บ้านป้าLily หลังนี้เปิดไว้เพื่อให้เป็นที่ที่เพื่อนๆมานั่งตั้งวงคุยกันด้วยเรื่องที่เราชอบ
โดยมีป้า Lily มานั่งเล่าเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แถมสนุกสนานให้ฟังอีก
วันที่ท้องฟ้าสดใสในเวลาแดดร่มลมตกไม่มีอะไรดีไปกว่าการมานั่งที่ ชานเรือนของบ้านป้าLily อีกแล้ว


ยินดีต้อนรับทุกท่านจ๊ะ

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เที่ยวเมืองเพชร ตอนที่ 1

หลังจากที่วารสารสกุลไทย รายสัปดาห์ ได้ลงบทความเรื่อง "เที่ยวเมืองเพชรบุรี " ตอน Unseen Petchaburi ไปสองฉบับแล้ว  สิ่งที่ตามมาคือเสียงโอดครวญจากบรรดานักอ่านที่อยู่ห่างไกล  ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ว่าหาซื้อหนังสือสกุลไทย ไม่ได้เลย 

ซึ่งก็น่าจะเป็นความจริง เพราะหนังสือสกุลไทย เป็นที่นิยมมาช้านาน และเหนียวแน่นของสาวก ที่อ่านมาตั้งแต่สาวจนอายุมาก  ผู้ที่จะได้ครอบครองหนังสือนี้ ส่วนใหญ่ต้องเป็นเจ้าประจำที่รับทุกฉบับ  หรือไม่ก็ต้องหาอ่านตามห้องสมุดสถานศึกษา และหน่วยงานต่างๆ หรือ ตามร้านเสริมสวยที่มักรับไว้ให้ลูกค้าอ่าน 

ยิ่งผู้ที่อยู่ต่างประเทศแล้วยิ่งน่าสงสารยิ่งนัก  หากไม่บอกรับประจำ ก็จะไม่มีโอกาสได้อ่านเลย แถมยังต้องอ่านช้ากว่าบ้านเรา 1 สัปดาห์อีกต่างหาก  หลายท่านขอให้ส่งบทความไปให้ทาง Email ซึ่งก็จัดการไปให้หลายท่าน

แต่ด้วยเสียงร่ำร้องนี่เอง ที่ทำให้ฉันตัดสินใจนำบทความนี้มาขึ้นในบล็อก เพื่อให้ท่านที่ไม่มีโอกาสได้อ่าน สามารถอ่านได้เช่นเดียวกับผู้อื่น  เป็นการช่วยผ่อนแรงให้ สกุลไทยด้วย 

ที่จริงบทความนี้ ฉันเขียนไว้พักใหญ่แล้ว บางท่านอาจเคยผ่านตามาบ้าง   สำหรับท่านที่อ่านในหนังสือสกุลไทยมาแล้ว  และคงไม่เบื่อเสียก่อนนะ  

 
เที่ยวเมืองเพชร   
UNSEEN PETCHBURI  

                ในช่วงที่ภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน กำลังมาแรง จนใครที่ยังไม่ได้ดูหรือไม่รู้จักเรื่องนี้คงเชยเป็นอย่างยิ่ง  หลังจากดูภาพยนตร์ก็ทำให้มีความสงสัยว่า ผู้เขียนเรื่องนี้น่าจะเป็นคนที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกับดิฉันเป็นแน่  โดยเฉพาะเมื่อเห็นฉากในหนังซึ่งเกือบทั้งหมด ถ่ายทำที่ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี  บ้านเกิดของดิฉันเอง 
         สำหรับผู้คนทั่วไปภาพยนตร์เรื่องนี้อาจเป็นแค่ดูสนุกๆ ไม่มีความหมายอะไร แต่สำหรับชาวท่ายาง หรืออำเภอใกล้เคียง ในจังหวัดเพชรบุรี หรือแม้แต่ในหลายๆจังหวัดแล้ว นี่คือเรื่องจริงที่คนหลายรุ่นหลายสมัย หรือแม้แต่ปัจจุบันยังคงมีวิถีชีวิตที่ไม่แตกต่างไปจากภาพยนตร์เรื่องนี้เลย และแน่นอนว่านี่คือช่วงหนึ่งของชีวิตในวัยเด็กของดิฉันและเพื่อร่วมรุ่นอีกหลายต่อหลายคน
         ฉากในภาพยนตร์ซึ่งเป็นเรื่องเล่าถึงยุคที่ผ่านมามากกว่าสิบปี โดยพยายามหา Location ให้ดูเก่า และก็มาพบอำเภอท่ายาง สถานที่ซึ่งมีสภาพเช่นในภาพยนตร์โดยไม่ต้องทำเติมเสริมแต่งให้ดูเก่า แต่สามารถเก่ามาตั้งแต่สมัยดิฉันยังเด็กจนปัจจุบัน ก็ยังมีสภาพไม่เปลี่ยนไปมากนัก เรายังมีห้องแถวไม้เก่าๆ แซมด้วยตึกเก่าที่สร้างมาในยุคที่เศรษฐกิจดูเหมือนดีอยู่ทั่วไป ผู้คนสัญจรไปมาจากซอยนี้ไปซอยโน้นด้วยจักรยานสองล้อ และหนึ่งในนั้นคือดิฉันนั่นเอง ดิฉันภูมิใจและมีความสุขที่ได้เป็นคนของจังหวัดนี้ โดยเฉพาะเมืองท่ายาง แม้ต้องไปทำงานที่เมืองอื่นปีแล้วปีเล่า แต่ก็ไม่เคยเลยที่จะไม่กลับมาในวันหยุด เหตุผลเพราะที่นี่คือ “บ้าน
         และเพื่อเป็นเป็นเกียรติแก่บ้านเกิด ดิฉันจึงขอแนะนำ จังหวัดเพชรบุรีฉบับ Unseen ให้ทุกท่านได้รู้จักในมุมที่หลายท่านไม่เคยทราบมาก่อน
        จังหวัดเพชรบุรีเป็นสถานที่ที่แทบทุกคนในประเทศไทยรู้จักดี สิ่งที่ทำให้จังหวัดนี้มีชื่อเสียง 80% เป็นอาหาร และ 20% เป็นสภาพภูมิศาสตร์และผลผลิตพื้นเมือง พูดถึงสิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดของจังหวัดเพชรบุรี ทุกคนต้องรู้จักขนมหม้อแกง และขนมหวานพื้นบ้านของไทย ที่อร่อยที่สุดในโลกก็ว่าได้ ผลิตผลที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นที่มาของขนมหวานคือ น้ำตาลโตนด ที่มาจากต้นตาล ต้นไม้คู่บ้านคู่เมืองเพชร

        ส่วนสถานที่ที่มีชื่อคือ “ พระนครคีรี พระราชวังฤดูร้อน บนยอดเขาซึ่งมีลักษณะคล้ายปราสาทของเจ้านายในทวีปยุโรป   นอกจากนั้นยังมีวัดวาอารามอีกมากมาย  โดยที่เมืองเพชรได้ชื่อว่าเป็นเมืองพระเนื่องจากมีวัดสร้างขึ้นมากในตัวอำเภอเมืองและรอบนอก 
        เมื่อพูดถึงธรรมชาติ เพชรบุรีมีหาดทรายสวยที่ชื่อ“ชะอำ” มีทะเลสาบและเขื่อนดินกั้นน้ำแห่งแรกของประเทศ คือเขื่อนแก่งกระจาน กล่าวได้ว่า เพชรบุรี เป็นเมืองที่มีสถานที่น่ามาท่องเที่ยวในทุกประเภทครบวงจร คือ มีทั้งภูเขา ทะเล แม่น้ำ ทะเลสาบ ทะเลหมอก เกาะ แก่ง ป่า น้ำตก ดูนก ชมผีเสื้อ วัดวาและพระราชวัง แถม ผู้คนดีมีน้ำใจ อาหารอร่อย ขนมรสหอมหวานชื่นใจ ทั้งหมดนี้คือภาพที่ผู้คนรู้จักเมืองเพชรบุรี
        แต่ยังมีในอีกมุมมองหนึ่งที่น้อยคนนักจะได้เห็นเมื่อมาถึงเมืองเพชร  นั่นคือสิ่งที่ดิฉันจะนำมาเล่าให้ฟัง โดยเรียกมุมนี้ว่า Unseen Petchburi
        การเที่ยวชมเมืองเพชรในจุดที่ไม่ค่อยมีการนำเสนอต่อนักท่องเที่ยวนี้ มีทั้งพาชมและพาไปชิม  คือชมสถานที่และชิมอาหารอร่อยแบบพื้นบ้าน แต่ขอออกตัวสักเล็กน้อย ว่าอาจจะมีการชิมมากกว่าชมสักหน่อย 

              ริ่มจากอำเภอเมืองเพชรบุรี การเดินทางมาเที่ยวเมืองเพชรจะมีโอกาสหลงทางได้ยาก เพราะเมืองเพชรมี Land Mark ให้สังเกตมากมาย เช่นพระนครคีรี หรือเขาวัง ซึ่งตั้งอยู่เป็นด่านหน้าก่อนเข้าตัวเมืองเพชร โดดเด่นและเห็นมาแต่ไกล ยิ่งขับรถมาใกล้เขาวังเท่าไร ก็แปลว่าเข้าใกล้เมืองเพชรเท่านั้น  


           ส่วนในตัวเมืองยังมีพระปรางวัดพระมหาธาตุ สีขาวสูงเด่นเป็นสง่าอยู่กลางใจเมือง  ในกรณีที่ท่องเที่ยวอยู่ในตัวเมืองถ้าหลงทิศหลงทางให้พยายามมองหายอดพระปรางสีขาวนี้ไว้  เราก็จะกลับมายังจุดศูนย์กลางของเมืองได้ ดังนั้นจึงมีโอกาสหลงทางน้อยมาก เพราะมีจุดเด่นของสถานที่ให้สังเกตนั่นเอง
     
พูดถึง เขาวัง หรือพระนครคีรี  ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างยิ่งของเมืองเพชร  ปัจจุบันมี Cable Car ให้บริการ รับส่งนักท่องเที่ยว ขึ้นลงเขาสะดวกสบาย ก็คงไม่พูดถึงมากนัก   แต่ขออนุญาตทบทวนความหลังของการมาเที่ยวเขาวังสมัยเป็นเด็กของดิฉันสักเล็กน้อย
      ดิฉันจำความรู้สึกในครั้งที่ครอบครัวของเรามาเที่ยวเขาวังได้ไม่เคยลืม แม้เราจะมาบ่อยแค่ไหน เราก็สนุกสนานและอบอุ่นทุกครั้งที่มา  หากถามคนเมืองเพชรในสมัยเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว  ทุกคนในสมัยนั้นจะตื่นเต้นกับงาน “หน้าเขา” มาก (ชื่อนี้ใช้เรียกงานทุกงานที่จัดในบริเวณสนามหน้าพระนครคีรี   เช่นงานกาชาด และ งานสงกรานต์) ผู้คนที่มาเที่ยวนอกจากจะเป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียงแล้ว 90%เป็นคนเมืองเพชรเองทั้งสิ้น วันไหนจะไปเที่ยว “งานหน้าเขา” จะต้องมีการเตรียมตัวอย่าพิถีพิถัน หนุ่มๆต้องใส่เสื้อฮาวายตัวใหม่ ใส่กางเกงขายาว (ปรกติอยู่บ้านมักใส่ขาสั้น) และต้องไม่ลืมใส่น้ำมันใส่ผมยี่ห้อ   “ ไบร์ครีม เพิ่มความหล่อด้วย
      ส่วนสาวๆทั้งสาวมากและสาวน้อย ต่างก็ต้องตื่นกันแต่เช้าเพื่อจองคิวร้านทำผม  บางคนนั่งรอทั้งวันเพื่อดัดผม หรือทำผมแบบเกล้ามวยพองสูงๆ  เสื้อผ้าก็จะใส่กระโปรงบานแบบมีสุ่มซึ่งทำด้วยใยพาสติกไว้ข้างในให้พองๆ  งานนี้เป็นโอกาสเดียวในรอบปีของสาวเมืองเพชรที่จะได้สวมรองเท้าส้นสูงไปเที่ยว ในยุคนั้นดิฉันโชคดีที่ยังเป็นเด็กจึงไม่ต้องทำแบบนั้น เพราะทุกครั้งที่ไป “งานหน้าเขาดิฉันจะเห็นสาวๆเดินแบบ ทรมานสังขารเพราะไม่สบายด้วยถูกรองเท้าส้นสูงกัด บางคนถึงกับต้องถอดรองเท้าหิ้วเดินกันเป็นแถว
      งานหน้าเขาในความทรงจำของดิฉันคือ การที่ได้ไปเที่ยวกันพร้อมหน้าทั้งครอบครัว โดยเราจะนำอาหารเย็นใส่ปิ่นโต หรือห่อด้วยใบตองไปจากบ้านเพื่อขึ้นไปรับประทานพร้อมชมวิวเมืองเพชรบนยอดเขาวัง อันเป็นที่ตั้งของพระราชวังเก่า  ซึ่งเปิดให้เข้าชมในวาระพิเศษนี้เท่านั้น ความสนุกอยู่ที่การเดินขึ้นเขาตามทางที่สร้างด้วยหินสกัดในสมัยรัชกาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  (ยังไม่มีรถรางขึ้นเหมือนสมัยนี้ ) 
       เตี่ย กับแม่ จะเป็นผู้ถือกระเช้าใส่อาหาร  ส่วนดิฉันและพี่น้องช่วยกันถือถุงขนม แต่มักต้องซ่อนไว้ในเสื้อ   เพราะระหว่างทางจะมี “ขาโจ๋  ( ลิง) คอยแย่งอาหารในมือเราตลอดทาง สมัยนี้แม้มีรถรางขึ้นเขาแต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวเดินขึ้นเพื่อชมสถานที่และอาคารโบราณ สองข้างทาง และแน่นอนว่า ขาโจ๋ หรือ ขาจ๋อเหล่านั้นก็ยังคงคุมเส้นทางอยู่  ไม่แพ้ที่ศาลพระกาฬ จังหวัดลพบุรีเลย   ปัจจุบัน งานหน้าเขา ถูกเรียกชื่อใหม่เป็น  งานพระนครคีรี โดยรูปแบบการจัดงานถูกเปลี่ยนไปตามยุคและความนิยม  และแน่นอนว่า ไม่มีใครพาลูกๆขึ้นมาตั้งวงปิกนิคบนยอดเขาอีกเลย 

ท่านที่อยู่ในจังหวัดภาคกลางคงเคยได้ยินคำพูดเกี่ยวกับจุดเด่นของคนเมืองต่างๆ แถบนี้ที่ว่า คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง คนกงเพชรบุรี บ้าง โดยเฉพาะคำว่า    “คนกงซึ่งมักจะถูกเรียกเพี้ยนเป็นคนโกงอยู่เสมอๆ   คำว่า คนกง ” เป็นคำโบราณที่หมายถึงคนตรง มิได้หมายถึง คนโกง แต่ประการใด ดิฉันเห็นความเป็นคนตรงของคนเพชรมาตั้งแต่เกิด และบางส่วนถูกซึมซับไว้ในนิสัยของเด็กรุ่นหลังไม่มากก็น้อย ส่วนคนโกงนั้นก็เป็นธรรมดาของปุถุชนที่ต้องมีกันบ้างในทุกที่   
        เหตุผลที่สามารถนำมาสนับสนุนความเป็นคนตรงอีกข้อคือ เรามีวัดมากที่สุด จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองพระ ดังคำขวัญที่ว่า เพชรบุรีเมืองพระ ธรรมะครองใจ เพราะแค่ในตัวอำเภอเมืองเพชรบุรี ก็มีวัดถึง 99 วัดเข้าไปแล้ว   ความที่มีวัดตั้งอยู่มาก  ดังนั้นไม่ว่าจะขับรถไปถนนไหน เป็นต้องผ่านวัดทุกถนน   บางวัดกำแพงสร้างติดกัน หรือใช้กำแพงร่วมกันไปเลยก็มี และทุกวัดล้วนเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาในสมัยโบราณทั้งสิ้น หลายวัดยังมีร่องรอยของประวัติศาสตร์ให้เห็นจนปัจจุบัน เช่นรอยขวานของทหารพม่าที่พยายามเปิดประตูโบสถ์ของวัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นต้น



  ดังนั้นการมาเที่ยวเมืองเพชร นอกจากจะชมธรรมชาติแล้ว การเที่ยววัดจึงเป็นอุตสาหกรรมหลักของท้องถิ่นก็ว่าได้   สำหรับบ้านเมืองตึกรามบ้านช่องในอำเภอเมืองเพชรบุรี ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านเก่า โดยจะแบ่งเป็นยุคๆไป ยุครุ่งเรืองครั้งสุดท้ายของการสร้างตึกน่าจะอยู่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดใหม่ๆ
       หลังจากยุคนั้นมีการสร้างบ้างแต่ไม่นับว่าเป็นความรุ่งเรือง โดยเฉพาะในปัจจุบันเรียกได้ว่าหยุดสนิท ดังนั้นบ้านเรือนแบบห้องแถวไม้โบราณ และตึกสองชั้นแบบเก่าประเภทติดลูกไม้ที่ชายคาบ้านและลูกกรงช่องลมแบบสวยงาม จึงมีให้เห็นและชื่นชมอยู่มากมาย ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจที่เรายังคงรักษาบ้านเก่าๆที่สวยงามเหล่านี้ไว้ได้
       ในบรรดาห้องแถวเก่าๆของถนนพานิชเจริญ นี้ มีอยู่หนึ่งคูหาที่เป็นบ้านของ  ป้าเนื่องช่างทองเก่าแก่ของเมืองเพชร ซึ่งเป็นช่างรับทำเครื่องประดับ ทองรูปพรรณตามสั่ง นอกจากสร้อยคอและเครื่องถนิมพริ้มเพราที่สวยงามมีชื่อเสียงแล้ว ป้าเนื่องยังมีฝีมือเป็นเลิศในการเลี่ยมพระ (พระเครื่องห้อยคอ) อีกด้วย ครอบครัวของดิฉันมีโอกาสได้ครอบครองผลงานตลับหุ้มพระฝีมือป้าเนื่องอยู่หลายชิ้น โดยบางชิ้นได้รับรางวัลจากการประกวดระดับประเทศ ปัจจุบันป้าเนื่องมีอายุมากแล้ว แต่ยังคงรับทำบ้างเป็นบางชิ้น ส่วนใหญ่ในยุคนี้จะเป็นฝีมือลูกหลานของท่าน  ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิชาทำทองเป็นผู้ทำให้กับลูกค้าทั่วไป

การทำทองรูปพรรณที่นี่จะแตกต่างจากร้านทำทองทั่วไปตรงที่
 
ข้อแรก  ใช้เวลานานมากในการทำแต่ละชิ้น  เพราะทุกขั้นตอนแทบจะไม่ใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วย คือทำด้วยมือจริงๆ
 
ข้อสอง  ทองที่ป้าเนื่องใช้จะเป็นทองพิเศษ เพราะเป็นทองบางสะพาน (อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) ซึ่งเป็นทองที่มีเนื้อทองบริสุทธิ์มากกว่าแหล่งอื่น
 
ข้อสาม ลวดลายของป้าเนื่องมีไม่มาก ไม่เหมือนทองจากจังหวัดอื่น  แต่ฝีมือเหนือชั้นกว่ามาก  ผลงานที่มีชื่อเสียงคือสร้อยลายสี่เสา (รับทำตั้งแต่หนักสามบาทขึ้นไป) ลูกกระดุมทองโบราณ  สร้อยลายลูกสน และที่หลายคนปรารถนาอยากเป็นเจ้าของอย่างยิ่งคือ กำไลข้อมือลายตะขาบทรงเครื่อง ซึ่งลวดลายวิจิตรยิ่งนัก


      การสั่งทำ ทุกเส้นจะทำตามออเดอร์ และวัดขนาดข้อมือของผู้สั่งทำ ทุกเส้นจึงมีความยาวและน้ำหนักทองไม่เท่ากัน ดิฉันจำได้ว่าต้องรอสร้อยข้อมือเส้นนี้อยู่หนึ่งปีเต็ม จึงได้มา แต่โชคร้ายตรงที่บังเอิญช่วงที่รออยู่นั้น ดิฉันสมบูรณ์ขึ้นมาหลายกิโล เมื่อสร้อยข้อมือทำเสร็จจึงไม่สามารถใส่ได้ ( ปัจจุบันได้แต่เอาออกมาชื่นชมได้อย่างเดียว)  
      ช่วงที่สั่งทำนั้น เมืองเพชรฯยังไม่มีโทรศัพท์ติดต่อกัน  เวลาจะไปรับของ ป้าเนื่องจะส่งคนนั่งรถโดยสารมาบอกที่บ้านให้ไปรับ  วิธีการจ่ายเงินจะกระทำวันที่ไปรับของโดยจะชั่งน้ำหนักทองและตีราคาตามราคาทองในวันนั้น จึงเป็นเรื่องปรกติที่ราคาของงานแต่ละชิ้นแม้จะเหมือนกัน แต่ราคาจะแตกต่างกันไปตามราคาขึ้นลงของทองคำ 
      การมอบชิ้นงาน ป้าเนื่อง จะห่อเครื่องประดับด้วยกระดาษขาวพร้อมเขียนชื่อเจ้าของชิ้นงานไว้ว่า ชิ้นนี้เป็นของใคร น้ำหนักทองเท่าไร  ปัจจุบันดิฉันยังคงเก็บสร้อยข้อมือที่ป้าเนื่องทำไว้ในสภาพเดิมที่รับมาคือ ห่อกระดาษขาวที่กลายเป็นสีเหลืองน้ำตาล เพียงเพราะกระดาษชิ้นนั้นเขียนชื่อดิฉันไว้นั่นเอง
      ที่เล่าเรื่องป้าเนื่องให้ฟังเพราะดิฉันมีความภาคภูมิใจในฝีมือของช่างทอง เมืองเพชรซึ่งเป็นช่างทองโบราณอย่างแท้จริง แม้ไม่โด่งดังเหมือนทองจากเมืองอื่น แต่คุณค่าอันเกิดจากโอกาสที่จะได้ครอบครองเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหา และสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ที่เป็นเจ้าของเป็นอย่างยิ่ง

             นอกจากเรื่องของสวยงามแล้ว  ดิฉันจะขอเล่าถึงกีฬาพื้นเมืองของคนเพชรที่ คนต่างเมืองน้อยคนนักจะรู้จัก  นั่นคือ “ วัวลาน กีฬาชนิดหนึ่งของคนเมืองเพชร  ว่ากันว่าเป็นกีฬาของลูกผู้ชาย   ซึ่งเป็นการผสมผสานความสัมพันธ์กันระหว่างนักกีฬาคือวัว กับ คนได้อย่างดี   “วัวลาน”  เป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันในฤดูที่เกี่ยวข้าวเสร็จ เพราะท้องนาจะแห้งไม่มีโคลน และต้นข้าว
       การเล่นกีฬานี้จึงช่วยทำให้ต้นข้าวที่ถูกเกี่ยวไปไม่หมดและติดอยู่กับท้องนา ถูกทั้งวัวและคนเหยียบจนราบไปกับพื้น เป็นปุ๋ยได้เร็วขึ้น ดิฉันคิดเอาเองว่ากีฬานี้น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่เจ้าของนาต้องการให้วัวของตนได้ ออกกำลังกาย  ในช่วงว่างเว้นจากการไถนา มิฉะนั้นวัวก็จะอ้วนและไถนาไม่ไหวในฤดูไถนาในปีต่อไป

        กีฬานี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคน ซึ่งตัวหลักคือ วัว ซึ่งเป็นนักกีฬา และ คน ซึ่งเป็นเจ้าของวัว  นอกจากนั้นก็ยังมี  กรรมการตัดสิน   และ ทีมงานที่เป็นคนจัดการกับวัวที่แตกแถว เราเรียกคนๆนี้ว่า  เชนวัว   ส่วนผู้ชมส่วนใหญ่เป็นสุภาพบุรุษ เพราะกีฬานี้คนดูต้องมีฝีเท้าไวพอๆกับนักกีฬา และต้องคอยระวังตัวตลอดเวลา เพราะหากโชคร้าย วัวแตกแถว ก็อาจวิ่งออกมาเหยียบท่านผู้ชมได้ นั่นเอง
        เวลาในการแข่งขันจะเริ่มตั้งแต่สามทุ่มขึ้นไป เหตุที่แข่งกลางคืนเพราะอากาศกลางวันร้อนจัดมาก จะทำให้วัวเหนื่อยและอาจคลั่งวิ่งเตลิดจน “ เชน ”ไม่สามารถควบคุมได้
        ก่อนการแข่งขันบรรดาค่ายนักกีฬาจากตำบลและหมู่บ้านต่างๆจะคัดเลือกนักกีฬา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นวัวที่ใช้ไถนานั่นเอง ไม่มีการนำเข้าวัวจากที่อื่นมาเด็ดขาด  อันนี้ดิฉันขอยืนยันได้ เหตุผลเพราะ กีฬานี้เป็นกีฬาพื้นบ้าน การแข่งขันเกิดขึ้นเพื่อชิงความเป็นเจ้าพลัง(วัว) ชาวบ้านจึงมักส่งวัวของท้องถิ่นตัวเองเข้าแข่งขัน  ดังนั้นบ้านไหนมีวัวชื่ออะไร ฝีเท้าดีไม่ดี ทุกบ้านทุกตำบลจะรู้กันหมด 

       แม้แต่วัวจากจังหวัดใกล้เคียงที่วิ่งเก่งก็มักมีชื่อเสียงขจรไปไกล เป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง ดังนั้นถ้ามีวัวแปลกหน้าเข้ามา ผู้เข้าแข่งและผู้ชมจะรู้ทันที จึงไม่ต้องแปลกใจถ้าในช่วงหัวค่ำคือ ระหว่างหนึ่งทุ่มถึงสามทุ่ม จะเป็นช่วงที่เจ้าของวัวจากทุกหมู่บ้านทุกตำบลทั้งที่เป็นผู้ส่งวัวเข้าแข่ง และเป็นผู้มาเชียร์( กองเชียร์มากันเป็นหมู่บ้าน) ต่างจะเดินสำรวจและทักทายวัว (นักกีฬา) ที่ถูกจัดพักไว้ในคอกวัวรอบสนามประลอง    ในช่วงนี้เองที่จะมีการประเมินจัดอันดับมือวางว่าใครจะเป็นมือวางอันดับหนึ่งในศึกครั้งนี้
     
      น้องชายของดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่รักกีฬาประเภทนี้มาก เราเรียกคนที่ชอบกีฬานี้ว่า     “ นักเลงวัว  แม้จะมีอาชีพเป็นนักการเมืองท้องถิ่น  แต่ทุกครั้งที่มีการแข่งวัวลาน เราจะพบเขาคาดผ้าขาวม้าที่เอวเดินทักวัวทุกตัวก่อนการแข่งขัน โดยเขาสามารถจำชื่อวัวได้ทั้งหมด (ไม่แน่ใจว่าจำชื่อคนได้มากเท่านี้หรือไม่) อาจเป็นเพราะวัวมีชื่อสั้นพยางค์เดียวกระมังเช่น ไอ้ดำ ( ต้องขอโทษด้วยที่ใช้คำว่า อี หรือ ไอ้ ซึ่งดูเหมือนเป็นคำไม่สุภาพ แต่ต้องเรียกอย่างนี้จริงๆ เพราะเป็นชื่อของเขา ) อีนวล ไอ้สีดอ ไอ้ด่าง อีเก ไอ้เข ฯลฯ

       มีเรื่องเล่ากันว่า ใครก็ตามที่มาดูวัวลานครั้งหนึ่งแล้ว และมีโอกาส หรือบังเอิญถูกมูลวัวเปื้อนเสื้อ หรือส่วนใดของร่างกายก็ตาม คนผู้นั้นจะติดกีฬาวัวลานนี้จนงอมแงม เรียกว่ามีการแข่งที่ไหนต้องตามไปเชียร์นักกีฬาขวัญใจของตนเองที่นั่น คำพูดนี้น่าจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง เพราะน้องชายของดิฉันหลายคนมักกลับมาบ้านพร้อมกลิ่นมูลวัว
      
สนามแข่งขัน “ วัวลาน” ทำอย่างง่ายที่สุด เพียงปรับพื้นที่นาให้เรียบสักสิบไร่ แล้วขุดดินปักเสาแก่นลงไปให้แน่นหนา เสานี้ควรสูงสักสิบเมตรจากพื้นดิน จากนั้นผูกเชือกเส้นใหญ่ที่แข็งแรงให้มีความยาวเท่ากับจำนวนวัวที่ต่อเรียงกันสิบตัว โดยมีห่วงผูกวัวเป็นจุดๆตามความยาวของเชือกเส้นนั้น
 

      
กติกาการแข่งขัน วัวจะถูกผูกเป็นแถวเรียงหน้ากระดานและวิ่งพร้อมกันเป็นวงรอบเสาเหมือนเข็มนาฬิกา ประมาณสิบรอบหรือจนกว่าจะมีการแพ้ชนะ กรรมการจะทำการคัดเลือกวัวมาเปรียบเทียบฝีเท้ากัน โดยผูกวัวเป็นตับเรียงตามความยาวของเชือก ประมาณสิบตัว ตัวเต็งฝีเท้าวางอันดับหนึ่งจะถูกผูกไว้เป็นตัวที่สิบ คืออยู่นอกวงสุด ที่ปลายเชือก ส่วนวัวตัวในที่ใกล้เสาจะเป็นนักกีฬาหน้าใหม่ฝีเท้ายังไม่เข้าขั้น 

       เราเรียกวัวตัวที่ 1ถึง 8 ว่า วัวพวงคือเป็นแค่ตัววิ่งประกอบกันไม่ให้วัวตัวสุดท้ายและรองสุดท้ายวิ่งเข้ามาใกล้ เสา เพราะถ้าเข้าใกล้เสากลางแปลว่าระยะทางจะแคบลง การเปรียบเทียบและแข่งขันจะเปรียบกันระหว่างตัวที่ 9 ที่เรียกว่า วัวรอง กับตัวที่ 10 ที่เรียกว่าวัวนอก เท่านั้น ถ้าตัวไหนฝีเท้าดีและวิ่งเร็วกว่าจะลากตัวที่เหลือให้วิ่งตาม แปลว่าแพ้
       การแข่งขันจะคัดเลือกทีละคู่แบบแพ้คัดออก จนได้แชมป์ซึ่งกว่าจะแข่งเสร็จก็ถึงเวลาเช้าพอดี  ดังนั้น ในช่วงที่มีการแข่งวัวลาน(ช่วงปลายและต้นปี) จึงมักเห็นรถสิบล้อขนวัวไปแข่งในตอนค่ำ ตามด้วยกองเชียร์ร้องเพลงสนุกสนาน และกลับหมู่บ้านในตอนเช้า ทีมไหนชนะก็ร้องเพลงดังลั่นถนน ส่วนทีมแพ้กองเชียร์ก็พากันนอนหลับใต้ขาวัวกันเป็นแถว  รถเงียบสนิท

       ระหว่างการแข่งขัน เนื่องจากบรรยากาศจะคึกคักมาก เพราะมีผู้คนล้นหลาม จึงทำให้นักกีฬาค่อนข้างจะตื่นคน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ระหว่างการแข่งซึ่งมีวัวผูกติดกันเป็นแถวสิบตัว และแต่ละตัวก็ตื่นเต้นกันทั้งนั้น เมื่อเริ่มStart ให้วัววิ่ง เชนวัวจะเป็นผู้ไล่วัวด้วยการส่งเสียงไล่หรือใช้ไม้ยาวๆตีวัวให้รู้เป็นสัญญาณ ครั้นเวลาจะให้วัวหยุดวิ่ง ก็ไม่สามารถสั่งให้หยุดได้จึงต้องมี เชนวัว เป็นผู้เบรกให้วัวหยุดด้วยการยึดวัวที่เขาวัวด้วยมือทั้งสองข้างแล้วใช้เท้า ยันพื้นซึ่งต้องใช้กำลัง และเวลาพักใหญ่อีกทั้งยังต้องการระยะทางพอประมาณในการหยุดวัว

              เชนวัว แต่ละสนามต้องมีครั้งละสิบคนขึ้นไป เรียกว่า วัวหนึ่งตัวก็ หนึ่งเชนกันเลย นอกจากมีหน้าที่ตามที่กล่าวมาแล้ว เชนวัว ยังต้องมีหน้าที่ในการบริหารวัวที่แตกแถวเนื่องจากความตกใจให้หยุดก่อนที่จะไปเหยียบคนดู ด้วยวิธีการต่างๆ  แล้วแต่ความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน  มีหลายครั้งที่ เชนวัว ก็โดนวัวเหยียบเอาบ้างเหมือนกัน แต่ตำแหน่งนี้นับได้ว่าเป็นตำแหน่งที่น่าภาคภูมิใจเพราะได้แสดงความเป็นลูกผู้ชายตัวจริงกันอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นตำแหน่งที่ปรารถนาของชายหนุ่มทุกคนในหมู่บ้าน สำหรับสาวๆทั้งหมู่บ้านหากสาวใดมีแฟนเป็น “ เชนวัว” แล้วล่ะก็ต่อให้ “ภารดร”มาคุกเข่าขอเป็นแฟน ก็ยังไม่สนเลย
        บรรยากาศในการแข่งวัวลาน แม้จะตื่นเต้นด้วยวิธีการแข่งแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสีสันของงานเลยทีเดียว สิ่งนั้นคือคนรายงานการแข่งขัน ที่เราเรียกว่า “ คนพาก” ที่มี
ลีลาสนุกตื่นเต้นมากกว่าคนพากมวยมากมายนัก เพราะเกือบทุกสนามแข่งขัน คนพากจะมีสำเนียง “ เหน่อ แบบเมืองเพชร และล้วนเป็นผู้ที่มีอารมณ์ขันทั้งสิ้น ที่สำคัญคือจำชื่อนักกีฬาได้หมดทุกตัว จำได้แม้กระทั่งประวัติของนักกีฬาเหล่านั้น ว่ามาจากค่ายไหน เคยชนะที่ไหนมาบ้าง บางครั้งที่ดิฉันไม่กล้าเข้าไปดูการแข่งขันแบบ ริงไซด์  ก็จะใช้วิธีนั่งฟังเสียง คนพาก อยู่รอบนอก  ซึ่งก็ยังสามารถเห็นบรรยากาศของการแข่งขันได้เช่นกัน

        มีอยู่คำหนึ่งที่เขียนไว้ว่า วัวแตกแถว ซึ่งเป็นอาการที่วัววิ่งไปคนละทิศคนละทาง ไม่ไปตามที่ถูกสั่งให้ไป หรือไม่สามัคคีกัน คำว่า แตกแถวนี้เองที่เป็นที่มาของการเรียกคนที่ไม่ทำตามกฎกติกาของส่วนรวม เราเห็นว่าการแตกแถวของวัวจะเป็นอันตรายต่อคนที่อยู่รอบข้าง การแตกแถวของคนก็เป็นการสร้างความยุ่งยากต่อทั้งตัวคนแตกแถวเองและต่อส่วน รวมด้วยเช่นกัน 

       สิ่งที่เล่ามานี้เป็นส่วนหนึ่งของ จังหวัดเพชรบุรีในส่วนที่ไม่ค่อยมีใครได้สัมผัส ซึ่งเป็นส่วนของสถานที่และวิถีชีวิตเท่านั้น ยังมีในส่วนของอาหารการกิน  ที่ยังไม่ค่อยมีการเปิดเผยอีกมากนัก  จึงขอไปต่อในภาค 2 ที่ตั้งชื่อเป็นภาษาไทย ปน อังกฤษ ว่า Un-chim Petchburi   จะดีกว่า ขอเชิญติดตามค่ะ




ภาพวัวลาน ที่ได้รับความอนุเคราะห์มาจาก Facebook ของ " วัวลานเพชรบุรี " ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ 
การได้รับภาพจากเจ้าของนับเป็นพระคุณอย่างสูง เพราะ"กีฬาวัวลาน " เป็นกีฬาของลูกผู้ชาย โดยปกติจะไม่ค่อยมีผู้หญิงเข้าไปดู เพราะหากเกิดอุบัติเหตุวัวตื่น ผู้หญิงจะวิ่งไม่ทัน และหญิงชราอย่างดิฉันไม่มีปัญญาไปดูแน่นอน
 
ขอขอบคุณเจ้าของภาพอีกครั้ง ที่ช่วยกันบอกเล่าเรื่องเมืองเพชรฯของเราให้เพื่อนๆได้รู้จักมากขึ้น


5 ความคิดเห็น:

  1. ได้รู้จักเมืองเพชรมากขึ้นและระลึกถึงอาชีพช่างทองขอบคุณค่ะที่นำมาให้ได้อ่านชม

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ9 กันยายน 2555 เวลา 10:17

    ขอบคุณมากครับที่ช่วยเผยแพร่วัวลานให้คนทั้วไปได้รู้จักครับ

    ตอบลบ
  3. ชอบเรื่องราวนี้มากเลยค่ะ ในฐานะคนเมืองเพชรฯและเป็นคนท่ายางด้วย
    ขออนุญาตนำไปเล่าบอกต่อให้คนถิ่นที่อื่นได้ชื่นชมเมืองเพชรฯด้วยนะคะ

    ตอบลบ
  4. อ่านเรื่องเมืองเพชรที่คุณเขียน ประทับใจมากๆค่ะ ดิฉันเป็นคนสุโขทัย ได้มีโอกาสไปทำงานและเติบโตในเส้นทางราชการที่เมืองเพชร อ.ท่ายาง 15 ปี ลูกสองคนก็เกิดที่เมืองเพชร ช่างน่าภาคภูมิใจคะ โดยเฉพาะเพลงเพชรบุรีแดนใจ เป็นเพลงแสนโปรด ขอบพระคุณมากๆค่ะที่ได้บันทึกเรื่องราว ณ ช่วงเวลาหนึ่งที่เพชรบุรี ไว้ให้ลูกหลานได้อ่านกัน

    ตอบลบ