Un-chim Petchburi
หลังจากที่เราได้ชมวัดเก่า บ้านเก่า ทองเก่า แล้ว เห็นทีจะต้องถึงเวลาชิมอาหารอร่อยๆแบบชาวบ้านเมืองเพชรกันบ้าง ดิฉันอยากจะขอแนะนำอาหารพื้นๆของเรา
เช่นก๋วยเตี๋ยวเนื้อเมืองเพชร ก๋วยจั๊บ ขนมจีนทอดมัน
ข้าวแช่ และ ขนมโตนดทอด
เริ่มด้วยร้านก๋วยจั๊บ แม้ทุกคนจะมีร้านอร่อยเจ้าประจำอยู่แล้ว แต่ที่เพชรบุรีมีร้านก๋วยจั๊บเก่าแก่ซ่อนตัวอยู่ ร้านนี้เป็นร้านที่ชาวต่างถิ่นน้อยคนนักจะรู้จัก นอกจากคอก๋วยจั๊บแฟนพันธุ์แท้เท่านั้น ร้านนี้เป็นร้านที่ตั้งมานานเกินห้าสิบปีแล้ว ที่พูดอย่างนี้เพราะตั้งแต่จำความได้ดิฉันก็เห็นร้านนี้แล้ว
เดิมร้านจะเป็นห้องแถวไม้เก่าๆ
แต่ปัจจุบันสร้างเป็นตึกแถวเล็กๆดูสะอาดตา สถานที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดมหาธาตุเท่าใดนัก หากเดินข้ามสะพานใหญ่ซึ่งอยู่ข้างธนาคารกรุงเทพ
จำกัด มาทางวัดพระมหาธาตุให้เลี้ยวขวาซอยแรก ร้านจะอยู่ซ้ายมือ ส่วน เมนูของร้านนี้ไม่ต้องอ่านให้ยุ่งยาก มีเพียงก๋วยจั๊บสองอย่างเท่านั้นคือ แบบน้ำข้นดั้งเดิมกับ แบบน้ำใส
ก๋วยจั๊บน้ำข้น แบบดั้งเดิมจะเป็นเส้นที่ต้มอยู่ในหม้อใหญ่
โดยมีแป้งข้าวเจ้า ผสมอยู่ในน้ำทำให้มีความเข้มข้น สำหรับน้ำเครื่องปรุงรสซึ่งเป็นน้ำพะโล้ที่หอมเครื่องเทศ
และมีบรรดาเครื่องใน ของหมูที่ต้มจนเปื่อยนุ่ม
พร้อมไข่พะโล้และเต้าหู้ผสมกันอย่างน่ารับประทาน ดิฉันพนันได้เลยว่าถ้ามาร้านนี้แล้ว คุณต้องสั่งชามที่สองหรือสามอย่างแน่นอน
ส่วนแบบน้ำใสทางร้านจะลวกเส้นทีละชาม ส่วนเครื่องในจะเป็นแบบสดหรือบางอย่างก็ทำสุกไว้แล้วแค่หั่นๆใส่ เติมน้ำซุปกระดูกหมูรสหอมหวาน
แค่นี้ก็อร่อยสุดแล้ว
ทานก๋วยจั๊บเสร็จแล้ว เรายังไม่เดินไปไกลจากบริเวณหน้าวัดพระมหาธาตุ เพราะแถวหน้าวัดนี้เป็นแหล่งอาหารโปรดของดิฉันและชาวเพชรอีกหลายๆคน โดยออกจากซอยร้านก๋วยจั๊บ เลี้ยวขวาแค่สองสามก้าวจะเป็นห้องแถวไม้เก่าๆ ซึ่งเป็นร้านกาแฟหัวมุมถนนตรงข้ามกับประตูเข้าวัด ร้านนี้จะเป็นที่ตั้งของร้านขนมจีนทอดมัน อาหารพื้นเมืองของคนเพชร
ทานก๋วยจั๊บเสร็จแล้ว เรายังไม่เดินไปไกลจากบริเวณหน้าวัดพระมหาธาตุ เพราะแถวหน้าวัดนี้เป็นแหล่งอาหารโปรดของดิฉันและชาวเพชรอีกหลายๆคน โดยออกจากซอยร้านก๋วยจั๊บ เลี้ยวขวาแค่สองสามก้าวจะเป็นห้องแถวไม้เก่าๆ ซึ่งเป็นร้านกาแฟหัวมุมถนนตรงข้ามกับประตูเข้าวัด ร้านนี้จะเป็นที่ตั้งของร้านขนมจีนทอดมัน อาหารพื้นเมืองของคนเพชร
ขนมจีนทอดมัน เป็นอาหารง่ายๆที่รับประทานได้ตลอดวัน สามารถเป็นอาหารเช้า อาหารกลางวัน อาหารเย็น
และอาหารว่าง เรียกว่า All purpose Food วิธีรับประทานก็ง่ายมาก แค่หยิบขนมจีนใส่จานสักสองสามจับ ตามด้วยทอดมันสักสามสี่ชิ้น (ชอบมากใส่มากชอบน้อยใส่น้อย) จากนั้นราดด้วยน้ำจิ้มทอดมัน
โรยแตงกวาซอยชิ้นเล็กๆสักหน่อย ถ้าชอบกระเพรากรอบก็ขอแม่ค้าให้โรยมาให้หน่อย เป็นอันเสร็จพิธี รับประทานได้ตามอัธยาศัย ร้านนี้ขายเกือบตลอดวันโดยจะทยอยทำ ทอดมันทีละไม่มากเพราะต้องการให้รับประทานแบบสุกใหม่ๆ
ตรงข้ามกับร้านขนมจีนทอดมัน จะเป็นรถไอติมทรายใส่ขนมฝรั่ง ไอติมที่ว่านี้คือ ไอศครีมกะทิปั่นเองด้วยมือไม่ได้ใช้เครื่องปั่น ตัวไอศครีมใช้กะทิแทนนมสดและครีม เนื้อของไอศกรีมจึงไม่เนียนและเป็นครีมเหมือนของฝรั่ง แต่ก็หอมหวานแบบไทยๆ เวลารับประทานเรามักจะรับประทานกับขนมไข่
หรือขนมฝรั่งที่อบมาเป็นรูปดาว (เป็นรูปทรงนี้มาห้าสิบปีแล้ว)
ไอศครีมกะทิใส่ขนมไข่
แบบโบราณแท้ๆนี้ เป็นที่ชื่นชอบของชาวเมืองเพชรฯ ไม่ว่าจะหน้าร้อน หน้าฝน หรือหน้าหนาว คนเมืองเพชรฯก็กินกันทุกวัน
ไอศครีม หรือที่เรียกว่า“ ไอติมทราย” นี้ทำจากกะทิสด และน้ำตาลทราย นำมาปั่นด้วยมือจนกลายเป็นไอติม ที่ไม่เป็นครีมเนียนเหมือนไอศครีมฝรั่ง แต่จับตัวเป็นเกล็ดคล้ายเมล็ดทราย จึงเรียกว่า “ไอติมทราย”
ไอศครีม หรือที่เรียกว่า“ ไอติมทราย” นี้ทำจากกะทิสด และน้ำตาลทราย นำมาปั่นด้วยมือจนกลายเป็นไอติม ที่ไม่เป็นครีมเนียนเหมือนไอศครีมฝรั่ง แต่จับตัวเป็นเกล็ดคล้ายเมล็ดทราย จึงเรียกว่า “ไอติมทราย”
วิธีรับประทาน วางขนมไข่ลงในถ้วย ตักไอศกรีมใส่ลงบนขนมไข่
จากนั้นจะโรยเพียงถั่วลิสงคั่วแบบไม่ต้องบดให้แหลก แค่นี้ก็อร่อยแล้ว
ไม่มีการโรยนมสดเหมือนไอศกรีมชนิดอื่น
นอกจาก “ ขนมไข่” แล้ว ยังสามารถรับประทานกับขนมอื่นได้อีก เช่น
ปาท่องโก๋หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ลูกชิด ลูกจาก หรือ มันเทศเชื่อม ก็อร่อยไปอีกแบบ ส่วนใหญ่ที่เราใช้ขนมไข่หรือปลาท่องโก๋ก็เพื่อต้องการให้ ไอติมที่ละลายซึมเข้าไปในขนม
จนขนมนุ่มและฉ่ำด้วยรสของไอติม คล้ายกับขนมเค้กของอิตาเลี่ยนที่ชื่อ
Tiramisu นั่นเอง ทั้งหมดก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน หากแต่ “ขนมไข่”
ดูจะเป็นขนมยอดนิยมสำหรับไอศครีมชนิดนี้
นอกจากร้านเก่าแก่ที่หน้าวัดมหาธาตุแล้ว
ในตัวเมืองเพชรฯยังมีร้านไอศกรีมนี้อีกหลายร้านให้เลือกชิม
ขนมอีกชนิดที่อยากให้ลองชิมคือ ลอดช่องน้ำตาลโตนดเคี่ยว ขนมที่ว่านี้คือลอดช่องสิงค์โปรตัวเหนียวๆนี่ล่ะ แต่แทนที่จะใส่น้ำเชื่อมที่ทำจากน้ำตาลทราย ร้านนี้จะใช้น้ำตาลโตนดที่เคี่ยวข้นแบบคาราเมล หรือน้ำตาลไหม้ราดลงบนน้ำแข็งใสแทน ซึ่งนอกจากจะได้รสชาติหวานกลมกล่อมดีแล้ว กลิ่นของน้ำตาลไหม้ยังหอมติดใจอีกด้วย
ร้านนี้ดิฉันทานมาตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนของโรงเรียนอรุณประดิษฐ์ เพชรบุรี เพราะเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว ร้านนี้เป็นรถเข็นตั้งอยู่ปากซอยติดกับกำแพงโรงเรียน ตรงข้ามกับโรงเรียน
กวงตง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนภาษาจีนให้กับลูกหลานคนจีนของเมืองเพชรมาหลายรุ่น นักธุรกิจชั้นแนวหน้าของเมืองเพชรล้วนเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนนี้ ปัจจุบันย้ายมาอยู่ตรงข้ามโรงเรียนอรุณประดิษฐ
แต่เป็นฝั่งถนนราชดำเนินแทน
และเนื่องจากเป็นขนมยอดนิยมของคนเมืองเพชร จึงยังมีขายอีกหลายร้าน ใครเป็นแฟนร้านไหนก็เลือกกันได้เลยจ้า
พูดถึงน้ำตาลโตนด ซึ่งเป็นพืชพื้นเมือง แม้จะไม่เป็นพืชเศรษฐกิจแต่ก็มีประโยชน์มากมาย เราสามารถใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของต้นไม้นี้ นอกจากจะเอาต้นมาสร้างบ้าน หรือทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆแล้ว ผลิตผลจากต้นยังสามารถเป็นอาหารได้อีก เพราะส่วนใหญ่อาหารพื้นเมืองจะมีหรือทำมาจากส่วนผสมของ ลูกตาลโตนด อาหารที่ว่านี้คือ แกงหัวตาล ขนมโตนดทอด ขนมตาล จาวตาลเชื่อม น้ำตาลสด ลูกตาลเชื่อม ลูกตาลลอยแก้ว ลูกตาลแกงบวช ฯลฯ แต่ขออนุญาตแนะนำสักสองอย่างก่อนคือ
แกงหัวตาล เป็นอาหารโบราณประจำครัวเรือนของคนเมืองเพชร ปรุงโดยการฝานเต้าตาลอ่อนเป็นชิ้นเล็กๆบางๆ ใช้เครื่องแกงเผ็ดที่ใส่กระชายมากหน่อย เป็นน้ำพริกสูตรพิเศษของคนเมืองเพชร แกงกับกุ้งสด หรือเนื้อย่าง เคี่ยวน้ำแกงด้วยไฟกลางจนหอมได้ที่ รสและกลิ่นแกงจะคล้ายน้ำยากะทิ เวลารับประทานกับข้าวสวยร้อนๆแล้วอร่อยชื่นใจมาก
ขนมโตนดทอด เป็นของหวานที่ทำจากจาวตาลฝานเป็นชิ้นเล็กไม่บางมาก นำไปเชื่อมในน้ำตาลโตนดเคี่ยวหอมหวาน สักพักพอให้น้ำตาลซึมเข้าไปในเนื้อจาวตาลจนชุ่มและอมความหอมหวานของน้ำตาลโตนดเคี่ยวไว้ แล้วนำไปชุบแป้งผสมหัวกะทิ จากนั้นนำไปทอดแบบกล้วยทอดในน้ำมันเดือดๆ ขนมโตนดทอดนี้ เป็นขนมที่นิยมมากในสมัยที่ดิฉันเป็นเด็ก เพราะสมัยนั้นไม่มีขนมมากมายหลายหลากแบบปัจจุบัน เด็กๆที่ได้ทานขนมโตนดทอด ก็นับว่าหรูมากแล้ว
พูดถึงอาหารแล้ว ขอคุยว่าในขณะที่ “ประเทศไทยเป็นครัวของโลก” “ เพชรบุรี ก็เป็นครัวของเมืองไทย” เช่นกัน เหตุที่พูดเช่นนี้เพราะเพชรบุรีเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำใช้ตลอดปี ปลูกพืชงดงามและมีรสอร่อยกว่าที่อื่น ดังนั้นพืชผักที่ปลูกที่นี่จึงมีมากมายหลายชนิด และได้ส่งเข้าไปขายในกรุงเทพทุกวัน
จึงอยากชวนเพื่อนๆให้ไปซื้อพืชผักผลไม้ที่ตลาดกลางเกษตรของเมืองเพชรซึ่งมี อยู่หลายแห่ง เช่นในตัวเมืองเพชร
ซึ่งจะเป็นตลาดกลางคืนอยู่กลางตัวเมือง
แห่งที่สองคือที่อำเภอบ้านลาด แต่ต้องขับรถเข้าไปสักพักซึ่งอาจจะไม่สะดวกนัก อีกแห่งที่อยากแนะนำคือ ที่ตลาดกลางเกษตรอำเภอท่ายาง เพราะตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษมเลยทางเข้าอำเภอท่ายางไปทางชะอำเพียงสาม กิโลเมตร จะมีป้ายใหญ่เห็นแต่ไกล ที่ตลาดนี้ทุกวันจะมีรถของโรงแรมต่างๆในเขตอำเภอชะอำและหัวหินมาจอดซื้อ อาหารสดมากมาย เพราะมีราคาถูกกว่าที่อื่นมาก
เพราะขายในราคาส่ง
ถ้าไม่คิดจะซื้อในปริมาณมาก ขอแนะนำให้แวะที่ตลาดสดอำเภอท่ายาง ซึ่งจะมีอาหารจำหน่ายแบบปลีกทุกชนิดในราคาถูก เพราะเป็นตลาดที่ชาวสวนชาวบ้านเก็บพืชผลมาขายกันเอง วิธีจะไปตลาดนี้ก็แค่เลี้ยวขวาจากถนนเพชรเกษมเข้าไปในตัวเมือง จะเห็นตลาดอยู่ขวามือ
หากมาในช่วงเช้าแนะนำให้ลองรับประทานอาหารเช้าแบบคนท่ายาง คือข้าวราดแกงป่าไก่ และเนื้อ
หรือหมูเค็ม กับไข่ต้มยางมะตูม ความที่เมืองนี้เป็นเมืองต้นตำหรับพริกกะเหรี่ยงที่เผ็ดหอมที่สุดในประเทศไทย แกงป่าที่นี่จึงเข้มข้นแบบลืมไม่ลง กรณีที่ติดใจสามารถหาซื้อน้ำพริกแกงได้ที่ในตลาดนั่นเอง
ถ้าคุณมาในวันอังคารและวันศุกร์ซึ่งเป็นวันที่มีตลาดนัดแล้วล่ะก็ ไม่ต้องหาตลาดสดให้ลำบาก เพราะจะมีตลาดนัดขายของเต็มทั้งเมืองเดินเลือกดูได้ทุกซอย สินค้าที่มาขายนอกจากจะเป็นผักผลไม้แล้ว ยังมีประเภทหมู ไก่ เนื้อ และอาหารทะเลซึ่งขายโดยชาวประมงค์จากอำเภอบ้านแหลมด้วย
จึงไม่ต้องแปลกใจถ้าจะพบชาวกรุงเทพหรือจังหวัดอื่นๆเดินซื้ออาหารในตลาดท่ายาง ในช่วงเช้าวันเสาร์หรือวันศุกร์ ส่วนบ่ายวันอาทิตย์แถวในซอยข้างธนาคารกรุงเทพ
จำกัด สาขาท่ายาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านขนมหวานแม่บุญล้น ก็จะคลาคล่ำไปด้วยผู้ที่มาซื้อขนมที่ร้านนี้
ร้านแม่บุญล้นมีชื่อเรื่องขนมบ้าบิ่นมะพร้าวอ่อน ซึ่งไม่มีที่ไหนทำได้อร่อยเท่านี้อีกแล้ว ส่วนขนมที่ดิฉันชอบมากเป็นพิเศษคือฝอยทองสด
ทำใหม่ๆ รสไม่หวานจนเกินไป แต่หอมน่าทานยิ่งนัก
เรื่องภาษาของเมืองเพชร
หลายท่านทราบดีว่าคนเมืองเพชรพูดเหน่อ
ซึ่งดิฉันเองตอนเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯใหม่ๆ
มักจะถูกเพื่อนๆล้อเลียนอยู่เสมอ และไหนๆจะมาเมืองเพชรทั้งที น่าจะรู้จักภาษาพื้นเมืองเอาไว้บ้าง จะได้ไม่เกิดกรณีเข้าใจภาษาคลาดเคลื่อน
ให้ต้องตีความกันภายหลัง ภาษาของชาวเมืองเพชรมีบางคำแตกต่างจากภาษาของจังหวัดอื่น ดังตัวอย่างต่อไปนี้ (เวลาอ่านกรุณาทำเสียงเหน่อๆด้วย)
คำว่า ไม่รู้ คนเมืองเพชรพูด รู้ไม่ -ออกเสียง รู๊ ไม่
คำว่า ไม่เอา คนเมืองเพชรพูด เอาไม่-ออกเสียง เอ๊า ไม่
คำว่า ไม่ไป คนเมืองเพชรพูด ไปไม่-ออกเสียง ไป๊ ไม่
คำว่า ไม่เป็นไร คนเมืองเพชรพูด เป็นไรไม่-ออกเสียง เป็น ไร๊ ไม่
จากคำเหล่านี้คงเห็นแล้วว่า ถ้าไม่รู้มาก่อน คุณอาจเข้าใจคนเมืองเพชรผิดได้ แค่เพียงคุณถามว่า “รู้ไหม?” เขาตอบคุณว่า “ รู๊ ไม่” หากฟังไม่ถนัด คุณคงคิดว่าเขารู้อย่างแน่นอน ในขณะที่เขาไม่รู้ และคุณอาจเข้าใจผิดว่าเขาตั้งใจกวนประสาทคุณ แต่เปล่าเลย คุณไม่เข้าใจต่างหากล่ะ
เมื่อรู้เรื่องภาษาอย่างนี้แล้ว คุณก็สามารถมาเมืองเพชรได้สบาย แค่พูดเสียงเหน่อๆเสียหน่อย รับรองว่าไม่อดตายแน่นอน แล้วพบกันที่เมืองเพชรนะจ๊ะ
ขอบคุณป้าLilyมาก มีรูปสวยๆและความคิดดีๆมาแบ่งปันกันแบบนี้ ชีวิตของผู้ให้และผู้รับก็มีความสุขยิ่งขึ้น ทุกคนควรช่วยหยิบยื่นสิ่งดีๆให้แก่กัน ก่อนที่จะลาจากโลกนี้ไป คงอีกไม่นานเท่าไรนัก เผลอแป๊ปเดียวมาถึงตอนนี้เลย60ปีไปแล้ว!...สมาชิกเก่า
ตอบลบ