บ้านป้าLily หลังนี้เปิดไว้เพื่อให้เป็นที่ที่เพื่อนๆมานั่งตั้งวงคุยกันด้วยเรื่องที่เราชอบ
โดยมีป้า Lily มานั่งเล่าเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แถมสนุกสนานให้ฟังอีก
วันที่ท้องฟ้าสดใสในเวลาแดดร่มลมตกไม่มีอะไรดีไปกว่าการมานั่งที่ ชานเรือนของบ้านป้าLily อีกแล้ว


ยินดีต้อนรับทุกท่านจ๊ะ

วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2555

บ้านสกุลหลิน




เมื่อต้นฤดูหนาวที่ผ่านมา ฉันได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยว เมืองไทเป เกาะไต้หวัน   การเที่ยวตามแบบของฉันเป็นไปแบบง่ายๆ  เดินไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็หยุด  ส่วนสถานที่ที่จะไปดู ก็แล้วแต่โชคชะตาจะพาไป  หลายแห่งที่ฉันไม่เคยตั้งใจจะไป  แต่อาจเป็นเพราะมีวาสนาต่อกัน  ฉันจึงมักไปถึงที่นั่นด้วยความบังเอิญอยู่เสมอ
            บ้านสกุลหลิน เป็นอีกแห่งที่ฉันไม่ได้ตั้งใจจะไป  แต่ก็สะดุดกับรูปภาพของบ้าน ที่ติดไว้ในสถานีรถไฟฟ้าของไทเป  ความงดงามของตัวอาคารที่เก่าแก่ ช่างมีเสน่ห์มากพอที่จูงฉันให้เดินไปหยุดอยู่ที่หน้าประตูบ้านได้อย่างง่ายดาย
            บ้านสกุลหลิน ( The  Lin Family Mansion and garden) คฤหาสน์นี้  เป็นบ้านของคหบดีจีนชื่อ Lin Ping-Hou  ลูกชายพ่อค้าข้าวจากเมือง หลงชิ ( Lungshi) อำเภอชางชู ( Chang Chou) มณฑลฟูเจี้ยน ( Fujian) ประเทศจีน   โดยสร้างบ้านหลังแรกขึ้นในปี 1847 และสร้างต่อเติมอาคารเพิ่มขึ้นหลายหลัง  รวมทั้งสวนและสระน้ำภายในบ้าน ในปี 1851 เพื่อเป็นที่พักของลูกชายทั้ง 5 คนของ Lin Ping-Hou
บ้านประกอบด้วย อาคารทรงจีนโบราณขนาดใหญ่หลายหลัง   แต่ละส่วนของบ้านยังมีสนามหญ้าและสวน ตั้งอยู่  จนได้ชื่อว่าเป็น The Old Three-Courtyard House  บ้านนี้ตั้งอยู่ในเนื้อที่ประมาณ 20,012 ตารางเมตร  ใช้เวลาในการสร้างมากกว่า  5ปี แต่กว่าส่วนที่เป็นสวนจะเสร็จสมบูรณ์ก็เป็นปี 1893 เล่ากันว่า อิฐสีแดง และกระเบื้องมุงหลังทุกชิ้น เจ้าของบ้านสั่งมาจากเมืองหลงชิ บ้านเกิด ส่วนที่เป็นไม้เท่านั้น ที่หาซื้อรอบๆเมืองไทเปนั่นเอง
       บ้าน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกฉียงเหนือของเมืองเก่า ชื่อเมืองฟังเฉ่า (fangchiao)  โดยตั้งอยู่ริมฝั่งของลำห้วยเล็กๆที่คดเคี้ยวสวยงามยิ่งนัก  ในยุคที่เริ่มสร้างบ้าน ผู้คนสามารถแจวเรือจากบ้านไปยังแม่น้ำTamsui ได้ 
แต่ด้วยความที่ในยุคนั้น มักเกิดการสู้รบกันระหว่างชนพื้นเมืองดั้งเดิม กับคนจีนอพยพอยู่บ่อยๆ  บ้านหลังนี้จึงมีกำแพงสูงโดยรอบเพื่อป้องกันการถูกรุกรานจากภายนอก  ยิ่งกว่านั้น ยังได้มีการขุดสระน้ำรูปพระจันท์ครึ่งเสี้ยวไว้หน้าบ้าน เพื่อใช้เป็นส่วนป้องกันบ้านอีกด้วย และเมื่อมาถึงยุคนี้ สระพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว กลับกลายเป็นสระน้ำที่สวยงามของบ้านและชุมชน

บ้านเก่าแก่หลังนี้ ผ่านเหตุการณ์ต่างๆในอดีตมามากมาย  หากบ้านหลังนี้เป็นมนุษย์  คงจดจำสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตไม่หวาดไหว  แต่ที่น่าภูมิใจคือ  บ้านหลังนี้ได้ชื่อว่าเป็นบ้านที่สวยงามที่สุด โดยมีเจ้าของที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยที่สุดในไต้หวัน   เป็นบ้านที่มีทั้งพ่อค้า  นักการเมือง นักปราชญ์ ศิลปิน และผู้นำประเทศ แวะมาเยี่ยมเยียนด้วยความชื่นชอบอยู่ไม่ขาดสาย 

ปัจจุบัน  คนสกุลหลิน ได้เลิกทำการค้าข้าว และผู้คนที่แวะเวียนมาชมบ้าน ไม่ใช่เพียงคนที่มีชื่อเสียงเท่านั้น  แต่ยังเปิดบ้านให้ผู้ที่สนใจเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าเข้าชม นับว่าเป็นโชควาสนาโดยแท้จริงที่ได้มาเดินอยู่ในบ้านงามหลังนี้ 
ทางเข้าสวน ซึ่งปัจจุบันได้เปิดเป็นทางเข้าสำหรับผู้เข้าชม

หอ Ji-Gu เป็นห้องสมุด หรือที่ใช้เรียน เขียน อ่านบทกวี 
ท่านเจ้าของบ้านเคยจ้างศิลปินผู้แต่งกวีชื่อดังของจีน
มาสอนลูกชายที่หอนี้




ประตูและหน้าต่างแบบจีนที่ยังคงสีสันสวยงาม

มองจากภายในหอสมุด เห็นสนามหญ้าร่มรื่นภายนอก

ลานหน้าหอเป็นศาลาสี่เหลี่ยม ไว้นั่งรับลมและอ่านหนังสือ

ทุกอาคารภายในบ้าน จะถูกเชื่อมโยงโดยทางเดินแบบมีหลังคา โดยรอบบริเวณบ้าน
ปัจจุบันใช้เป็นที่แสดงภาพ และงานศิลปะ

ประตูสีสวย ในสายฝน

อีกด้านหนึ่งของหอJi-Gu
เมื่อเดินมาด้านหลังหอ Ji-Gu จะเห็นอาคารเก่าแก่แต่ยังมีสภาพดีมากอีกหลัง  
เบื้องหน้านี้คือ หอเรียนหนังสือชื่อ fang-Jian ที่สวยและสงบ
ด้านหน้าของหอfang-Jian มีทางเดินตรงไปยังศาลาแสดงละคร

ห้องโถงกลางเป็นทางโล่ง สองฝั่งของอาคารเป็นห้องเรียน 
ใช้เป็นที่สอนหนังสือลูกหลานบ้านนี้

ด้านหลังบ้านเป็นสระน้ำรูปทรงสี่เหลี่ยม 
ชื่อว่าสระกระจกสี่เหลี่ยม 


มีศาลาเล็กๆสร้างไว้สำหรับนั่งพักผ่อน  ที่ศาลานี้เคยมีศิลปินผู้แต่งกวีชื่อดังของจีนมานั่งอ่านบทกวีอยู่เป็นประจำ

ภายในศาลาริมสระ

มองจากหอfang-Jian จะเห็นหอLai-Ching 
ซึ่งตั้งอยู่ติดกำแพงของหอ fang-Jian
หอLai-Ching เป็นที่พักของลูกชายคนหนึ่งของ
ท่านเจ้าของบ้าน 
หอLai-Ching เป็นอาคารสองชั้น มีขนาดใหญ่

ตรงข้ามหอLai-Ching เป็นที่ตั้งของ Kai-Shiau-Yi-Shiau 
เป็นศาลาที่ใช้แสดงละคร (งิ้ว) เพื่อให้คนในครอบครัวนั่งชม 
ชื่อของศาลาแปลว่า "มีใครสักคนยิ้ม เมื่อม่านเวทีเปิดออก"

 มุมหนึ่งของหอ Lai-Ching

ใกล้ๆกับหอ Lai-Ching จะเห็นสะพานโค้งตั้งอยู่ 
ชื่อของสะพานคือ "สะพานโค้งสายรุ้งพระจันทร์" 
สะพานนี้สร้างเพื่อตกแต่งสวน ไม่ได้ใช้ข้ามสระน้ำเลย

เจ้าของบ้านต้องการสร้างความรื่นรมย์ให้แก่แขกที่มาเดินชมสวน โดยจะเชิญให้เดินข้ามสะพาน เพื่อชมจันทร์  แต่เมื่อลงมาใต้สะพาน จะพบกับทางเดินแคบๆที่ปูกระเบื้องเผาอย่างดี นำทางไปยังสวนสวยที่อยู่ใกล้ๆกัน อีกแห่งหนึ่ง นับว่าสามารถสร้างความประหลาดใจปนชื่นชมได้อย่างยิ่ง

เดินออกจากหอLai-Ching มาตามทางเดินต่อเนื่องจะถึง หอShiang-Yu-Yi  ซึ่งส่วนหนึ่งของบริเวณที่ตั้งหอนี้ เป็นระเบียงใหญ่ เบื้องหน้าระเบียงเป็นสระน้ำ ที่ใช้ชมเงาสะท้อนของดวงจันทร์ จากระเบียงนี้
ประตูเล็กๆที่เปิดออกไปยังสนามหน้าบ้าน ภายในบ้านนี้ปลูกต้นจามจุรีไว้ให้ร่มเงาหลายต้นมาก 

ภายในบริเวณกลางบ้านแต่ละหลัง จะเป็นพื้นที่โล่งซึ่งเป็นจุดต่อเชื่อมโยงของอาคารแต่ละหลัง ใช้เป็นที่พักผ่อนของผู้พักอาศัย


ไม่ไกลนักเป็นที่ตั้งของหอDing-Jing ที่มีความหมายถึงความสงบสุข  หอนี้เป็นอาคารใหญ่ที่สุดของบ้าน สร้างเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าชั้นเดียว  แต่มีอาคารตั้งเรียงกัน 3 หลัง

อาคารตั้งเรียงกัน 3 แถว ประตูแต่ละหลังจะตรงกัน หลังแรกเคยใช้เป็นที่เก็บข้าว ช่วงที่ยังมีอาชีพค้าข้าว  ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารญี่ปุ่นใช้อาคารนี้เป็นที่ประจำการ จึงรอดพ้นจากการทำลาย



รั้วสองด้านของหอ Ding-Jing ทำลวดลายเป็นผีเสื้อและค้างคาว 
ใช้เป็นสัญลักษณ์ของบ้าน
ประตูเชื่อมระหว่างหอ Ding-Jing กับหออื่นสร้างเป็นประตูวงกลมแบบจีน โดยสองด้านจะตั้งตรงกัน  เรียกว่า ประตูโค้งพระจันทร์

ทางเดินระหว่างบ้านแต่ละหลัง เชื่อมต่อถึงกันหมด
อีกด้านหนึ่งของทางเดินไปยังสวนภายในบ้าน

ศาลา Yun-Jin-Tsuang ตั้งอยู่ในสระใต้ร่มเงาของต้นจามจุรี รอบสระน้ำนี้ ท่านเจ้าของบ้านได้พยายามสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดูเหมือนกับหมู่บ้านเดิมของท่านที่เมืองจีน โดยเขียนรูปภาพภูเขา และสร้างลำธารให้ดูสงบงดงาม

สระพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว บริเวณหน้าประตูบ้านใหญ่ 
ขุดไว้เพื่อใช้ป้องกันการรุกรานของคนพื้นเมืองไต้หวัน 
ที่มักมีการต่อสู้กับคนที่มาจากแผ่นดินใหญ่ 

จากความงดงามของคฤหาสน์หลังนี้  ศิลปินและผู้สร้างภาพยนต์ได้มาใช้เป็นฉากถ่ายทำเสมอ  แม้แต่คู่บ่าวสาวก็แต่งชุดจีนย้อนยุค มาถ่ายภาพเป็นที่ระลึกมากมาย 

ฉันเดินการชมบ้านใหญ่หลังนี้ท่ามกลางสายฝนที่โปรยมาเบาๆ 
บรรยากาศเหมือนตัวเองอยู่ในหนังเก่าสักเรื่อง 
บ้านหลังนี้ช่างมีเสน่ห์จับใจจริงๆ หากวาสนาเราต้องกันแล้วไซร้  ฉันคงได้มาที่นี่อีกครั้งอย่างแน่นอน 


4 ความคิดเห็น:

  1. ตะกี้ คอมเมนต์ยาวครับ ตอนส่งคอมเมนต์ ต้องมีขั้นตอนครับ ต่อมาคอมเมนต์หาย

    แบบนี้อาจทำให้คนอื่นไม่ค่อยคอมเมนต์ครับ

    ตอบลบ
  2. พี่จ๋า
    ระบบของBlog เขาตั้งสกัด Spam ไว้จ๊ะ ไท่กล้าเอาออกเพราะเดี๋ยวมากันตรึมเลย
    พอเขียนคอมเม้นยาวๆ มักจะไปอยู่ใน Spam แต่ของพี่ที่ว่ายาวๆ หาไม่เจออ่ะ ไม่รู้ไปแอบอยู่ที่ไหน ขออภัยในความไม่สะดวกนะคะ
    โปรดกลับมาใช้บริการอีกค่ะ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ5 กันยายน 2557 เวลา 14:08

    สวยงามมากเป็นบุญตาที่ได้เห็น และปราถนาที่จะได้สักส่วนเล็กของบ้านหลังนี้มาตั้งไว้ที่ประเทศไทย

    ตอบลบ
  4. ไม่ทราบว่าจะขออนุญาตนำรูปไปใช้ประกอบการเขียนนิยายได้ไหมคะ พอดีว่าต้องการจะอธิบายสถาปัตย์บ้านเก่าในนิยายหาข้อมูลก็มาเจอบล็อกของคุณแล้วเราก็ชอบมากเลยค่ะ เราพร้อมให้เครดิตด้วยค่ะ

    ตอบลบ