บ้านป้าLily หลังนี้เปิดไว้เพื่อให้เป็นที่ที่เพื่อนๆมานั่งตั้งวงคุยกันด้วยเรื่องที่เราชอบ
โดยมีป้า Lily มานั่งเล่าเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แถมสนุกสนานให้ฟังอีก
วันที่ท้องฟ้าสดใสในเวลาแดดร่มลมตกไม่มีอะไรดีไปกว่าการมานั่งที่ ชานเรือนของบ้านป้าLily อีกแล้ว


ยินดีต้อนรับทุกท่านจ๊ะ

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

บัวสวรรค์

หลายปีมาแล้วที่ปลูกต้นไม้ไว้ต้นหนึ่งแถวหน้าบ้าน ป้าเดินผ่านต้นไม้ต้นนี้ปีแล้วปีเล่า ดูเหมือนว่าเขาไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรให้เห็นเลย ครั้งหนึ่งเคยถามคนปลูกว่า เอาต้นอะไรมาปลูกแถวนี้ เขาบอกชื่อว่าเป็นต้น “ บัวสวรรค์” เวลาผ่านไปนานมากจนกลายเป็นความเคยชิน และ ลืมไปว่ามีต้นไม้ต้นนี้อยู่ข้างทาง แต่แล้ววันดีคืนดี ดอกไม้สีชมพูอ่อนสวยงามดอกหนึ่งก็ส่งแสงความงามของเขาออกมานอกต้น กระทบกับสายตาป้า จนต้องเดินเข้าไปดูใกล้ๆ และวินาทีนั้นเองที่ทำให้ป้าสังเกตเห็นว่า เจ้าต้นไม้ที่เรามองข้ามไปปีแล้วปีเล่าต้นนี้เขาโตขึ้นมามาก จากต้นที่สูงแค่ฟุตเดียว กลายมาเป็นสูงท่วมหัวเราแล้ว และขณะนี้เขากำลังมีดอกมากมายแอบซ่อนอยู่ภายหลังใบเขียวเข้มของต้น การออกดอกของเขาทำให้บ้านของเราตื่นเต้นกันทั้งวัน รวมทั้งลุงนัน ผู้เป็นคนปลูกก็แอบเดินมาดูด้วยความภูมิใจเช่นกัน เมื่อนับเวลาตั้งแต่นำมาลงดิน จนมีดอกออกมา สิริรวมเวลาแล้ว 5 ปีเต็ม

เจ้า “บัวสวรรค์ ”นี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า : Gustavia gracillima Miers แต่เมื่อค้นหาข้อมูลจากเวบไซต์ต่างประเทศ เห็นดอกลักษณะเหมือนกัน แต่มีชื่อต่างไป เช่น Gustavia superba Kunth) O. Berg และ อื่นๆ เรื่องชื่อนี้ยังหาคำตอบที่สรุปไม่ได้ แม้แต่ในเวบไซต์ของราชการก็ยังไม่มีการยืนยัน จึงขอใช้ชื่อข้างต้นซึ่งเป็นชื่อที่ทุกเวบไซต์ในเมืองไทยใช้กันไปก่อน



ชื่อสามัญของไทยก็คือ บัวสวรรค์ บางคนเรียก บัวดิน หรือ บัวฝรั่ง ส่วนภาษา อังกฤษ เรียกว่า Gustavia หรือ Gutzlaffia หรือบางชนิดที่คล้ายกันมากก็เรียกว่า membrillo , Zephyranthus, Pure Glassy White , Paco, Pacora, Choco, Sachamango, และ Heaven Lotus
เรื่องชื่อนี้ ทุกถิ่นที่ปลูกมักตั้งชื่อจากลักษณะของดอกที่สวยงามเหมือนดอกบัว โดยรวมเอาลักษณะความงามของดอกไม้ที่พบในเขตป่าฝนในดินแดนอันอบอุ่น ซึ่งสามารถสร้างความเบิกบานใจให้แก่ผู้พบเห็นนี้ต่างกันออกไป เช่นคนในแถบทวีปอเมริกากลางเรียกไม้ดอกนี้ว่า Membrillo แต่ในยุโรป จะเรียกไม่เหมือนกัน โดยจะเรียกว่า Gustavia trees แต่ชนเผ่าอินเดียนแดงในแถบทวีปอเมริกาใต้ จะเรียกว่า Tupu หรือ Tuba.
ทุกชื่อมีชื่อ วงศ์เดียวกันคือ : LECYTHIDACEAE
ต้นไม้นี้มีถิ่นกำเนิดมาจาก ตะวันออกกลาง แอฟริกาตะวันออก โคลัมเบีย Costa Rica, Panama ดูแล้วทุกประเทศที่กล่าวมา เป็นประเทศในเขตร้อนชื้น ใกล้เส้นศูนย์สูตร ดังนั้นการนำมาปลูกในบ้านเราจึงเป็นเรื่องไม่ยาก และสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยสามารถออกดอกได้เหมือนกับต้นที่ปลูกในถิ่นกำเนิด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดกลาง สูง 3-6 ม. บางประเทศสามารถสูงได้ถึง 15 เมตร ลำต้นตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม รอบลำต้นกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร หรือ 1 ฟุต แต่ลำต้นอาจจะใหญ่กว่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ และท้องถิ่นที่ปลูก
กิ่งเป็นกิ่งใหญ่ ที่แตกออกจากลำต้นมีไม่มาก ลักษณะกิ่งที่แตกออกจะยาวและตั้งขึ้นไปทางยอดของต้น คล้ายต้นมะพร้าว ที่มีใบเป็นกลุ่มอยู่ที่ปลายกิ่งเป็นส่วนใหญ่

ใบใบเดี่ยวออกสลับ รูปใบหอกกว้าง 10-14 ซม. ยาว 30-45 ซม. ปลายเรียวแหลมคล้ายหอกรูปขอบขนาน โคนสอบเป็นครีบ ขอบหยักไม่สม่ำเสมอ บางต้นขอบใบเป็นจักฟันเลื่อยถี่ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ฐานใบสอบ เส้นใบแตกแขนงเด่นชัด ใบดกเต็มต้น เวียนเรียงสลับเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ใบเป็นมัน ไม่ผลัดใบ

ดอกออกเดี่ยวตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง หรือบนลำต้น เมื่อบานขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7- 10 ซม. กลีบดอกสีชมพู หรือสีชมพูอมม่วง จำนวน 8 กลีบ กลีบดอกหนา รูปใบหอกกลับถึงรูปไข่ซ้อนเหลื่อมกัน ดอกคล้ายดอกบัวหลวงแต่ใหญ่และสวยกว่า เกสรเพศผู้มีเป็นจำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็นวง อับเรณูสีเหลืองมีขนาด 0.2 ซม.
น้ำหวานจากดอกมีความหวานมาก มีกลิ่นหอมช่วงกลางวัน ดอกบานและร่วงภายใน 1 - 2 วันเท่านั้น ชอบออกดอกที่บริเวณภายในทรงพุ่ม ถ้าไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่พบดอกที่กำลังบาน โดยส่วนใหญ่จะรู้ว่าต้นออกดอกก็เมื่อเห็นกลีบดอกที่ร่วงลงบนพื้นแล้ว เมื่อกลีบดอกและเกสรร่วงจะเหลือแต่ด้านในที่เป็นฝักสีเขียว ในเมืองไทยมีผู้รายงานว่าออกดอกในช่วงเดือน มิถุนายน ถึง ตุลาคม แต่ในต่างประเทศ บอกว่า ออกดอกในช่วง เดือน มีนาคม ถึง ตุลาคม แต่บางท่านในเมืองไทยแจ้งว่าออกดอกตลอดปี แต่ที่สวนลูกจันทร์ ออกดอกในช่วง กันยายน
ผลรูปเหมือนลูกข่าง เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5-4.5 วม. 3-4.5 ซม. ก้านผลยาวผลทรงครึ่งวงกลม ปลายตัด เส้นผ่าศูนย์กลาง 5.5 ซม. สูง 4.5 ซม. ที่ปากตัด มีขอบหนา 0.2 ซม. เมื่อติดผลจะมีสีเขียว และ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง และน้ำตาล ก่อนจะหลุดร่วงไป ภายในมีหลายเมล็ด เมล็ดเกือบกลม ยาว 3-4 ซม.ประมาณ 20 เมล็ด ติดอยู่ด้านหนึ่งของผนังด้านในผล
เมื่อผลแก่จะตกลงบนพื้น และคงสภาพเดิมอยู่เป็นสัปดาห์ ก่อนจะขึ้นรา หรือเน่าเสีย ผลสดที่อยู่บนต้นจะเป็นอาหารที่ชื่นชอบของสัตว์จำพวกค้างคาว ผลสุกที่ตกลงบนพื้น เป็นอาหารที่พวกสัตว์ป่าตัวเล็ก จำพวกลิง กวาง กระจง หรือ กระรอก ชอบกินมาก แม้แต่มนุษย์ ก็ยังรับประทานเช่นพวกอินเดียนแดง รับประทานทั้งผลสด และ นำไปคั่ว หรือ ต้ม บางพวกผสมกับข้าวรับประทาน ผลของบัวสวรรค์ มีไวตามินเอ บี ซี และ ฟอสเฟอรัส มาก

การดูแลเป็นพันธุ์ไม้หอมที่ดูแลง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อม ชอบแสงแดดจัดและน้ำปานกลางถึงมาก ใบไม่ค่อยร่วง ชอบแดดรำไรถึงแดดจัด มั่นรดน้ำพรวนดินบ้าง

การขยายพันธุ์การเพาะเมล็ด ตามธรรมชาติ เมล็ดของบัวสวรรค์มีขนาดใหญ่ และ หนัก จึงไม่สามารถกระจายออกไปไกลจากโคนต้นได้มากนัก เมื่อผลเน่าเสียเมล็ดจะถูกฝังลงดินและงอกเป็นต้นอ่อนขึ้นมา ต้นจากการเพาะเมล็ด จะใช้เวลาในการออกดอกถึงห้าปี ช้ากว่าต้นจากการปักชำ หรือตอนกิ่ง ( ต้นที่สวนลูกจันทร์ ใช้เวลาปลูกถึงออกดอกประมาร 5 ปี)
การตอนกิ่ง เปอร์เซ็นต์การออกรากค่อนข้างต่ำ ประมาณ30 % แต่ถ้าสำเร็จจะออกดอกเร็วกว่าการเพาะเมล็ด

ประโยชน์ใช้เป็นไม้ประดับ ใบเขียวตลอดปีช่วยให้บ้านดูร่มรื่นเย็นสบาย เยื่อไม้ใช้ทำด้าย น้ำจากก้านดอกอ่อนหมักแล้วกลั่นรับประทาน บำรุงโลหิต และบำรุงธาตุ ลำต้นที่ตรงของเขาใช้ได้ดีสำหนับการก่อสร้าง ในสมัยโบราณ ชาวอินเดียนแดงใช้ใบต้มทำยาแก้พิษจากการถูกธนูพิษยิง และแก้พิษไข้ แก้หวัด ที่มีประโยชน์ที่สุดคือ ดอกสวย หอมชื่นใจ

ในที่สุดต้นไม้ที่เคยถูกมองข้ามมานานนับปี ก็กลับกลายเป็นเพชรในตมขึ้นมาชั่วข้ามคืน เมื่อถูกค้นพบว่าเขาให้ดอกที่งามยิ่งนัก สำหรับชื่อ “ บัวสวรรค์ ” ก็เหมาะสมแล้ว เพราะเมื่อนำไปวางไว้ในอ่างบัว เขาก็งามได้เทียบเคียงกับดอกบัวชนิดที่เฉือนกันไม่ลงทีเดียว รู้สึกไม่เสียใจเลยที่ปลูกไว้ใกล้บ้านเช่นนี้ เพราะชื่อบัวสวรรค์ สามารถสร้างบ้านให้เป็นสวรรค์ได้โดยแท้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น