วยหมูสับผัดกับเครื่องต่างๆ จบด้วยหมูหยอง และพับครึ่งแป้งให้เป็นครึ่งวงกลมและตัดด้วยมีดให้เป็นคำ เพื่อสะดวกในการรับประทาน   ที่หน้าร้านเห็นมีแป้งข้าวเกรียบชนิดกรอบที่วางเตรียมไว้มากมาย   ความอยากรู้จึงถามถึงที่มาที่ไป  และทราบว่าเป็นแป้งชนิดเดียวกับแป้งนิ่ม เพียงแต่ต้องทำไว้ล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งวัน
      โดยแป้งที่จะทำแบบกรอบมีการใส่งาดำลงไปด้วย เพื่อให้ได้รสชาติและกรุบกรอบเวลาเคี้ยว เมื่อนึ่งแป้งข้าวเกรียบผสมงาดำสุกแล้ว ก็จะตักใส่ตะแกรงไม้ไผ่ นำไปตากแดดให้แห้ง เมื่อแห้งดีแล้วจึงเก็บมาวางเรียงซ้อนกันเก็บไว้ใช้ทำ “ พิซซ่าญวนต่อไป ดูแล้วไม่ง่ายเลยนะ คนเวียดนามนี่ช่างสร้างสรรค์วิธีทำอาหารเสียจริง เห็นอย่างนี้แล้วซื้อทานดีกว่า คงทำเองไม่ไหวแน่ และขอแนะนำว่าหากจะทานอาหารเวียดนามแท้ๆ ก็ต้องร้าน ซุปเปอร์หมู กาแฟนี่ละ เพราะมีให้ทานหลากหลายชนิดดีจริงๆ
 
       เสร็จจากภารกิจยามเช้า ยังพอมีเวลาอีกสองชั่วโมงก่อนไปสนามบิน เพื่อนๆจึงชวนไปซื้อของฝาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดิฉันไม่ค่อยปฏิบัตินัก เพราะเป็นคนขี้เกียจหอบ แต่เพื่อไม่ให้เสียธรรมเนียมจึงต้องยอมไปกับเขาด้วย และแน่นอนว่ากระเป๋าใบน้อยของดิฉัน จึงเต็มไปด้วยหมูยอ กุนเชียง หมูหยอง หมูแผ่น รวมทั้งแซนวิชเวียดนาม”  ที่ซื้อไว้เมื่อวานนี้ด้วย เที่ยวครั้งนี้จึงหวุดหวิดที่จะเสียค่าปรับน้ำหนักเกินไปได้แบบเส้นยาแดงผ่า แปด
 
       ก่อนจะขึ้นเครื่อง สาวๆขอนแก่น บอกว่าพี่จ๋า อยู่ดีมีแฮง ฮักแพงกันคือเก่าเด้อ  ดิฉันทำหน้างงๆ ถามว่าแปลว่าอะไร สาวๆก็แปลให้ฟังว่า ขอให้สุขภาพแข็งแรง  ยังรักและคิดถึงกันเหมือนเดิมจ๊ะ   โอ้โห….ตอนจบช่างหวานอะไรจะปานนี้ คงต้องจำการเที่ยวครั้งนี้ไปอีกนาน เพราะนอกจากน้ำใจของเจ้าถิ่นแล้ว อาหารยังประทับใจอีกด้วย กลับมาถึงบ้าน นอนทั้งคืนก็ยังอิ่มท้องอยู่เลย