หลังจากหยุดพักการเดินทาง
เพราะอาการบาดเจ็บที่หัวเข่ามา 2 เดือน แถมด้วยโรคเล็กๆน้อยที่ได้ทีมารุมกินโต๊ะอิฉันกันสนุกสนานจนทำให้ไม่สามารถลุกขึ้นมาเล่าอะไรต่ออะไรให้เพื่อนในบล็อกได้อ่านอยู่นาน
วันนี้ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่กลับมาจากการทดลองเดินทางไกลไปเที่ยวสุโขทัย
เลยนำเอาเรื่องประทับใจของอำเภอเล็กๆอำเภอหนึ่งมาเล่าสู่กันฟัง
อำเภอนั้นคือ “
อำเภอกงไกรลาศ”
ช่างเป็นชื่อที่ไพเราะเพราะพริ้งเสียจริง แต่ต้องขอสารภาพเลยว่านี่เป็นครั้งแรกที่ได้ยินชื่อนี้ หากคนเมืองนี้จะน้อยใจหรือต่อว่าในความรู้น้อยของดิฉันก็ยินดีน้อมรับ
แต่ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ฉันต้องรีบตัดสินใจเดินทางไปทันทีที่มีคนชวน
การเดินทางครั้งนี้นอกจากจะเป็นการไปท่องเที่ยวหาความรู้แล้ว
ยังเป็นการทดลองเดินทางไกลแบบนั่งรถนานๆครั้งแรกของดิฉันหลังจากที่หยุดรักษาตัวมานานอีกด้วย
เพราะอีกไม่นานฉันยังมีแผนการเดินทางอีกหลายทริปรออยู่
การไปเที่ยวครั้งนี้ฉันไม่ได้ไปแบบส่วนตัว
แต่ไปแบบกลุ่มใหญ่ที่บางครั้งรู้สึกอึดอัดใจหลาย เรื่องโดยเฉพาะเรื่องการแย่งกันถ่ายรูป
บางจุดแทบจะต้องแหวกศรีษะผู้คนเพื่อขอถ่ายรูปสถานที่สำคัญๆกันเลยก็มี แถมเวลาวิทยากรอธิบายรายละเอียดให้ฟัง กลับมีแต่เสียงคุยกันจนแทบไม่ได้ยินคำอธิบาย
อย่างไรก็ตาม
สมัยนี้เรามีแหล่งข้อมูลให้ค้นคว้า จึงไม่ต้องไปถามหาให้ยุ่งยาก
ดังนั้นวันนี้ฉันจึงสามารถเล่าเรื่องเมือง “กงไกรลาศ” ได้อย่างไม่ติดขัด ขอบคุณ
ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี มาณ.
ที่นี้
อำเภอกงไกรลาศ เป็น 1 ใน 9 อำเภอของจังหวัดสุโขทัย จังหวัดที่ฉันเคยเดินทางไปทางงานแบบสายฟ้าแลบหลายต่อหลายครั้ง คือไปถึงก็ทำงานแล้วก็ขึ้นเครื่องบินกลับ เวลารถวิ่งผ่านสถานที่ท่องเที่ยวครั้งใด ได้แต่มองแบบอาลัยอาวรณ์ ครั้งนี้ฉันมาแบบอิสระชน ที่จะเที่ยวได้ตามใจตัวเองเสียที
ก่อนจะเข้าสู่ตัวเมืองสุโขทัย เราต้องผ่านอำเภอ “ กงไกรลาศ” ที่ดูเหมือนว่าส่วนราชการ และคนในชุมชนพยายามพลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยงทางวัฒนธรรมขึ้นมาให้ได้ แม้ในช่วงที่ไปจะอากาศร้อน จำนวนนักท่องเที่ยวมากเกิน (จนหมดอารมณ์) แต่เหตุที่ต้องเขียนถึงเมืองนี้ก็เพราะได้เห็นความพยายามและความสามัคคีของคนในเมืองนี้ นั่นเอง
ก่อนจะตระเวนชมเมือง เราควรทราบว่าคำขวัญ หรือของเด่นของเมืองเขามีว่า
ทองม้วนชวนกิน อร่อยลิ้นขนมผิง
ปลาร้าเด็ดจริง ยอดยิ่งน้ำปลาดี
ปลาร้าเด็ดจริง ยอดยิ่งน้ำปลาดี
ธรรมชาติของเมือง อำเภอกงไกรลาศตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดสุโขทัย
อยู่ในเขตพื้นที่ราบลุ่มน้ำยมตอนล่าง ไม่มีภูเขา มีแม่น้ำยมไหลผ่านเป็นสายหลักของอำเภอ
แม่น้ำยมที่ไหลผ่านบริเวณอำเภอกงไกรลาศมีความคดเคี้ยว จึงทำให้บริเวณนี้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากบ่อยครั้ง
บริเวณตอนใต้ของอำเภอ
ประวัติ
กงไกรลาศเดิมเป็นแขวงหนึ่งของเมืองสุโขทัย
ปรากฏหลักฐานการตั้งเป็นอำเภอกงไกรลาศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ โดยมี พระกงไกรลาศ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอคนแรก
ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่บนเกาะเล็ก ๆ ชื่อ “เกาะกง”
ปี
พ.ศ. ๒๔๖๐ ในสมัยหลวงบุรีไทยพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ
ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอกงไกรลาศเป็นอำเภอบ้านไกร เนื่องจากเกาะกงมีน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก
ไม่สะดวกในการติดต่อราชการของประชาชน ในปีเดียวกันนั้นจึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยม
ปี
พ.ศ. ๒๔๘๒ ในสมัย นายเปลี่ยน สิทธิเวช ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอบ้านไกรเป็นอำเภอกงไกรลาศ
ดังเดิม เนื่องจากชื่อกงไกรลาศ ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยมาช้านาน
ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ในสมัย นายเอื้อน รงค์ทอง ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ได้พิจารณาเห็นว่าบริเวณที่ว่าการอำเภอเดิมคับแคบขยายไม่ได้
ทั้งยังมีน้ำท่วมถึง ประกอบกับอาคารที่ว่าการอำเภอเริ่มชำรุดทรุดโทรม จึงให้ขออนุญาตย้ายไปสร้างที่แห่งใหม่
กระทรวงมหาดไทยได้อนุญาตให้ย้ายไปสร้างที่แห่งใหม่บริเวณริมถนนสิงหวัฒน์ หลักกิโลเมตรที่
๒๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านกร่าง เนื้อที่ ๒๕ ไร่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเดิม ๓ กิโลเมตร
เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๕ จนถึงปัจจุบัน
สถานที่เดิมใช้เป็นที่ตั้งสถานีอนามัยตำบลกงจนถึงปัจจุบัน
วันที่เราไปเที่ยวเมืองนี้ ชาวเมืองได้จัดรถคอกหมู
ซึ่งก็คือรถโดยสารที่ต่อตัวรถด้วยไม้ ทาสีสันสดุดตา บรรทุกคนได้ 3
แถววิ่งตระเวนพาเราไปตามซอกมุมต่างๆของเมือง
สิ่งที่ฉันชอบเอามากๆคือ บ้านเรือนชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ที่ยังคงถูกรักษาไว้ในแบบดั้งเดิม คือเป็นบ้านชั้นเดียว หรือ 2 ชั้นแบบเก่า แทบไม่มีตึกแถวโผล่มาให้รำคาญตา ผู้คนเมืองนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มคนเชื้อสายจีนและลาวโซ่ง ที่อพยพมาทางเรือจากจังหวัดลพบุรี มาตั้งรกรากเพื่อทำมาหากินบริเวณเกาะกลางน้ำชื่อว่า เกาะกง
เกาะกง เกาะกง เป็นเกาะที่อยู่กลางแม่น้ำยม มีอายุกว่า 130 ปี แต่ก่อนเคยเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอแห่งแรกของอำเภอกงไกรลาศ
โดยมีพระยากงไกรลาศ เป็นนายอำเภอคนแรก อยู่ฝั่งตรงข้ามกับศาลเจ้าพ่อดาบทอง เป็นที่อาศัยของชาวพื้นเมืองเดิม
มีอาชีพหลักทางด้านการประมง การทำเครื่องมือหาปลา และการต่อเรือ ดังนั้นบ้านจึงมีลักษณะเป็นบ้านใต้ถุนสูง
ในช่วงฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมขังตลอดเวลา การสัญจรไป-มาต้องใช้เรือเป็นพาหนะ ซึ่งที่หมู่บ้านนี้จะได้เห็นการทำเครื่องมือจับปลาหลากหลายรูปแบบ
(น่าเสียดายที่ช่วงที่ฉันไปเป็นช่วงหน้าแล้ง แม่น้ำยมจึงแทบจะแห้งขอด)
ต่อมาเมื่อเมืองขยายขึ้นก็มีกลุ่มชาวจีน จากพระนครศรีอยุธยา
ชาวจีนแต้จิ๋ว และจีนไหหลำเข้ามาติดต่อค้าขาย จึงมีการก่อสร้างท่าเรือสำหรับขนส่งสินค้าบริเวณท่าเรือบ้านกง
ต่อมาการเดินทางติดต่อกันระหว่างจังหวัดทางบกเริ่มสะดวกมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแพเริ่มย้ายที่อยู่อาศัยมาอยู่บนบก
ปัจจุบันท่าเรือเกาะกงได้เลิกใช้ไปแล้วแต่ชาวบ้านยังคงรักษาวิถีชิวิตแบบดัง เดิมเอาไว้
สถานที่สำคัญของเมืองคือ
วัดกงไกรลาศ
หรือ วัดหลวงพ่อโตวิหารลอย วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อโต (วิหารลอย)
เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย สร้างขึ้นประมาณปี 2333 เล่ากันว่าในสมัยที่พม่ายกทัพมาตีเมืองพิษณุโลกได้เดินทัพผ่านและพักแรมที่
บ้านกงแห่งนี้ ด้วยความคึกคะนองและอยากลองดีของทหาร จึงยิงปืนใหญ่ถล่มวิหารหลวงพ่อจนพังเสียหาย
แต่ไม่โดนองค์พระ มีเพียงรอยกระสุนทะลุจีวรด้านซ้ายให้เห็นเท่านั้น
สำหรับคำว่า “วิหารลอย” นั้น มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ทุกปีที่น้ำท่วมล้นขอบตลิ่งแม่น้ำยมซึ่งติดกับวัด ศาลาและกุฏิต้องทำการยกสูงมากกว่าหกศอกเพื่อหนีน้ำ แต่วิหารหลวงพ่อโตอยู่ในบริเวณเดียวกันนั้น กลับดูเสมือนลอยพ้นน้ำ เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นอีกในปี พ.ศ.2485 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ วิหารลอยก็ไม่ถูกน้ำท่วม ชาวบ้านเชื่อว่าใต้วิหารหลวงพ่อ อาจมีเรือสล่าเงินและสล่าทองหนุนค้ำให้วิหารลอย
วิถีชีวิตเลียบลุ่มน้ำยม มีทั้งการหาปลาตลอดแนวริมน้ำโดยใช้เครื่องมือหาปลาชนิดต่างๆ
มีการแปรรูปผลิตจากปลาประเภทปลาแดดเดียว ปลาร้า ปลาจ่อม โรงงานผลิตปลาร้าแหล่งใหญ่แห่งแรกในจังหวัดสุโขทัย
โรงงานผลิตน้ำปลาปลาสร้อยที่ขึ้นชื่อประจำจังหวัด นอกจากนี้ยังมีการทำขนมไทยเช่นทองม้วน
ทองพับ ขนมผิง เจ้าอร่อยประจำจังหวัดได้ที่นี่เช่นกัน
ร้านขนมผิงแม่ติ๋ม “แง้มประตูขาย”
ขนมผิง ที่เป็นขนมไทยดั้งเดิมได้รับการถ่ายทอดมากว่า 40 ปี โดยมีต้นตำรับมาจากจังหวัดอยุธยา ขนมผิงแม่ติ๋มเป็นร้านที่มีชื่อเสียงมากเนื่องจากเป็นร้านเดียวที่ยังใช้
วิธีการทำขนมผิงแบบเดิม คือใช้เตาถ่านอบขนม จึงทำให้ขนมผิง มีรสชาติหวาน หอม กรอบ
อร่อย แต่หลังจากเคยออกรายการทางทีวี ทำให้สินค้าขายดีมากลูกค้าต้องต่อคิวแย่งกันซื้อ
จนทางร้านต้องแง้มประตูบานไม้พับให้เหลือช่องเล็ก ๆ ขาย ต่อมาจึงเรียก “ขนมผิงแง้มประตูขาย”
ร้านทองม้วน
ที่มีชื่อของเมืองนี้มีหลายร้าน เช่นแม่สงวน หรือพ่อเจริญ แม่สงวน
เหลืองสุวรรณ ได้ริเริ่มทำทองม้วนขึ้นเป็นรายแรกของตำบลกงไกรลาศ และเคยได้ทำขึ้นทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
แต่วันที่เราไป เป็นร้านพ่อเจริญ ซึ่งก็อร่อยไม่แพ้กัน

สำหรับอาหารกลางวัน ของเราที่กงไกรลาศ ตามที่เป็นที่รู้กันว่าเมืองนี้มีชื่อเสียงเรื่องการจับปลาในแม่น้ำยม ดังนั้นเราจึงมีอาหารที่ทำจากปลาถึง 6 อย่าง ใน 7 จานที่นำมาเสริฟ หากท่านใดไม่ชอบปลาคงต้องห่อข้าวไปกินแบบอิฉันเลยจ๊ะ อาหารที่ทำให้เรากินในวันนั้น รับรองว่าเป็นอาหารรสดั้งเดิมของชุมชนแน่นอน เพราะบรรดาแม่ครัวล้วนเป็นคนพื้นเพริมแม่น้ำยมทั้งสิ้น
ปัญหาของการสื่อสารระหว่างคนต่างถิ่นอย่างเรา กับคนเมืองนี้จึงเกิดขึ้น ทั้งๆที่ก่อนมาก็มีรุ่นพี่ของฉันสอนมาแล้ว แต่ก็ลืมไป เพราะคนที่นี่ใช้ศัพท์ในการเรียกอาหารและสิ่งของแปลกไปจากเรา เช่น คำว่า“ปลาเห็ด” จะแปลว่า “ทอดมัน” “ไข่เดื่อ” แปลว่า “ ไข่อ่อนในพุงไก่ ” ต้มยำไข่เดื่อ คือ ต้มยำไข่อ่อน นั่นเอง
ตลาดริมยม 2437 เป็นตลาดอาหารยามเย็น หรือถนนคนเดินที่เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวในวันเสาร์แรกของเดือน โดยร้านค้าจะขายสินค้าซึ่งเป็นอาหารแบบโบราณบนบนแคร่ไม้ไผ่เรียงต่อกัน ที่ข้างถนน แล้วตั้งแคร่ไม้ไวให้คนที่มา เดินตลาดได้นั่งกินอาหารต่างๆที่ซื้อจากแม่ค้าบนแคร่นี้
การแต่งกายของคนขายต้องแต่งตัวแบบย้อนยุค และห้ามใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติก เราจึงได้เห็นอาหารหลายชนิดที่ใส่ใบตอง หรือหม้อดิน ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวหยกใบตอง
ขนมเปียกปูน และขนมกง
แต่เนื่องจากคณะของเราไม่ได้ไปในวันที่เขามีตลาดกัน ดังนั้นทางชุมชนจึงได้ยกตลาดมาจัดให้เราได้ดู
และชิมกันแบบปาร์ตี้ย้อนยุคที่สุโขทัย
ทำให้พอได้เห็นบรรยากาศ
มีอีกสถานที่หนึ่งที่มีคนมาชมคือ ห้องสมุดประชาชนของอำเภอกงไกรลาศซึ่งเป็น สถานที่ที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์
แนววิทยาศาสตร์ เรื่องกาเหว่าที่บางเพลง อันเป็นผลงานประพันธ์ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์
ปราโมช เป็นเรื่องแนววิทยาศาสตร์ ที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อ
พ.ศ 2537 โดยใช้ห้องสมุดประชาชนของอำเภอกงไกรลาศ
เป็นฉากของโรงพยาบาลของเรื่อง
เราจบการท่องเที่ยวเมืองนี้ภายในเวลาค่อนวัน แม้อากาศจะร้อนแต่ฉันก็ได้เห็นได้รู้วิถีชีวิตที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน ได้กินอาหารและขนมที่ไม่เคยกินที่ไหนอร่อยเท่านี้เลย แถมมีชื่อคล้องกับชื่อเมืองอีกด้วย นั่นคือขนมกง คิดว่าคงจำขนมนี้ไปอีกนาน และบอกกับตัวเองว่า คงต้องแอบมาอีกสักครั้งแน่นอน
ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย
กำลังอ่านเพลินๆเลย จบซะละ
ตอบลบผมเองก็คิดว่ามีแต่ชื่อในวรรณคดีเสียอีกครับ
ยิ่งเรียกว่าเกาะกงนี่ก็ยิ่งสับสนไปกันใหญ่
แต่ดูสถานที่แล้าน่าไปเยือนมากเลยครับ ไม่ใกล้ไม่ไกล
ต้องไปแอบหาสูตรทองม้วนเสียหน่อย ชอบที่เค้าใช้ใบตองมาเป็นภาชนะ
มองดูอาหารแล้วทำให้เกิดอาการหิวในยามดึกเลยครับ ป้าLily
D.Karawat
เป็นที่ที่น่าไปดูของแปลกๆนะ หากชอบปลาน้ำจืด ที่นี่มีอาหารอร่อยๆเยอะ
ตอบลบ