บ้านป้าLily หลังนี้เปิดไว้เพื่อให้เป็นที่ที่เพื่อนๆมานั่งตั้งวงคุยกันด้วยเรื่องที่เราชอบ
โดยมีป้า Lily มานั่งเล่าเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แถมสนุกสนานให้ฟังอีก
วันที่ท้องฟ้าสดใสในเวลาแดดร่มลมตกไม่มีอะไรดีไปกว่าการมานั่งที่ ชานเรือนของบ้านป้าLily อีกแล้ว


ยินดีต้อนรับทุกท่านจ๊ะ

วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2558

Jakarta Indonesia



จาการ์ต้า…..มาทำไม

   พอบอกเพื่อนว่าจะไปเที่ยวจาการ์ต้า เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย  ....
   คำถามที่ทุกคนสะท้อนส่งกลับมาคือ “ ไปทำไม.....”
ดูเหมือนว่าความคิดที่จะไปเมืองนี้  มีน้อยมากในทุกคน  เพราะมีการกล่าวขานถึงเรื่องราวของจาการ์ต้าเพียงน้อยนิด หลายบทความเขียนสั้นๆแทบหาสาระอะไรไม่ได้  คนเขียนส่วนใหญ่ไปแค่ผ่านหรือพักเพียง 1 คืนด้วยความจำใจ
แล้วมีเหตุผลอะไรที่ฉันอยากไปเล่า ....?
  
   เหตุผลแรกคือ เพราะมันฟรี....  ( ข้อนี้ทำให้จาการ์ต้า น่าสงสารเข้าไปใหญ่)  เหตุผลเพราะฉันมีเพื่อนทำงานที่นั้น  ดังนั้นค่าที่พักอันสะดวกสบายจึงเท่ากับ 0 บาท

   เหตุผลที่สอง เท่าที่อ่านและฟังคนพูดถึง จาการ์ต้า ดูแล้วไม่ค่อยมีใครปลื้มเท่าใดนัก  ซึ่งมันคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับฉัน  แม้ที่ไหนจะแย่อย่างไร มันต้องมีส่วนดีบ้างแน่นอน   อย่าตัดสินใครเพียงเพราะคำพูดที่ได้ยินมา หากไม่เห็นกับตาตัวเอง ก็อย่าดราม่าเชื่อตามเด็ดขาด ว่าแล้วฉันก็บินตรงไปจาการ์ต้า หลังจากใช้เวลาตัดสินใจเพียง 5 นาที 

   เรื่องราวการท่องเที่ยวของฉันครั้งนี้ จะออกแนวน่าหมั่นไส้สักหน่อยนะ  เพราะว่าจะสะดวกสบายไฮโซเล็กน้อย  ทั้งนี้เนื่องจากมีเพื่อนดีมีกะตัง คอยดูแลช่วยเหลือนั่นเอง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพวกเขาเห็นว่าฉันอายุมากแล้ว  จะสมบุกสมบันสะพายเป้เดินเตร็ดเตร่ไปเรื่อยเปื่อย  อาจจะไปเป็นลมล้มพับที่ไหนให้พวกเขาต้องลำบากพาส่งโรงพยาบาลเอาได้นั่นเอง จึงขอความกรุณาอดทนอ่านสักนิดนะ




   นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันมาประเทศนี้  สนามบินดูอบอุ่นเหมือนบ้านดี  สนามบินแห่งชาตินี้ชื่อ  Soekano Hatta International Airport   ภาษาไทยเรียกว่า “ท่าอากาศยานนานาชาติซูการ์โน ฮัตตา ที่ตั้งชื่อนี้ขึ้นก็เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายซูการ์โน่ อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นั่นเอง
   
   สนามบินไม่ใหญ่มาก สภาพภายในคล้ายสนามบินต่างจังหวัดบ้านเรา เมื่อเดินมาถึงจุดตรวจคนเข้าเมือง ( หลังจากหลงเล็กน้อยเพราะป้ายบอกทางไม่ชัดเจน  ไม่ต้องกลัวนะคะ ฉันไม่ได้หลงคนเดียว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลงเป็นเพื่อนเพียบเลย) 


   การบริการของเจ้าหน้าที่ ต.ม. แม้จะได้รับการเตือนมาจากรุ่นน้องที่มาทำธุรกิจที่นี่แล้ว  แต่ฉันก็ยังอึดอัด  เพราะทุกคนไม่มีรอยยิ้มให้แขกที่เข้ามาเที่ยวในประเทศของตัวเองเลย  เวลาจะเรียกให้เราเข้าไปที่เคาน์เตอร์ พวกเขามักจะใช้นิ้วเคาะโต๊ะเรียก ดูแล้วต้องคิดขำๆค่ะ แล้วก็ส่งยิ้มเก้อๆให้เขา  ต้องใช้คำว่า “ เก้อ” เพราะเป็นรอยยิ้มที่ส่งไปข้างเดียว ไม่มีการส่งตอบกลับมา  เห็นอย่างนี้แล้ว ต้องชมเจ้าหน้าที่ ต.ม.ของไทย  แม้จะอารมณ์บูดบ้าง แต่ยังมีหน้ายิ้มแย้มและพูดจาสุภาพกว่า โดยเฉพาะกับคนต่างชาติ
 

   แต่อย่างไรก็ตาม คนอินโดนีเซีย (ที่ไม่ใช่ข้าราชการ)ก็เป็นผู้ให้บริการที่ดีชาติหนึ่งทีเดียว  เริ่มตั้งแต่ออกจาก ต.ม.มาฉันก็ต้องตกใจแทบสิ้นสติ  ที่เห็นชายหนุ่มรูปหล่อผิวเข้มสวมสูทสุภาพนายหนึ่งยืนชูป้ายชื่อฉันแบบดูเด่นเป็นสง่ามาก   จะไม่ให้ตกใจได้ไงล่ะ  ก็บริเวณนั้นมันเป็นภายในมาก ยังไม่ถึงจุดรับกระเป๋าเดินทาง  แต่เขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ จะสามารถเดินเข้ามาได้อย่างไร 

   จะเพราะด้วยอะไรก็ตาม....ฉันก็แสดงตัวจับไม้จับมือทักทายกันดีแล้ว  เขาก็นำทางไปรับกะเป๋าที่สายพาน  โดยช่วยยกกระเป๋าและนำผ่านจุดตรวจเอกซ์เรย์  ที่ไม่ต้องเอ็กฯ ไม่ต้องรอ แค่เดินออกไปทั้งที่ทุกคนต้องผ่านเครื่องนี้  จะด้วยขบวนกระบวนการหรืออภินิหารย์อะไรก็แล้วแต่ ฉันไม่กล้าถาม เพียงเดินตามไปขึ้นรถโรงแรมที่รอรับเท่านั้นพอ

    โรงแรมที่ฉันมาอาศัยเพื่อนพัก ตั้งอยู่ส่วนในสุดของเมือง ที่เป็นศูนย์รวมธุรกิจของประเทศ  เห็นทำเลแล้วชอบมาก  เพราะรายรอบโรงแรมล้วนเป็นห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอ็น  แม้จาการ์ต้าจะเป็นเมืองขนาดใหญ่ของอินโดนีเซีย แต่ขนาดพื้นที่เล็กกว่ากรุงเทพฯสองเท่า  ส่วนที่มากกว่ากรุงเทพฯคือจำนวนประชากรที่ต่างกันหลายล้านคน   ดังนั้นความหนาแน่นของผู้คนในจาการ์ต้าจึงสูงถึง 3 เท่าตัวของกรุงเทพฯบ้านเรา

    การเที่ยวต่างถิ่น ต่างบ้านต่างเมืองมันดีตรงที่ทำให้เราเห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คนและความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่เราต้องเคารพ ไม่ว่าจะถูกใจเราหรือไม่ เพราะมันต้องเป็นสิ่งที่เหมาะที่ควรสำหรับการใช้ชีวิตของเขา ความต่างไปจากเราเป็นเรื่องที่ต้องศึกษา ไม่สามารถเก็บมาขบขันได้


     เมื่อมาถึงโรงแรม ภาพแรกที่ทำให้ฉันแปลกใจคือ  การรักษาความปลอดภัยของโรงแรม  ตั้งแต่รถเข้า ต้องตรวจละเอียดมาก มีด่านตรวจสองชั้นทั้งตรวจรถ และคน  ก่อนจะเข้าตัวอาคารต้องตรวจสัมภาระทุกชิ้น ไม่ว่าจะเข้าออกกี่ครั้งก็ตาม เครื่องเอ็กซ์เรย์ และ ร.ป.ภ.ของโรงแรมดูๆแล้วจะมีคุณภาพมากกว่าของสนามบินเสียอีก  บรรยากาศอึดอัดนี้ดูอีกทีก็ทำให้เรารู้สึกอุ่นใจว่า เราจะพักอยู่ที่นี่ได้อย่างปลอดภัย 

    ที่บอกว่า ไม่ว่าเขาจะทำอะไรที่แตกต่าง ล้วนต้องมีเหตุ และดีสำหรับเขา แน่นอนว่าการรักษาความปลอดภัยค่อนข้างสูงในทุกสภานที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ห้างสรรคสินค้าระดับสูง เกิดจากเคยมีเหตุการณ์ที่ผู้ก่อความไม่สงบเข้ามากราดยิงในโรงแรม Marriott เมื่อหลายปีมาแล้ว โดยมีคนเสียชีวิตไปหลายคน  อีกทั้งในกรุงจาการ์ต้าเองก็มีการเดินขบวนประท้วงอยู่เนื่องๆ  โรงแรมใหญ่ๆจึงมักมีรั้วกั้นระหว่างถนนกับตัวอาคาร เพื่อกันไม่ให้ผู้ประท้วงเข้ามาในบริเวณโรงแรมได้ง่ายเกินไป 


    อีกเรื่องที่ต้องเล่าคือ เรื่องสกุลเงินของอินโดนีเซีย  เงินของเขาเรียกว่า “ รูเปี๊ยะ”  อัตราแลกเปลี่ยนช่วงที่ฉันไป = 2.90 บาทต่อ 1,000 รูเปี๊ยะ ( ผิดพลาดขออภัย) ความที่ตัวเลขมันเยอะ อธิบายไม่ถูกค่ะ เอาเป็นว่า  เอาเงินไทย 15,000 บาท แลกได้เงินรูเปี๊ยะ 4 ล้านกว่าๆ เป็นค่าขนม  ความยุ่งยากเรื่องการคำนวนเงินเวลาซื้อของนี้ เป็นแค่วันแรกเท่านั้น  เพราะหลังจากเดินสำรวจราคาสินค้าและบวกลบคูณหารแล้ว  เห็นว่าราคาสินค้าที่นี่ถูกกว่าบ้านเรา  โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมที่ผลิตที่นี่  ดังนั้นวันหลังๆที่อยู่จึงซื้อสินค้าอย่างสบายใจไม่คิดเป็นเงินไทยให้ปวดหัว ยังไงๆๆ ก็ไม่แพงกว่าแน่นอน...

   แต่มีเรื่องขำเกี่ยวกับเงินของเมืองนี้เกิดขึ้นกับฉัน  เพราะไอ้เรื่องคิดเลขไม่ถูกนี่แหละที่ทำให้ฉันหน้าแตกตั้งแต่ช๊อตแรกที่มาถึงโรงแรม  ความที่ตกวิชาเลขมาตั้งแต่ชั้นประถม จนจบมหาลัย ตกมาสม่ำเสมอทุกปี  เวลาจะทิปพนักงานจึงเงอะงะ  พนักงานคนแรกจึงได้ค่าทิปยกกระเป๋าไป 5,000 รูเปี๊ยะ   พอหายงงก็ค่อยๆกลับมาคิดใหม่  เงิน 5,000 รูเปี๊ยะที่เพิ่งทิปไปคำนวนแล้วก็เท่ากับ 14.50 บาท  คิดแล้วคิดอีกจนแน่ใจว่า 14 บาทแน่นอน จึงรีบวิ่งลงไปหาพนักงานคนนั้นใหม่ พร้อมกับขอโทษและให้ทิปเพิ่มไปเป็น 3 หมื่นรูเปี๊ยะ ซึ่งเท่ากับ 87 บาท ความผิดพลาดนี้นับเป็นเรื่องดี เพราะตั้งแต่วันนั้นพนักงานทุกคนดูแลเราดีมาก ถ้ามีน้ำใจให้เขา เขาก็มีน้ำใจกลับให้เรา มันเป็นสัจธรรมของชีวิตค่ะ


   หลังจากเช็คอินเสร็จ  ฉันก็ออกไปเดินสำรวจเมืองทันที  กรุงจาการ์ต้า (Jakarta City) เป็นเมืองที่รถติดมากที่สุดในโลก  (เพราะราคาน้ำมันถูก+ การจัดระเบียบไม่ดี)  จึงต้องทำใจว่าถ้าจะเดินทางไปไหนมาไหนในเมือง ให้เผื่อเวลาการเดินทางเอาไว้ด้วย เพราะรถติดยิ่งกว่ากรุงเทพฯหลายเท่า   อีกสาเหตุคือ เมืองนี้ยังไม่มีรถไฟฟ้า มีแต่รถเมล์ที่คล้าย BRT บ้านเรา เรียกว่า Trans Jakarta   ส่วนรถเมล์ธรรมดาไม่มีแอร์ฯที่วิ่งตามถนนดูสภาพแล้วไม่อยากเดินไปใกล้  กลัวว่าชิ้นส่วนของรถจะหลุดมา เวลารถติดจะติดนานมาก จนกระเป๋ารถสามารถเดินลงมาเรียกคนให้ขึ้นรถได้นาน  รถอีกประเภทที่มีเหมือนบ้านเราคือ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง แต่ส่วนใหญ่แอบๆอยู่แถวใต้สะพานข้ามถนน

   อีกไม่นาน เมืองนี้ก็จะมีรถไฟฟ้าใช้ เพราะเห็นมีไซต์งานก่อสร้างอยู่หน้าโรงแรมที่พัก ซึ่งน่าจะช่วยให้การจราจรทุเลาเบาบางลงได้บ้าง  ปัจจุบัน ถนนบางสาย โดยเฉพาะสายหลักที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจ เช่นถนนสายที่ฉันพักอยู่ มีการกำหนดเวลาห้ามรถที่มีคนนั่งในรถน้อยกว่า 3 คนเข้ามาวิ่งในระหว่างเวลา 16 น. ถึง 2 ทุ่ม ดังนั้น สิ่งที่ฉันเห็นช่วงเดินกลับโรงแรมในตอนเย็นคือผู้คนนั่งกันอยู่ตามข้างถนน ชูนิ้ว 1 นิ้วบ้าง 2 นิ้วบ้าง คนพวกนี้มีอาชีพนั่งรถเป็นเพือน เพื่อให้รถมีจำนวนครบ 3 คน นับเป็นอาชีพที่สบายพอสมควร ได้นั่งรถเย็นสบายทุกวัน  ปัญหาเรื่องกฏระเบียบนี้ ทำให้เพื่อนรุ่นน้องที่มาดูแลระหว่างอยู่เมืองนี้  ต้องให้ฉันตัดสินใจว่า จะให้ไปรับกินข้าวเย็นเวลาไหน ระหว่าง 4 โมงเย็น กับ 2 ทุ่ม 

   ความที่เมืองนี้เป็นเมืองที่ประชากรแออัด  จึงรู้สึกแปลกๆที่เห็นผู้คนนั่งกันอยู่ตามข้างถนน (นอกเหนือจากอาชีพรับจ้างนั่งรถ)  คนในจาการ์ต้าส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนแออัด บ้านหลังเล็กเพราะราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาสูงมาก   การอยู่ในบ้านที่แออัดทำให้คนจาการ์ต้าต้องออกมานั่งรับลมตากอากาศนอกบ้านกันบ้าง  มันเป็นคุณภาพชีวิต  ที่เขาก็ต้องเลือกระหว่าง ความอึดอันในบ้านเล็ก กับควันจากท่อไอเสียข้างถนน ที่ดูแล้ว เยอะ.....

    ความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมยังมีมาก คนจนก็จนสุดๆ คนรวยก็รวยสุดๆ   คนจีนส่วนใหญ่จะทำธุรกิจและมีฐานะ  แต่คนอินโดที่ร่ำรวยก็มีมากเช่นกัน คนรวยบางคนจะอยู่คอนโดหรูแทนบ้านเดี่ยวเพื่อความปลอดภัยในทรัพย์สิน  คนจนอยู่ในสลัม    เมื่อมาถึงที่นี่ ฉันได้รับการแนะนำให้เก็บเครื่องประดับและระวังกระเป๋าถือ  เนื่องจากการขโมยของ โจรวิ่งราวมีมาก คนจนที่มีมากกว่างาน จึงเลือกที่จะขโมย เรียกว่ามีทุกที่ทุกแห่งในเมืองนี้  ( และทุกเมืองทั่วโลก)



    สภาพแวดล้อม มาเมืองนี้แล้วต้องแอบนึกชมกรุงเทพฯ ที่ดูจะสะอาดเป็นระเบียบกว่า  ในจาการ์ต้า ขยะและน้ำเสียมีให้เห็นทุกที่ สาเหตุน่าจะมาจากระบบการกำจัดน้ำเสียไม่มีคุณภาพ ระบบสาธารณะสุขยังไม่สมบูรณ์  น้ำที่เสียเหม็นเน่าจึงมาจากบ้านเรือนที่ปล่อยทิ้งกันออกมา


   อีกสาเหตุคือ สังเกตุว่า คนที่นี้ชอบทิ้งขยะกันไม่เป็นที่  ถนนจึงไม่ค่อยสะอาด ทุกถนนจะมีเศษขยะอยู่ข้างทางเกลื่อนกลาด  และดูเหมือนว่า...ไม่มีใครสำนึกว่าการทิ้งขยะลงพื้นเป็นเรื่องผิด   ฉันเองก็โดนมากับตัว เมื่อเดินเที่ยวแถวหน้าห้างสรรพสินค้า  ที่ดูแล้วไม่น่ามีใครกล้าทิ้งขยะ แต่จู่ๆ คุณยายที่เดินนำหน้า ก็โยนทิชชูใช้แล้วของท่านลงบนพื้น แบบเฉียดหน้าฉันไปเส้นยาแดงผ่าแปด...


   คุณยายโยนออกจากตัวโดยไม่มองว่าขยะส่วนตัวชิ้นนั้นจะลอยไปไหน ถูกหน้าใคร โยนเสร็จก็เดินคุยต่อไปตามปกติ  ฉันไม่ได้โกรธ เพราะมันเป็นวิถีชีวิตของเขา เรามาอยู่ต่างที่ก็ต้องยอมรับวัฒนธรรมนี้  ในทางตรงข้าม สิ่งที่ดีสำหรับเราคือ  มันพิสูจน์ได้ว่า ฉันยังไม่แก่ เพราะสามารถกระโดดหลบทิชชูใช้แล้วชิ้นนั้นได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที.....ไม่ได้แอ้มกรู..หร๊อก..... ฮ่าๆๆๆ 

   แม้บ้านเมืองจะไม่ค่อยสะอาด รถติดสะบัดบรรลือโลก ทางเดินจะขรุขระ  น้ำในคลองทุกคลองจะดำ  น้ำเสียเหม็นๆไหลตามพื้นถนนแถวหน้าห้างใหญ่  แต่..อย่างไรก็ตาม เมืองนี้ก็มีสิ่งดีๆมาช่วยหักกลบลบความไม่ดีไปได้บ้าง  สิ่งนั้นคือต้นไม้เขียวขจีที่ดูเหมือนจะปลูกกระจายไปตามทุกถนนในเมือง   ก่อนมาเมืองนี้ทำใจว่าอากาศน่าจะร้อน เพราะอยู่ตรงเส้นศูนย์สูตรพอดี  แต่กลับผิดคาด  เพราะอินโดนีเซียเป็นเกาะ  เมืองจาการ์ต้าอยู่ติดทะเล  อากาศจึงไม่ร้อนเท่ากรุงเทพฯ  เวลาเดินตามถนนจะมีลมพัดเย็นสบาย  ที่นี่ฝนตกบ่อยดังนั้นต้นไม้ในเมืองจึงเขียวตลอดปี  ถ้าถนนสะอาดอีกอย่าง รับรองว่าสิงคโปร์มีคู่แข่งแน่

   สำหรับผู้คนเมืองนี้ แม้จะยากจน แต่เขาก็ยิ้มแย้ม และพยายามช่วยเหลือเราเสมอ ภาษาอังกฤษอาจจะไม่ดีมาก แต่เขาก็พยายามที่จะสื่อสารให้เราเข้าใจ  ยิ่งถ้าพูดภาษาอินโดได้เขาจะดีใจมาก ทุกวันที่ฉันเดินอยู่ในเมืองนี้ มีแต่คนพูดภาษาอินโดด้วย แสดงว่าหน้าตาเหมือนคุณป้าอินโดมาก  ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ช่วงอยู่ที่นี่ทำตัวเนียน ไม่สะพายเป้ ไม่ห้อยกล้อง เลยเหมือนคนอินโดเดินไปจ่ายกับข้าวยังไงยังงั้น  อบอุ่นใจดีจัง  และยังมีสิ่งดีๆในประเทศนี้ ที่คุณคิดไม่ถึงอีกคือ กาแฟอร่อยเป็นที่ 2 ของโลก (ที่หนึ่งคือโคลอมเบีย ) กับขนมเค็กตำหรับชาวดัชท์ (เนเธอร์แลนด์)  ฉันมาถูกที่แล้วค่ะ ……

   เกริ่นเรื่องเมืองจาการ์ต้ามาเสียยาว ถึงเวลาพาเที่ยวแล้ว แต่ขอเรียนให้ทราบก่อนว่า เมืองจาการ์ต้า เป็นเมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซียก็จริง  แต่สถานที่ท่องเที่ยวน้อยมาก  แถมบางแห่งยังเป็นที่ที่ไม่ถูกจริตของฉันเสียอีก  จึงทำให้มีเรื่องเล่าไม่มาก แต่เรื่องอาหารการกินแล้ว เต็มที่เลยค่ะ เพราะอาหารที่นี่รสถูกใจ บางชนิดก็เป็นอาหารที่ตามหาเลยค่ะ 




   เท่าที่สังเกตุดู   จาการ์ต้ามีห้างสรรพสินค้าเยอะมาก แต่ละห้างมีขนาดพื้นที่ใหญ่  ส่วนมากจะมีคอนโดอยู่ข้างบน  ชนิดของห้างฯมีตามระดับของผู้บริโภค ตั้งแต่ระดับสูงไฮเอนของเศรษฐีไฮโซ ไปจนถึงระดับล่างคล้ายแพลตทินั่มหรือมาบุญครองของเรา  แต่ละห้างกระจายไปทั่วเมืองจาการ์ต้า ห้างระดับล่างจะมีผู้คนเดินหนาแน่นมาก  ส่วนห้างระดับสูงแม้มีคนเดินบ้าง แต่ในร้านดูเหมือนคนขายมากกว่าคนซื้อ


   แถวที่ฉันพักเป็นแหล่งรวมของห้างระดับสูง  เช่นที่ตึก Grand  Indonesia Shopping Town ในMall มีห้างใหญ่ของไทย และญี่ปุ่นตั้งอยู่ คือ Seibu  และ  Central   ฝั่งตรงข้ามเป็นห้างใหญ่ระดับไฮเอ็นมากๆชื่อ Plaza Indonesia ที่ระดมแบรนด์ดังระดับ Super Brand มา รวมกันไว้ในห้างนี้ บางแบรนด์ไม่มีในประเทศไทยก็สามารถเจอได้ที่นี่  




   ส่วนห้างระดับล่างที่อื่นฉันไม่ได้ไปสัมผ้ส เนื่องจากปัญหารถติดไปไหนไกลไม่ไหว  แต่ในบริเวณไม่ไกลจากห้างไฮเอ็นก็มีห้างระดับล่างไว้ให้ไปเดินช๊อบเหมือนกัน ห้างนี้ชื่อ Thamrin City Trade Mall ห้างนี้จะมีของระดับพื้นบ้าน โดยเฉพาะของใช้ในชีวิตประจำวัน และเสื้อผ้า  ห้างนี้มีสองพื้นที่  ด้านที่ติดกับพื้นที่ไฮเอ็นจะเป็นเสื้อผ้าราคาสูงกว่า ส่วนพื้นที่ด้านหลังจะคล้ายตลาดโอท๊อปบ้านเรา  ต้องขอบคุณเพื่อนสำหรับการค้นพบห้างนี้ เพราะตั้งแต่เธอพาฉันมาเดินสำรวจวันแรก ต่อจากนั้นฉันก็มาขนซื้อผ้าพื้นเมืองที่นี่ทุกวัน


   ไหนๆก็พูดถึงห้างสรรพสินค้าที่มีมากมายในเมืองนี้แล้ว  จะเล่าถึงวิถีชีวิตการเดินช๊อปปิ้งของคนที่นี่ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง  แค่สะท้อนภาพให้เพื่อนๆเห็นเท่านั้น มิได้มีเจตนาจะวิจารณ์แต่อย่างใด

เข้าใจเอาว่า ที่มีห้างฯมากมายในเมืองนี้ เป็นเพราะจำนวนผู้อาศัยมีมากมหาศาล  แหล่งพักผ่อนหย่อนใจมีไม่เพียงพอ แถมอยู่นอกอาคาร คนจึงชอบเข้าห้างกันเพราะข้างนอกอากาศร้อน


   ห้างฯระดับล่าง จะมีคนเดินหนาแน่นส่วนใหญ่เป็นคนอินโด มองหาคนจีนเดินตามห้างเหล่านี้ได้น้อยมาก  คนอินโดท้องถิ่นมักจะออกมาจับจ่ายซื้อของกันเป็นกลุ่มใหญ่ หรือมากันทั้งครอบครัว ตั้งแต่ปู่ ย่า พ่อ แม่ ลูกหลาน เดินกันเป็นกลุ่มใหญ่ เพราะเหตุนี้จึงทำให้จำนวนคนเดินห้างมากกว่าในบ้านเรา  แต่ที่น่าชื่นชมคือ คนที่เดินซื้อของในห้างเหล่านี้  ช่างเป็นคนที่อดทนมากกับความร้อน เพราะห้างระดับล่างเหล่านี้ ประหยัดแอร์มาก ไม่ว่าจะเดินอยู่จุดไหนแทบไม่มีความเย็นมาสัมผัสร่าง แถมการแต่งกายที่ปกปิดมิดชิดตามหลักศาสนายังจะช่วยเพิ่มความร้อนให้อีกด้วย  แต่ดูเหมือนทุกคนจะเดินแบบสบายๆ ในขณะที่ฉันเดินแบบเหงื่อโทรมกาย



   มาถึงห้างระดับสูงไฮโซบ้าง  ภาพของโลกภายในห้างระดับสูงนี้ช่างแตกต่างจากห้างระดับล่างโดยสิ้นเชิง  พื้นที่ภายในดูสะอาดไม่รกรุงรัง แอร์เย็นฉ่ำจนหนาว  จะเห็นว่าคนที่เดินในห้างส่วนใหญ่จะเป็นคนอินโดที่มีฐานะดี  ทำงานดี  และที่มากที่สุดคือคนเชื้อสายจีนที่มีเงิน ทุกคนจะแต่งตัวสวยๆ  ทรงผมตีโป่งสูง โป๊ะเครื่องเพชรมาเดินกัน สินค้าในห้างล้วนเป็นแบรนด์เนมราคาสูง  แม้แต่ร้านอาหารบางร้านก็ยังเป็นสาขาของร้านดังระดับโลกมาเปิดที่นี่  ราคาสินค้าบางอย่างถูกกว่า บางอย่างแพงกว่าเมืองไทย  คนอินโดไฮโซเหล่านี้ มีไม่น้อยที่มักจะบินมาช้อปปิ้งที่เมืองไทย และสิงคโปร์ด้วย บอกว่าของถูกกว่าบ้านเขา


   พฤติกรรมการช๊อปปิ้งของคนจีนที่นี่ คล้ายกับคนอินโดตรงที่ เวลาไปเดินห้างจะขนกันไปหมดทั้งบ้านเช่นกัน  เราจะเห็นบรรดาคุณนายอินโด ที่ออกมาช้อปปิ้ง ทุกคนจะหอบลูกจูงหลานมา และทุกบ้านจะต้องมีคนรับใช้ หรือพี่ลี้ยงเด็กหนึ่งหรือสองคน เดินตามอุ้มคุณหนูบ้าง เข็นรถเด็กบ้าง  ดูเหมือนว่า หากบ้านไหนไม่มีคนรับใช้ และคนเลี้ยงเด็กอยู่ในขบวนล่ะก็  คงเป็นที่แปลกตาสำหรับสังคมเมืองนี้  คล้ายกับว่า ต้องเอาพี่เลี้ยงออกมาเดินโชว์ว่าบ้านชั้นมีนะ  บางบ้านมาสองคน บางบ้านมาสามคน ตามฐานะและความอยากโชว์
  

   ที่เป็นเช่นนี้เพราะค่าแรงคนที่นี่ถูกมาก คนทำงานก็หาง่ายมากด้วยเช่นกัน คนรับใช้พวกนี้แม้จะแต่งเครื่องแบบดูดีเป็นระเบียบกว่าคุณแจ๋วบ้านเรา แต่เงินเดือนน้อยมาก ซึ่งก็ยังดีกว่าอยู่บ้านจนๆไม่มีงานทำ   ที่ต้องเก็บมาคิดคือ อีกไม่กี่วันเราจะเข้าสู่ AEC แล้ว รับรองว่า หรือ ถ้าหากว่าแรงงานคนทำงานบ้านเหล่านี้ทะลักเข้าไทย แน่นอนว่า แรงงานคนไทยที่ขี้เกียจ รักความสะบาย คงต้องเตรียมตัวตกงานแน่  ก็กินแกลบกันไปเถอะ...... (ได้ข่าวว่าแอบมีเข้ามาแล้วด้วย)


สถานที่ท่องเที่ยวในจาการ์ต้า 

ตามที่กริ่นไว้ว่า ที่เที่ยวในเมืองนี้มีไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นอนุสาวรีย์ และพิพิทธภัณฑ์ของการต่อสู้เพื่อเอกราช ( เคยเป็นเมืองขึ้นประเทศเนเธอร์แลนด์) โบสถ์  มัสยิด   ที่เที่ยวหลายแห่งเป็นสวนสนุกและ เมืองจำลอง ซึ่งไม่ค่อยถูกจริตฉัน ขนาดเมืองไทยยังไม่ไปแล้วจะไปที่เมืองอื่นให้เสียเวลาทำไม
จริงๆแล้วหากเป็นประเทศอื่น ใน 1 วันน่าจะเที่ยวได้หมด แต่สำหรับที่นี่ ปัญหาเรื่องรถติดตลอดวัน ทำให้เราเที่ยวได้น้อยลง 
ต้องทำใจว่า ถ้าไปจาการ์ตาจะพบอนุสาวรีย์มากมายในเมือง อาจพูดได้ว่าเป็นเพราะประธานาธบดีซูการ์โนชอบสร้าง หลายแห่งจึงเกิดขึ้น สร้างขึ้นในสมัยของท่าน

Selamat Datang Monument



   ที่แปลว่า อนุสาวรีย์แห่งการต้อนรับ  Welcome Monument ตั้งอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ Thamrin ที่ประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้า และโรงแรมหรูหรามากมาย  จุดที่ตั้งและรูปปั้นหญิงชายถือช่อดอกไม้กางแขนแสดงการต้อนรับ  เป็นเสมือนประตูที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือน  เพราะในยุคที่สร้างเป็นช่วงที่อินโดนีเซียกำลังจะเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 9  หากผู้ที่มาจากสนามบินก็มักจะผ่านอนุสาวรีย์นี้เสมอ  นอกจากจะใช้เป็นวงเวียนกลางถนนใช้สำหรับการจราจรแล้ว  ยังมีน้ำพุและลานกว้างใช้เป็นที่พักผ่อนของประชาชน ในยามเย็น และในวันอาทิตย์ที่ถนนรอบวงเวียนนี้ถูกจัดให้เป็น Car Free Day  ที่สำคัญที่นี่ยังเหมาะสำหรับเป็นจุดรวมพลเวลามีการประท้วงของสาระพัดกลุ่มอีกด้วย  ฉันโชคดีที่พักอยู่แถวนี้ เลยได้เดินดูอนุสาวรีย์นี้วันละหลายรอบ

   การเที่ยวในเมืองจาการ์ต้าของฉันจะสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่มี “ เฮร่า”  (เด็กสาวชาวอินโดซึ่งเป็น CEO บริษัทของเพื่อนรุ่นน้องมหาวิทยาลัยของฉันที่มาทำธุรกิจที่นี่) เป็นผู้ขับรถพาเที่ยวตลอดทั้งวัน   วันที่เราเที่ยวบังเอิญเป็นวันหยุดของอินโดนีเซีย  ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นวันวิสาขะบูชา พอนึกได้ว่าวันนี้เป็นวันวิสาขะ จึงถาม “ เฮร่า” ว่าทำไมอินโดนีเซียซึ่งเป็นชาติมุสลิมจึงให้วันนี้เป็นวันหยุดแห่งชาติ  ที่สถานที่ราชการ โรงเรียน ธนาคารหยุดหมด  


“ เฮร่า”  หัวเราะแล้วบอกว่า “ ไม่ต้องตกใจ ประเทศนี้มีวันหยุดมากกว่าทุกประเทศ  เพราะความที่มีประชาชนหลายหมู่ หลายเหล่า หลายชาติพันธุ์ หลายศาสนา เพื่อความสงบสุขของประเทศ รัฐบาลจึงให้ทุกวันสำคัญของทุกศาสนาเป็นวันหยุดเท่าเทียมกันหมด ดังนั้น ทั้งวันวิสาขะ วันตรุษจีน วันคริตสมาส ฯลฯ....ล้วนเป็นวันหยุดไม่ต้องไปทำงาน ”


ฉันกับเพื่อนคิดว่าเราน่าจะโชคดีที่เที่ยววันนี้ เพราะคาดหวังว่ารถน่าจะไม่ติด เนื่องจากเป็นวันหยุด  การเที่ยวจึงเริ่มขึ้น สถานที่แรกที่เราจะไปคือ 

 


อนุสรณ์สถานแห่งชาติในกรุงจาการ์ตา   Monument Nasional หรือ MONAS

   เรามุ่งหน้าไปตามถนนได้ไม่นานนัก ก็เริ่มรู้แล้วว่าความคาดหวังของเราไม่เป็นผล เพราะทางที่จะไปอนุสรณ์สถานฯ มีรถติดขนัดอยู่พักใหญ่จนเราต้องหาทางเลี่ยง และพบว่า สิ่งที่กั้นข้างหน้าเราคือมวลชนที่กำลังประท้วง (ประท้วงบ่อยมาก)  เมื่อผ่านรั้วกั้นปิดถนน “เฮร่า” ชี้ให้เราดู ว่าภายในสวนสาธารณะที่เราเข้าไม่ได้ขณะนี้เป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ที่เราตั้งใจมา


   เมื่อมองไปเห็นยอดสูงของอาคาร ฉันมองเข้าไปในรั้วเห็นทางเดินจากถนนเข้าที่ตั้งอาคารไกลมาก แทบไม่มีร่มเงาให้เราหลบแดด ด้วยสองเหตุผลที่เกิดขึ้น คิดทบทวนดูแล้ว จึงบอก “เฮร่า” ว่า  วันนี้ไม่ใช่เวลาของเราแล้ว ไปที่อื่นเถอะ 

   แม้จะไม่ได้เข้าไป แต่ก็ขอเล่ารายละเอียด ข้อมูลของอนุสรณ์สถานแห่งชาติในกรุงจาการ์ตาให้ฟังได้นิดหน่อยค่ะ


   อนุสรณ์สถานแห่งชาตินี้สามารถมองเห็นได้อย่างง่ายดายจากที่ไกล  ด้วยความสูงกว่า 130 เมตร  ตั้งอยู่เหนือจตุรัสอิสรภาพ  กลางกรุงจาการ์ตา อนุสรณ์สถานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพที่อินโดนีเซีย หลุดพ้นจากการเป็นประเทศอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ หรือ ชาวดัชท์  ซึ่งยังคงเป็นสิ่งเตือนใจให้คนอินโดระลึกถึงความเจ็บปวดของการเป็นเมืองขึ้น  โดยปกติจะมีการจัดการแสดงที่น่าสนใจบริเวณรอบฐานของอนุสาวรีย์  วันนี้มองเข้าไปเห็นคนมาเที่ยวมากมาย แต่เราไม่มีเวลาและโอกาสเสียแล้ว  สิ่งที่ต้องทำขณะนี้คือหาทางออกจากฝูงชนนี้ให้ได้ก่อน


ฟาตาฮิลลาห์ พาร์ค  
หรือ จตุรัส Fatahillah (Fatahillah Square) ในเมืองเก่าของจาการ์ตา






    หากมาเยือนจาการ์ตา สถานที่ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นแหล่งน่าสนใจ (แต่ไม่เชิดหน้าชูตา) คือเขตเมืองเก่า ที่เรียกว่า Kota Tua ซึ่งประกอบไปด้วยอาคารที่มีสถาปัตยกรรมอันงดงาม อย่างสถานีรถไฟ Jakarta Kota และท่าเรืออันเก่าแก่อย่าง Sunda Kelapa  นอกจากนี้ ยังจะได้เห็นสิ่งก่อสร้างที่มีสถาปัตยกรรมของชาวดัตช์ในยุคล่าอาณานิคมอีกด้วย นอกจากตึกสวยงามตามแบบฉบับดัตช์แล้ว  ในเขตนี้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จาการ์ตาอีกด้วย




   ในสมัยล่าอาณานิคม จตุรัส Fatahillah ถูกเรียกว่า ปัตตาเวีย (Batavia) ซึ่งเป็นภาษาดัตช์ อาคารสถาปัตยกรรมที่ตั้งรายรอบจตุรัสนี้ ล้วนเคยเป็นที่ทำการของรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การปกครองของชาวดัตข์  อาคารจะเป็นสไตล์ยุโรป ที่ถูกสร้างตามอิทธิพลชาวดัตช์  ดูแล้วน่าจะเป็นยุคเดียวกับกลุ่มอาคารในเมืองมาละกา มาเลย์เซีย
 





   สภาพปัจจุบันของอาคารที่ตั้งรอบจตุรัส Fatahillah ยังพอมีร่องรอยประวัติศาตร์หลงเหลืออยู่  แต่สิ่งที่เห็นและรู้สึกได้คือ  คนอินโอนีเซียไม่คิดจะรักษาหรือบูรณะไว้เพื่อเลย  อาคารส่วนใหญ่ถูกปล่อยทิ้งร้างทรุดโทรดอย่างน่าเสียดาย  ฉันไม่คิดว่าคนอินโดฯจะไม่มีสายตามองเห็นความงดงามของอาคารโบราณ  แต่หากมองให้เข้าใจ จะเห็นว่าพวกเขาบอบช้ำเกินกว่าจะมองมากกว่า  การรักษาบูรณะอาคารเก่าเหล่านี้ขึ้นมา คงจะเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้ถูกล่าและกลายเป็นเมืองอาณานิคมมากกว่า 




   ปัจจุบัน จตุรัส Fatahillah แม้จะมีบรรยากาศแห้งแล้งไร้ความสุข  แต่ก็เป็นที่ที่ใช้ทำมาหากินได้ โดยจะเป็นที่พบปะกันของวัยรุ่น มีร้านขายของหายเร่ และการแสดงเล็กๆ น้อยๆจากคนในท้องถิ่น  สิ่งที่พอจะดึงดูกนักท่องเที่ยวได้เห็นจะเป็น ร้านกาแฟฟ่สไตล์ปัตตาเวีย  ที่เพื่อนของฉันชวนกึ่งบังคับให้มานั่งจิบกาแฟที่นี่ให้ได้


Jalan Surabaya Antique Market





หลังจากจิบกาแฟในร้าน Cafe Batavia กันชื่นอกชื่นใจแล้ว “เฮร่า” ไกด์จำเป็น ก็พยายามชวนเราไปเที่ยวสวนสนุกนอกเมืองต่อ  แต่ฉันปฏิเสธ เพราะสวนสนุกอย่างนี้เมืองไทยมีเยอะ เธอจึงถามว่าเราอยากไปที่ไหนต่อ  ฉันเอ่ยชื่อ Jalan Surabaya ถนนร้านขายของเก่าขึ้นมา “เฮร่า” ทำหน้างงๆ  เพราะเธอไม่เคยไปมาก่อน พอดูที่อยู่เธอก็บอกว่าไม่ไกลจากโรงแรมของฉันนัก  จึงเป็นเรื่องดีที่จะไป

               








   ตลาดของเก่าที่ถนน Jalan Surabaya ตั้งอยู่ในเขต Menteng นับเป็นตลาดค้าขายของเก่าที่หายาก เป็นที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาจับจ่ายซื้อของสุดคลาสสิกที่อาจจะหาที่่ไหนไม่ได้แล้ว เช่น กล้องถ่ายรูปโบราณ ตะเกียงโบราณ เครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณ รวมทั้งของใช้  ของตกแต่งบ้านรุ่นอาณานิคมดัทช์ ขายมากมาย โดยเฉพาะโคมไฟระย้าที่สวยละลานตาไปหมด ของใช้เหล่านี้น่าจะเป็นของใช้ในบ้านของพวกเจ้าอาณานิคมทิ้งไว้  หรือไม่ก็ขายเมื่อจะย้ายกลับบ้านเกิด 






   ถนนนี้ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร มีร้านขายของเก่าเล็กๆนับพันร้าน  ขณะเดินดูของเห็นแต่นักท่องเที่ยว ไม่มีคนอินโดมาหาซื้อของเก่าเหล่านี้เลย  จึงไม่น่าแปลกใจที่ “ เฮร่า” ไม่รู้จักถนนนี้  ฉันติดใจของใช้ในบ้านมากมายหลายชิ้น  แต่มีปัญหา 2 ประการ


1. คือปัญหาเรื่องขนของกลับ  และ 2. ฉันถูกทัดทาน สะกิด ห้ามปรามจาก “เฮร่า” ตลอดทาง  เธอยอมรับว่าของเหล่านี้ เป็นของเก่าจริง  “ แต่ยูจะซื้อไปทำไมไม่เห็นมีประโยชน์เลย  แถมราคาแพงอีกด้วย” 

สำหรับคนอินโดฯแล้ว ที่นี่อาจจะมีแต่ของจั๊งๆ เก่าๆ ไร้ประโยชน์  แต่สำหรับคนเสียสติอย่างฉันแล้วที่นี่นับเป็นสวรรค์ของคนชอบของเก่าเลยล่ะ  วันนี้แม้จะถูกสะกิด แต่ก็ยังหอบถ้วยชาม เครื่องใช้กลับบ้านได้พอหอมปากหอมคอ  นับเป็นถนนสวรรค์จริงๆ นึกถึงแล้วอยากกลับไปอีกจังเลย


    สถานที่เที่ยวในเมืองจาการ์ต้ายังไม่หมด  แต่เวลาของเราหมดแล้ว  เพราะกว่าจะหาทางมาถนน Surabaya ได้เราก็ต้องวนหลายตลบ เพื่อหลีกรถติด ระยะทางไม่ไกลแต่เราใช้เวลาเดินทางนานมาก กว่าจะกลับถึงโรงแรมคงมืดพอดี จึงขอจบเรื่องสถานที่เที่ยวไว้แค่นี้  เรื่องที่จะตามมาเป็นเรื่องอาหาร ที่รับรองว่าอ่านไป น้ำลายยืดตามไปเลยค่ะ 




เสร็จจากเรื่องเที่ยว ก็มาถึงเรื่องใหญ่คือเรื่องกิน 

   ทุกครั้งที่ไปเที่ยวที่ใดก็ตาม ฉันจะทำการบ้านเรื่องอาหารการกินมาก่อนเสมอ  ก่อนมาจาการ์ต้า  ฉันจึงหาชื่อร้านอาหาร Top 5  ของแต่ละประเภทไว้แล้ว  ดังนั้นจึงจะพูดถึงเป็นแต่ละร้านซึ่งเป็นอาหารแต่ละประเภทไป 

   สิ่งแรกที่นึกถึงเวลามาอินโดนีเซียคือ “ สะเต๊ะ ”  เพราะเท่าที่รู้ สะเต๊ะบ้านเราเอามาจากเขา โดยในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ได้จ้างแม่ครัวชาวอินโดนีเซียไปสอนพนักงานชาววังทำสะเต๊ะ   ที่ผ่านมา ฉันได้กินสะเต๊ะเมืองไทย มาเลเซีย สิงคโปร์มามากแล้ว ครั้งนี้ขอชิมต้นตำหรับหน่อยว่าเหมือนบ้านเราหรือไม่ 

   อาหารอินโดมื้อแรกจึงเป็นเป็นสะเต๊ะเท่านั้น  ที่จริงร้านขายสะเต๊ะมีทั้งแบบขายตามร้านใหญ่ กับ แบบรถเข็นที่ขายกันเต็มถนนในตลาดโต้รุ่ง แต่ความที่ก่อนมาที่นี่ ได้รับการเตือนเรื่องอาหารไม่สะอาด เพื่อความปลอดภัย เลยขอไม่ซื้ออาหารจากรถเข็นกิน

ร้าน Kafe Betawi


  ร้านสะเต๊ะที่หมายตาไว้ เป็นร้านอยู่ไม่ไกลจากที่พักมากนัก  ชื่อ Kafe Betawi เป็นร้านอาหารพื้นเมืองอินโดนีเซียแท้ๆ ที่นอกจากสะเต๊ะแล้ว ยังมีอีกหลายชนิดที่น่าลอง

    เมื่อได้โต๊ะนั้ง สิ่งแรกที่เห็นคือ ทุกโต๊ะจะมีขวดเครื่องเคียง และเครื่องเติมไว้ให้ เป็นพริกดอง กับสลัดผัก คล้ายอาจาดบ้านเรา (ชิมแล้วแต่ไม่มีรสอะไรเลย) ที่น่าสนใจคือ ซีอิ้วดำหวาน มีให้ทุกโต๊ะ   มีคนบอกว่า คนอินโดเสพติดซีอิ้วหวาน น่าจะจริง เพราะไม่ว่าจะสั่งอะไรมา เขาจะราดซีอิ้วหวานลงไปทุกจาน



    มื้อนี้สั่ง สะเต๊ะไก่ 1จาน สะเต๊ะแกะ 1จาน กับข้าวผัดไก่ 1จาน
รสชาติของอาหารเป็นไปตามความคาดหมาย  แม้จะทำใจไว้แล้ว แต่ก็ต้องอดทนกินลงไป  เพราะอาหารที่สั่งมาทั้งหมด หวานจี๊ด  โดยไม่ต้องราดซีอิ้วหวานเพิ่ม เพราะเขาราดมาให้แล้ว....
     สะเต๊ะไก่ หวานเจี๊ยบ มีน้ำพริกถั่วเหมือนบ้านเรา ( ก็ต้องเหมือนดิ เพราะเราเอามาจากเขาอ่ะ) น้ำราดนอกจากจะหวานแล้ว ยังมีซีอิ้วดำหวานราดเติมมาอีก โรยหอมเจียวมาด้วย แม้ไม่ชอบกิน ก็ตั้งใจกินเพื่อเรียนรู้
     ส่วนสะเต๊ะแกะ ไม่มีน้ำพริกถั่วราด มีซีอิ้วหวานราดมาเพียวๆเลย แนมด้วยมะเขือเทศกับพริกสด (ลองชิมดู พริกเขาเผ็ดเอาเรื่องนะ) ส่วนข้าวผัด ถ้ามองไม่ผิด คือข้าวที่คลุกด้วยซีอิ้วหวาน มีเนื้อไก่ นิดหน่อย ไข่ดาว และข้าวเกรียบกุ้ง 1แผ่น
     สั่งมาเยอะแยะเนี่ย กินไม่หมดหรอก กินแต่สะเต๊ะ แม้เขาจะย่างมาไหม้ดำเกรียม ก็จำต้องกิน เพราะอยากรู้ว่า ต้นตำหรับที่เราเอาไปทำกินบ้านเรานั้น รสชาติเป็นอย่างไร สรุป...มึนกับรสหวานๆ และ เมาซีอิ้วดำหวาน ..... กลับไปตัวคงดำขึ้นแน่ๆ
มื้อนี้จ่ายไป หนึ่งแสนห้าหมื่น มีกะตังเยอะค่ะ...


   ข้อสังเกตุ: ในประเทศต้นตำหรับสะเต๊ะ จะมีสะเต๊ะเนื้อวัว  ไก่  แกะ ปลา  แต่ไม่มีสะเต๊ะหมู เพราะเป็นมุสลิม  ไม่มีขนมปังปิ้งจิ้มน้ำพริกถั่ว  แต่บ้านเราซึ่งรับวัฒนธรรมเขามา  มีสะเต๊ะหมู กับสะเต๊ะไก่ และรังสรรค์ขนมปังปิ้งจิ้มน้ำพริกถั่วเพิ่มมา  เราคงเปรียบเทียบไม่ได้ว่าของใครอร่อยกว่าใคร  อาหารของแต่ละชาติขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และ ความเคยชิน  จึงไม่แปลกเลยที่สถิติการบริโภคน้ำตาลทรายของคนอินโดฯ สูงกว่าการบริโภคน้ำตาลของประเทศไทยถึง 1.5 เท่า ดังนั้นรสสะเต๊ะบ้านเราจึงไม่หวานเท่าของอินโดนีเซีย  มาเลเซีย และสิงคโปร์  หากคนอินโดมาชิมสะเต๊ะบ้านเรา พวกเขาคงบ่นว่าจืดชืดเป็นแน่ ใจเขาใจเราค่ะ

Bakmi Kepiting



   รุ่นน้องที่มาค้าขายอยู่อินโดฯ บอกแกมบังคับว่า  มาที่นี่ต้องไปกินบะหมี่ปู  ที่ร้าน  “Bakmi Kepiting” ให้ได้    Bakmi แปลว่า บะหมี่ :  Kepiting แปลว่า ปู  ตรงตัวเป๊ะ 

   ร้านนี้อยู่ที่ ตลาดมะม่วงโต  Jaran Mangga Besar แถบชุมชนคนจีน   ต้องชมว่าของเขาอร่อยจริงๆ  เส้นบะหมี่ทำเองเหนียวนุ่ม ลวกแบบกรอบใน คลุกน้ำมันเจียวกลิ่นหอม แต่ไม่เห็นมีกระเทียมเจียว  ถึงก้ามปูจะเล็กกว่าร้านในกรุงเทพ แต่รสชาติ ขั้นเทพ รสแบบจีนไม่หวานเลย อร่อยลืมโลกจริงๆ
 บะหมี่ปูแบบธรรมดา


 บะหมี่ปูแบบพิเศษ มีลูกชิ้นด้วย


          บะหมี่ผัดก็อร่อย ไม่หวานมาก เครื่องครบทุกอย่าง


 ซีอิ้วหวาน ขาดไม่ได้

      โค๊กแคระ



 Cafe Batavia , Old Town Jakarta



     ช่วงที่ไปเดินเที่ยวย่านเมืองเก่าจาการ์ต้า ที่เรียกเป็นภาษาดัชท์ว่า ปัตตาเวีย  แม้อากาศจะร้อน และหิวน้ำมากมาย  แต่เพื่อนก็ไม่ยอมให้แวะกินน้ำที่ไหนเลย  เธอพูดปลอบใจว่าอีกนิดเดียวก็จะถึงร้านกาแฟสวยๆที่มีขนมอร่อยๆแล้ว  พอเพื่อนเอาขนมมาล่อเราก็เดินตามอย่างว่าง่าย  วันที่เราไปร้านนี้ เป็นวันหยุดราชการที่มีผู้คน(ชาวอินโดฯ) มาเที่ยวบริเวณเมืองเก่ากันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง หรือลานกว้างเต็มไปด้วยผู้คน เราจึงต้องเดินลุยเข้าไปให้ถึงร้านให้ได้



    ร้าน Cafe Batavia  เป็นตึกเก่าของชาวดัชท์  ที่ตกแต่งให้คงบรรยากาศดั้งเดิม ทำให้เรามองเห็นภาพอดีตของประเทศนี้  ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติยุโรป และหนุ่มสาวไฮโซอินโดฯ  ยอมรับว่าบรรยากาศสุดคลาสสิคดีเลิศกว่าทุกที่ที่ไปมา  นี่แหละคือสถานที่ที่ตามหา ความเก่าของแท้แบบมีมิติ มีเรื่องราว มีเวลายุคหนึ่งของเขา  ไม่ใช่ของใหม่ที่สร้างขึ้นมาเลียนแบบ แบบปลอมๆ ที่ไม่สามารถสื่อถึงความรู้สึกต่อกันได้ 



 


    ต้องยอมรับว่าคนอินโดฯ เป็นผู้ที่มีศิลปะในตัวเองมาก ดังนั้นการตกแต่งสถานที่จึงดูอาร์ตไปทุกมุม  ชอบที่เขาเอารูปดาราและคนที่มีชื่อเสียงเก่าๆมาประดับไว้ ช่วยให้เราได้ระลึกถึง โดยเฉพาะ อแลง เดอร์ลอง แฟนเก่า  กับ นักเขียนคนโปรด เออเนส แฮมเวย์    อีกจุดที่ต้องชมคือห้องน้ำ นับเป็นห้องน้ำที่ สวยที่สุดในจาการ์ต้าก็ว่าได้  ทุกครั้งที่ส่องกระจก จะคิดไปว่าเราเป็นดาราในยุควินเทจนั้น......สวยไปหมด  



   เราได้โต๊ะริมหน้าต่าง ตรงข้ามกับตึกพิพิธภัณฑ์พอดี นั่งดูผู้คนพร้อมกับจิบกาแฟ อย่างสบายใจ (มาอินโด ก็ต้องกินกาแฟเท่านั้น)  และ เพื่อเติมเต็มความสุขยามบ่าย “ เฮร่า” คนพาเที่ยวจึงภูมิใจนำเสนอ ขนมชื่อ  พอเพทเชส Porpetses  ซึ่งเป็นขนมของชาวดัชท์ มาให้กินกับกาแฟ   ต้องขอชมประเทศนี้เลยว่า ช่างเป็นประเทศที่ทำขนมเค็กได้อร่อยมากมาย  แทบทุกร้านที่กิน  ขนมเค็กจะหอมนมเนย รสเข้มข้นมาก  แน่นอนว่าเป็นเพราะเขาได้รับอิทธิพลมาจากพวกดัชท์นั่นเอง 
พอเพทเชส Porpetses  จานนี้ อร่อยตายไปเรย
……


 กาแฟอินโดนีเซีย



   มาอินโดนีเซียไม่ประทับใจอะไรเท่ากาแฟ เพราะถือเป็นประเทศที่มีกาแฟดีเป็นที่สองของโลก รองจากโคลอมเบีย  เลยเข้าร้านกาแฟทุกวัน กินวันละไม่ต่ำกว่า 3 แก้ว  เรื่องนอนไม่หลับ ไม่กลัว กลัวไม่ได้กินของอร่อย มาถึงถิ่นกาแฟแล้วต้องกิน  ค่อยกลับไปนอนที่บ้าน  แต่เอาเข้าจริง  ทุกคืนที่ล้มตัวลงนอน ตาก็แทบปิด หลับยาวถึงเช้าเลย
 

Kopi Luwak


  


   กาแฟที่มีชื่อเสียงของอินโดนีเซีย เป็นกาแฟจากร้าน Kopi Luwak  เพราะเขามีกาแฟที่มาจากมูลของตัวชะมด  เป็นกาแฟที่ถูดจัดอันดับว่าเป็นกาแฟที่แพงที่สุดในโลก  แน่นอนว่าต้องอร่อยด้วย  กาแฟชะมดมีหลายเกรด หลายราคา  กาแฟชะมด 100 เปอร์เซ็นต์ ในปริมาณ  150 กรัม  ราคาอยู่ที่ถุงละ 660,000 รูเปี๊ยะ ( 1,700 บาท ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน ) ส่วนชนิดที่มีกาแฟธรรมดาผสมอยู่ 50 %   ถุงละ 250กรัม ก็ราคาลดลงมาตามสัดส่วน


    ที่ร้าน Kopi Luwak   แม้เป็นร้านที่มีชื่อเสียงเรื่องกาแฟขี้ชะมด   แต่เพราะเดินมาท่ามกลางอากาศร้อน เลยกินกาแฟร้อนไม่ไหว วันนี้ขอลองกาแฟเย็นบ้าง  กาแฟที่สั่งเป็นกาแฟดำเย็นไม่ใส่นม  แน่นอนว่าเป็นกาแฟชะมด ขนาดมีน้ำแข็ง รสชาติ และกลิ่นหอมยังเข้มข้นมากเลย


    นอกจากกาแฟแล้ว ร้านนี้ยังมีอาหารขายด้วย  มาเมืองนี้เคยลองสะเต๊ะไก่ กับสะเต๊ะแกะมาแล้ว วันนี้ลองสะเต๊ะเนื้อวัวสักหน่อย   เช่นเคยค่ะ รสชาติหวานเจี๊ยบ เนื้อไม่นุ่มนัก น้ำพริกถั่วที่ราดมารสอ่อนกว่าบ้านเรา   สรุปว่า สะเต๊ะบ้านนี้ เมืองนี้ มีรสหวานนำ

    สงสัยว่า ทำไมสะเต๊ะบ้านเราหวานน้อยกว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า เดิมสะเต๊ะชวา ในยุครัชการที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงที่เราจ้างแม่ครัวชวาไปสอนทำสะเต๊ะนั้น รสยังไม่หวานมาก แต่เพิ่งจะกลายพันธุ์ ส่วนสะเต๊ะในไทย ยังคงรสเดิมไว้...  โห....นี่เราวิเคราะห์ปัญหาระหว่างประเทศเลยนะเนี่ย

    จานที่สอง คือ Halland Risol มรดกอาหารที่ชาวดัชท์ทิ้งไว้ให้อินโดนีเชีย หน้าตา รสชาติคล้ายโครเก็ตไก่ แต่แทนที่จะเป๋นก้อนมันฝรั่ง กลับห่อด้วยแป้งบางคล้ายโรตี ทอดกรอบมา หอมกลิ่นเนยและเครื่องเทศ ชอบค่ะ 
อยากลองชิมขนมพื้นเมือง เลยส่งข้าวเหนียวดำกวนใส่ไอติมวานิลามากิน ถ้วยนี้ถูกใจเพราะไม่หวานเจี๊ยบ กินจนเมล็ดสุดท้ายเลยค่ะ  วันหลังจะเอาข้าวเหนียวดำเปียกของเรามาดัดแปลงใส่ไอติมบ้าง ท่าจะดี....


Koffie Warung Tinggi



   อีกหนึ่งร้านที่ติดอันดับ Top 5 ร้านกาแฟที่ต้องมากินของจาการ์ต้า คือร้าน Koffie Warung Tinggi   ร้านนี้เป็นร้านเก่าแก่ที่สืบทอดมาจากครอบครัวคนจีน ยี่ห้อร้านคือ  Tek Soen Hoo ตั้งมากว่า 135 ปีแล้ว

     Traditional Hot Koffie Tubruk
 
   ร้านนี้เป็นร้านกาแฟเก่าแก่ใช้กาแฟที่ปลูกในอินโดนีเซีย ที่รับรองความเข้มข้น การชงเสริฟ ยังใช้วิธีโบราณชงให้เราเห็นอยู่เลย
กาแฟที่สั่งเป็นกาแฟร้อน ชงแบบโบราณ ชื่อ Traditional Hot Koffie Tubruk ของแท้ในแก้วต้องยังมีกากกาแฟที่ก้นแก้ว ซึ่งเป็นความนิยมของคนอินโด รสกาแฟเข้มข้นมาก



    ส่วนอาหาร นอกจากจะมีอาหารจีน มาเลย์แล้ว ยังมีอาหารที่ได้รับอิทธิพลของดัชท์อีกด้วย
    วันนี้สั่งอาหาร ตามโพยที่มีคนแนะนำ คือ Nasi Goreng Kambing
และขนมที่ชื่อ Signature Martabak Manis


Nasi Goreng Kambing  
     เป็นข้าวผัดเนื้อแพะจานนี้ อร่อยตายไปเรย...จากความตั้งใจจะกินแค่พอรู้รส ก็ต้องเปลี่ยนใจ รสของข้าวคล้ายข้าวหมกเนื้อ แต่แห้งร่วนรสกลมกล่อมดีเหลือเกิน  ที่จริง มื้อเย็นมีแผนจะไปกินโรตีแกงมัสมั่น สงสัยว่าพื้นที่ในกระเพาะคงเหลือให้น้อยแล้ว

 Signature Martabak Manis 
    เป็นขนมที่ลักษณะคล้ายขนมถังแตกบ้านเรา แต่ชุ่มฉ่ำและนุ่มนิ่มด้วยเนย ในขณะที่เปลือกขนมบางกรอบ สงสัยจังว่าทำได้อย่างไรนะ เป็นขนมแบบบ้านๆผสมรสและกลิ่นเนยจากตะวันตกที่อร่อยลืมอ้วน.... เริ่มอยากเห็นเนยของเมืองนี้เสียแล้วว่าเขาใช้เนยอะไร จึงได้หอมชวนรับประทานไปเสียทุกอย่าง  แม้ท้องจะอิ่มแทบจุก แต่ก็กินขนมจนหมด เพราะไม่เคยกินขนมถังแตกที่ไหนอร่อยเท่านี้มาก่อน  ขอชมเป็นครั้งที่ร้อยว่า ประเทศนี้ขนมอร่อยทุกอย่างจริงๆนะ …….




Dinar Seafood : Super Seafood in Jakarta.




   มื้อเย็น วันนี้รุ่นน้องมหาลัย ซึ่งมาทำธุรกิจที่อินโดนีเซีย พามาทานอาหารทะเลร้านดัง ชื่อ Dinar Seafood ร้านนี้ต้องเรียกว่า เป็น Super Seafood  เพราะเป็นร้านอาหารที่ให้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ คุณภาพอลังการณ์ จนมีลูกค้าที่เป็นคนดังมากมายมากิน รวมทั้งอดีตประธานาธิบดี นางเมกาวตี ก็มาทานที่นี่  ที่รู้เพราะเห็นรูปของท่านอยู่ในกลุ่มรูปลูกค้าดังๆทั้งหลายนั่นเอง


   ที่ร้านนี้ จะได้ชิมอาหารแปลกๆ ปลาแปลกๆ หลายอย่าง เช่นปลาปักเป้าเผา ปลาวัวเผาราดพริก เต้าหูยัดไส้ ไก่ทอดกะปิ ปูไข่ผัดไข่แดง ที่แปลกคือ ผัดดอกมะละกอ....เขาว่ากินแล้วมีประโยชน์...
ที่ชอบคือปลาปักเป้าเผา เนื้อแน่นเหมือนไก่ อร่อยมากค่ะ....




มะเขือเทศดิบทำเป็นน้ำจิ้ม

  ที่ชอบมากคือน้ำมะกอกคั้นใส่บ้วย อร่อยจนติดใจ พอไปร้านไหนก็ไม่ลืมสั่งมากิน





    ปลาปักเป้าเผา  Kudu Kudu Bakar ปลาปักเป้ามีหนังแข็งเหมือนเปลือกหอย ผ่าหนังออกจะพบเนื้อปลาเหนียวเหมือนเนื้อไก่  เป็นปลาที่ไม่มีก้าง



ไก่ทอดกะปิ Ayam Gorang Terasi    


ปลาวัวเผาราดพริก Sukang Bakar   



 ปูไข่ผัดไข่เค็ม Kepiting Butter    
ดอกมะละกอผัด Tumis Bunga Papaya   



เต้าหู้ทรงเครื่อง Tahu isi





Local food and mobile coffee shop in Jakarta.


   
ช่วงที่อยู่เมืองนี้ ทุกวันที่เดินสำรวจชีวิตคนจาการ์ต้า...
ระหว่างเดินก็เจอกับวิถีชีวิตของคนที่นี่  ความเป็นอยู่การกินของเขา มีอาหารชนิดหนึ่งที่พบคนขายหาบมาวางขายกันมากตามข้างทาง ในเมืองจาการ์ต้า
    จานนี้ชื่อ Kerak Telor 






  เป็นข้าวเหนียวสุก คลุกกับไข่เป็ดสด แล้วนำไปทอดเหมือนไข่เจียว
จากนั้นโรยหน้าด้วยกุ้งแห้งป่น มะพร้าวขูด หอมเจียว และพริกป่น
อาหารจานนี้ ต้องกินคู่กับกาแฟร้อน


   ซึ่งร้านกาแฟของคนที่นี่ ก็มีไว้บริการทั่วไป เพราะเป็นแบบ Mobile Coffee Shop มันคือจักยานสองล้อ ที่นำกระติกน้ำร้อน มาวางไว้ตรงส่วนที่นั่งหลังของจักยาน โดยมีบาร์ที่วางกาแฟ หรือชาแบบซอง ห้อยโชว์ไว้ ให้เลือกที่แฮนด์หน้ารถ
    รถขายกาแฟแบบนี้มีจอดอยู่ทั่วไปแถวข้างทางที่มีคนผ่าน นับว่าเป็นธุรกิจที่ขายดีชนิดหนึ่ง  ลูกค้าส่วนใหญ่ก็นั่งกินกันข้างทาง....  แสดงให้เห็นว่า 1. คนอินโดฯชอบกินกาแฟ และ 2. คนอินโดฯก็เป็นคนที่ต่อสู้ทำมาหากินเพื่อปากท้องดีมาก   นี่แหละ....ชีวิตในจาการ์ต้า อินโดนีเซีย


   นอกจากสองสิ่งนี้แล้ว อาหารอินโดฯที่ฉันติดใจยังมีอีกมาก เช่น 


 roti jala โรตีตาข่าย 



 ขนมหน้าตาเหมือนตะโก้สีชมพูหวานแหวว รสไม่หวานมาก ที่แปลกคือมีกลิ่นดอกไม้ คล้ายใช้น้ำแช่ดอกกุหลาบมาทำ






ขนมหวานแบบอินโด หลากสี หลายรส สวยงามมาก 

 ข้าวห่อ

Lapis Cake คนไทยเรียกเค๊กพันชั้น


     สละอินโด  ลูกผิวเรียบมันไม่มีหนาม  เนื้อสีขาว หนา แข็งคล้ายมะละกอดิบ รสหวานมาก  เมล็ดไม่ใหญ่ เนื้อร่อนไม่ติดเมล็ด
 




ของแทนใจจากจาการ์ต้า

     บทสรุปความพึงพอใจ  เมืองจาการ์ต้า แม้จะมีที่เที่ยวไม่มาก แต่ก็ประทับใจ เพราะค่าครองชีพที่นี้นับว่าไม่แพงมาก  พอๆกับอยู่กรุงเทพฯ  สินค้าและค่าเงินทำให้ซื้อของได้โดยไม่ต้องกังวลกับเงินในกระเป๋า  สำหรับโอกาสทางธุรกิจยังมี  แต่ต้องดูทิศทางให้ดี เพราะ แม้ประชากรที่มากกำลังซื้อจะมากก็ตาม  หากไม่ถูกช่องทางความนิยมของผู้คน ก็อาจพับเสื่อกลับบ้านได้เข่นกัน  

   อีกข้อสังเกตุคือ ผู้คนที่นี่มีปริมาณมากกว่าบ้านเรา  คนว่างงานเยอะ การแข่งขันสูง  คนมีทั้งดีและไม่ดี  ซื่อสัตย์และไม่จริงใจ เหมือนทุกแห่ง  แต่บรรยากาศโดยรวมผู้คนยังมีสีหน้าไม่ทุกข์ใจเท่าประเทศอื่น  ที่น่าสงสัยมากไปกว่านั้นคือ  หลายสิ่งหลายอย่างของอืนโดนีเซีย ได้รับมรดกอิทธิพลมาจากชาวดัชท์ ( เนเธอร์แลนด์)  แต่กลับไม่ค่อยพบคนหน้าตาดีๆแบบลูกครึ่ง (ทั้งชาย หญิง) ประเภทคนที่ได้รับอิทธิพลจากดัชท์เลย ไปอยู่ไหนกันหมดเนี่ย ………





















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น