บ้านป้าLily หลังนี้เปิดไว้เพื่อให้เป็นที่ที่เพื่อนๆมานั่งตั้งวงคุยกันด้วยเรื่องที่เราชอบ
โดยมีป้า Lily มานั่งเล่าเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แถมสนุกสนานให้ฟังอีก
วันที่ท้องฟ้าสดใสในเวลาแดดร่มลมตกไม่มีอะไรดีไปกว่าการมานั่งที่ ชานเรือนของบ้านป้าLily อีกแล้ว


ยินดีต้อนรับทุกท่านจ๊ะ

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

ก๋วยเตี่ยวรถไฟ

       คนในวัยใกล้หรือเลยหกสิบนี่ ไม่มีอะไรจะมันในอารมณ์เท่ากับการนั่งโม้เรื่องความหลังสมัยยังหนุ่มยังสาวอีกแล้ว  ดิฉันกับมวลพี่ๆน้องๆ ซึ่งมีวัยใกล้เคียงกันและอยู่ในคุณสมบัติที่กล่าวข้างต้น  วันๆจึงมักใช้เวลาหมดไปกับการคุยกันถึงเรื่องเก่าๆที่ผ่านมาในชีวิต   มีเรื่องหนึ่งที่เรามีความทรงจำเหมือนกัน   สิ่งนั้นคือการเดินทางด้วยรถไฟ ไป-กลับ ระหว่างบ้านเมืองเพชรบุรี กับกรุงเทพฯ
      การเดินทางด้วยรถไฟสมัยเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมานั้นขึ้นชื่อมาก ใครที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯด้วยรถไฟ จะถูกมองว่าเป็นคนทันสมัยมาก สถานีรถไฟดูจะเป็นสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน  เป็นแหล่งชุมนุมของผู้คน   มีกลุ่มวัยรุ่นมานั่งเล่นหรือนัดพบกันที่ร้านกาแฟหน้าสถานีตลอดทั้งวัน การเดินทางเองด้วยรถไฟ เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่ม หนุ่มๆสาวๆ ที่ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้พบกันแบบอิสระ โดยไม่มีผู้ปกครองมาคอยทำตาดุใส่เหมือนที่บ้าน

      สำหรับดิฉันซึ่ง เป็นคนเมืองเพชรฯ ที่ต้องนั่งรถไฟไปเรียนและพักในกรุงเทพฯ  จะได้กลับบ้านก็แค่ช่วงปิดเทอมเท่านั้น  ดังนั้น ในเช้าวันแรกที่โรงเรียนปิดเทอม บรรดานักเรียนต่างจังหวัดจะมาชุมนุมกันที่สถานีรถไฟหัวลำโพง และสามเสน เพื่อรอขึ้นรถไฟกลับ นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

      ก็เป็นเรื่องปกติที่ เวลาเด็กนักเรียนมารอขึ้นรถไฟ หากจำหน้ากันได้ว่าเป็นคนบ้านเดียวกันก็จะเกาะกลุ่มคุยกัน ตั้งแต่ที่ชานชลาไปจนถึงบนโบกี้รถไฟ โดยในแต่ละโบกี้จะแบ่งพื้นที่เป็นแดนๆไปกันเองว่า ช่วงนี้ โบกี้นี้เป็นของนักเรียนจังหวัดใด หากเด็กต่างถิ่นล้ำเข้ามาในบริเวณ ก็มักจะมีการเขม่นกันด้วยสายตา แต่ในทางกลับกัน หนุ่มเมืองเพชรฯก็มักจะแอบไปชม คนสวยโพธารามกับคนงามบ้านโป่งเป็นประจำ โดยไม่หวั่นเกรงบารมีหนุ่มต่างถิ่นเลย

      นักเรียนที่ระดมกันกลับบ้านในวันนี้มีทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก คือมีตั้งแต่มัธยม ขึ้นไปถึงมหาวิทยาลัย  ดิฉันมักจะถูกจัดให้อยู่ในรุ่นเล็กสุด เพราะเพิ่งอยู่แค่ ม.สาม ( ขอโทษนะ ปัจจุบันเรียกชั้นอะไร ก็ไม่ทราบ เทียบชั้นไม่ถูกแล้ว) บรรดานักเรียนนักศึกษารุ่นใหญ่เขาก็จับกลุ่มคุยกัน  ดิฉัน ซึ่งเด็กสุดก็จะนั่งคั่นกลางเป็น ก.ข.ค. กันพี่ๆไว้ เพื่อไม่ให้ถูกผู้ใหญ่ดุ พวกผู้หญิงจะถูกจัดให้นั่งกลางๆกลุ่ม โดยมีพวกหนุ่มๆที่แม้จะมาจากต่างโรงเรียน ก็มาสามัคคีกันบนรถไฟนี่แหละ เพราะต้องคอยกันท่า หนุ่มจังหวัดอื่นที่จะแอบมาจีบสาวบ้านเดียวกัน
 ในครอบครัวของเรามีกันสามคน คือพี่ชายคนโต พี่สาว และก็ตัวดิฉัน เป็นน้องเล็กสุด ที่ไปเรียนกรุงเทพฯสมัยนั้น  การเดินทางกลับบ้านทุกครอบครัวหากมีพี่น้องมาเรียนกรุงเทพหลายคน ก็จะต้องเดินทางกลับพร้อมๆกัน  ดังนั้นการพบกับคนอื่นๆ จึงมักจะพบกันเป็นครอบครัวเสมอ ๆการเดินทางทำให้เรามีสังคมเพิ่มขึ้น การที่รู้จักกันบนรถไฟสมัยนั้นคงจะ เปรียบได้กับการพบกันบนเครื่องบินสมัยนี้กระมัง ที่เราจะพบกับคนที่เรียนหนังสือระดับเดียวกัน มีสิ่งแวดล้อมเดียวกัน เมื่อเรียนจบก็กลับมาเป็นเพื่อนบ้านกัน  และยังคงคบหาสมาคมกันมาจนทุกวันนี้

      การเดินทางขาไปจากบ้าน กับการเดินทางกลับจากกรุงเทพฯ มีสภาพแตกต่างกัน ตรงที่อาหารการกินระหว่างทางนี่แหละ เพราะขาไปเราจะมีทั้งอาหาร ขนม และผลไม้ จากทางบ้านที่แม่เตรียมใส่ชะลอมไว้ให้ จำได้ว่าเราสามพี่น้องต้องหิ้วชะลอมกันคนละใบทุกครั้ง  เมื่อรู้สึกหิวขึ้นมา และหากรถยังไม่แวะสถานีใด เราสามคนก็จะควักน่องไก่ทอด หรือหมูโค๊ะ ที่แม่ทำออกมากินยั่วน้ำลายคนข้างๆเป็นประจำ

      บนรถไฟขากลับ เราไม่มีอาหารการกินติดตัวมากันเลย เพราะเงินที่เตี่ย กับแม่ให้ไว้นั้น เรามักจะใช้จนเกือบหมด  จึงไม่อยากซื้ออาหารที่สถานีรถไฟสามเสนติดตัวมา  โดยตั้งใจที่จะไปซื้ออาหารกินตามสถานีที่รถผ่าน เพราะทั้งถูกและอร่อย

ทุกครั้งที่กลับบ้าน บรรยากาศบนรถไฟสนุกมาก แม้จะใช้เวลาสาม ถึง สี่ชั่วโมงในการเดินทาง แต่ทุกคนก็สนุกสนาน จนบางคนแทบไม่อยากให้ถึงบ้านเลย ความที่ใช้เวลานานบนรถไฟ ทำให้เราต้องฝากท้องไว้กับสถานีต่างๆรายทาง โดยหมายมั่นปั้นมือไว้ตั้งแต่ต้นทางเลยว่าจะกินอะไรที่สถานีไหน

      จำได้ว่า พอรถไฟออกจากกรุงเทพฯ ในช่วงสถานีแรกๆก็ยังตื่นเต้นที่ได้พบเพื่อนต่างโรงเรียน  จึงพูดคุยกันไม่หยุด มาเริ่มเหนื่อยเอาเมื่อถึงสถานีนครชัยศรี ( จังหวัดนครปฐม) แต่ยังไม่มีอาหารอร่อยมากนัก มีแต่ส้มโอ เราจึงรอจนถึงสถานีเมืองนครปฐม ซึ่งอยู่ไม่ไกลเท่าใดนัก และก็มี ข้าวหลามอร่อยหวานมัน มาขายที่ข้างรถให้เรากินเป็นออร์เดริ๊ฟท์ไปก่อน  เพราะอาหารจานหลักของเรายังอยู่ข้างหน้า  ที่สถานี ชุมทางหนองปลาดุก ซึ่งเป็นสถานีที่เป็นทางแยกของรถไฟ 2 สาย คือสายใต้ที่เรานั่ง กับเส้นทางไปกาญจนบุรี

      ที่ชุมทางหนองปลาดุกนี้ จะมีอาหารที่มีชื่อคือ ข้าวแกงไก่ กับไข่ต้ม ซึ่งคนขายจะตักข้าวใส่กระทงใบตองสดใบไม่ใหญ่นัก ราดด้วยแกงป่าไก่ บางเจ้าเป็นแกงเขียวหวานไก่ มีไข่ต้ม หมกไว้ในข้าวสุกหนึ่งลูก เสียบด้วยช้อนที่ทำด้วยใบตาล ที่นำมาจักแล้วไข้วปลายให้กลายเป็นช้อน ตักข้าวกินได้ ราคากระทงละ 5 บาท หากผู้โดยสารอยากกินไข่ต้มเพิ่มก็จะมีไข่ต้มขายต่างหากด้วย พวกคนขายของจะวางกระทงข้าวไว้ในถาดใบโต พร้อมกับกรูกันเข้ามาที่ข้างหน้าต่างรถไฟทันทีที่รถไฟจอด  โดยจะร้องขายด้วยเสียงดังว่า ข้าวจ๊ะข้าว ไข่จ๊ะไข่ หรือข้าวแกงไก่ ไข่ต้มจ้า” 

เนื่องจากรถไฟจอดรับคนไม่นานนัก ในเวลาอันรวดเร็ว บรรดาผู้โดยสารจึงต้องใช้ ความสามารถเฉพาะตัวในการ รีบซื้อ รีบขาย ให้ได้เร็วที่สุด หน้าที่นี้จึงมักจะเป็นของพี่ชายคนโตของดิฉันเสมอๆ  ที่ต้องคอยซื้ออาหารให้น้องกินตลอดทาง พอได้ข้าวแกงมา เราก็กินกันอย่างอร่อย หากใครไม่อิ่มก็ต้องคอยมองหา พ่อค้าหรือแม่ค้าข้าวแกงบางคนที่กระโดดขึ้นรถไฟมาด้วย เพื่อขายระหว่างทาง โดยจะกระโดดขึ้นรถไฟกลับไปสถานีเดิมเมื่อของหมด

      ไม่นานจาก ชุมทางหนองปลาดุกเราก็ถึง สถานีบ้านโป่ง ที่เราหมายมั่นจะมากิน ก๋วยเตี๋ยวรถไฟกับ ไก่ย่างบางตาล ที่ขึ้นชื่อไก่ย่างบางตาลนี้เป็นต้นตำหรับไก่ย่างที่ขายตามรถไฟก็ว่าได้ เพราะความอร่อยของอาหารชนิดนี้ จึงทำให้ชาวบ้านในแถบชุมชน บ้านบางตาลทำออกขายตามสถานีรถไฟจนแพร่หลายไปตลอดเส้นทางรถไฟหลายจังหวัด ไก่ย่างนี้ เป็นไก่ที่หมักด้วยเครื่องหมักรสชาติดี จากนั้นนำมาตรึงไว้กับไม้ไผ่ที่ทำเป็นแผง และย่างจนสุกดี ขายไม้ละ 3-5 บาท

      เนื่องจากที่บ้านโป่งนี้มีการเลี้ยงหมูมาก ดังนั้นก๋วยเตี๋ยวหมูจึงถูกทำมาขายตามรถไฟมาเป็นเวลานาน ซึ่งกรรมวิธีการทำก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เพียงแค่นำเครื่องปรุงต่างๆมาใส่รวมกัน ก็สามารถเป็นอาหารที่อร่อยจนดิฉันติดใจและทำกินมานานกว่า 50 ปีแล้ว

      ทุกวันนี้ ข้าวแกงรถไฟ น่าจะเลิกขายไปแล้ว เพราะมีอาหารอื่นที่สะดวกกว่ามาแทน   แต่ ก๋วยเตี๋ยวรถไฟยังคงมีขาย โดยปัจจุบันพ่อค้าแม่ค้าจากบ้านโป่ง ราชบุรี โพธาราม ได้ขยายเส้นทางการขายก๋วยเตี๋ยวนี้มาถึงหัวหิน   วันไหนที่อยากกินดิฉันจึงมักจะวานน้องๆในที่ทำงานให้ไปซื้อมาจากสถานีรถไฟหัวหิน เพื่อมากินกันเสมอ   ดูเหมือนว่าก๋วยเตี๋ยวสมัยนี้จะห่อเล็กกว่าสมัยที่เราเป็นเด็ก ( รึว่าเราตัวโตขึ้น)   จึงต้องกินกันคนละสองห่อขึ้นไป  เวลาซื้อเราแทบจะเหมามาหมดถาดเลย ( แม่ค้าดีใจจะได้กลับบ้านเร็ว)

      สำหรับน้ำดื่มในรถไฟมีหลายชนิด แต่ดิฉันมีสิทธิ์กินได้แค่ นมเย็นเท่านั้น นมเย็นที่ว่านี้คือการเอานมข้นหวานมาชงด้วยน้ำร้อน แล้วเติมน้ำหวาน เฮลบลูบอยย์สีแดง ( ของแท้ต้องเป็นสีแดงเท่านั้น) จากนั้นก็เทนมสีแดงนี้ลงไปใน กระป๋องนมเปล่าที่ใส่น้ำแข็งไว้  สมัยนั้นไม่มีถุงพาสติก หรือแก้วพาสติกเหมือนทุกวันนี้ จึงต้องใส่น้ำหวานทุกชนิดที่ขายไว้ในกระป๋องนมข้นเปล่า ( ที่เอานมออกหมดแล้ว) จากนั้นก็ร้อยด้วยเชือกกล้วยให้เป็นห่วงหิ้วได้ เพื่อเร่ขาย นอกจาก นมเย็นแล้ว ยังมี โอเลี้ยง และกาแฟเย็น หรือ ชาเย็นขายอีกด้วย กระป๋องละ 50 สตางค์   สถานีที่ โอเลี้ยง อร่อยที่สุด  เราต้องรอมาซื้อที่สถานี โพธารามซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านโป่งนัก  ก็เป็นอันครบเครื่องเรื่องอาหารกลางวันพอดี

      สำหรับขนมหวาน เนื่องจากเรามาจากเมืองขนมหวาน เราจึงไม่ค่อยซื้อขนมบนรถไฟกินกัน เพราะเดี๋ยวถึงบ้านก็มีขนมเพียบ แต่วันไหนหากน้องสาว( คือดิฉัน) ยังหิวไม่เลิก พี่ชายก็จะซื้อ ข้าวเกรียบว่าวปิ้งกรอบๆ ที่แม่ค้าปิ้งใส่กระจาดมาเดินขายในรถไฟ  กัดเข้าปากทีไร ข้าวเกรียบว่าวแตกกระจายเต็มกระโปรงไปหมด สำหรับคนที่เดินทางต่อไปจากเพชรบุรี ก็จะรอซื้อ ขนมหม้อแกง และ ขนมตาลที่ สถานีเพชรบุรี กลับไปเป็นของฝากทางบ้านอีกด้วย

      เมื่อถึงสถานีเพชรบุรี เราทั้งสามก็ไม่ต้องรอนานเลย เพราะจะเห็นเตี่ย ยืนรอลูกๆที่ชานชลาอยู่แล้วเหมือนทุกครั้งไป จากสถานีเพชรบุรีเราต้องนั่งรถไปอำเภอท่ายางอีก 17 กิโลเมตร สมัยนั้นใช้เวลาเกือบชั่วโมงกว่าจะถึงบ้าน เพราะถนนไม่ดี และมีรถโดยสารประจำทางระหว่างอำเภอน้อยมาก เนื่องจากรถแลนด์โรเวอร์ของเราเป็นรถยนต์ส่วนตัวคันแรกของอำเภอ เตี่ยจึงพยายามใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนให้มากที่สุด ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่ขากลับจากสถานีรถไฟไปบ้านท่ายาง  รถแลนด์โรเวอร์ของเราจึงแน่นเอี๊ยดไปด้วยนักเรียนที่กลับมาจากกรุงเทพฯพร้อม เราทุกครั้ง
  วันนี้ดิฉันนึกถึงวันเก่าๆ  จึงมีอารมณ์อยากทำ ก๋วยเตี๋ยวรถไฟขึ้นมา จริงๆแล้วก๋วยเตี๋ยวฯนี้ เป็นอาหารง่ายๆและอร่อย   ที่ดิฉันมักจะทำเมื่อคิดอะไรไม่ออกมากกว่า เพราะง่ายเหลือเกิน แถมใช้เวลาและเครื่องปรุงน้อยมาก  วันหลังหากท่านนึกอะไรไม่ออก ขอให้นึกถึง ก๋วยเตี่ยวรถไฟไว้ก่อนเลย
       เครื่องปรุง
      ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก ( ของแท้มีแต่เส้นเล็กเท่านั้น)
      ถั่งงอก
      เนื้อหมู หรือไก่
      ผักชี ต้นหอมซอย
      มะนาว
      กระเทียมเจียว
      พริกป่น
      น้ำปลา และน้ำตาลทราย
        วิธีทำ


 1. ต้มเนื้อหมู หรือไก่ ให้สุก โดยต้องต้มทั้งเป็นชิ้นใหญ่ ถ้าเป็นเนื้อหมูให้หั่นเป็นชิ้นบาง หากเป็นเนื้อไก่ สามารถทั้งหั่น และ ฉีกเป็นเส้นๆ เตรียมไว้

 2. ลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว และ ถั่วงอก คลุกเส้นก๋วยเตี๋ยวด้วยกระเทียมเจียว เหยาะน้ำปลาหรือซีอิ้วบนก๋วยเตี๋ยวเล็กน้อย คลุกเส้นกับกระเทียมเจียม จากนั้นวางถั่วงอกไว้ข้าง ๆ


3. นำเนื้อหมูที่หั่นเป็นชิ้น วางบนก๋วยเตี๋ยว ตักน้ำตาลทราย พริกป่น วางไว้ข้างๆก๋วยเตี๋ยว วางมะนาวหนึ่งชิ้นไว้ด้วย
 
  4. อย่าลืมผักชี ต้นหอมซอย โรยหน้า เป็นอันเสร็จพิธี
 วลาจะรับประทานให้คลุกทุกอย่างรวมกัน บีบมะนาวลงไป  ทำทานเองจะใส่ไก่ฉีก เพิ่มไปด้วย ก็ไม่ว่ากัน 

       ก๋วยเตี๋ยวชามนี้ หากใส่เนื้อไก่ฉีกอย่างเดียว แล้วเติมน้ำซุปลงไป จะเรียกว่า               ก๋วยเตี๋ยวไก่ฉีก อร่อยไปอีกแบบ 
 
 หากอยากกินตามบรรยากาศตำหรับ ก๋วยเตี๋ยวรถไฟขนานแท้ ก็ให้นำใบตองมาวางบนหนังสือพิมพ์ ( สมัยนั้นห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์) แล้วห่อคล้ายห่อขนม ของแท้ต้องมัดด้วยเชือกกล้วย แต่วันนี้จนปัญญา จึงขอรัดด้วยยางหนังสติกก่อน อย่าลืมเสียบตะเกียบไว้ข้างๆห่อด้วยทุกครั้ง มิฉะนั้นจะไม่มีอุปกรณ์ในการกิน 

      เอาล่ะ วันนี้ก็ได้รู้จักอาหารง่ายๆที่ครั้งหนึ่งเป็นที่นิยมมาก แต่ปัจจุบันผู้คนลืมไปหมดแล้ว มาลองรื้อฟื้นความทรงจำ ทำกินกันที่บ้านกับครอบครัวกันดีกว่า แต่จะมีบรรยากาศดีมาก หากลองนั่งรถไฟไปเที่ยว นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี แล้วเลยไปหัวหินในวันหยุดนี้ ก็จะเป็นการเที่ยวพักผ่อนที่มีรสชาติอีกแบบนะ 

ขอขอบคุณรูปสถานีรถไฟเพชรบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น