บ้านป้าLily หลังนี้เปิดไว้เพื่อให้เป็นที่ที่เพื่อนๆมานั่งตั้งวงคุยกันด้วยเรื่องที่เราชอบ
โดยมีป้า Lily มานั่งเล่าเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แถมสนุกสนานให้ฟังอีก
วันที่ท้องฟ้าสดใสในเวลาแดดร่มลมตกไม่มีอะไรดีไปกว่าการมานั่งที่ ชานเรือนของบ้านป้าLily อีกแล้ว


ยินดีต้อนรับทุกท่านจ๊ะ

วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

“ โฮบบายละเงี๊ยด”



เที่ยวอีสาน  ตอนที่  –

 โฮบบายละเงี๊ยด

       เมื่อลงมาจาก ปราสาทหินเขาพนมรุ้งใช้เวลาไม่นานนักเราก็มาถึง ปราสาทเมืองต่ำซึ่งเป็นที่ที่เราจะรับประทานอาหารค่ำ ท่ามกลางบรรยากาศอันสุดยอดแห่งความอลังการณ์ปราสาทเมืองต่ำนี้เป็นปราสาทขนาดเล็กกว่าปราสาทหินเขาพนมรุ้ง  แต่เราไม่ค่อยได้เห็นตัวปราสาทมากนัก เพราะเรามาในช่วงกลางคืน และเพื่อให้เข้าบรรยากาศ ทางผู้จัดงานได้แจกเสื้อม่อฮ่อมสีน้ำเงินแบบพื้นบ้านให้กับทุกคนในคณะเพื่อใส่มาร่วมงาน

           การจัดงานคืนนี้จัดในแบบบรรยากาศขอมโบราณ ด้วยการนำแขกบ้านแขกเมืองเข้าสู่บรรยากาศของท้องถิ่นตั้งแต่ก้าวแรกที่คณะของเรามาถึงบริเวณงาน   ด้วยการจัดขบวนนักรบโบราณมาคอยต้อนรับ โดยใช้แสงจากการจุดไต้และคบเพลิงเดินนำขบวนชาวคณะ เพื่อเดินเข้าสู่ ปรัมพิธี บายศรีสู่ขวัญที่ศักดิ์สิทธิ์  ตลอดสองข้างทางที่เราเดินผ่านไปจะมีนักรบขอมโบราญยืนถือดาบและคบเพลิงอยู่ในมือเพื่ออารักขาแขกของงาน  แต่เนื่องจากทางเดินมีเพียงแสงไฟที่น้อยมาก หลายครั้งที่ดิฉันต้องตกใจเมื่อเห็นหน้าดำๆของนักรบที่โผล่ออกมาจากความมืด

       คณะของเราเดินเข้าสู่บริเวณลานกว้างของปราสาท อันเป็นที่จัดงานที่ชื่อ โฮบบายละเงี๊ยด(เป็นภาษาขอมโบราณที่หมายถึงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่นั่นเอง ) บรรยากาศของงานนี้เป็นบรรยากาศเดียวกับที่จัดรับแขกระดับประเทศ และต่างประเทศ หากมีฝรั่งมาร่วมงาน เขาจะเรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า โฮบบายดินเนอร์ซึ่งก็เก๋ไปอีกแบบ

             ขณะนั่งรับประทานอาหารใต้แสงดาวบนยอดเขา คณะจัดงานได้นำเสนอการแสดงที่เรียกว่า   กันตรึมเขมรโบราญโดยคณะนักแสดงพื้นเมืองที่ได้รางวัลพระราชทานมาแล้ว การแสดงทั้งหมดเป็นการเล่าเรื่องประวัติของเมืองและปราสาทแห่งนี้ การแสดงยิ่งใหญ่โอฬารตระการตามาก นับเป็นการเปิดตำนานแห่งประวัติศาสตร์ให้เราได้เห็นถึงช่วงแห่งกาลเวลาที่ ผ่านมาในอดีต  ดิฉันนึกถึงการแสดงโอเปร่าของประเทศตะวันตก เพราะการร้องเพลงเก่าแก่ของท้องถิ่น น้ำเสียงอันมีพลังของนักแสดงช่างบาดใจผู้ฟังเหลือเกิน บรรยากาศโดยรวมแล้วทุกชุดของการแสดงเป็นที่ถูกใจของผู้ร่วมงาน เป็นอย่างยิ่ง

      นอกจากบรรยากาศของงานจะโบราณแล้ว อาหารของเราคืนนั้นก็ออกจะโบราณไปด้วย และหลายอย่างเป็นอาหารที่ได้รับประทานเป็นครั้งแรกของชีวิต เช่น น้ำพริกกุ้งจ่อม  ลาบหมกปลาตอง( คล้ายห่อหมก) และ ต้มส้มไก่ใบมะขามอ่อน ซึ่งทุกอย่างก็อร่อยดี แต่ด้วยความที่คณะของเราต้องเดินขึ้นลงเขาหลายลูก ทุกคนจึงตาลายเห็นอาหารจานเล็กลงกว่าปกติไป คณะจัดงานก็รู้ใจจึงนำอาหารพิเศษมาเสริมให้ ซึ่งก็เป็นที่ถูกใจดิฉันเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่นำมานั้นคือ ขาหมูลำปลายมาศ และ หมูเค็ม  จำไม่ได้ว่าตักไปกี่ครั้ง โชคดีที่บรรยากาศของงานไม่ใช้แสงไฟฟ้ามาก  จึงอาศัยความมืดแอบตักขาหมูมาหลายชิ้น จนนึกสงสารผู้ที่นั่งร่วมโต๊ะที่รู้ไม่เท่าทัน จึงต้องรับประทานแต่ผักเครื่องเคียงที่น้ำพริกหมดไปนานแล้ว ก็ได้แต่หวังว่ากรรมคงไม่ตามมาทันเร็วนัก

       หลายท่านคงคิดว่าเมื่องานเลี้ยงจบ คณะของเราคงเลิกลากันไปนอน แต่ท่านคิดผิดเสียแล้ว เพราะหลังจากเรากลับมาถึงโรงแรมที่พัก คณะจัดงานได้เตรียมอาหารว่างก่อนนอนไว้ให้พวกเราได้รับประทานกัน ( คงจะรู้ทันว่าชาวคณะเดินขึ้นเดินลงเขาหลายลูกกระมัง)  แม้จะพยายามควบคุมตัวเองไม่ให้รับประทานมากนัก เพราะกลัวสุขภาพจะดีเกิน แต่ก็ต้องตบะแตกเมื่อมาพบกับของแปลกอีกอย่างของเมืองนี้คือเต้าส่วนปาท่องโก๋เจ้าอร่อยเพียงเจ้าเดียวในแถบภาคอีสาน
           ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อก็นึกภาพไม่ออกว่าเจ้าอาหารสองสิ่งนี้จะสามารถ ไปด้วยกันอย่างสามัคคีได้หรือไม่ และเมื่อเห็นของจริง ก็จดๆจ้องๆด้วยความไม่แน่ใจว่ารสของมันจะแปลกประหลาดขนาดไหน แต่เมื่อตักคำแรกเข้าปาก คำต่อๆไปก็ตามมาจนกลายเป็น สองและสามถ้วย ความอร่อยแปลกๆของขนมชนิดนี้อยู่ตรงที่ เราได้ลิ้มรสความหวานของขนมที่ทำจากถั่วเขียวที่ปรุงอยู่ในน้ำหวาน  ซึ่งข้นด้วยแป้งข้าวโพด ราดหน้าด้วยกะทิหอมหวาน แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รสความเค็มของ ปาท่องโก๋ที่ตัดเป็นชิ้นๆโรยหน้า เวลารับประทานพร้อมๆกันจะอร่อยมาก แปลกจริงๆ
      คืนนั้นดิฉันกลับขึ้นห้องนอนด้วยความสำนึกผิดที่รับประทานแบบไม่คิดชีวิต แต่เมื่อทำไปแล้วก็ต้องยอมรับผิดแต่โดยดี ขณะที่นั่งปลงอยู่นั้น รูมเมทคนที่ถูกหลอกให้มาเป็นคู่นอนของดิฉัน ก็นำเอาถุงข้าวสารมาอวด  ทำให้รู้ว่าในทุกห้องพักจะมีข้าวหอมมะลิอย่างดีพันธุ์พื้นเมืองของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ผู้จัดฯวางไว้ให้ชาวคณะของเราทุกคน ซึ่งเป็นของที่ระลึกที่ชิ้นใหญ่มาก เพราะหลังจากกลับมาถึงบ้าน  ดิฉันก็อาศัยรับประทานไปได้หลายมื้อ
       ความที่ข้าวชนิดนี้เป็นข้าวหอมมะลิพันธุ์แท้ ความหอมของข้าวจึงขจรขจายไปทั่วห้องนอน ที่ได้กลิ่นก็เพราะถุงข้าวของรูมเมทดิฉันโชคร้ายโดนสะกิดเป็นรูเล็กๆ  เจ้ามดดำในห้องจึงพากันมารุมเข้าไปรับประทานข้าวหอมถุงนั้นจนแน่นไปหมด  ความเสียดายข้าวจึงทำให้รูมเมท พยายามเปิดถุงออกมาและไล่มดด้วยทุกกรรมวิธีที่เธอจะสามารถทำได้ และในที่สุด   ด้วยความที่เธอเป็นบุคคลคุณภาพไปในทุกเรื่อง เธอจึงเอาชนะมดได้สำเร็จและเทข้าวหอมมะลิที่แย่งมดมาได้นั้นไว้ในถุงใส่เสื้อผ้า แล้วแอบไว้ในกระเป๋าเดินทาง   (กลัวมดเห็น)

      เหตุที่เล่ามานี้ ทำให้ดิฉันทราบถึงความหอมของข้าวหอมมะลิแห่งทุ่งกุลาร้องไห้ขนานแท้   และด้วยความอร่อยเหนือข้าวชนิดอื่นๆที่เคยรับประทานมา  ทุกครั้งที่หุงข้าวนี้   ไม่เคยเลยที่จะเหลือข้าวทิ้งไว้ในจานแม้แต่สักเมล็ดเดียว และปัจจุบันก็พยายามหาซื้อยี่ห้อนี้แถวกรุงเทพฯ  ซึ่งยังหาไม่พบ สงสัยคงต้องเดินทางไปซื้อที่บุรีรัมย์อีกกระมัง
      คืนนั้นแม้ในท้องจะอุดมไปด้วย เต้าส่วนแต่ดิฉันก็ยังไม่วายแอบฝันถึง ข้าวหอมมะลิที่หอมฟุ้งอยู่ในห้องทั้งคืน ราตรีแรกในบุรีรัมย์จึงจบลงอย่างสุขสบาย ขอนอนเอาแรงไว้ก่อน พรุ่งนี้ยังมีภาระที่ต้องออกสำรวจเมืองบุรีรัมย์อีกหลายที่ 


ในที่สุดวันที่เราจะเดินทางกลับก็มาถึง ดิฉันตื่นแต่เช้า ตั้งใจจะไปชมเมืองบุรีรัมย์ เพราะการออกไปชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองก็เป็นความปรารถนาอันแรงกล้าของดิฉันอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน  และก็ไม่เสียเที่ยวที่ได้ออกไป เพราะได้เห็นสิ่งแรกที่ตั้งใจไว้อย่างสมใจ  นั่นคือ อนุสาวรีย์ของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่กลางเมือง


      อันที่จริง เราได้ผ่านอนุสาวรีย์นี้แล้วเมื่อวันแรกที่มาถึง แต่ได้แต่มองท่านผ่านกระจกรถที่กำลังแล่นผ่านเท่านั้น เช้าวันนี้  มีโอกาสได้มายืนอยู่ต่อหน้าท่าน เพื่อชมและถ่ายรูป อย่างใกล้ชิดในใจคิดว่า หากเราไม่มาเมืองบุรีรัมย์ครั้งนี้แล้วละก็ เราจะไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่า ครั้งหนึ่ง ท่านเคยมาประทับที่เมืองนี้
          เราทุกคนต่างทราบกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ท่านเป็นนักรบ เรื่องราวของท่านจึงเกี่ยวข้องการการรบมายาวนาน ช่วงหนึ่งในยุคของท่าน คือในช่วงอยุธยาตอนปลาย หัวเมืองที่ตั้งอยู่ในแถบที่ราบสูง เช่น นครจันทึก เมืองชัยภูมิ เมืองพิมายและเมืองนางรอง อันมีพระยานางรองได้คบคิดกับเจ้าโอ เจ้าอิน และอุปฮาด ( อุปราช) เมืองจำปาสัก แห่งเมืองลาว ตั้งตัวเป็นกบฎ

     สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาจักรี ยกทัพไปปราบ และจัดระเบียบการปกครองเมือง โดยรวบรวมเมืองในแถบนั้นมาตั้งขึ้นเป็นเมืองใหม่ ณ.ชัยภูมิป่าทุ่งต้นแป๊ะซึ่งก็คือเมืองบุรีรัมย์ในปัจจุบันนี่เอง ความชอบของท่านเจ้าพระยาจักรี ครั้งนั้น ท่านจึงได้รับพระราชทานพระอิสริยศเป็นสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก ต่อมาเมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกจึงได้ถูกอัญเชิญให้ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าจุฬาโลก องค์พระปฐมกษัตริย์แห่งราชวงค์จักรี
      ที่ต้องเล่าประวัติของพระองค์ท่านในช่วงนี้เนื่องจากเป็นช่วงที่ เกี่ยวข้องกับเมืองบุรีรัมย์ เพราะความที่ไทยทำศึกกับเพื่อนบ้านทางตะวันออกหลายปี ท่านจึงประทับอยู่ที่เมืองนี้เป็นเวลานาน อนุสาวรีย์ ของท่านที่สร้างขึ้นจึงเป็นรูปที่ท่านทรงช้างศึกซึ่งสามารถเก็บรายละเอียด ได้เหมือนจริงมากจนน่าทึ่ง
 
       เดิมองค์อนุสาวรีย์นี้ตั้งหันหน้าไปในทิศที่ช้างทรงเดินออกนอกเมือง แต่ต่อมาภายหลังได้มีการหันทิศกลับมาเป็นเดินเข้าเมือง เนื่องจากชาวเมืองเชื่อว่า หากหันพระรูปท่านออกนอกเมือง ก็จะดูคล้ายกับว่าท่านกำลังออกไปทำศึก ดังนั้นสงครามในบ้านเมืองของเราก็จะไม่จบสิ้นเสียที  ในทางตรงกันข้าม หากพระรูปของท่านหันเข้าหาเมือง ก็แปลว่าท่านได้ชัยชนะมาจากสงครามเรียบร้อยแล้ว และกำลังเสด็จกลับเข้าเมืองบุรีรัมย์ ด้วยเหตุนี้ ประเทศชาติของเราก็จะสงบสุขนั่นเอง
       ดิฉันยืนชมพระรูปอนุสาวรีย์ของท่านอยู่นานด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ท่านทรงรักษาบ้านเมืองของเราไว้ มิฉะนั้นวันนี้เราคงไม่มีเมืองบุรีรัมย์ และอาจไม่มีโอกาสได้เกิดอยู่ในประเทศไทยของเราก็เป็นได้
       หลังจากได้ภาพงามๆของอนุเสาวรีย์แล้ว พนักงานขับรถก็เริ่มพาชมรอบเมือง หลายคนที่เดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองก็มักจะตื่นตาตื่นใจกับสถาปัตยกรรมอัน ใหญ่โตโอฬาร  แต่ที่นี่ กลับน่าตื่นใจกับการที่เมืองนี้สามารถรักษาสภาพเมืองและสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่นไว้ได้เป็นอย่างดี โดยตลอดทางขณะอยู่ในเมือง จะมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ในรั้วบ้านหรือแม้แต่บริเวณสี่แยกหลักของเมืองก็ยังเห็นต้นก้ามปูใหญ่ยืนแผ่ให้ร่มเงาแก่ผู้ที่สัญจรไปมา 

      นี่คือเมืองที่ดิฉันชื่นชอบเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกเมืองที่ผ่านมา ล้วนแต่พยายามตัดต้นไม้ให้หมดเมืองเพื่อสร้างตึก แต่เมืองนี้ รักษาบ้านรูปแบบเดิมและต้นไม้ไว้ด้วยกัน ดังนั้นใจกลางเมืองบุรีรัมย์จึงมีความร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ต่อเนื่องกันตลอดทั้งเมือง
      หลังจากนั่งรถชมรอบเมืองจนทั่ว ความรู้สึกที่ได้รับจากการตระเวนฯคือความชุ่มชื่นจากภาพหมู่ต้นไม้สีเขียวรอบเมือง ในสายตาของนักท่องเที่ยว เมืองบุรีรัมย์อาจดูล้าสมัยและไม่น่าสนใจ แต่สำหรับคนที่มาจากเมืองที่แออัดจอแจแล้ว ที่นี่น่าจะเป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจอย่างแท้จริง 


      เสร็จจากการชมเมือง ในที่สุดก็ถึงเวลาที่รถคลื่นออกจากบุรีรัมย์ เพื่อเดินทางต่อไปยัง ด่านเกวียนเมืองโคราช 

           ที่ด่านเกวียน เมืองที่ได้ยินชื่อมานานในเรื่องความสวยงามของสินค้าพื้นเมืองประเภท เครื่องปั้นดินเผาสารพัดชนิด ที่ร้านขายรายใหญ่ของเมือง ได้มีการแสดงวิธีการปั้นแจกัน โอ่ง และเครื่องตกแต่งบ้านให้ลูกค้าชมด้วย ดิฉันก็แอบไปดูตามประสาคนอยากรู้อยากเห็น
            คณะของเราจบการชมและซื้อของที่ร้านด่านเกวียนในช่วงเวลาใกล้เที่ยง การแวะที่ร้านนี้ทำให้รถบัสของเราต้องวิ่งช้าลง เพราะของที่ระลึกแต่ละชิ้นที่ลูกทัวร์ซื้อไปล้วนมีน้ำหนักมากกว่าหนึ่งกิโล ผู้ที่ซื้อหลายชิ้นนอกจากจะหิ้วจนแขนแทบหลุดแล้ว ยังทำให้รถหนักขึ้นอีกด้วย

       เที่ยงวัน เราก็มาถึงอำเภอสี่คิ้ว รถวิ่งเลียบขอบอ่างเก็บน้ำของเขื่อนลำตะคอง แล้วเลี้ยวขวาขึ้นเนินเขาเพื่อไปยังร้าน สวนเมืองพรขณะที่รถกำลังจะเข้าบริเวณร้าน หัวหน้าทัวร์ ได้เดินมาบอกกลุ่มสาวๆว่า อาหารร้านนี้เป็นอาหารฝรั่ง จำพวกสเต็กต่างๆ แต่ควรเหลือกระเพาไว้บ้างนะ เพราะผู้จัดฯได้สั่งไอศครีมยี่ห้อ อึ๋มมิลล์มาไว้เป็นของหวานด้วยพวกเราฟังแล้วก็แปลกใจกับชื่อไอศครีมยี่ห้อนี้กันถ้วนหน้า เพราะไม่เคยรับประทานมาก่อน ก็ได้แต่แอบวาดหวังว่าสรรพคุณของไอศครีมคงจะส่งผลต่อผู้บริโภคให้มีอาการ เหมือนชื่อไอศครีมบ้างสักนิดก็ยังดี

ร้านสวนเมืองพร ตั้งอยู่บนเชิงเขา จากระเบียงของร้านจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของอ่างเก็บน้ำลำตะคองได้อย่าง ชัดเจน ดังนั้นหลายคนจึงพยายามหาที่นั่งริมระเบียงเพื่อบริโภคทั้งอาหารและวิวไป พร้อมกัน

      เมื่อเข้าบริเวณร้าน จะพบต้นไม้ทั้งเล็กและใหญ่มากมาย เพราะร้านนี้ขายพันธุ์ต้นไม้ด้วย รอบๆบริเวณที่นั่งรับประทานจึงมีต้นไม้ประดับอยู่ทั่วไป   สำหรับอาหาร ทางร้าน  เสริฟสเต็กที่มีทั้ง สเต็กปลาแซลมอน หมู เนื้อ ไก่ และนกกระจอกเทศ ส่วนเครื่องเคียงมีให้เลือกว่า จะเป็นสลัดผัก หรือ ส้มตำ ( Thai Salad) ส่วนขนมปังก็สามารถเลือกข้าวเหนียวนึ่งแทนได้ แต่ด้วยความชุลมุน โต๊ะเราจึงอุดมไปด้วยอาหารทุกชนิดที่กล่าวมา   และสามารถชิมอาหารได้รอบวง ดิฉันโชคดีที่นั่งใกล้คนที่ไม่รับประทานเนื้อวัว ดังนั้น สเต็กเนื้อจึงตกมาเป็นของดิฉันอีกจานโดยปริยาย เพราะไม่เคยรังเกียจและยินดีต้อนรับอาหารเนื้อทุกชนิด
       ก่อนจะตรงเข้ากรุงเทพฯ เรามีเวลาพอที่จะแวะ ตลาดมวกเหล็กอันมีชื่อเรื่อง กะหรี่พัฟเมื่อรถจอดทุกคนจึงลงไปหาซื้อกันคนละกล่องสองกล่อง แต่ดิฉันตัดสินใจไม่ได้ว่าจะซื้อร้านไหนดี เพราะมีเกือบ 100 ร้าน บรรยากาศเหมือนร้านขายขนมหม้อแกงเมืองเพชร ยังไงยังงั้นเลย เมื่อตัดสินใจไม่ได้จึงต้องอาศัยชิมของคนอื่นไปพลางๆก่อน ( เป็นอย่างนี้ทุกที )
       หลังจากซื้อเสร็จเราต่างก็หลับอย่างสบายด้วยความเหนื่อยจากการเดินทาง และเมื่อรถมาถึงจุดสิ้นสุดการเดินทาง ผู้คนที่ลงจากรถจึงทั้งหอบ ทั้งแบกของที่ซื้อมาอย่างน่าสงสาร แต่เมื่อสังเกตดูใบหน้าของแต่ละท่านล้วนมีความสุขและสนุกสนาน  ดังนั้นการหอบหิ้วจึงเป็นภาระที่มีความสุข หวังเป็นอย่างยิ่งว่า  คงได้มีโอกาสไปเที่ยวอีสานอีกครั้ง เพราะอีสานกว้างใหญ่นัก คงต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเดินทางไปให้ทั่วทุกถิ่น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น