บ้านป้าLily หลังนี้เปิดไว้เพื่อให้เป็นที่ที่เพื่อนๆมานั่งตั้งวงคุยกันด้วยเรื่องที่เราชอบ
โดยมีป้า Lily มานั่งเล่าเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แถมสนุกสนานให้ฟังอีก
วันที่ท้องฟ้าสดใสในเวลาแดดร่มลมตกไม่มีอะไรดีไปกว่าการมานั่งที่ ชานเรือนของบ้านป้าLily อีกแล้ว


ยินดีต้อนรับทุกท่านจ๊ะ

วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เมืองศรีเทพ ……..หลงไปในกาลเวลา



 เที่ยวเพชรบูรณ์ 1
 เมืองศรีเทพ ……..หลงไปในกาลเวลา

              การเดินทางท่องเที่ยวดูจะเป็นเรื่องที่มีเสน่ห์สำหรับดิฉันมาก  ปีนี้มีโอกาสได้ไปจังหวัดเพชรบูรณ์ แม้จะไม่สามารถไปได้ทั่วทั้งจังหวัด และทุกจุดที่น่าสนใจ แต่แค่จุดแรกของการแวะชม   ดิฉันก็ต้องมนต์ขลังของกาลเวลาเข้าอย่างจังเสียแล้ว นึกแปลกใจตัวเองที่มักจะซาบซึ้งไปกับประวัติศาสตร์แบบเอาจริงเอาจังก็ตอนอายุมาก   เสียดายที่สมัยเป็นเด็กตอนถูกบังคับให้เรียน กลับไม่ยอมสนใจ  มาวันนี้เกือบแก่เกินที่จะค้นคว้า แต่ก็ยังอยากรู้ไปหมด
                
      ตามแผนการเดินทางที่วางไว้  คณะของเราจะเดินทางขึ้นเหนือไปเพชรบูรณ์โดยทางรถ ยนต์ ซึ่งเป็นเรื่องไม่บ่อยนักที่จะได้มาเส้นทางนี้   เริ่มด้วย ออกจากกรุงเทพฯ ผ่านสระบุรี ลพบุรี และเข้าจังหวัดเพชรบูรณ์ที่อำเภอศรีเทพ    ที่ดูเหมือนจะไม่ไกลจากกรุงเทพฯนัก   แต่อำเภอนี้กลับไกลจากตัวอำเภอเมืองเมืองเพชรบูรณ์มาก   เพราะเพชรบูรณ์เป็นจังหวัดในภาคเหนือตอนล่างที่มีรูปร่างยาวลงมาทางภาคกลางมาก ดังนั้นการจะไปเพชรบูรณ์หากไปแค่อำเภอศรีเทพ จึงสามารถไป-กลับ ภายในวันเดียวได้อย่างสบายๆ
               
     สำหรับสถานที่ที่น่าสนใจของเมืองนี้ที่เราตั้งใจจะไปคือ  อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ,ไร่กำนันจุล ,พระตำหนักเขาค้อ , พิพิธภัณฑ์อาวุธ , อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ,  อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า , พระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก และ พักบนยอดเขาค้อ ดูแล้วมีสถานที่ท่องเที่ยวไม่มากนัก  แต่เอาเข้าจริงเวลาแทบไม่พอ เพราะแต่ละจุดอยู่ไกลกันมาก จึงอาจจำเป็นต้องตัดบางสถานที่ออกไป เพื่อให้พอกับเวลา
               
     วันเดินทาง  เราออกจากกรุงเทพฯผ่านชานเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งโรงงาน ถนนจึงจอแจและแออัดไปด้วยผู้คน จากนั้น ผ่านเสี้ยวหนึ่งของอำเภอเมืองสระบุรี แวะจิบน้ำองุ่นสดและพายองุ่น ร้านดังของสระบุรี   พอมีแรงดีเราก็วิ่งต่อไปยังลพบุรี และก็เช่นเคยที่เราแค่เฉียดๆเท่านั้น   ที่น่าตื่นตาตื่นใจคือ ช่องเขาขาด ที่ซึ่งรถจะวิ่งทะลุไประหว่างช่องเขาที่ถูกตัดออกจากกัน หากเป็นสมัยเมื่อยี่สิบปีก่อน ช่วงถนนนี้คงเปล่าเปลี่ยวมาก และเราอาจมีสิทธิ์ได้พบกับบรรดาเสือทั้งหลาย ที่คอยดักปล้นอยู่แถวนี้เป็นแน่ แต่วันนี้ปลอดภัยเพราะมีรถวิ่งไม่ขาดสาย
                
     ไม่นานนักเราก็มาถึงอำเภอศรีเทพ อำเภอที่อยู่ใต้สุดของจังหวัดเพชรบูรณ์  ขอสารภาพเลยว่า ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพนี้ เป็นชื่อใหม่ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน และนึกภาพไม่ออกว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร ความที่เราอยู่ในวงแวดล้อมทางธุรกิจ  ชีวิตส่วนใหญ่หมกมุ่นอยู่กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ หากชวนไปดูงานโชว์คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ อาจจะมีคนสนใจมากกว่าเมืองโบราณ    

      การมาครั้งนี้ บางคนในคณะของเราแค่ได้ยินชื่อว่าเป็นประวัติศาสตร์ก็แทบจะตัดออกจากโปรแกรมกันแล้ว แต่เพื่อความสมบูรณ์ของช่วงเวลา และระยะทาง จึงเป็นเรื่องเหมาะสมที่มาแวะเมืองศรีเทพ เมืองประวัติศาสตร์ ที่แอบดังแบบเงียบๆแห่งนี้ด้วย
                
      เมื่อถึงตลาดศรีเทพ  เราขับรถเลี้ยวขวาออกจากถนนเส้นหลัก แทนที่จะพบป้ายชี้ทางไปอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กลับพบป้ายชี้ทางไปอำเภอวิเชียรบุรี ชื่อที่เรารู้จักและมีชื่อเสียงมากกว่า เนื่องจาก  ไก่ย่าง วิเชียรบุรี เป็นไก่ย่างที่มีชื่อเสียงจนคนขายไก่ย่างทั่วประเทศต่างพากันนำชื่อไปติดไว้ หน้าร้านของตัวเอง ทั้งๆที่ยังไม่รู้เลยว่า เมืองวิเชียรบุรีอยู่ที่ไหน วันนี้การมาเห็นป้ายบอกทางไปเมืองวิเชียรบุรี จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นกว่าการไปเมืองโบราณที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน

      สักพักเราก็เข้ามาในเขตของอุทยานประวัติศาสตร์ฯ ที่รู้ตัวว่าเข้ามาแล้วเพราะบรรยากาศรอบตัวเราดูร่มรื่น เขียวชอุ่มไปด้วยต้นไม้ พื้นดินที่ปกคลุมด้วยหญ้าธรรมชาติถูกตัดเรียบเห็นพื้นเป็นลอนคลื่นอย่างชัดเจน รถวิ่งผ่านป้ายชื่ออุทยานฯที่ไม่ใหญ่โตมโหฬารแต่ เด่นชัดและดูขลังสมชื่อ  เราผ่านสระน้ำที่อยู่ไม่ไกลนัก ทุกสระมีลักษณะเป็นสระที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ เพราะส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยม นึกในใจว่าคงเป็นการขุดของผู้ดูแลอุทยานก็เป็นได้        
      เราคงไม่สามารถเข้าชมอุทยานแบบอิสระได้ เพราะการเดินเข้าไปแบบว่างเปล่า ก็จะกลับออกมาแบบว่างเปล่าเช่นกัน ดังนั้นเราจึงเข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอุทยานฯเพื่อขอคำแนะนำ และสิ่งที่เราได้รับกลับเหนือความคาดหมาย เพราะเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นวิทยากรได้วางงานของเขาและพาเรานั่งรถรางเข้าไปชม บริเวณอุทยานฯทันที
               ที่บอกว่า นั่งรถรางก็หมายถึงอย่างนั้นจริงๆ เพราะทางอุทยานฯไม่อนุญาตให้ผู้ใดนำรถส่วนตัววิ่งเข้ามาในเขตที่ตั้งสถานที่ ซึ่งเป็นเมืองเก่า เพราะเกรงว่าจะเป็นการเร่งการทำลายสภาพแวดล้อม และตัวอาคารสถานที่เก่าแก่ที่อนุรักษ์ไว้
     ความที่พื้นที่อุทยานฯกว้างใหญ่มาก จึงต้องมีรถรางที่บรรจุผู้โดยสารได้ไม่ต่ำกว่า 30 คน วิ่งเข้าไปโดยมาวิทยากรคอยอธิบายไปตลอดทาง เห็นการบริการของเขาแล้วเริ่มมีความนิยมชมชอบสถานที่นี้เพิ่มขึ้นมา และเมื่อรถวิ่งเข้ามาในอุทยาน ผ่านพื้นที่ราบเรียบสลับกับบ่อน้ำหลายแห่ง ทำให้เราเริ่มรู้ว่า บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่มาก่อน ส่วนสระน้ำที่เห็นล้วนเป็นสระน้ำที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยอาณาจักร์นี้รุ่งเรืองและคงอยู่มาถึงสมัยนี้ทั้งสิ้น
     รถวิ่งไปตามทางซึ่งมีต้นไม้สองข้างโน้มกิ่งมาชนกันคล้ายซุ้มประตู เมื่อสุดซุ้มต้นไม้เราก็โผล่เข้ามาในบริเวณที่โล่งกว้างใหญ่ และสิ่งที่ปรากฏคือพระปรางค์ขนาดสูงใหญ่สร้างด้วยอิฐสีแดง ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่ตรงหน้าเรา แม้จะถูกกัดกร่อนด้วยกาลเวลา แต่สิ่งก่อสร้างเก่าแก่เหล่านี้ยังมีความสง่างามในตัวเองที่สามารถสะกดความ รู้สึกของเราได้
      ไม่ห่างจากพระปรางค์นัก ซากอาคารกลุ่มใหญ่ก็ทยอยปรากฏขึ้นมา จนทำให้รู้ว่าสถานที่แห่งนี้ ครั้งหนึ่งคือที่ตั้งของกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ คล้ายพระราชวังมาก่อน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมองเห็นความสวยงามของอาคารและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความงามเบื้องต้นเท่านั้น แต่เมื่อเดินชมและฟังรายละเอียดของประวัติศาสตร์ที่ต้องใช้เวลานาน  หลายคนถึงกับยอมแพ้กับความร้อนและเมื่อยล้า จนทำให้การชมสถานที่นี้กลายเป็นสิ่งไม่น่าสนใจไป

               แต่สำหรับดิฉันแล้ว ทุกก้าวที่เดินเข้าไปในโบราณสถานแห่งนี้ เหมือนกำลังเดินย้อนเข้าไปในห้วงของเวลา   ขณะหยุดยืนบนก้อนอิฐขนาดใหญ่เก่าแก่ก้อนหนึ่ง แล้วนึกถึงว่า เมื่อเกือบพันปีที่แล้ว อาจมีใครสักคนยืนอยู่บนก้อนอิฐก้อนนี้เช่นกัน หากเมื่อมองไปรอบตัว  ในอีกภพหนึ่ง ที่นี่อาจกำลังมีผู้คนเดินสัญจรไปมา   สำหรับดิฉัน…..ที่นี่ ยังคงมีชีวิตอยู่ 
      เราเดินตามวิทยากรไปจนทั่ว หลายคนร้อนและอยากพัก การเที่ยวชมจึงจบลงด้วยการนั่งรถรางออกมายังศูนย์ข้อมูลฯเพื่อเตรียมตัวกลับ พร้อมกับความรู้ทางประวัติศาสตร์แบบกระท่อนกระแท่น
ขณะที่รถของเราเดินทางออกมาจากอุทยานฯเพื่อมุ่งหน้าไปเมืองวิเชียรบุรี   ดิฉัน กลับมีความรู้สึกเหมือนตัวเองยังคงยืนอยู่บนก้อนอิฐก้อนนั้นอยู่อย่างเดิม ดูเหมือนได้ถูกตรึงไว้ด้วยความยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์ที่ได้เห็น ความประทับใจผสมกับความอยากรู้ ทำให้รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังติดอยู่ในกับดักของกาลเวลาเข้าแล้ว
     
 แม้จะกลับออกมาจากเมืองโบราณแล้ว   แต่การท่องไปในเวลายังไม่จบลงแค่นี้ ความอยากรู้ยังเพิ่มพิษสงของมันไม่เลิกรา ถึงจะกลับมาบ้านพักใหญ่  แต่ดิฉันกลับเพิ่งเริ่มต้นการเดินทางเข้าไปในอดีต  ด้วยการค้นหาและศึกษาข้อมูลของเมืองศรีเทพ ต่ออย่างไม่ลดละ ยิ่งอ่านก็ยิ่งลึกลงไปในอดีต แม้จะเป็นการเดินทางข้ามเวลาที่เหนื่อยเหน็ด แต่ก็เป็นการเดินทางที่มีความสุขที่ได้ไป
                                                                                    
       จากการค้นหาข้อมูลพบว่า ชื่อเมืองศรีเทพ ดูจะเป็นชื่อใหม่ของประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะมีการเอ่ยถึงไม่แพร่หลายนักเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ๆอย่างสุโขทัย ลพบุรี เพชรบุรี นครราชสีมา และ นครศรีธรรมราช    เพียงพบในพงศาวดารยุคกรุงศรีอยุธยา สมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช มีบันทึกว่า
 ในปี พ.ศ. 2100 พระยาละแวก เจ้ากรุงกัมพูชา ยกทัพมาทางเมืองนครราชสีมา  เพื่อมาตีหัวเมืองชั้นใน ทางตะวันออก ขณะนั้นพระนเรศวรฯเสด็จลงมาเฝ้าสมเด็จพระปิตุราชอยู่ที่อยุธยา โปรดให้พระศรีถมอรัตน์ กับพระชัยบุรี คุมพลไปซุ่มในดงพญากลาง และพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปยังเมืองชัยบาดาล ยกกองทัพตีเขมรแตกพ่าย
              ชื่อของ พระศรีถมอรัตน์ เป็นชื่อเดียวกับ ชื่อใน พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งรวบรวมเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับเมืองเพชรบูรณ์ โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวถึงชื่อเมืองศรีเทพว่า
  มีชื่อปรากฏในทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมืองต่างๆที่ทางราชการให้คนเชิญ ตราไปบอกข่าวสิ้นรัชกาลที่ 2   ยังเมือง สระบุรี เมืองชัยบาดาล เมือง ศรีเทพ และเมืองเพชรบูรณ์
 จึงเป็นการยืนยันว่าเมืองศรีเทพ เป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำป่าสัก โดยในช่วงหนึ่งจะมีชาวบ้านเรียกชื่อเมืองนี้ว่า เมืองอภัยสาลีและตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดคือ พระศรีถมอรัตน์ เหมือนกับชื่อใน สมัยพระนเรศวร นอกจากนั้น ชื่อนี้ยังเป็นชื่อภูเขาเล็กๆลูกหนึ่งที่ตั้งอยู่ในบริเวณเมือง คือเขาถมอรัตน์ เช่นกัน
 
      เมืองโบราณชื่อศรีเทพ ที่ถูกซ่อนอยู่ในป่าทึบ เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีอาณาเขตมากกว่า 2 พันไร่ มีภูมิทำเลที่ตั้งที่ถูกเลือกอย่างชาญฉลาดจากผู้ปกครองเมืองในสมัยนั้น จะเห็นว่ารอบอาณาบริเวณที่ตั้งของเมืองซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของอำเภอศรีเทพ ในปัจจุบันเป็น  ที่ราบลุ่มแม่น้ำป่าสักผืนใหญ่ มีเพียงเขาเล็กๆเพียงไม่กี่ลูกเท่านั้นในบริเวณนั้น พื้นที่เช่นนี้เหมาะสำหรับการเพาะปลูกสำหรับชาวเมือง โดยอาศัยน้ำจากแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเล็กๆที่เป็นสาขาของแม่น้ำป่าสักในการยังชีพและขนส่งสินค้าไปต่างเมือง
           
จากแผนที่ยุทธศาสตร์ ครั้งรัชการของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จะเห็นว่า ที่ตั้งของเมืองศรีเทพ (เขียนว่า สีเทพ)ตั้งอยู่กึ่งกลางของประเทศในสมัยนั้น เมืองนี้จึงเป็นศูนย์กลางการเดินทาง จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก และจากทิศเหนือไปทิศใต้   เมืองนี้จึงน่าจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางมาค้าขายของชนชาติต่างๆ ดังจะเห็นจากประติมากรรมศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากทั้งเขมร และ อินเดีย                 
เมืองศรีเทพต่างจากเมืองอื่นในลุ่มแม่น้ำภาคกลางตรงที่ไม่ได้ตั้งอยู่ติดแม่น้ำ แต่อยู่ห่างจากแม่น้ำไปทางทิศตะวันออกพอประมาณ เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากผู้ตั้งเมืองรู้ถึงธรรมชาติของพื้นที่ดีว่า ในฤดูน้ำหลากทุกปี น้ำจะไหลบ่าลงมาจากทางเหนือและจะท่วมบ้านเมืองหากตั้งอยู่ติดแม่น้ำ  จะเห็นว่าแม้ในปัจจุบัน ( ก่อนการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) แม่น้ำป่าสักก็ยังคงท่วมพื้นที่นี้ทุกปี แต่แม้จะท่วมหนักสักเพียงใด ก็มาไม่ถึงที่ตั้งของเมืองศรีเทพแห่งเก่านี้เลย


             ความที่อยู่ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำ เมืองนี้จึงจำเป็นต้องขุดสระน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ให้ชาวเมืองได้ใช้ นี่คือเหตุผลที่เราพบเห็นสระน้ำมากกว่า 70 แห่งในเมืองโบราณที่ถูกค้นพบ   สระน้ำเหล่านี้จึงน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยเริ่มตั้งเมือง



             จากการสำรวจ พบว่าเมืองนี้เป็นเมืองขนาดใหญ่ มีคูน้ำรอบเป็นปราการเมือง 2 ชั้น ภายในเมืองนอกจากสระน้ำ ยังมีปรางค์ และ เทวสถาน ทั้งใน และรอบนอกเมือง เมื่อมีการเปรียบเทียบงานศิลปะที่พบ และพิสูจน์อายุของสิ่งก่อสร้างทางวิทยาศาสตร์พบว่าอิฐ และไม้ที่คงอยู่มีอายุราว 800 ถึง 1000 ปี 
         นับเป็นความโชคดีที่ เทวสถานส่วนใหญ่สร้างขึ้นด้วยหินและศิลาแลง แม้จะถูกทำลายด้วยกาลเวลา แต่ก็ยังคงหลงเหลือบางส่วนให้เราได้รู้ว่า ครั้งหนึ่งปรากฏเมืองนี้อยู่ในประเทศไทย หากจะลองคิดเปรียบเทียบช่วงเวลากับอายุของเมืองนี้ จะเห็นว่า หากเมืองนี้มีอายุ 800 ปีขึ้นไป เมืองศรีเทพจะมีอายุมากกว่า กรุงศรีอยุธยา และสุโขทัย จึงน่าจะอยู่ในสมัยก่อนหรือเริ่มต้นประวัติศาสตร์ ซึ่งก็สัมพันธ์กับลักษณะของประติมากรรม ที่พบอันเป็นศิลปะในยุคของอารยะธรรมเขมร และบางส่วนเป็นศิลปกรรมของ อารยะธรรมทวาราวดี ที่ผลัดกันเข้ามามีอิทธิพลเหนือเมืองนี้
            
      ดังนั้น เมื่อในพงศาวดารที่บันทึกในสมัยพระนเรศวร ที่กล่าวถึงพระศรีถมอรัตน์ กับพระชัยบุรี จึงน่าคิดได้ว่า พระศรีถมอรัตน์ ท่านนี้น่าจะเป็นเจ้าเมืองศรีเทพ ในยุคที่เมืองนี้ได้ตั้งมาแล้ว กว่า 400 ปี ( เพราะกรุงศรีอยุธยา มีอายุประมาณ 425 ปี ) แต่อาจเป็นไปได้ว่า เมืองศรีเทพ ในยุคนั้นอาจจะไม่ได้ตั้งอยู่ในสถานที่ที่พบนี้ แต่อาจจะเคลื่อนย้ายไปอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เพราะดูจากซากเทวสถานที่พบในเมืองโบราณ ล้วนเป็นศิลปะคนละยุคสมัยกับอยุธยา
         โชคดีที่เมืองโบราณนี้ได้ถูกค้นพบ แม้จะมีการลักลอบขุดสมบัติ และของมีค่า อันจะเป็นหลักฐานในการค้นหาประวิติศาสตร์ไปขาย แต่ก็ยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นหลักในการค้นหาคือสิ่งก่อสร้าง ที่สร้างด้วยอิฐ หิน เหล็ก หรือแม้แต่เศษไม้เพียงไม่กี่ชิ้น ที่ยังคงสภาพ ให้เห็น
               
     สันนิฐานว่า เมืองศรีเทพที่ยิ่งใหญ่นี้ เดิมนับถือลัทธิศาสนาฮินดู ซึ่งมาจากทางอินเดีย โดยจะเห็นการสร้างสถูปและปรางค์ ด้วยหินในบริเวณที่เป็นใจกลางเมือง (คล้ายกับศิลปะของเขมรที่นครวัด) ซึ่งถือเป็นเขตสำคัญทางศาสนา ( คล้ายส่วนที่เป็นที่ตั้งของ พระบรมหาราชวัง และวัดพระแก้ว ในปัจจุบัน) ส่วนรอบๆเมืองซึ่งเป็นทั้งตั้งของบ้านเรือนของประชาชน ที่อาศัยส่วนใหญ่ถูกสร้างด้วยไม้ ซึ่งถูกกัดกร่อนทำลายให้ผุพังไปตามกาลเวลาจนหมดเหลือให้เห็นเป็นเพียงที่ราบรอบเทวสถาน และสระน้ำ ของชุมชนเท่านั้น
                
     ความที่เมืองศรีเทพมีอายุยาวนาน ( ศรีเทพ 800 ปี กรุงศรีอยุธยา 420 ปี กรุงเทพฯ 230 ปี ) จึงมีการเปลี่ยนแปลงด้านการปกครอง ศาสนา และวัฒนธรรมขึ้นหลายครั้ง ดังจะเห็นว่า นอกจากเทวรูปในศาสนาฮินดูแล้ว ยังมีการพบหลักฐานทางพุทศาสนาลัทธิมหายานอีกด้วย ซึ่งคาดว่าคงเข้ามาในระยะหลังก่อนการล่มสลายของชุมชน


           จากการขุดค้นหลักฐาน พบว่าใต้สถูป และปรางค์ ที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานรูปเคารพทางศาสนา มีการฝังรูปสลักหินซึ่งเป็นรูปของพระศิวะ พระอาทิตย์ และรูปเคารพอื่นๆในศาสนาฮินดูไว้ โดยครั้งหนึ่งรูปเคารพเหล่านี้ได้ถูกประดิษฐานไว้ในพระปรางค์ และศาสนสถานเหล่านั้น แต่ภายหลังเมื่อพุทธศาสนาได้เข้าในในชุมชน จึงมีการนำพระพุทธรูปเข้ามาไว้แทนที่รูปเคารพเหล่านั้น หลักฐานที่มีค่าที่ค้นพบคือพระพุทธรูปที่ทำจากสัมฤทธิ์ที่มีรูปลักษณ์ต่าง จากพระพุทธรูปในยุคอยุธยา และโบราณวัตถุที่ทุกคนจะต้องถ่ายรูปเมื่อมาเที่ยวชมคือ ธรรมจักรที่สลักด้วยหิน ที่มีลวดลายโบราณงดงามมาก        
      จากสิ่งก่อสร้าง และอาณาเขตที่ยิ่งใหญ่ของเมืองศรีเทพ ทำให้สะท้อนให้เห็นถึงปริมาณกำลังคน และกำลังศรัทธาที่ใช้ในการก่อสร้าง อาคารและศาสนสถานเหล่านี้มั่นคงยากแก่การล่มสลาย ทำให้ไม่สามารถบอกได้เลยว่า เมืองนี้เสื่อมสลายไปด้วยเหตุใด

            จากการสำรวจไม่พบการถูกทำลายโดยสงคราม และเมื่อเปรียบเทียบการเสื่อมสลายของเมืองนี้ คล้ายกับเมืองขนาดใหญ่ของเขมรคือนครวัด นครธม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าได้รับความกระทบกระเทือนจากการเสื่อมสลายของอาณาจักร เขมร ที่ทำให้เส้นทางค้าขายกับเขมรที่เคยรุ่งเรือง เนื่องจากเป็นเมืองศูนย์กลางการเดินทางค้าขาย กลับซบเซาลง แต่ก็เป็นเหตุผลที่ไม่น่าทำให้เมืองนี้ต้องเสื่อมสลายไป เพราะแม้การค้าขายจะซบเซา แต่เมืองก็น่ายังสามารถอยู่ต่อไป และควรมีการพัฒนาต่อเนื่องไปในยุคหลัง จะไม่หยุดลงที่ยุคเดิมเหมือนเมืองถูกทิ้งร้างไปโดยฉับพลัน 
 เหตุผลใหญ่ที่มีการคาดเดา จากสภาพสิ่งแวดล้อม ที่ไปสอดคล้องกับนิทานพื้นบ้านที่กล่าวถึงคือ โรคระบาดของชุมชน ซึ่งก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะเป็นไปได้สูง ว่าจะเกิดโรคระบาดร้ายแรงในเมืองนี้ เนื่องจากเมืองศรีเทพ เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ ที่มีผู้เดินทางมาจากต่างแดน หรือต่างประเทศอยู่เสมอ จึงเป็นเหตุให้มีการแพร่ขยายของโรคภัยที่มากับคนต่างถิ่นได้อย่างง่ายดาย          
      อีกทั้ง แม้เมืองศรีเทพจะอยู่ใกล้แม่น้ำป่าสัก แต่ก็ไม่ได้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำที่มีน้ำไหลผ่านโดยตรง การใช้น้ำในการบริโภคของชาวเมือง อาศัยน้ำจากคูและสระหรือบ่อน้ำภายในเมือง ซึ่งกลายเป็นแหล่งระบาดของโรคภัยไข้เจ็บ อันเป็นเหตุแห่งการล้มตาย และเคลื่อนย้ายของผู้คนไปยังที่อื่นอย่างกะทันหัน เมืองศรีเทพจึงถูกทิ้งร้างให้หยุดประวัติศาสตร์ของตัวเองไว้ในป่ารกนับร้อยปี
              
      เมืองโบราณชื่อศรีเทพ ที่เรามาพบในวันนี้ น่าจะเป็นเมืองศรีเทพในยุคแรกก่อนประวัติศาสตร์ แต่เมืองศรีเทพที่เราเห็นชื่อในพงศาวดารประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา น่าจะเป็นบริเวณเมืองศรีเทพที่ตั้งขึ้นใหม่ในบริเวณใกล้เคียงที่เก่า ซึ่งเกิดขึ้นหลังการอพยพออกมาตั้งเมืองเล็กเมืองน้อยหลายแห่งในบริเวณลุ่ม แม่น้ำป่าสัก ในยุคสุโขทัยและอยุธยา

               เท่าที่เล่ามานี้นับเป็นเรื่องที่เล่าแบบย่อจากความเข้าใจของตัวเอง ด้วยภาษาที่ง่ายเพื่อให้คนยุคเดียวกันได้เข้าใจความเป็นมา โดยอาศัยความรู้จากหนังสือหลายเล่ม โดยเฉพาะหนังสือเรื่อง “ เมืองศรีเทพ” ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ  ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญมาก
         คิดว่าหากท่านที่อยากไปชม “ เมืองศรีเทพควรได้อ่านไว้บ้างก่อนไปสถานที่จริง  จะได้ประโยชน์อย่างมาก  เพราะโบราณสถานภายในเมืองศรีเทพ ที่จะได้พบมีมากมาย  จึงขอสรุปให้ทราบย่อๆ ก่อนไปฟังแบบละเอียดจากวิทยากรผู้ดูแลดังนี้
โบราณสถานและสถานที่สำคัญในอุทยานฯ
             
              ปรางค์สองพี่น้อง ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีประตูทางเข้าทางเดียว จากการขุดแต่งทางโบราณคดี พบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตีประทับนั่งอยู่เหนือโค อศุภราช ลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ โดยอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนต่อนครวัด และมีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับบนกำแพงแก้วที่ล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่ และยังมีการก่อปิดทางขึ้นโดยเสริมทางด้านหน้าให้ยื่นออกมา และก่อสร้างอาคารขนาดเล็กทางทิศเหนือเพิ่มขึ้น
              
      ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะเขมรหันหน้าไปทางทิศ ตะวันตก สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟักแบบเดียวกับสถาปัตยกรรมเขมรทั่วไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้ พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างเพิ่มหลังจากโบราณสถานเขาคลังใน ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 มีการพยายามจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่แต่ไม่สำเร็จ โดยสันนิษฐานจากการค้นพบชิ้นส่วนทิ้งกระจัดกระจาย ระหว่างปรางค์สองพี่น้องและปรางค์ศรีเทพมีกำแพงล้อมรอบและมีอาคารปะรำพิธี ขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงลักษณะการวางผังในรูปของศาสนสถานศิลปะเขมรแบบเดียวกับที่พบใน ภาคอีสานของประเทศไทย
               
     โบราณสถานเขาคลังใน ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผังเมืองและศิลปะการก่อสร้างมีลักษณะคล้ายเมืองทวารวดีอื่น ๆ ได้แก่ นครปฐม และเมืองโบราณคูบัว มีการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคลและสัตว์ประดับเป็นศิลปะแบบทวารวดี เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติจึงเรียกว่า "เขาคลัง"
               
     ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ อยู่บริเวณด้านในประตูแสนงอน (ประตูด้านทิศตะวันตก) ศาลเจ้าพ่อศรีเทพเป็นศาลที่เคารพสักการะของชาวบ้านทั่วไป โดยทุกปีจะมีงานบวงสรวง ในราวเดือนกุมภาพันธ์ วันขึ้น 2-3 ค่ำ เดือน 3
              
       นอกจากโบราณสถานดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีโบราณสถานย่อย ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทิศใต้ของเขาคลังในพบโบสถ์ก่อด้วยศิลาแลง มีการพบใบเสมาหินบริเวณใกล้หลุมขุดค้น และพบโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสมัยทวารวดี ซึ่งได้มีการก่อสร้างทับในระยะที่รับเอาศาสนาพราหมณ์เข้ามา แสดงให้เห็นว่าบริเวณเมืองชั้นในเดิมน่าจะเป็นเมืองแบบทวารวดี และมีการสร้างสถาปัตยกรรมเขมรในระยะหลังเพิ่มขึ้น
      
นอกจากนี้ทางทิศใต้ยังพบอาคารมณฑปแบบทวารวดีขนาดใหญ่ และมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเทวาลัยประมาณต้นศตวรรษที่ 18 แต่ยังไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ นอกจากนี้ยังพบสระน้ำโบราณ เรียกว่า สระแก้ว อยู่นอกเมืองไปทางทิศเหนือ และยังมี สระขวัญ อยู่ในบริเวณเมืองส่วนนอก ทั้งสองสระนี้มีน้ำขังตลอดปี เชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ และมีการนำไปประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน
               
 การเดินทางไปชม  อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00–16.30 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท รถยนต์นำเข้าอุทยาน คันละ 50 บาท สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการติดต่อวิทยากรบรรยาย ติดต่อโดยตรงได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์โทร. 0 5682 0122, 0 5682 0123

       หลังจากเรียบเรียง และรวบรวมข้อมูลเมืองนี้จบ  ดิฉัน ก็บังเอิญลงมายืนอยู่ที่หน้าตึกที่ทำงาน มองขึ้นไปบนยอดตึก คิดถึงเวลาในอีก1,000 ปีในอนาคต……… หากยังมีโลกนี้อยู่ คนในยุคนั้นอาจขุดพบตึกนี้ และอาจพบโบราณวัตถุที่สร้างด้วยไฟเบอร์ หรือพาสติก ที่เมื่อเปิดดูจะพบว่ามีหน้าจอสี่เหลี่ยมสีดำ มีอักษรภาษาไทยดึกดำบรรพ์เขียนไว้ที่ขอบจอ แสดงชื่อเจ้าของวัตถุนี้ และหากสามารถอ่านได้ ก็คงจะพบว่าชื่อที่เขียนไว้ เป็นชื่อของดิฉันนั่นเอง ........



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น