บ้านป้าLily หลังนี้เปิดไว้เพื่อให้เป็นที่ที่เพื่อนๆมานั่งตั้งวงคุยกันด้วยเรื่องที่เราชอบ
โดยมีป้า Lily มานั่งเล่าเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แถมสนุกสนานให้ฟังอีก
วันที่ท้องฟ้าสดใสในเวลาแดดร่มลมตกไม่มีอะไรดีไปกว่าการมานั่งที่ ชานเรือนของบ้านป้าLily อีกแล้ว


ยินดีต้อนรับทุกท่านจ๊ะ

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

เพลิงภาณุ


ตลอดช่วงเดือนมีนาคม 2551 ป้าLily ต้องเดินสายสอนหนังสือ ตามโครงการพิเศษของงานที่ทำ จึงไม่ได้กลับมาที่ “สวนลูกจันทร์” ทุกสัปดาห์ จนถึงต้นเดือนเมษายน ที่ป้าก็ต้องตกใจเมื่อได้รับโทรศัพท์จากลุงนัน ตอนแรกคิดว่าลุงไม่สบาย แต่ที่แท้ลุงฯก็แค่โทรฯมาบอกว่า “ เพลิงภาณุ” ออก ดอกแล้ว

สำหรับลุงนัน “ เพลิงภาณุ” เป็นต้นไม้ที่รอคอย และอยากเห็นดอกของเขามาก ลุงรดน้ำไปก็พร่ำบ่นกับเขาทุกวันว่า “ เมื่อไรจะเห็นดอกของเจ้าสักทีนะ ”

เหตุที่ต้องบ่น และกังวลใจก็เพราะ โดยทั่วไปแล้ว ไม้ประดับจะออกดอกเมื่อมีอายุ 3-4 ปี และไม่เกิน 5 ปี แต่ แม่เพลิงภาณุ ของเราก็เล่นตัวมากไม่ยอมออกดอกมาให้ชมเสียที เล่นเอาคนปลูกกลุ้มใจ อย่างมาก

และแล้วในวันที่อากาศร้อนจนฟ้าแทบละลาย แม่พระเพลิง “ เพลิงภาณุ” ก็เผยโฉมดอกช่อแรกมาให้คนปลูกหัวใจเบิกบาน และชุ่มชื่นเหมือนมีน้ำฝนชโลมใจเลยทีเดียว

หลายคนคงอยากรู้จัก “ เพลิงภาณุ” วันนี้ป้าจึงรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับไม้งามต้นมามาให้ได้รู้กัน

เพลิงภาณุ หรือ Flame treeเป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดจาก พื้นที่ป่าฝนร้อนชื้นในแถบชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศออสเตรเลีย เมื่อออกดอกจะมีสีแดงบานเต็มต้นโดดเด่นเห็นแต่ไกล จึงได้ชื่อว่า Flame Tree
ด้วยความงามของต้นและดอก จึงมีผู้ขยายพันธุ์นำไปปลูกในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก แต่ไม่ว่าจะเจริญเติบโตในพื้นที่ใด ไม้ต้นนี้ก็ยังคงสร้างความปิติให้แก่พื้นที่ที่ปลูกด้วยการออกดอกสวยงาม คล้ายดวงเทียนสีแดงสดสว่างไสว ไม่ว่าจะในป่าลึกหรือบนยอดภูเขาสูงทุกปีในช่วงก่อนวันคริตส์มาส

ไม้ต้นนี้ มีชื่อเสียงขจรกระจายด้วยทรงต้นสูงที่ปกคลุมด้วยช่อดอกที่ประกอบด้วยดอก เล็กๆทรงกระดิ่งสีแดงไปทั้งต้น โดยปราศจากใบ รู้จักกันดีในชื่อ ภาษาอังกฤษว่า Illawarra Flame Tree หรือบางคนเรียกสั้นๆว่า Flame Tree บางท้องถิ่นเรียกอีกชื่อว่า Kurrajong ในเมืองไทย มีผู้ตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า “ เพลิงภาณุ” บางคนเรียกว่า “ เปลวพระเพลิง”
ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Brachychlton acerifollus เป็นไม้ในวงศ์ Stercullaceae ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับต้นขวดที่มีลำต้นอวบ

มีคนกล่าวว่าไม้ต้นนี้พบครั้งแรกแถบภาคตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ที่ Cape York รัฐ New South Wales แต่มีคำยืนยันที่แน่นหนาอีกว่า ไม้ต้นนี้เป็นต้นไม้ดั้งเดิมของเมือง Illawara Range ที่มีอากาศแห้งแล้งกว่า (จึงมีชื่อตามถิ่นที่พบ)

Illawara Flame Tree มีชื่อเสียงว่าเป็นไม้แบบ evergreen คือเขียวตลอดปี จนถึงช่วงออกดอกคือในช่วงก่อนคริตส์มาส ใบอันใหญ่โตก็จะเริ่มเหลืองคล้ายต้นเมเปิ้ล และร่วงหลุดไปหมดต้น และดอกช่อใหญ่สีแดงเพลิงก็จะออกมาแทนที่ ดังนั้นชาวไร่ในชนบทของออสเตรเลียจึงนิยมปลูกไว้เป็นแนวรั้วแสดงเขตพื้นที่ และเป็นแนวสองข้างทาง

ไม้ชนิดนี้ปลูกได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่นมีแสงแดดส่องตรง ดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วนระบายน้ำได้ดี เป็นต้นไม้ที่อดทนต่อทุกสภาพอากาศ ทั้งร้อนชื้นและแห้งแล้ง สามารถปลูกในเขตที่มีอากาศหนาวเย็นได้ แต่จะมีผลต่อการออกดอก เพราะจะทำให้ออกดอกเป็นบางครั้ง หรือออกดอกเป็นบางส่วนของต้นเท่านั้น ที่สำคัญคือต้องทำที่กำบังลมและอากาศหนาวให้แก่ต้นไม้นี้ ต้นที่พบว่ามีอายุมากที่สุดพบในออสเตรเลียตอนใต้ มีอายุมากกว่า 75 ปี

ลักษณะของต้น เป็นไม้ยืนต้น โตเร็ว สูงโปร่งประมาณ 15 – 20 เมตร พื้นผิวของลำต้นมีสีน้ำตาลเทา กิ่งแตกแยกตรงออกจากลำต้น รูปทรงต้นสวยงาม เหมาะที่จะปลูกประดับสวน หรือกลางสนามหญ้ากว้างๆ ด้วยใบที่ใหญ่และเขียวตลอดปี จะให้ร่มเงาที่ดี

มีใบใหญ่ เป็นแฉก 3-4 แฉกคล้ายใบเมเปิ้ล แต่ใหญ่กว่ามาก การพัฒนาของกลีบใบ เมื่ออายุการปลูกยังไม่มาก ใบจะมีแฉกน้อยกว่า 4 แฉก หรือมีแฉกไม่ชัดเจน ใบอ่อนสีเขียวอ่อน และเริ่มเขียวเข้ม พื้นผิวใบหนา มีเส้นกลางใบ เมื่อแก่จะกลายเป็นสีเหลืองและน้ำตาล ก่อนจะหลุดร่วง เมื่อฤดูออกดอกมาถึง


หลังจากปลูกประมาณ 5 ปีก็จะมีดอก ดอกมีลักษณะทรงกระดิ่ง พื้นผิวกลีบดอกเป็นมันคล้ายเคลือบด้วยขี้ผึ้งมีลักษณะขรุขระ สีแดงเข้มสว่าง มี 5 กลีบแยกออกจากกันตรงปลายกลีบ ดอกยาวประมาณ 1-2 ซม. ภายในมีช่อเกสรเล็กๆสีเหลือง ก้านดอกสีแดงเหมือนสีของกลีบดอก ยาวประมาณ 3 ซม. ช่อดอกสีแดง หรือสีน้ำตางแดง ยาวประมาณ 10 ซม.

ลักษณะการออกดอก มีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ บางต้น( ในบางปี )อาจจะออกดอกเพียงครึ่งต้น หรือข้างเดียว บางต้นออกดอกปีเว้นปี บางต้นไม่ออกดอกเลย แต่ส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยผิดพลาดหรือทำให้คนปลูกผิดหวังเพราะจะออกดอกมาให้ชม ทุกปี




ผลออกเป็นฝักยาว รูปเรือ แต่แบนและกว้างยาวประมาณ 10 ซม. ฝักมีสีน้ำตาลเข้ม มีเมล็ดสีเหลืองลักษณะแบนติดกับผนังของฝักอยู่ภายใน เมื่อแก่จะแตกออกเพื่อให้เมล็ดร่วงหล่นลงบนพื้น เมล็ดใช้เป็นอาหารของชนเผ่า อบิริจินี่ (Aborigines) ด้วยการนำมาคั่วหรืออบก่อนรับประทาน

ที่สวนลูกจันทร์ เราปลูกมา 6 ปีจึงได้เห็นดอกครั้งแรกในเดือนเมษายน ปี 2551 ซึ่งบอกตรงๆว่าเกือบถอดใจ เพราะไม่แน่ใจว่าเขาจะออกดอกหรือไม่

ในช่วงแรกที่ปลูกเขาโตเร็วมาก ต้นสูงโปร่ง ใบใหญ่ทึบ ให้ร่มเงาที่ดี ใบไม่ค่อยร่วงแม้ในช่วงที่อากาศแล้งสุดๆ หลังจากรอจนแทบหมดหวัง เมื่อดอกช่อแรกออกมา แม้จะไม่เต็มต้นเหมือนที่เคยเห็นในรูป ก็ทำให้คนปลูกหายเหนื่อยได้เหมือนกัน เราหวังว่า เมื่อเขาโต มีความสมบูรณ์เต็มที่ อีกไม่นาน ต้นไม้ไฟ ต้นนี้คงจะส่องแสงสว่างให้บ้านเรา จนสามารถเป็นจุดสังเกตุเห็นแต่ไกลได้อย่างสง่างาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น