บ้านป้าLily หลังนี้เปิดไว้เพื่อให้เป็นที่ที่เพื่อนๆมานั่งตั้งวงคุยกันด้วยเรื่องที่เราชอบ
โดยมีป้า Lily มานั่งเล่าเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แถมสนุกสนานให้ฟังอีก
วันที่ท้องฟ้าสดใสในเวลาแดดร่มลมตกไม่มีอะไรดีไปกว่าการมานั่งที่ ชานเรือนของบ้านป้าLily อีกแล้ว


ยินดีต้อนรับทุกท่านจ๊ะ

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แกงหัวตาล


      ตั้งใจจะทำ “ แกงหัวตาล” มาให้ชิมนานแล้ว แต่จนใจที่หมดช่วงฤดูที่ต้นตาลโตนดออกผล ต้องรอขึ้นต้นปีใหม่ปี  จึงจะมีหัวตาลมาให้แกง หากจะทำต้องเตรียมตัวล่วงหน้า  แต่วันนี้ขอนำวิธีทำ “ แกงหัวตาล” มาให้ศึกษาลองฝีมือกันก่อน โดยใช้ยอดมะพร้าวแทน สูตรที่ทำนี้เป็นสูตรประจำตระกูล แต่ดัดแปลงให้เข้าสมัยโดยอิฉันเอง
 
      ปกติแล้วต้นตาลจะมีผลอ่อนในช่วงต้นปี  เพื่อว่าเมื่อลูกตาลแก่มากๆจะสามารถขยายพันธุ์ได้ในช่วงฤดูฝนพอดี   ดังนั้นนอกจากเราจะมีน้ำตาลปึก ซึ่งทำจากน้ำตาลโตนดแล้ว เรายังมีน้ำตาลสด ลูกตาลอ่อน และแกงหัวตาลรับประทานในช่วงนี้อีกด้วย 


 ากนั่งรถผ่านจังหวัดเพชรบุรี ในช่วง มกราคม ถึง เมษายน จะเห็นร้านขายลูกตาลสดเรียงรายไปตลอดทาง บางร้านจะนำลูกตาลโตนดที่เก็บมาจากต้นมาแขวนโชว์ไว้ด้วย เจ้าลูกตาลสีดำๆนี่แหละที่เขานำมาแกง โดยจะฝานเอาเฉพาะส่วนบนสุดของผลที่ยังนิ่มอยู่ พอถึงจุดที่แข็งก็พอ ดังนั้นลูกตาลหนึ่งลูกจะได้เนื้อที่จะมาแกงเพียงไม่มากนัก 






       แกงหัวตาลนี้มักนิยมทำเลี้ยงแขกเวลามีงานต่างๆ  เจ้าของบ้านจึงต้องซื้อลูกตาลมาครั้งละเป็นเข่งๆ แต่ก็ไม่เสียหลายเพราะ เมื่อเฉาะผลตาลออกมาจะมีลูกตาลอ่อนสุดอร่อยชื่นใจอยู่ภายใน ลูกตาลอ่อนนี้สามารถนำมารับประทานกับน้ำแข็งใส่น้ำหวาน หรือทำเป็นลูกตาลลอยแก้วสุดอร่อยได้ ส่วนใหญ่คนเมืองเพชรจะเลือกแต่ลูกตาลอ่อนที่มีขนาดใหญ่แต่ยังนิ่มไว้ รับประทานกันสดๆ

      ส่วนลูกตาลอ่อนที่มีขนาดเล็ก ซึ่งปอกเปลือกยาก จะนำไปทำขนมอะไรก็ไม่สวยงามเพราะเล็กเกิน ถ้าทิ้งไปก็เสียดาย คนเมืองเพชรจึงนำเอาลูกตาลอ่อนลูกเล็กๆนี้มาโยนใส่หม้อแกงด้วย โดยไม่ต้องปอกเปลือก

      รสชาติของ แกงหัวตาลจะมีรสคล้ายน้ำยากะทิ แต่จะมีความขื่นของหัวตาล และเปลือกลูกตาลอ่อนปนอยู่ด้วย รสจะเผ็ดอ่อนๆ หวาน เค็ม น้ำแกงจะมีกลิ่นของกระชายและใบมะกรูด สีของน้ำแกงจะมีสีแดงอ่อน ออกสีขาวด้วยกะทิ ที่ไม่แตกมัน

      หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ คงถอดใจอยากบอกลากันเสียตรงนี้ แต่ไม่ต้องตกใจ หากหาหัวตาลไม่ได้ เราสามารถทำแกงหัวตาลเทียมได้ โดยใช้ยอดมะพร้าวแทนได้ ซึ่งจะออกรสหวานมากกว่า เพียงแต่มีความขื่นน้อยกว่า  ดังนั้นหากอยากได้รสขื่นเล็กๆ(ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของหัวตาล)เวลาทาน  ก็ควรแวะซื้อลูกตาลอ่อนที่คนเมืองเพชรเฉาะขายแถวข้างทาง ติดมือมาใส่แกงสักสามสี่หัวก็ได้ หากหาไม่ได้ แค่ยอดมะพร้าวก็ใช้ได้แล้ว 


 มาดูเครื่องปรุงแกงหัวตาล


1.เนื้อหัวตาล 
2. เครื่องแกงเผ็ด
3. เนื้อย่างหรือ หมูย่าง
4.กะทิ

รายละเอียดเครื่องปรุง
  สิ่งแรกคือเนื้อหัวตาล  ซื้อลูกตาลทั้งลูกมาปอกผิวเปลือกออก ค่อยๆเฉือนเนื้ออ่อนๆด้านบนของลูกตาลออกเป็นแผ่นบางๆ เนื้ออาจจะยังกระด้างบ้างเล็กน้อย ลักษณะผิวของเนื้อหัวตาลคล้ายหน่อไม้ที่ค่อนข้างแก่ ดังนั้นจึงต้องแช่เนื้อหัวตาลไว้ในน้ำเกลือ สักพักนวดดูจะพบว่าเนื้อหัวตาลนิ่มลงอย่างมาก และการแช่น้ำเกลือจะทำให้รสอร่อยขึ้น  แต่สีของเนื้อหัวตาลที่กลายเป็นสีน้ำตาลหลังจากเฉือนออกมานั้น จะยังคงเหมือนเดิม คือไม่ขาวขึ้นเพียงแต่นุ่มขึ้นเท่านั้น


  หากใช้ยอดมะพร้าวแทน ให้ใช้ยอดอ่อนมาฝานบางๆให้เหมือนเนื้อหัวตาล  และไม่ต้องแช่น้ำเกลือก็ได้ รสชาติจะหวานกว่ามาก แต่ไม่มีรสฝาดเหมือนหัวตาล ดังนั้นหากเราใส่เนื้อลูกตาลอ่อนที่ปอกเปลือกออกบางส่วนลงไปด้วย ก็จะอร่อยสมบูรณ์แบบเลย
       เครื่องแกง 
    ดิฉันเป็นแม่บ้านสมองไว ที่ไม่ต้องตำเครื่องแกงตามแบบฉบับ  แต่ใช้เครื่องแกงเผ็ดธรรมดาๆ แล้วผสมกระชายเพิ่มเข้าไป  โดยทั่วไปแล้วเครื่องแกงสำหรับใช้แกงหัวตาลแบบดั้งเดิมของคนเมืองเพชรที่ตำใช้เองจะไม่ใส่ผิวมะกรูด เพราะผิวมะกรูดจะมีกลิ่นแรง ออกมาแย่งความสนใจของกลิ่นกระชายไปหมด แต่หากคนสมัยใหม่อย่างเรา ที่ไม่อยากตำน้ำพริกเอง ก็ใช้น้ำพริกแกงเผ็ดมาผสมด้วยกระชายเข้าไปก็ใช้ได้แล้ว

      เคล็ดลับอีกอย่างคือ หากต้องการให้น้ำแกงอร่อย ต้องใส่เนื้อปลาเค็มทอดลงไปผสมในเครื่องแกงด้วย น้ำแกงจะมีรสกลมกล่อมมาก แต่ต้องระวังว่า ก่อนเติมเครื่องปรุงรส ในน้ำแกง ควรชิมก่อนเพื่อกันความเค็มมากเกินไป

เนื้อย่าง หรือ หมูย่าง
        ช้เนื้อสันอย่างดี คลุกกับน้ำปลา หรือซีอิ้วสักหน่อยแล้วย่างให้ข้างนอกสุก จากนั้นนำมาหั่นบางๆเตรียมไว้ ผู้ที่ไม่ทานเนื้อก็ใช้หมูย่างแทนได้

       กะทิ
เนื่องจากต้องการกะทิที่ขาว  มะพร้าวที่นำมาคั้นควรปอกเปลือกสีดำออกให้หมด  คั้นกะทิแล้วแบ่งเป็นสองส่วน 
1.หัวกะทิไว้ใส่ทีหลังเมื่อแกงสุกสักหนึ่งถ้วย และ 
2.อีกส่วนที่เหลือใช้เป็นน้ำแกง

เริ่มลงมือแกง
 1. ใส่กะทิลงในกระทะ ใส่เครื่องแกงที่ผสมเนื้อปลาเค็มแล้วลงไป ค่อยๆเคี่ยวด้วยไฟอ่อน แกงชนิดนี้ไม่ต้องการให้กะทิแตกมัน แต่ต้องการให้น้ำแกงออกสีขาวของกะทิให้มากที่สุด
 

      2. ใส่เนื้อหัวตาล ( หรือ ยอดมะพร้าวพร้อมเนื้อลูกตาล )
 3. ใส่เนื้อย่าง หรือ หมูย่าง 
 
 4. เติมรสด้วยน้ำปลาดี หยิบน้ำตาลโตนดสักหนึ่งหยิบมือใส่ลงไป หากใช้ยอดมะพร้าว ต้องชิมรสน้ำแกงก่อน เพราะยอดมะพร้าวมีรสหวานอยู่แล้ว


5. ปกติตามประเพณีแล้ว เราจะไม่ใส่ใบมะกรูด เพื่อต้องการให้แกงมีสีขาว แต่ดิฉันชอบให้มีสีเขียวอยู่บ้างจึงแอบแหวกแนวใส่ใบมะกรูดฉีกลงไป ( นี่ถ้าคุณอา ของดิฉันรู้คงลุกขึ้นมาตีมือแน่ๆเลย)
      ใบมะกรูดนี้แม้จะมีกลิ่นหอมแต่ก็ไม่เท่าผิวมะกรูด ดังนั้นเวลาแกงจึงยังมีกลิ่นกระชายโชยไปสามบ้านแปดบ้านเหมือนเดิม
      6. เมื่อรสดีแล้ว คือมีรสเผ็ดนิด เค็มหน่อย หวานน้อยๆแบบธรรมชาติ ก็โรยหัวกะทิลงไปให้น้ำแกงมีสีขาวสวย เป็นอันเสร็จพิธี
รูปนี้เป็น แกงหัวตาลเทียม
 
      ที่ทำแกงหัวตาล มาให้ชิม เพราะอยากเชิญชวนให้ทุกท่านได้ลองทำดู เนื่องจากเป็นของรับประทานที่เก่าแก่
ปัจจุบันหารับประทานยากยิ่ง  ทั้งยังอร่อยหอมหวานแบบคลาสสิค ไม่เผ็ดร้อนแรงเหมือนแกงป่า จึงมักจะเป็นแกงที่ชาวเมืองเพชรใช้แกงไปถวายพระ และเลี้ยงแขกเวลามีงานบุญที่บ้าน    วิธีทำไม่ยากเลย รับรองได้ว่าหากใครได้ลองแล้วต้องติดใจ ทุกคน
            เอ๊า...ตักข้าวสวยร้อนๆมาเร็วๆค่ะ

วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เที่ยวเมืองเพชร ตอน 2


Un-chim  Petchburi 
                 หลังจากที่เราได้ชมวัดเก่า บ้านเก่า ทองเก่า แล้ว เห็นทีจะต้องถึงเวลาชิมอาหารอร่อยๆแบบชาวบ้านเมืองเพชรกันบ้าง ดิฉันอยากจะขอแนะนำอาหารพื้นๆของเรา  เช่นก๋วยเตี๋ยวเนื้อเมืองเพชร  ก๋วยจั๊บ  ขนมจีนทอดมัน  ข้าวแช่  และ ขนมโตนดทอด
          เริ่มด้วยร้านก๋วยจั๊บ  แม้ทุกคนจะมีร้านอร่อยเจ้าประจำอยู่แล้ว แต่ที่เพชรบุรีมีร้านก๋วยจั๊บเก่าแก่ซ่อนตัวอยู่  ร้านนี้เป็นร้านที่ชาวต่างถิ่นน้อยคนนักจะรู้จัก นอกจากคอก๋วยจั๊บแฟนพันธุ์แท้เท่านั้น ร้านนี้เป็นร้านที่ตั้งมานานเกินห้าสิบปีแล้ว ที่พูดอย่างนี้เพราะตั้งแต่จำความได้ดิฉันก็เห็นร้านนี้แล้ว
          เดิมร้านจะเป็นห้องแถวไม้เก่าๆ แต่ปัจจุบันสร้างเป็นตึกแถวเล็กๆดูสะอาดตา สถานที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดมหาธาตุเท่าใดนัก  หากเดินข้ามสะพานใหญ่ซึ่งอยู่ข้างธนาคารกรุงเทพ จำกัด  มาทางวัดพระมหาธาตุให้เลี้ยวขวาซอยแรก ร้านจะอยู่ซ้ายมือ  ส่วน เมนูของร้านนี้ไม่ต้องอ่านให้ยุ่งยาก มีเพียงก๋วยจั๊บสองอย่างเท่านั้นคือ   แบบน้ำข้นดั้งเดิมกับ แบบน้ำใส  
          ก๋วยจั๊บน้ำข้น แบบดั้งเดิมจะเป็นเส้นที่ต้มอยู่ในหม้อใหญ่ โดยมีแป้งข้าวเจ้า ผสมอยู่ในน้ำทำให้มีความเข้มข้น   สำหรับน้ำเครื่องปรุงรสซึ่งเป็นน้ำพะโล้ที่หอมเครื่องเทศ และมีบรรดาเครื่องใน ของหมูที่ต้มจนเปื่อยนุ่ม พร้อมไข่พะโล้และเต้าหู้ผสมกันอย่างน่ารับประทาน ดิฉันพนันได้เลยว่าถ้ามาร้านนี้แล้ว คุณต้องสั่งชามที่สองหรือสามอย่างแน่นอน
          ส่วนแบบน้ำใสทางร้านจะลวกเส้นทีละชาม ส่วนเครื่องในจะเป็นแบบสดหรือบางอย่างก็ทำสุกไว้แล้วแค่หั่นๆใส่ เติมน้ำซุปกระดูกหมูรสหอมหวาน แค่นี้ก็อร่อยสุดแล้ว
          ทานก๋วยจั๊บเสร็จแล้ว  เรายังไม่เดินไปไกลจากบริเวณหน้าวัดพระมหาธาตุ เพราะแถวหน้าวัดนี้เป็นแหล่งอาหารโปรดของดิฉันและชาวเพชรอีกหลายๆคน  โดยออกจากซอยร้านก๋วยจั๊บ เลี้ยวขวาแค่สองสามก้าวจะเป็นห้องแถวไม้เก่าๆ ซึ่งเป็นร้านกาแฟหัวมุมถนนตรงข้ามกับประตูเข้าวัด   ร้านนี้จะเป็นที่ตั้งของร้านขนมจีนทอดมัน อาหารพื้นเมืองของคนเพชร
        ขนมจีนทอดมัน เป็นอาหารง่ายๆที่รับประทานได้ตลอดวัน สามารถเป็นอาหารเช้า อาหารกลางวัน อาหารเย็น และอาหารว่าง เรียกว่า All purpose Food  วิธีรับประทานก็ง่ายมาก แค่หยิบขนมจีนใส่จานสักสองสามจับ ตามด้วยทอดมันสักสามสี่ชิ้น (ชอบมากใส่มากชอบน้อยใส่น้อย)  จากนั้นราดด้วยน้ำจิ้มทอดมัน โรยแตงกวาซอยชิ้นเล็กๆสักหน่อย ถ้าชอบกระเพรากรอบก็ขอแม่ค้าให้โรยมาให้หน่อย เป็นอันเสร็จพิธี  รับประทานได้ตามอัธยาศัย  ร้านนี้ขายเกือบตลอดวันโดยจะทยอยทำ ทอดมันทีละไม่มากเพราะต้องการให้รับประทานแบบสุกใหม่ๆ
ตรงข้ามกับร้านขนมจีนทอดมัน จะเป็นรถไอติมทรายใส่ขนมฝรั่ง ไอติมที่ว่านี้คือ ไอศครีมกะทิปั่นเองด้วยมือไม่ได้ใช้เครื่องปั่น ตัวไอศครีมใช้กะทิแทนนมสดและครีม เนื้อของไอศกรีมจึงไม่เนียนและเป็นครีมเหมือนของฝรั่ง แต่ก็หอมหวานแบบไทยๆ เวลารับประทานเรามักจะรับประทานกับขนมไข่ หรือขนมฝรั่งที่อบมาเป็นรูปดาว (เป็นรูปทรงนี้มาห้าสิบปีแล้ว)
        ไอศครีมกะทิใส่ขนมไข่  แบบโบราณแท้ๆนี้ เป็นที่ชื่นชอบของชาวเมืองเพชรฯ ไม่ว่าจะหน้าร้อน หน้าฝน หรือหน้าหนาว คนเมืองเพชรฯก็กินกันทุกวัน   
     ไอศครีม หรือที่เรียกว่า“ ไอติมทราย” นี้ทำจากกะทิสด และน้ำตาลทราย นำมาปั่นด้วยมือจนกลายเป็นไอติม  ที่ไม่เป็นครีมเนียนเหมือนไอศครีมฝรั่ง แต่จับตัวเป็นเกล็ดคล้ายเมล็ดทราย จึงเรียกว่า “ไอติมทราย” 

 วิธีรับประทาน  วางขนมไข่ลงในถ้วย  ตักไอศกรีมใส่ลงบนขนมไข่ จากนั้นจะโรยเพียงถั่วลิสงคั่วแบบไม่ต้องบดให้แหลก แค่นี้ก็อร่อยแล้ว  ไม่มีการโรยนมสดเหมือนไอศกรีมชนิดอื่น  

        นอกจาก “ ขนมไข่” แล้ว ยังสามารถรับประทานกับขนมอื่นได้อีก เช่น ปาท่องโก๋หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ลูกชิด   ลูกจาก หรือ มันเทศเชื่อม ก็อร่อยไปอีกแบบ ส่วนใหญ่ที่เราใช้ขนมไข่หรือปลาท่องโก๋ก็เพื่อต้องการให้ ไอติมที่ละลายซึมเข้าไปในขนม จนขนมนุ่มและฉ่ำด้วยรสของไอติม คล้ายกับขนมเค้กของอิตาเลี่ยนที่ชื่อ Tiramisu นั่นเอง ทั้งหมดก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน  หากแต่ “ขนมไข่” ดูจะเป็นขนมยอดนิยมสำหรับไอศครีมชนิดนี้   

นอกจากร้านเก่าแก่ที่หน้าวัดมหาธาตุแล้ว ในตัวเมืองเพชรฯยังมีร้านไอศกรีมนี้อีกหลายร้านให้เลือกชิม

          ขนมอีกชนิดที่อยากให้ลองชิมคือ ลอดช่องน้ำตาลโตนดเคี่ยว ขนมที่ว่านี้คือลอดช่องสิงค์โปรตัวเหนียวๆนี่ล่ะ แต่แทนที่จะใส่น้ำเชื่อมที่ทำจากน้ำตาลทราย ร้านนี้จะใช้น้ำตาลโตนดที่เคี่ยวข้นแบบคาราเมล หรือน้ำตาลไหม้ราดลงบนน้ำแข็งใสแทน ซึ่งนอกจากจะได้รสชาติหวานกลมกล่อมดีแล้ว   กลิ่นของน้ำตาลไหม้ยังหอมติดใจอีกด้วย
        ร้านนี้ดิฉันทานมาตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนของโรงเรียนอรุณประดิษฐ์  เพชรบุรี  เพราะเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว  ร้านนี้เป็นรถเข็นตั้งอยู่ปากซอยติดกับกำแพงโรงเรียน ตรงข้ามกับโรงเรียน กวงตง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนภาษาจีนให้กับลูกหลานคนจีนของเมืองเพชรมาหลายรุ่น นักธุรกิจชั้นแนวหน้าของเมืองเพชรล้วนเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนนี้  ปัจจุบันย้ายมาอยู่ตรงข้ามโรงเรียนอรุณประดิษฐ แต่เป็นฝั่งถนนราชดำเนินแทน
และเนื่องจากเป็นขนมยอดนิยมของคนเมืองเพชร จึงยังมีขายอีกหลายร้าน ใครเป็นแฟนร้านไหนก็เลือกกันได้เลยจ้า

       พูดถึงน้ำตาลโตนด ซึ่งเป็นพืชพื้นเมือง แม้จะไม่เป็นพืชเศรษฐกิจแต่ก็มีประโยชน์มากมาย เราสามารถใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของต้นไม้นี้ นอกจากจะเอาต้นมาสร้างบ้าน หรือทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆแล้ว ผลิตผลจากต้นยังสามารถเป็นอาหารได้อีก เพราะส่วนใหญ่อาหารพื้นเมืองจะมีหรือทำมาจากส่วนผสมของ  ลูกตาลโตนด อาหารที่ว่านี้คือ แกงหัวตาล ขนมโตนดทอด ขนมตาล จาวตาลเชื่อม น้ำตาลสด ลูกตาลเชื่อม ลูกตาลลอยแก้ว ลูกตาลแกงบวช ฯลฯ แต่ขออนุญาตแนะนำสักสองอย่างก่อนคือ



แกงหัวตาล เป็นอาหารโบราณประจำครัวเรือนของคนเมืองเพชร ปรุงโดยการฝานเต้าตาลอ่อนเป็นชิ้นเล็กๆบางๆ ใช้เครื่องแกงเผ็ดที่ใส่กระชายมากหน่อย เป็นน้ำพริกสูตรพิเศษของคนเมืองเพชร แกงกับกุ้งสด  หรือเนื้อย่าง  เคี่ยวน้ำแกงด้วยไฟกลางจนหอมได้ที่  รสและกลิ่นแกงจะคล้ายน้ำยากะทิ เวลารับประทานกับข้าวสวยร้อนๆแล้วอร่อยชื่นใจมาก

ขนมโตนดทอด เป็นของหวานที่ทำจากจาวตาลฝานเป็นชิ้นเล็กไม่บางมาก นำไปเชื่อมในน้ำตาลโตนดเคี่ยวหอมหวาน สักพักพอให้น้ำตาลซึมเข้าไปในเนื้อจาวตาลจนชุ่มและอมความหอมหวานของน้ำตาลโตนดเคี่ยวไว้ แล้วนำไปชุบแป้งผสมหัวกะทิ  จากนั้นนำไปทอดแบบกล้วยทอดในน้ำมันเดือดๆ ขนมโตนดทอดนี้ เป็นขนมที่นิยมมากในสมัยที่ดิฉันเป็นเด็ก เพราะสมัยนั้นไม่มีขนมมากมายหลายหลากแบบปัจจุบัน เด็กๆที่ได้ทานขนมโตนดทอด ก็นับว่าหรูมากแล้ว

            พูดถึงอาหารแล้ว ขอคุยว่าในขณะที่  “ประเทศไทยเป็นครัวของโลก” “ เพชรบุรี ก็เป็นครัวของเมืองไทยเช่นกัน เหตุที่พูดเช่นนี้เพราะเพชรบุรีเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำใช้ตลอดปี ปลูกพืชงดงามและมีรสอร่อยกว่าที่อื่น ดังนั้นพืชผักที่ปลูกที่นี่จึงมีมากมายหลายชนิด และได้ส่งเข้าไปขายในกรุงเทพทุกวัน
จึงอยากชวนเพื่อนๆให้ไปซื้อพืชผักผลไม้ที่ตลาดกลางเกษตรของเมืองเพชรซึ่งมี อยู่หลายแห่ง เช่นในตัวเมืองเพชร ซึ่งจะเป็นตลาดกลางคืนอยู่กลางตัวเมือง  
แห่งที่สองคือที่อำเภอบ้านลาด แต่ต้องขับรถเข้าไปสักพักซึ่งอาจจะไม่สะดวกนัก อีกแห่งที่อยากแนะนำคือ  ที่ตลาดกลางเกษตรอำเภอท่ายาง เพราะตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษมเลยทางเข้าอำเภอท่ายางไปทางชะอำเพียงสาม กิโลเมตร จะมีป้ายใหญ่เห็นแต่ไกล   ที่ตลาดนี้ทุกวันจะมีรถของโรงแรมต่างๆในเขตอำเภอชะอำและหัวหินมาจอดซื้อ อาหารสดมากมาย เพราะมีราคาถูกกว่าที่อื่นมาก เพราะขายในราคาส่ง


 ถ้าไม่คิดจะซื้อในปริมาณมาก ขอแนะนำให้แวะที่ตลาดสดอำเภอท่ายาง ซึ่งจะมีอาหารจำหน่ายแบบปลีกทุกชนิดในราคาถูก เพราะเป็นตลาดที่ชาวสวนชาวบ้านเก็บพืชผลมาขายกันเอง   วิธีจะไปตลาดนี้ก็แค่เลี้ยวขวาจากถนนเพชรเกษมเข้าไปในตัวเมือง  จะเห็นตลาดอยู่ขวามือ
      หากมาในช่วงเช้าแนะนำให้ลองรับประทานอาหารเช้าแบบคนท่ายาง คือข้าวราดแกงป่าไก่ และเนื้อ หรือหมูเค็ม กับไข่ต้มยางมะตูม ความที่เมืองนี้เป็นเมืองต้นตำหรับพริกกะเหรี่ยงที่เผ็ดหอมที่สุดในประเทศไทย  แกงป่าที่นี่จึงเข้มข้นแบบลืมไม่ลง กรณีที่ติดใจสามารถหาซื้อน้ำพริกแกงได้ที่ในตลาดนั่นเอง

ถ้าคุณมาในวันอังคารและวันศุกร์ซึ่งเป็นวันที่มีตลาดนัดแล้วล่ะก็ ไม่ต้องหาตลาดสดให้ลำบาก เพราะจะมีตลาดนัดขายของเต็มทั้งเมืองเดินเลือกดูได้ทุกซอย   สินค้าที่มาขายนอกจากจะเป็นผักผลไม้แล้ว ยังมีประเภทหมู ไก่ เนื้อ และอาหารทะเลซึ่งขายโดยชาวประมงค์จากอำเภอบ้านแหลมด้วย
จึงไม่ต้องแปลกใจถ้าจะพบชาวกรุงเทพหรือจังหวัดอื่นๆเดินซื้ออาหารในตลาดท่ายาง ในช่วงเช้าวันเสาร์หรือวันศุกร์   ส่วนบ่ายวันอาทิตย์แถวในซอยข้างธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาท่ายาง  ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านขนมหวานแม่บุญล้น ก็จะคลาคล่ำไปด้วยผู้ที่มาซื้อขนมที่ร้านนี้
ร้านแม่บุญล้นมีชื่อเรื่องขนมบ้าบิ่นมะพร้าวอ่อน ซึ่งไม่มีที่ไหนทำได้อร่อยเท่านี้อีกแล้ว ส่วนขนมที่ดิฉันชอบมากเป็นพิเศษคือฝอยทองสด ทำใหม่ๆ รสไม่หวานจนเกินไป  แต่หอมน่าทานยิ่งนัก
เรื่องภาษาของเมืองเพชร หลายท่านทราบดีว่าคนเมืองเพชรพูดเหน่อ  ซึ่งดิฉันเองตอนเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯใหม่ๆ มักจะถูกเพื่อนๆล้อเลียนอยู่เสมอ   และไหนๆจะมาเมืองเพชรทั้งที   น่าจะรู้จักภาษาพื้นเมืองเอาไว้บ้าง จะได้ไม่เกิดกรณีเข้าใจภาษาคลาดเคลื่อน ให้ต้องตีความกันภายหลัง ภาษาของชาวเมืองเพชรมีบางคำแตกต่างจากภาษาของจังหวัดอื่น ดังตัวอย่างต่อไปนี้ (เวลาอ่านกรุณาทำเสียงเหน่อๆด้วย)
คำว่า ไม่รู้ คนเมืองเพชรพูด รู้ไม่ -ออกเสียง รู๊ ไม่
คำว่า ไม่เอา คนเมืองเพชรพูด  เอาไม่-ออกเสียง เอ๊า ไม่
คำว่า ไม่ไป คนเมืองเพชรพูด ไปไม่-ออกเสียง ไป๊ ไม่
คำว่า ไม่เป็นไร คนเมืองเพชรพูด เป็นไรไม่-ออกเสียง เป็น ไร๊ ไม่

      จากคำเหล่านี้คงเห็นแล้วว่า ถ้าไม่รู้มาก่อน คุณอาจเข้าใจคนเมืองเพชรผิดได้ แค่เพียงคุณถามว่า “รู้ไหม?” เขาตอบคุณว่า “ รู๊ ไม่” หากฟังไม่ถนัด คุณคงคิดว่าเขารู้อย่างแน่นอน ในขณะที่เขาไม่รู้ และคุณอาจเข้าใจผิดว่าเขาตั้งใจกวนประสาทคุณ แต่เปล่าเลย คุณไม่เข้าใจต่างหากล่ะ

           เมื่อรู้เรื่องภาษาอย่างนี้แล้ว คุณก็สามารถมาเมืองเพชรได้สบาย แค่พูดเสียงเหน่อๆเสียหน่อย รับรองว่าไม่อดตายแน่นอน  แล้วพบกันที่เมืองเพชรนะจ๊ะ       

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เที่ยวเมืองเพชร ตอนที่ 1

หลังจากที่วารสารสกุลไทย รายสัปดาห์ ได้ลงบทความเรื่อง "เที่ยวเมืองเพชรบุรี " ตอน Unseen Petchaburi ไปสองฉบับแล้ว  สิ่งที่ตามมาคือเสียงโอดครวญจากบรรดานักอ่านที่อยู่ห่างไกล  ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ว่าหาซื้อหนังสือสกุลไทย ไม่ได้เลย 

ซึ่งก็น่าจะเป็นความจริง เพราะหนังสือสกุลไทย เป็นที่นิยมมาช้านาน และเหนียวแน่นของสาวก ที่อ่านมาตั้งแต่สาวจนอายุมาก  ผู้ที่จะได้ครอบครองหนังสือนี้ ส่วนใหญ่ต้องเป็นเจ้าประจำที่รับทุกฉบับ  หรือไม่ก็ต้องหาอ่านตามห้องสมุดสถานศึกษา และหน่วยงานต่างๆ หรือ ตามร้านเสริมสวยที่มักรับไว้ให้ลูกค้าอ่าน 

ยิ่งผู้ที่อยู่ต่างประเทศแล้วยิ่งน่าสงสารยิ่งนัก  หากไม่บอกรับประจำ ก็จะไม่มีโอกาสได้อ่านเลย แถมยังต้องอ่านช้ากว่าบ้านเรา 1 สัปดาห์อีกต่างหาก  หลายท่านขอให้ส่งบทความไปให้ทาง Email ซึ่งก็จัดการไปให้หลายท่าน

แต่ด้วยเสียงร่ำร้องนี่เอง ที่ทำให้ฉันตัดสินใจนำบทความนี้มาขึ้นในบล็อก เพื่อให้ท่านที่ไม่มีโอกาสได้อ่าน สามารถอ่านได้เช่นเดียวกับผู้อื่น  เป็นการช่วยผ่อนแรงให้ สกุลไทยด้วย 

ที่จริงบทความนี้ ฉันเขียนไว้พักใหญ่แล้ว บางท่านอาจเคยผ่านตามาบ้าง   สำหรับท่านที่อ่านในหนังสือสกุลไทยมาแล้ว  และคงไม่เบื่อเสียก่อนนะ  

 
เที่ยวเมืองเพชร   
UNSEEN PETCHBURI  

                ในช่วงที่ภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน กำลังมาแรง จนใครที่ยังไม่ได้ดูหรือไม่รู้จักเรื่องนี้คงเชยเป็นอย่างยิ่ง  หลังจากดูภาพยนตร์ก็ทำให้มีความสงสัยว่า ผู้เขียนเรื่องนี้น่าจะเป็นคนที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกับดิฉันเป็นแน่  โดยเฉพาะเมื่อเห็นฉากในหนังซึ่งเกือบทั้งหมด ถ่ายทำที่ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี  บ้านเกิดของดิฉันเอง 
         สำหรับผู้คนทั่วไปภาพยนตร์เรื่องนี้อาจเป็นแค่ดูสนุกๆ ไม่มีความหมายอะไร แต่สำหรับชาวท่ายาง หรืออำเภอใกล้เคียง ในจังหวัดเพชรบุรี หรือแม้แต่ในหลายๆจังหวัดแล้ว นี่คือเรื่องจริงที่คนหลายรุ่นหลายสมัย หรือแม้แต่ปัจจุบันยังคงมีวิถีชีวิตที่ไม่แตกต่างไปจากภาพยนตร์เรื่องนี้เลย และแน่นอนว่านี่คือช่วงหนึ่งของชีวิตในวัยเด็กของดิฉันและเพื่อร่วมรุ่นอีกหลายต่อหลายคน
         ฉากในภาพยนตร์ซึ่งเป็นเรื่องเล่าถึงยุคที่ผ่านมามากกว่าสิบปี โดยพยายามหา Location ให้ดูเก่า และก็มาพบอำเภอท่ายาง สถานที่ซึ่งมีสภาพเช่นในภาพยนตร์โดยไม่ต้องทำเติมเสริมแต่งให้ดูเก่า แต่สามารถเก่ามาตั้งแต่สมัยดิฉันยังเด็กจนปัจจุบัน ก็ยังมีสภาพไม่เปลี่ยนไปมากนัก เรายังมีห้องแถวไม้เก่าๆ แซมด้วยตึกเก่าที่สร้างมาในยุคที่เศรษฐกิจดูเหมือนดีอยู่ทั่วไป ผู้คนสัญจรไปมาจากซอยนี้ไปซอยโน้นด้วยจักรยานสองล้อ และหนึ่งในนั้นคือดิฉันนั่นเอง ดิฉันภูมิใจและมีความสุขที่ได้เป็นคนของจังหวัดนี้ โดยเฉพาะเมืองท่ายาง แม้ต้องไปทำงานที่เมืองอื่นปีแล้วปีเล่า แต่ก็ไม่เคยเลยที่จะไม่กลับมาในวันหยุด เหตุผลเพราะที่นี่คือ “บ้าน
         และเพื่อเป็นเป็นเกียรติแก่บ้านเกิด ดิฉันจึงขอแนะนำ จังหวัดเพชรบุรีฉบับ Unseen ให้ทุกท่านได้รู้จักในมุมที่หลายท่านไม่เคยทราบมาก่อน
        จังหวัดเพชรบุรีเป็นสถานที่ที่แทบทุกคนในประเทศไทยรู้จักดี สิ่งที่ทำให้จังหวัดนี้มีชื่อเสียง 80% เป็นอาหาร และ 20% เป็นสภาพภูมิศาสตร์และผลผลิตพื้นเมือง พูดถึงสิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดของจังหวัดเพชรบุรี ทุกคนต้องรู้จักขนมหม้อแกง และขนมหวานพื้นบ้านของไทย ที่อร่อยที่สุดในโลกก็ว่าได้ ผลิตผลที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นที่มาของขนมหวานคือ น้ำตาลโตนด ที่มาจากต้นตาล ต้นไม้คู่บ้านคู่เมืองเพชร

        ส่วนสถานที่ที่มีชื่อคือ “ พระนครคีรี พระราชวังฤดูร้อน บนยอดเขาซึ่งมีลักษณะคล้ายปราสาทของเจ้านายในทวีปยุโรป   นอกจากนั้นยังมีวัดวาอารามอีกมากมาย  โดยที่เมืองเพชรได้ชื่อว่าเป็นเมืองพระเนื่องจากมีวัดสร้างขึ้นมากในตัวอำเภอเมืองและรอบนอก 
        เมื่อพูดถึงธรรมชาติ เพชรบุรีมีหาดทรายสวยที่ชื่อ“ชะอำ” มีทะเลสาบและเขื่อนดินกั้นน้ำแห่งแรกของประเทศ คือเขื่อนแก่งกระจาน กล่าวได้ว่า เพชรบุรี เป็นเมืองที่มีสถานที่น่ามาท่องเที่ยวในทุกประเภทครบวงจร คือ มีทั้งภูเขา ทะเล แม่น้ำ ทะเลสาบ ทะเลหมอก เกาะ แก่ง ป่า น้ำตก ดูนก ชมผีเสื้อ วัดวาและพระราชวัง แถม ผู้คนดีมีน้ำใจ อาหารอร่อย ขนมรสหอมหวานชื่นใจ ทั้งหมดนี้คือภาพที่ผู้คนรู้จักเมืองเพชรบุรี
        แต่ยังมีในอีกมุมมองหนึ่งที่น้อยคนนักจะได้เห็นเมื่อมาถึงเมืองเพชร  นั่นคือสิ่งที่ดิฉันจะนำมาเล่าให้ฟัง โดยเรียกมุมนี้ว่า Unseen Petchburi
        การเที่ยวชมเมืองเพชรในจุดที่ไม่ค่อยมีการนำเสนอต่อนักท่องเที่ยวนี้ มีทั้งพาชมและพาไปชิม  คือชมสถานที่และชิมอาหารอร่อยแบบพื้นบ้าน แต่ขอออกตัวสักเล็กน้อย ว่าอาจจะมีการชิมมากกว่าชมสักหน่อย 

              ริ่มจากอำเภอเมืองเพชรบุรี การเดินทางมาเที่ยวเมืองเพชรจะมีโอกาสหลงทางได้ยาก เพราะเมืองเพชรมี Land Mark ให้สังเกตมากมาย เช่นพระนครคีรี หรือเขาวัง ซึ่งตั้งอยู่เป็นด่านหน้าก่อนเข้าตัวเมืองเพชร โดดเด่นและเห็นมาแต่ไกล ยิ่งขับรถมาใกล้เขาวังเท่าไร ก็แปลว่าเข้าใกล้เมืองเพชรเท่านั้น  


           ส่วนในตัวเมืองยังมีพระปรางวัดพระมหาธาตุ สีขาวสูงเด่นเป็นสง่าอยู่กลางใจเมือง  ในกรณีที่ท่องเที่ยวอยู่ในตัวเมืองถ้าหลงทิศหลงทางให้พยายามมองหายอดพระปรางสีขาวนี้ไว้  เราก็จะกลับมายังจุดศูนย์กลางของเมืองได้ ดังนั้นจึงมีโอกาสหลงทางน้อยมาก เพราะมีจุดเด่นของสถานที่ให้สังเกตนั่นเอง
     
พูดถึง เขาวัง หรือพระนครคีรี  ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างยิ่งของเมืองเพชร  ปัจจุบันมี Cable Car ให้บริการ รับส่งนักท่องเที่ยว ขึ้นลงเขาสะดวกสบาย ก็คงไม่พูดถึงมากนัก   แต่ขออนุญาตทบทวนความหลังของการมาเที่ยวเขาวังสมัยเป็นเด็กของดิฉันสักเล็กน้อย
      ดิฉันจำความรู้สึกในครั้งที่ครอบครัวของเรามาเที่ยวเขาวังได้ไม่เคยลืม แม้เราจะมาบ่อยแค่ไหน เราก็สนุกสนานและอบอุ่นทุกครั้งที่มา  หากถามคนเมืองเพชรในสมัยเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว  ทุกคนในสมัยนั้นจะตื่นเต้นกับงาน “หน้าเขา” มาก (ชื่อนี้ใช้เรียกงานทุกงานที่จัดในบริเวณสนามหน้าพระนครคีรี   เช่นงานกาชาด และ งานสงกรานต์) ผู้คนที่มาเที่ยวนอกจากจะเป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียงแล้ว 90%เป็นคนเมืองเพชรเองทั้งสิ้น วันไหนจะไปเที่ยว “งานหน้าเขา” จะต้องมีการเตรียมตัวอย่าพิถีพิถัน หนุ่มๆต้องใส่เสื้อฮาวายตัวใหม่ ใส่กางเกงขายาว (ปรกติอยู่บ้านมักใส่ขาสั้น) และต้องไม่ลืมใส่น้ำมันใส่ผมยี่ห้อ   “ ไบร์ครีม เพิ่มความหล่อด้วย
      ส่วนสาวๆทั้งสาวมากและสาวน้อย ต่างก็ต้องตื่นกันแต่เช้าเพื่อจองคิวร้านทำผม  บางคนนั่งรอทั้งวันเพื่อดัดผม หรือทำผมแบบเกล้ามวยพองสูงๆ  เสื้อผ้าก็จะใส่กระโปรงบานแบบมีสุ่มซึ่งทำด้วยใยพาสติกไว้ข้างในให้พองๆ  งานนี้เป็นโอกาสเดียวในรอบปีของสาวเมืองเพชรที่จะได้สวมรองเท้าส้นสูงไปเที่ยว ในยุคนั้นดิฉันโชคดีที่ยังเป็นเด็กจึงไม่ต้องทำแบบนั้น เพราะทุกครั้งที่ไป “งานหน้าเขาดิฉันจะเห็นสาวๆเดินแบบ ทรมานสังขารเพราะไม่สบายด้วยถูกรองเท้าส้นสูงกัด บางคนถึงกับต้องถอดรองเท้าหิ้วเดินกันเป็นแถว
      งานหน้าเขาในความทรงจำของดิฉันคือ การที่ได้ไปเที่ยวกันพร้อมหน้าทั้งครอบครัว โดยเราจะนำอาหารเย็นใส่ปิ่นโต หรือห่อด้วยใบตองไปจากบ้านเพื่อขึ้นไปรับประทานพร้อมชมวิวเมืองเพชรบนยอดเขาวัง อันเป็นที่ตั้งของพระราชวังเก่า  ซึ่งเปิดให้เข้าชมในวาระพิเศษนี้เท่านั้น ความสนุกอยู่ที่การเดินขึ้นเขาตามทางที่สร้างด้วยหินสกัดในสมัยรัชกาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  (ยังไม่มีรถรางขึ้นเหมือนสมัยนี้ ) 
       เตี่ย กับแม่ จะเป็นผู้ถือกระเช้าใส่อาหาร  ส่วนดิฉันและพี่น้องช่วยกันถือถุงขนม แต่มักต้องซ่อนไว้ในเสื้อ   เพราะระหว่างทางจะมี “ขาโจ๋  ( ลิง) คอยแย่งอาหารในมือเราตลอดทาง สมัยนี้แม้มีรถรางขึ้นเขาแต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวเดินขึ้นเพื่อชมสถานที่และอาคารโบราณ สองข้างทาง และแน่นอนว่า ขาโจ๋ หรือ ขาจ๋อเหล่านั้นก็ยังคงคุมเส้นทางอยู่  ไม่แพ้ที่ศาลพระกาฬ จังหวัดลพบุรีเลย   ปัจจุบัน งานหน้าเขา ถูกเรียกชื่อใหม่เป็น  งานพระนครคีรี โดยรูปแบบการจัดงานถูกเปลี่ยนไปตามยุคและความนิยม  และแน่นอนว่า ไม่มีใครพาลูกๆขึ้นมาตั้งวงปิกนิคบนยอดเขาอีกเลย 

ท่านที่อยู่ในจังหวัดภาคกลางคงเคยได้ยินคำพูดเกี่ยวกับจุดเด่นของคนเมืองต่างๆ แถบนี้ที่ว่า คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง คนกงเพชรบุรี บ้าง โดยเฉพาะคำว่า    “คนกงซึ่งมักจะถูกเรียกเพี้ยนเป็นคนโกงอยู่เสมอๆ   คำว่า คนกง ” เป็นคำโบราณที่หมายถึงคนตรง มิได้หมายถึง คนโกง แต่ประการใด ดิฉันเห็นความเป็นคนตรงของคนเพชรมาตั้งแต่เกิด และบางส่วนถูกซึมซับไว้ในนิสัยของเด็กรุ่นหลังไม่มากก็น้อย ส่วนคนโกงนั้นก็เป็นธรรมดาของปุถุชนที่ต้องมีกันบ้างในทุกที่   
        เหตุผลที่สามารถนำมาสนับสนุนความเป็นคนตรงอีกข้อคือ เรามีวัดมากที่สุด จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองพระ ดังคำขวัญที่ว่า เพชรบุรีเมืองพระ ธรรมะครองใจ เพราะแค่ในตัวอำเภอเมืองเพชรบุรี ก็มีวัดถึง 99 วัดเข้าไปแล้ว   ความที่มีวัดตั้งอยู่มาก  ดังนั้นไม่ว่าจะขับรถไปถนนไหน เป็นต้องผ่านวัดทุกถนน   บางวัดกำแพงสร้างติดกัน หรือใช้กำแพงร่วมกันไปเลยก็มี และทุกวัดล้วนเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาในสมัยโบราณทั้งสิ้น หลายวัดยังมีร่องรอยของประวัติศาสตร์ให้เห็นจนปัจจุบัน เช่นรอยขวานของทหารพม่าที่พยายามเปิดประตูโบสถ์ของวัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นต้น



  ดังนั้นการมาเที่ยวเมืองเพชร นอกจากจะชมธรรมชาติแล้ว การเที่ยววัดจึงเป็นอุตสาหกรรมหลักของท้องถิ่นก็ว่าได้   สำหรับบ้านเมืองตึกรามบ้านช่องในอำเภอเมืองเพชรบุรี ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านเก่า โดยจะแบ่งเป็นยุคๆไป ยุครุ่งเรืองครั้งสุดท้ายของการสร้างตึกน่าจะอยู่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดใหม่ๆ
       หลังจากยุคนั้นมีการสร้างบ้างแต่ไม่นับว่าเป็นความรุ่งเรือง โดยเฉพาะในปัจจุบันเรียกได้ว่าหยุดสนิท ดังนั้นบ้านเรือนแบบห้องแถวไม้โบราณ และตึกสองชั้นแบบเก่าประเภทติดลูกไม้ที่ชายคาบ้านและลูกกรงช่องลมแบบสวยงาม จึงมีให้เห็นและชื่นชมอยู่มากมาย ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจที่เรายังคงรักษาบ้านเก่าๆที่สวยงามเหล่านี้ไว้ได้
       ในบรรดาห้องแถวเก่าๆของถนนพานิชเจริญ นี้ มีอยู่หนึ่งคูหาที่เป็นบ้านของ  ป้าเนื่องช่างทองเก่าแก่ของเมืองเพชร ซึ่งเป็นช่างรับทำเครื่องประดับ ทองรูปพรรณตามสั่ง นอกจากสร้อยคอและเครื่องถนิมพริ้มเพราที่สวยงามมีชื่อเสียงแล้ว ป้าเนื่องยังมีฝีมือเป็นเลิศในการเลี่ยมพระ (พระเครื่องห้อยคอ) อีกด้วย ครอบครัวของดิฉันมีโอกาสได้ครอบครองผลงานตลับหุ้มพระฝีมือป้าเนื่องอยู่หลายชิ้น โดยบางชิ้นได้รับรางวัลจากการประกวดระดับประเทศ ปัจจุบันป้าเนื่องมีอายุมากแล้ว แต่ยังคงรับทำบ้างเป็นบางชิ้น ส่วนใหญ่ในยุคนี้จะเป็นฝีมือลูกหลานของท่าน  ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิชาทำทองเป็นผู้ทำให้กับลูกค้าทั่วไป

การทำทองรูปพรรณที่นี่จะแตกต่างจากร้านทำทองทั่วไปตรงที่
 
ข้อแรก  ใช้เวลานานมากในการทำแต่ละชิ้น  เพราะทุกขั้นตอนแทบจะไม่ใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วย คือทำด้วยมือจริงๆ
 
ข้อสอง  ทองที่ป้าเนื่องใช้จะเป็นทองพิเศษ เพราะเป็นทองบางสะพาน (อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) ซึ่งเป็นทองที่มีเนื้อทองบริสุทธิ์มากกว่าแหล่งอื่น
 
ข้อสาม ลวดลายของป้าเนื่องมีไม่มาก ไม่เหมือนทองจากจังหวัดอื่น  แต่ฝีมือเหนือชั้นกว่ามาก  ผลงานที่มีชื่อเสียงคือสร้อยลายสี่เสา (รับทำตั้งแต่หนักสามบาทขึ้นไป) ลูกกระดุมทองโบราณ  สร้อยลายลูกสน และที่หลายคนปรารถนาอยากเป็นเจ้าของอย่างยิ่งคือ กำไลข้อมือลายตะขาบทรงเครื่อง ซึ่งลวดลายวิจิตรยิ่งนัก


      การสั่งทำ ทุกเส้นจะทำตามออเดอร์ และวัดขนาดข้อมือของผู้สั่งทำ ทุกเส้นจึงมีความยาวและน้ำหนักทองไม่เท่ากัน ดิฉันจำได้ว่าต้องรอสร้อยข้อมือเส้นนี้อยู่หนึ่งปีเต็ม จึงได้มา แต่โชคร้ายตรงที่บังเอิญช่วงที่รออยู่นั้น ดิฉันสมบูรณ์ขึ้นมาหลายกิโล เมื่อสร้อยข้อมือทำเสร็จจึงไม่สามารถใส่ได้ ( ปัจจุบันได้แต่เอาออกมาชื่นชมได้อย่างเดียว)  
      ช่วงที่สั่งทำนั้น เมืองเพชรฯยังไม่มีโทรศัพท์ติดต่อกัน  เวลาจะไปรับของ ป้าเนื่องจะส่งคนนั่งรถโดยสารมาบอกที่บ้านให้ไปรับ  วิธีการจ่ายเงินจะกระทำวันที่ไปรับของโดยจะชั่งน้ำหนักทองและตีราคาตามราคาทองในวันนั้น จึงเป็นเรื่องปรกติที่ราคาของงานแต่ละชิ้นแม้จะเหมือนกัน แต่ราคาจะแตกต่างกันไปตามราคาขึ้นลงของทองคำ 
      การมอบชิ้นงาน ป้าเนื่อง จะห่อเครื่องประดับด้วยกระดาษขาวพร้อมเขียนชื่อเจ้าของชิ้นงานไว้ว่า ชิ้นนี้เป็นของใคร น้ำหนักทองเท่าไร  ปัจจุบันดิฉันยังคงเก็บสร้อยข้อมือที่ป้าเนื่องทำไว้ในสภาพเดิมที่รับมาคือ ห่อกระดาษขาวที่กลายเป็นสีเหลืองน้ำตาล เพียงเพราะกระดาษชิ้นนั้นเขียนชื่อดิฉันไว้นั่นเอง
      ที่เล่าเรื่องป้าเนื่องให้ฟังเพราะดิฉันมีความภาคภูมิใจในฝีมือของช่างทอง เมืองเพชรซึ่งเป็นช่างทองโบราณอย่างแท้จริง แม้ไม่โด่งดังเหมือนทองจากเมืองอื่น แต่คุณค่าอันเกิดจากโอกาสที่จะได้ครอบครองเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหา และสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ที่เป็นเจ้าของเป็นอย่างยิ่ง

             นอกจากเรื่องของสวยงามแล้ว  ดิฉันจะขอเล่าถึงกีฬาพื้นเมืองของคนเพชรที่ คนต่างเมืองน้อยคนนักจะรู้จัก  นั่นคือ “ วัวลาน กีฬาชนิดหนึ่งของคนเมืองเพชร  ว่ากันว่าเป็นกีฬาของลูกผู้ชาย   ซึ่งเป็นการผสมผสานความสัมพันธ์กันระหว่างนักกีฬาคือวัว กับ คนได้อย่างดี   “วัวลาน”  เป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันในฤดูที่เกี่ยวข้าวเสร็จ เพราะท้องนาจะแห้งไม่มีโคลน และต้นข้าว
       การเล่นกีฬานี้จึงช่วยทำให้ต้นข้าวที่ถูกเกี่ยวไปไม่หมดและติดอยู่กับท้องนา ถูกทั้งวัวและคนเหยียบจนราบไปกับพื้น เป็นปุ๋ยได้เร็วขึ้น ดิฉันคิดเอาเองว่ากีฬานี้น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่เจ้าของนาต้องการให้วัวของตนได้ ออกกำลังกาย  ในช่วงว่างเว้นจากการไถนา มิฉะนั้นวัวก็จะอ้วนและไถนาไม่ไหวในฤดูไถนาในปีต่อไป

        กีฬานี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคน ซึ่งตัวหลักคือ วัว ซึ่งเป็นนักกีฬา และ คน ซึ่งเป็นเจ้าของวัว  นอกจากนั้นก็ยังมี  กรรมการตัดสิน   และ ทีมงานที่เป็นคนจัดการกับวัวที่แตกแถว เราเรียกคนๆนี้ว่า  เชนวัว   ส่วนผู้ชมส่วนใหญ่เป็นสุภาพบุรุษ เพราะกีฬานี้คนดูต้องมีฝีเท้าไวพอๆกับนักกีฬา และต้องคอยระวังตัวตลอดเวลา เพราะหากโชคร้าย วัวแตกแถว ก็อาจวิ่งออกมาเหยียบท่านผู้ชมได้ นั่นเอง
        เวลาในการแข่งขันจะเริ่มตั้งแต่สามทุ่มขึ้นไป เหตุที่แข่งกลางคืนเพราะอากาศกลางวันร้อนจัดมาก จะทำให้วัวเหนื่อยและอาจคลั่งวิ่งเตลิดจน “ เชน ”ไม่สามารถควบคุมได้
        ก่อนการแข่งขันบรรดาค่ายนักกีฬาจากตำบลและหมู่บ้านต่างๆจะคัดเลือกนักกีฬา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นวัวที่ใช้ไถนานั่นเอง ไม่มีการนำเข้าวัวจากที่อื่นมาเด็ดขาด  อันนี้ดิฉันขอยืนยันได้ เหตุผลเพราะ กีฬานี้เป็นกีฬาพื้นบ้าน การแข่งขันเกิดขึ้นเพื่อชิงความเป็นเจ้าพลัง(วัว) ชาวบ้านจึงมักส่งวัวของท้องถิ่นตัวเองเข้าแข่งขัน  ดังนั้นบ้านไหนมีวัวชื่ออะไร ฝีเท้าดีไม่ดี ทุกบ้านทุกตำบลจะรู้กันหมด 

       แม้แต่วัวจากจังหวัดใกล้เคียงที่วิ่งเก่งก็มักมีชื่อเสียงขจรไปไกล เป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง ดังนั้นถ้ามีวัวแปลกหน้าเข้ามา ผู้เข้าแข่งและผู้ชมจะรู้ทันที จึงไม่ต้องแปลกใจถ้าในช่วงหัวค่ำคือ ระหว่างหนึ่งทุ่มถึงสามทุ่ม จะเป็นช่วงที่เจ้าของวัวจากทุกหมู่บ้านทุกตำบลทั้งที่เป็นผู้ส่งวัวเข้าแข่ง และเป็นผู้มาเชียร์( กองเชียร์มากันเป็นหมู่บ้าน) ต่างจะเดินสำรวจและทักทายวัว (นักกีฬา) ที่ถูกจัดพักไว้ในคอกวัวรอบสนามประลอง    ในช่วงนี้เองที่จะมีการประเมินจัดอันดับมือวางว่าใครจะเป็นมือวางอันดับหนึ่งในศึกครั้งนี้
     
      น้องชายของดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่รักกีฬาประเภทนี้มาก เราเรียกคนที่ชอบกีฬานี้ว่า     “ นักเลงวัว  แม้จะมีอาชีพเป็นนักการเมืองท้องถิ่น  แต่ทุกครั้งที่มีการแข่งวัวลาน เราจะพบเขาคาดผ้าขาวม้าที่เอวเดินทักวัวทุกตัวก่อนการแข่งขัน โดยเขาสามารถจำชื่อวัวได้ทั้งหมด (ไม่แน่ใจว่าจำชื่อคนได้มากเท่านี้หรือไม่) อาจเป็นเพราะวัวมีชื่อสั้นพยางค์เดียวกระมังเช่น ไอ้ดำ ( ต้องขอโทษด้วยที่ใช้คำว่า อี หรือ ไอ้ ซึ่งดูเหมือนเป็นคำไม่สุภาพ แต่ต้องเรียกอย่างนี้จริงๆ เพราะเป็นชื่อของเขา ) อีนวล ไอ้สีดอ ไอ้ด่าง อีเก ไอ้เข ฯลฯ

       มีเรื่องเล่ากันว่า ใครก็ตามที่มาดูวัวลานครั้งหนึ่งแล้ว และมีโอกาส หรือบังเอิญถูกมูลวัวเปื้อนเสื้อ หรือส่วนใดของร่างกายก็ตาม คนผู้นั้นจะติดกีฬาวัวลานนี้จนงอมแงม เรียกว่ามีการแข่งที่ไหนต้องตามไปเชียร์นักกีฬาขวัญใจของตนเองที่นั่น คำพูดนี้น่าจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง เพราะน้องชายของดิฉันหลายคนมักกลับมาบ้านพร้อมกลิ่นมูลวัว
      
สนามแข่งขัน “ วัวลาน” ทำอย่างง่ายที่สุด เพียงปรับพื้นที่นาให้เรียบสักสิบไร่ แล้วขุดดินปักเสาแก่นลงไปให้แน่นหนา เสานี้ควรสูงสักสิบเมตรจากพื้นดิน จากนั้นผูกเชือกเส้นใหญ่ที่แข็งแรงให้มีความยาวเท่ากับจำนวนวัวที่ต่อเรียงกันสิบตัว โดยมีห่วงผูกวัวเป็นจุดๆตามความยาวของเชือกเส้นนั้น
 

      
กติกาการแข่งขัน วัวจะถูกผูกเป็นแถวเรียงหน้ากระดานและวิ่งพร้อมกันเป็นวงรอบเสาเหมือนเข็มนาฬิกา ประมาณสิบรอบหรือจนกว่าจะมีการแพ้ชนะ กรรมการจะทำการคัดเลือกวัวมาเปรียบเทียบฝีเท้ากัน โดยผูกวัวเป็นตับเรียงตามความยาวของเชือก ประมาณสิบตัว ตัวเต็งฝีเท้าวางอันดับหนึ่งจะถูกผูกไว้เป็นตัวที่สิบ คืออยู่นอกวงสุด ที่ปลายเชือก ส่วนวัวตัวในที่ใกล้เสาจะเป็นนักกีฬาหน้าใหม่ฝีเท้ายังไม่เข้าขั้น 

       เราเรียกวัวตัวที่ 1ถึง 8 ว่า วัวพวงคือเป็นแค่ตัววิ่งประกอบกันไม่ให้วัวตัวสุดท้ายและรองสุดท้ายวิ่งเข้ามาใกล้ เสา เพราะถ้าเข้าใกล้เสากลางแปลว่าระยะทางจะแคบลง การเปรียบเทียบและแข่งขันจะเปรียบกันระหว่างตัวที่ 9 ที่เรียกว่า วัวรอง กับตัวที่ 10 ที่เรียกว่าวัวนอก เท่านั้น ถ้าตัวไหนฝีเท้าดีและวิ่งเร็วกว่าจะลากตัวที่เหลือให้วิ่งตาม แปลว่าแพ้
       การแข่งขันจะคัดเลือกทีละคู่แบบแพ้คัดออก จนได้แชมป์ซึ่งกว่าจะแข่งเสร็จก็ถึงเวลาเช้าพอดี  ดังนั้น ในช่วงที่มีการแข่งวัวลาน(ช่วงปลายและต้นปี) จึงมักเห็นรถสิบล้อขนวัวไปแข่งในตอนค่ำ ตามด้วยกองเชียร์ร้องเพลงสนุกสนาน และกลับหมู่บ้านในตอนเช้า ทีมไหนชนะก็ร้องเพลงดังลั่นถนน ส่วนทีมแพ้กองเชียร์ก็พากันนอนหลับใต้ขาวัวกันเป็นแถว  รถเงียบสนิท

       ระหว่างการแข่งขัน เนื่องจากบรรยากาศจะคึกคักมาก เพราะมีผู้คนล้นหลาม จึงทำให้นักกีฬาค่อนข้างจะตื่นคน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ระหว่างการแข่งซึ่งมีวัวผูกติดกันเป็นแถวสิบตัว และแต่ละตัวก็ตื่นเต้นกันทั้งนั้น เมื่อเริ่มStart ให้วัววิ่ง เชนวัวจะเป็นผู้ไล่วัวด้วยการส่งเสียงไล่หรือใช้ไม้ยาวๆตีวัวให้รู้เป็นสัญญาณ ครั้นเวลาจะให้วัวหยุดวิ่ง ก็ไม่สามารถสั่งให้หยุดได้จึงต้องมี เชนวัว เป็นผู้เบรกให้วัวหยุดด้วยการยึดวัวที่เขาวัวด้วยมือทั้งสองข้างแล้วใช้เท้า ยันพื้นซึ่งต้องใช้กำลัง และเวลาพักใหญ่อีกทั้งยังต้องการระยะทางพอประมาณในการหยุดวัว

              เชนวัว แต่ละสนามต้องมีครั้งละสิบคนขึ้นไป เรียกว่า วัวหนึ่งตัวก็ หนึ่งเชนกันเลย นอกจากมีหน้าที่ตามที่กล่าวมาแล้ว เชนวัว ยังต้องมีหน้าที่ในการบริหารวัวที่แตกแถวเนื่องจากความตกใจให้หยุดก่อนที่จะไปเหยียบคนดู ด้วยวิธีการต่างๆ  แล้วแต่ความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน  มีหลายครั้งที่ เชนวัว ก็โดนวัวเหยียบเอาบ้างเหมือนกัน แต่ตำแหน่งนี้นับได้ว่าเป็นตำแหน่งที่น่าภาคภูมิใจเพราะได้แสดงความเป็นลูกผู้ชายตัวจริงกันอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นตำแหน่งที่ปรารถนาของชายหนุ่มทุกคนในหมู่บ้าน สำหรับสาวๆทั้งหมู่บ้านหากสาวใดมีแฟนเป็น “ เชนวัว” แล้วล่ะก็ต่อให้ “ภารดร”มาคุกเข่าขอเป็นแฟน ก็ยังไม่สนเลย
        บรรยากาศในการแข่งวัวลาน แม้จะตื่นเต้นด้วยวิธีการแข่งแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสีสันของงานเลยทีเดียว สิ่งนั้นคือคนรายงานการแข่งขัน ที่เราเรียกว่า “ คนพาก” ที่มี
ลีลาสนุกตื่นเต้นมากกว่าคนพากมวยมากมายนัก เพราะเกือบทุกสนามแข่งขัน คนพากจะมีสำเนียง “ เหน่อ แบบเมืองเพชร และล้วนเป็นผู้ที่มีอารมณ์ขันทั้งสิ้น ที่สำคัญคือจำชื่อนักกีฬาได้หมดทุกตัว จำได้แม้กระทั่งประวัติของนักกีฬาเหล่านั้น ว่ามาจากค่ายไหน เคยชนะที่ไหนมาบ้าง บางครั้งที่ดิฉันไม่กล้าเข้าไปดูการแข่งขันแบบ ริงไซด์  ก็จะใช้วิธีนั่งฟังเสียง คนพาก อยู่รอบนอก  ซึ่งก็ยังสามารถเห็นบรรยากาศของการแข่งขันได้เช่นกัน

        มีอยู่คำหนึ่งที่เขียนไว้ว่า วัวแตกแถว ซึ่งเป็นอาการที่วัววิ่งไปคนละทิศคนละทาง ไม่ไปตามที่ถูกสั่งให้ไป หรือไม่สามัคคีกัน คำว่า แตกแถวนี้เองที่เป็นที่มาของการเรียกคนที่ไม่ทำตามกฎกติกาของส่วนรวม เราเห็นว่าการแตกแถวของวัวจะเป็นอันตรายต่อคนที่อยู่รอบข้าง การแตกแถวของคนก็เป็นการสร้างความยุ่งยากต่อทั้งตัวคนแตกแถวเองและต่อส่วน รวมด้วยเช่นกัน 

       สิ่งที่เล่ามานี้เป็นส่วนหนึ่งของ จังหวัดเพชรบุรีในส่วนที่ไม่ค่อยมีใครได้สัมผัส ซึ่งเป็นส่วนของสถานที่และวิถีชีวิตเท่านั้น ยังมีในส่วนของอาหารการกิน  ที่ยังไม่ค่อยมีการเปิดเผยอีกมากนัก  จึงขอไปต่อในภาค 2 ที่ตั้งชื่อเป็นภาษาไทย ปน อังกฤษ ว่า Un-chim Petchburi   จะดีกว่า ขอเชิญติดตามค่ะ




ภาพวัวลาน ที่ได้รับความอนุเคราะห์มาจาก Facebook ของ " วัวลานเพชรบุรี " ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ 
การได้รับภาพจากเจ้าของนับเป็นพระคุณอย่างสูง เพราะ"กีฬาวัวลาน " เป็นกีฬาของลูกผู้ชาย โดยปกติจะไม่ค่อยมีผู้หญิงเข้าไปดู เพราะหากเกิดอุบัติเหตุวัวตื่น ผู้หญิงจะวิ่งไม่ทัน และหญิงชราอย่างดิฉันไม่มีปัญญาไปดูแน่นอน
 
ขอขอบคุณเจ้าของภาพอีกครั้ง ที่ช่วยกันบอกเล่าเรื่องเมืองเพชรฯของเราให้เพื่อนๆได้รู้จักมากขึ้น


วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

“เมื่อฉันแก่ตัวลง”


ได้รับเรื่องนี้จากเพื่อน และเห็นว่าน่าจะเป็นข้อเตือนใจสำหรับคนที่เป็นลูกทุกคน ทั้งที่อยู่ใกล้พ่อแม่และห่างไกลกับท่าน เพราะบ่อยครั้งที่เรามักลืมตระหนักถึงความรักของพ่อแม่ และอาจเผลอทำร้ายความรู้สึกของท่านโดยไม่ตั้งใจ....
เป็นเรื่องเล่าของลูกผู้ชายชาวจีนคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้นต้องมีภารกิจเดินทาง และตั้งถิ่นฐานอยู่ไกลจากพ่อแม่ แต่ก็มักติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์กับแม่อยู่เสมอ...
 แม่มักจะบอกเขาว่า “ไม่ต้องห่วงแม่” ไม่ต้องกลับมาเยี่ยมบ่อยๆ เพราะจะสิ้นเปลืองเงินทอง... ยิ่งพูดก็ยิ่งซ้ำๆซากๆ เขารู้ดีว่า แม่เริ่มคิดถึงเขามาก
จนกระทั่งปีนึง ที่แม่มีอายุครบ 75 เขาจึงตั้งใจจะกลับไปเยี่ยมแม่ โดยตั้งใจว่าจะอยู่ด้วยสัก 1 เดือน ขอเป็นเพื่อนแม่เพียงอย่างเดียว
 พอบอกข่าวนี้ให้แม่ทราบ แม้จะมีเวลาอีกตั้ง 2 เดือนเศษ แม่ก็เริ่มเตรียมตัวในการกลับมาเยี่ยมบ้านของลูก 
แม่ดึงเอาสมุดบันทึกมาจดสิ่งที่ต้องตระเตรียม แม่เตรียมรายการอาหารที่ลูกชอบ รื้อเอาผ้าห่มที่ลูกเคยชอบห่มมาปะชุนใหม่...สำหรับคนอายุ 75 เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย...
 พอลูกกลับถึงบ้าน ตอนอยู่บนเครื่องบิน เคยตั้งใจว่าจะขอกอดแม่ให้ชื่นใจสักครั้ง 
แต่พอมาเห็นแม่ แม่ที่ยืนอยู่ตรงหน้า ผอมแห้ง หน้าตาเหี่ยวย่น ช่างไม่เหมือนแม่ คนก่อนหน้านี้เลย...
 แม่ใช้เวลาเป็นชั่วโมงเตรียมอาหารที่ลูกเคยชอบ โดยที่หาทราบไม่ว่า ลูกไม่ได้ชอบอาหารแบบนั้นแล้ว และเพราะแม่ตาไม่ค่อยดี รสชาติอาหารจึงแย่มากๆ บางจานก็เค็มจัด บางจานก็จืดสนิท ผ้าห่มที่แม่อุตส่าห์เตรียมให้ ทั้งหนาทั้งหยาบ ไม่สบายกายเลย...
แม่หารู้ไม่ว่า เดี๋ยวนี้ลูกนอนห้องแอร์ และใช้ผ้าห่มขนแกะแล้ว แต่เขาก็ไม่บ่นอะไร เพราะเขาตั้งใจจะกลับมาเป็นเพื่อแม่จริงๆ
สองสามวันแรก แม่ยุ่งอยู่กับเรื่องจิปาถะ จนไม่มีเวลาพักผ่อน พอเริ่มได้พัก แม่ก็เริ่มพูดมาก สอนโน่นสอนนี่ พูดแต่ปรัชญาเก่าๆ ซึ่งปรัชญาเหล่านั้น 10 กว่าปีก่อนก็เคยพูดแล้ว พอลูกบอกให้ฟังว่า ปรัชญาเหล่านั้นไม่ทันสมัยแล้ว แม่ก็เริ่มนิ่งเงียบและเศร้าซึม...
 เหตุการณ์เริ่มแย่ลงเรื่อยๆ เขาพบว่าสุขภาพแม่แย่ลง
โดยเฉพาะสายตา บางครั้งเขาพยายามชวนแม่ไปกินอาหารนอกบ้าน
แม่ก็บอกอาหารข้างนอกไม่สะอาด

เมื่อเขาบอกแม่ว่า จะหาคนรับใช้มาช่วยแม่สักคน
แม่ก็โวยวายว่า แม่เองยังสามารถทำงานได้...
เขาเลยพูดไม่ออก พอเขาจะออกไปช้อปปิ้ง แม่ก็จะตามไปด้วย ทำเอาวันนั้นทั้งวัน ไม่ได้ซื้ออะไรเลย
 เมื่อเขาคุยกับเพื่อนในเรื่องทันสมัย... แม่ก็หาว่าพวกเขาเพี้ยน เขาก็เริ่มบอกแม่อย่างไม่ค่อยเกรงใจว่า แม่นี่มันสมัยใหม่แล้ว แม่ก็ต้องหัดมองโลกในแง่ใหม่ๆ บ้าง... 
ช่วงครึ่งเดือนหลังที่อยู่กับแม่ เขาเริ่มขัดแม่มากขึ้นเรื่อยๆ และรู้สึกรำคาญเพิ่มมากขึ้น แต่แม่ลูกเขาก็ไม่เคยทะเลาะกันนะ 
พอเขาขัดแม่ แม่ก็หยุดกึกลง ไม่พูดไม่จา นัยน์ตามีแววเหม่อลอย – โรคซึมเศร้าแบบคนแก่ของแม่ชักหนักขึ้นเรื่อยๆ ....
 ได้เวลาที่เขาจะเดินทางกลับ แม่ดึงกล่องกระดาษกล่องหนึ่งออกมา ในนั้นเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ที่แม่ตัดเก็บไว้ 
ในช่วงที่เขาไม่อยู่ แม่เริ่มสนใจข่าวสารบ้านเมือง ทุกครั้งที่มีข่าวตึงเครียดในจังหวัดนั้นๆ แม่จะต้องตัดข่าวเก็บไว้ 
ตั้งใจจะมอบให้เขา ตอนที่เขากลับมา แม่พูดอยู่เสมอว่า อยู่ไกลบ้านต้องระวังตัวให้มากๆ...
 แม่ดึงเอาปึกกระดาษข่าวนั้นออกมาอย่างยากลำบาก วางใส่ในมือเขาเหมือนของวิเศษชิ้นหนึ่ง 
มันหนักมาก เขาเริ่มรู้สึกลำบากใจ เพราะเขาไม่อยากนำกลับไป มันไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว เขารู้ว่าแม่เก็บมันด้วยความยากลำบาก 
แม่สายตาไม่ค่อยดี ต้องใช้แว่นขยาย อ่านได้วันละ 2 หน้าก็เก่งแล้ว นี่ยังตัดเก็บได้ขนาดนี้...
 ทันใดนั้น มีข่าวแผ่นหนึ่งปลิวหลุดลงมา แม่รีบเอื้อมไปหยิบ แต่แทนที่แม่จะเก็บเข้ากองเดิม แม่กลับพับเก็บไว้ในกระเป๋าของตัวเอง   
เขารู้สึกเอะใจ เลยถามว่า 
แม่ นั่นกระดาษอะไร ขอผมดูหน่อยนะ” 
แม่ลังเลอยู่ครู่หนึ่ง จึงล้วงออกมาวางบนข่าวปึกนั้น แล้วหุนหันเข้าครัวไปทำกับข้าวทันที
 เขาหยิบแผ่นข่าวนั้นขึ้นมาดู มันเป็นบทความบทหนึ่ง ชื่อว่า
 “เมื่อฉันแก่ตัวลง” ตัดจากหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2004 เป็นช่วงที่เขาเริ่มเถียงกับแม่ถี่มากขึ้นทุกที 
บทความนี้คัดมาจาก นิตยสารฉบับหนึ่งของแม็กซิโก ฉบับเดือนพฤศจิกายน เขาอ่านบทความนั้น รวดเดียวจบทันที...

 











 สุดท้าย...เท่าที่ทราบ 
ลูกชายก็ตัดสินใจไม่ขนสัมภาระบางอย่างกลับไป แต่ขนหนังสือพิมพ์ที่แม่เขาตัดไว้ให้ทั้งหมดไปด้วย...
ทุกคนทราบ ทุกคนรู้ดี ทุกคนเห็นด้วย พ่อแม่รักเรา...
แต่จะสักกี่คน...ที่สามารถดูแลท่านได้ดีเสมือนหนึ่ง
ที่ท่านได้ให้เรา หรือกระทำต่อท่านให้ดีกว่าที่เราได้รับ
  
ขอให้ลูกกตัญญูทุกคน....โชคดีมีความสุขตลอดไป

จาก Forward Mail