บ้านป้าLily หลังนี้เปิดไว้เพื่อให้เป็นที่ที่เพื่อนๆมานั่งตั้งวงคุยกันด้วยเรื่องที่เราชอบ
โดยมีป้า Lily มานั่งเล่าเรื่องที่ดีมีประโยชน์ แถมสนุกสนานให้ฟังอีก
วันที่ท้องฟ้าสดใสในเวลาแดดร่มลมตกไม่มีอะไรดีไปกว่าการมานั่งที่ ชานเรือนของบ้านป้าLily อีกแล้ว


ยินดีต้อนรับทุกท่านจ๊ะ

วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

เรื่องดี ดี ที่อยากให้อ่าน


มีเรื่องดีๆ ที่กินใจเก็บไว้มากมาย หลายเรื่องคงเคยส่งต่อให้เพื่อนๆทางเมล์ไปบ้างแล้ว  แต่เรื่องนี้อยากจะให้อ่านอีกครั้งในบล็อก  หรือบางท่านที่ผ่านมาได้อ่าน ก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย

ต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นท่านใด เพราะบทความนี้ส่งต่อกันมาจนหาต้นทางไม่พบ  ฉันนำมาปรับแต่งรูปภาพ โดยนำรูปจากทั้งของตัวเอง และรูปจากอินเตอร์เนตมาใช้  ซึ่งขอขอบคุณเจ้าของภาพไว้ ณ ที่นี้   นับว่า เป็นการช่วยกันสร้างประโยชน์ให้ผู้คนได้สบายใจกันเถอะนะ 

บทความนี้ ชื่อ เรื่องดี ดี  แต่ฉันขอขยายเป็น 3 เรื่อง ดี ดี เพราะมันมี 3 เรื่องอยู่ด้วยกัน  เชิญอ่านและคิดตามสักหน่อย ชีวิตคุณจะเบาขึ้น สบายใจขึ้น  ขอให้โชคดีทุกท่านค่ะ  
























วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

แป้งร่ำ ทำนาเกลือ



หลังจากทำงานมาค่อนชีวิต ในที่สุดไม่น่าเชื่อว่า  วันนี้ ..วงจรชีวิตของเราก็วนมาบรรจบอีกครั้ง  เราเริ่มจากการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเดียวกันหลายปี  และด้วยภาระหน้าที่ของแต่ละคน  เราจึงต่างก็แยกย้ายกันไปมีชีวิตของตัวเอง   และใน วันที่เด็กหญิงคนเล็กสุดของบ้าน  ได้หมดจากภาระหน้าที่การทำงาน    พระพรหมจึงได้นำเรามาพบกันอีกครั้ง  แม้จะเป็นช่วงเวลาที่แตกต่างจากเมื่อห้าสิบปีที่ผ่านไป  แต่ความสุขสนุกสนานยังคงอยู่รอบตัวเราเช่นเดิม …..ไม่เปลี่ยนแปลงแม้แต่น้อย
 
เราเรียกวันนี้ว่า “ วันคืนสู่เหย้า ศิษย์เก่าป้ารวม”   ป้ารวมเป็นชื่อของป้าสะใภ้  ผู้ซึ่งมีลูกสาวสวย เก่ง ฉลาด หลายคน  โดยทุกคนเป็น ตั้งแต่ครูใหญ่ และครูประจำหลายแผนกวิชาของโรงเรียนอรุณประดิษฐ จังหวัดเพชรบุรี     ในสมัยก่อนบรรดาพ่อแม่ของนักเรียนที่อยู่ห่างไกล  มักจะส่งลูกๆมาพักอยู่กับบรรดาครูเก่งๆเหล่านี้  เพื่อหวังให้ลูกหลานเรียนเก่งไปด้วย

 การพบกันของเราในวันนี้  ฉันได้พบกับบรรดารุ่นพี่หลายคน  โดย 1 ในนั้นเป็นนักเขียนหนังสือสำหรับเด็กที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง  เธอคือ พี่พรอนงค์ Horikawa นิยมค้า   วันนี้เธอมาพร้อมกับหนังสือเล่มหนึ่ง  เธอส่งหนังสือเล่มนั้นให้ฉัน   มันชื่อ  “ แป้งร่ำ ทำนาเกลือ
คงเพราะมันเป็นหนังสือสำหรับเด็ก  ฉันจึงเปิดหนังสือเล่มนั้นอย่างรวดเร็วแบบผ่านๆ  คิดในใจว่าคงไม่มีอะไรสำหรับฉัน   แต่แล้วฉันก็ถูกหยุดไว้ด้วยรูปภาพ  ซึ่งเป็นภาพวาดสีน้ำที่นุ่มนวล สวยงามแต่สามารถบอกเล่าเรื่องได้อย่างครบครันด้วยตัวของมัน


 
รูปภาพ ทำให้ฉันต้องหยุดทำทุกอย่าง  เพื่ออ่านเนื้อเรื่องที่พิมพ์ด้วยตัวหนังสือขนาดใหญ่นั้น   ฉันรีบอ่านอย่างรวดเร็วด้วยความกระหาย  ไม่น่าเชื่อเลยว่าหนังสือเล่มบางๆเล่มนี้จะบรรจุเนื้อหาของการทำนาเกลือไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยภาษาที่ง่ายๆสำหรับเด็ก นี่แหละคือความสามารถพิเศษของพี่พรอนงค์  คือการทำของยากให้ง่ายและชวนติดตาม  ขนาดคนอายุมากอย่างฉันยังวางไม่ลง  เด็กๆคงอยากอ่านด้วยความตื่นเต้นมากกว่านัก

 
ฉันรีบขอบคุณพี่พรอนงค์ ฯ และด้วยความประหลาดใจ เมื่อพี่พรอนงค์  ได้แนะนำหญิงสาวท่านหนึ่งให้ฉันรู้จัก  ไม่น่าเชื่อว่า เธอคือคนที่วาดรูปในหนังสือนี้ทั้งหมด 
 เธอชื่อ คุณเบ็ญจมาศ  คำบุญมี   ใครจะเชื่อล่ะว่าวันนี้  ผู้หญิงสูงอายุ อย่างฉันจะมานั่งอ่านหนังสือเด็กอย่างเมามัน  และก็เหนือความคาดหมายอย่างยิ่ง   ที่ทั้งสองท่านได้เซ็นชื่อในหนังสือเล่มนั้นให้ อย่างเต็มใจ ( คงแปลกใจที่มีคนสูงวัยชอบอ่านหนังสือเด็ก)
 
ร้านอาหารที่เรานัดพบกันวันนี้ ชื่อร้านทับทิมทอง  อยู่ตรงปากแม่น้ำเพชร พอดี  ฉันก็เพิ่งได้เห็นปากน้ำเพชร เอาก็ตอนอายุ 60 เข้านี่ล่ะ  ดูเวิ้งว้างน่ากลัว เพราะเป็นช่วงน้ำลง  เรือประมงค์ทั้งเล็กและใหญ่ ต้องจอดติดอยู่ชายขอบดินดอนปากแม่น้ำ  ลูกเรือบางคนเดินเข้าฝั่ง  บางคนเดินไปก็แคะหอยแครง หอยแมลงภู่ไปด้วย 

 
อาหารร้านทับทิมทอง รสชาติดีทุกอย่าง โดยเฉพาะ ผัดใบชะคราม ที่มีรสเค็มตามธรรมชาติเพราะขึ้นตามนาเกลือ   แต่พอนำมาแกงส้มกับปลาทูสด  รสเค็มก็จะหายไป  ยิ่งถ้าแกงคั่วกับปูทะเล หรือหอยแครงแล้ว  ฉันก็ได้แต่อุทานว่า  “ อุแม่เจ้า ทำไมหนอฉันจึงเพิ่งมาพบเจ้า  ช่างอร่อยล้ำเหลือเกิน ”

 
ขณะที่กำลังรับประทานอาหารกันอยู่นั้น  พี่ยักษ์ พี่ชายคนหนึ่งได้เอ่ยขึ้นว่า  
 “ เดี๋ยวก่อนกลับ อย่าลืมมาเอา “ ดอกเกลือ” ที่พี่ไปด้วยนะ   เอามาให้คนละถุง ” 


 
ดอกเกลือ” ฉันเห็นคำนี้ในหนังสือ “ แป้งร่ำทำนาเกลือ”เมื่อตะกี้นี่นา  ฉันรีบเปิดอ่านซ้ำในหน้าที่กล่าวถึงคำๆนี้อีกครั้ง   และพอรู้ว่า  “ ดอกเกลือ” เป็นเกลือคุณภาพดีที่เฉพาะเจ้าของนาเกลือเท่านั้นจะมีไว้ใช้บริโภคเอง  ฉันจึงรีบบอกพี่ยักษ์ด้วยความโลภว่า 
 “ หนูขอสองถุงไม่ได้หรือจ๊ะ
พี่ยักษ์ รีบสวนกลับมาอย่างรวดเร็วว่า
อยากได้มากก็มาทำนาเกลือเองซิ  มีที่นาอยู่หลายแปลง อยากได้แปลงไหน เลือกเอาเลย ”  
ฉันได้แต่ร้องจ๊ากกกก….. 
 “ พี่จ๋า    หนูไม่ใช่ แป้งร่ำนะ จะได้มาทำนาเกลือ  ” 

พี่ๆทุกคนต่างก็หัวเราะกับคำตอบของฉัน  ดูเอาเถอะ ขนาดน้องอายุ 60 แล้ว พี่ๆ หรือเจ้ๆ ก็ยังมองฉัน อย่างเอ็นดูเหมือนเป็นเด็กตัวเล็กสุดของบ้านอยู่เช่นเดิม 

บรรยากาศอบอุ่นของวันนี้ ทำให้ฉันนึกถึงวันเก่าๆ เมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้ว  ขณะฉันยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ ที่เพิ่งจบ ชั้นประถมปีที่สี่มาหมาดๆ  อาจเป็นเพราะเตี่ย กับแม่ของฉันมองเห็นแววไม่เอาไหนของฉันก็เป็นได้  ฉันจึงถูกส่งให้มาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านป้ารวม   เพื่อให้มีคนคอยดูแลควบคุมเรื่องการเรียนของฉันอย่างใกล้ชิด   เวลานั้น ผู้ดูแลฉันหลายคนเป็นทั้งครูและพี่สาว  บ้านหลังนี้เปรียบเสมือนโรงเรียนประจำหลังเล็กๆ  ที่บรรดาพ่อแม่ พาลูกมาฝากให้ครูช่วยอบรมสั่งสอน ทั้งในเวลาเรียน และหลังเลิกเรียน
ในช่วงเวลานั้น  ฉันมีพี่ชายและพี่สาวจริงๆไปอยู่ด้วยกัน  เมื่อรวมกับรุ่นพี่คนอื่นทั้งชายหญิงแล้ว  บ้านหลังนั้นจึงมีนักเรียนอยู่ประมาณ 10 คน  ฉันเป็นเด็กรุ่นที่เล็กที่สุดในบ้าน   แม้จะอายุน้อยกว่าคนอื่น แต่ยังจดจำบรรยากาศเก่าๆนั้นได้ไม่เคยลืม 
ครอบครัวป้ารวม กับครอบครัวของฉัน  เกี่ยวข้องกัน เนื่องจาก ย่าของเราเป็นพี่น้องคลานตามกันมา  ลูกๆของป้ารวม กับฉันจึงเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน   ฉันเรียกพี่ๆผู้หญิงว่า  เจ้ ( เรามีเชื้อสายไหหลำ) ส่วนพี่ผู้ชายก็เรียกพี่ แบบไทย  เจ้ๆของฉันเป็นคนสวย และเก่งจนฉันแอบจดจำเป็นไอดอลตั้งแต่เล็ก  คิดตลอดเวลาว่า สักวันเมื่อฉันโตขึ้น  ฉันจะต้องเก่ง สวย และ เปรี้ยวจี๊ดแบบนี้….  แบบนี้….
แม้จะสวย....แต่ ขอโทษเถอะ  เจ้ๆ ช่างดุ อะไรอย่างนี้หนอ
 ถึงกระนั้น  ฉันก็ยังมีความเป็นเด็กตัวเล็กไว้ป้องกันตัว  ทุกวันนี้เจ้ๆ  จึงมักเล่าเรื่องความซน และอภิสิทธิ์ที่ฉันได้รับจากป้ารวม   ที่ไม่ต้องถูกทำโทษ ( มากนัก) เมื่อทำความผิด 

 พี่ยักษ์  ( พยัคฆ์) พี่ชายคนหนึ่ง ในลูก 7 คนของป้ารวม  ใครๆได้ยินชื่อเป็นต้องกลัวไปก่อน  แม้ว่าชื่อของพี่จะเขียนว่า พยัคฆ์  ที่แปลว่าเสือ  แต่ในความรู้สึกของเด็กๆอย่างเราสมัยนั้น  มักจะคิดว่าพี่เป็น ยักษ์ อยู่ตลอด  ทั้งที่แท้จริงแล้ว พี่ยักษ์ใจดีมาก  วันๆเอาแต่นั่งอ่านหนังสือ  ไม่ค่อยพูด ค่อยจากับใคร 
 
ชีวิตประจำวันของเราในเวลานั้น   ทุกเช้าพวกเราเด็กๆ จะเดินจากบ้านป้ารวม ไปโรงเรียนกันเป็นแถว  ใครถึงโรงเรียนตัวเองก่อนก็แยกทางไป  คนสุดท้ายที่เดินไกลสุด  คือคนที่ต้องเดินไปโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ  ซึ่งอยู่ติดกับเขาวัง   ส่วนฉัน อยู่ตรงกลางทางที่ต้องแยกออกจากกลุ่ม  แถวบริเวณตรงหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัด  เพื่อข้ามถนนที่มีต้นมะฮอกกานีต้นสูงใหญ่  ไปยังบ้านพักของมิสเตอร์บรู๊ก  ที่ใช้เป็นที่เรียนของฉัน

จำได้ว่า ความที่ฉันมาถึงห้องเรียนเช้าที่สุดทุกวัน  ฉันจึงต้องอยู่คนเดียวที่ห้องเรียนใต้ถุนบ้านมิสเตอร์บรู๊ก เป็นเวลานานมาก  กว่าเพื่อนๆคนอื่นจะมาถึง  ช่วงเวลาที่อยู่คนเดียวนั้น กิจวัตรประจำของฉันคือ  การไปปีนต้นลั่นทมข้างรั้วโรงเรียน  แล้วแอบขึ้นไปร้องไห้คิดถึงบ้านบนต้นลั่นทม  กิจกรรมนี้ จำได้ว่าเป็นอยู่นานทีเดียว
 
กลับมาพูดถึงเรื่อง ”ดอกเกลือ”   
พี่สาวของฉันเล่าว่า  เนื่องจากบ้านของเราสองครอบครัว  อยู่คนละอำเภอ  ย่าของฉันอยู่อำเภอท่ายาง เรามีอาชีพทำสวนทำนา  แต่ย่าของเจ้ๆ  อยู่อำเภอบ้านแหลม ติดชายทะเล จึงทำนาเกลือ
สมัยเป็นหนุ่ม พี่ยักษ์  มีหน้าที่ขนกระสอบดอกเกลือ  มาให้บ้านย่าของฉัน ไว้ใช้ในการทำอาหารเป็นประจำ   นั่นหมายความว่า ฉันกินอาหารที่ปรุงรสด้วยดอกเกลือมาตั้งแต่เล็กแล้วนั่นเอง  แต่ช่างไม่รู้จักสังเกตสังกาเอาเสียเลยว่า  ไอ้เจ้าไหเกลือที่วางไว้บนหิ้งในครัวนั้น  มันต่างกับเกลือเม็ดในยุ้งเกลือข้างบ้านอย่างไร  
อย่างไรก็ตาม ฉันคิดว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้รสอาหารบ้านเราต่างจากบ้านอื่น และปัจจุบัน ฉันยังติดและคิดถึงรสกลมกล่อมของอาหารประจำครอบครัวก็ด้วยเจ้าดอกเกลือนี้ กระมัง
คิดถึงเรื่องนี้แล้ว อยากจะแปลงร่างเป็น “ แป้งร่ำ” เสียจริง  นี่แหละหนา มีของดีอยู่ใต้จมูกทุกวัน  แต่ไม่เคยคิดเรียนรู้    วันนี้ พี่ยักษ์ ไม่ได้แบกกระสอบ ดอกเกลือมาให้เหมือนก่อน   แค่มีมาฝากถุงเดียวก็มีค่าอย่างยิ่งแล้ว  

 
ดอกเกลือ คืออะไร  มาเรียนรู้กับแป้งร่ำ เอ๊ย Lily เลยจ๊ะ

 "ดอกเกลือ" หรือที่คนฝรั่งเศสเรียกว่า Fleur de Sel
เป็นเกลือป่นตามธรรมชาติ คุณภาพสูง ราคาแพง เพราะมีปริมาณน้อย และสะอาด เพราะเป็นเกลือที่ลอยขึ้นมาอยู่บนผิวน้ำไม่ได้สัมผัสกับพื้นดิน   ชาวนาเกลือในประเทศไทยได้ผลิตดอกเกลือมานานนับร้อยปีมาแล้ว โดยเฉพาะที่ จังหวัดสมุทรสงคราม หรือที่ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
กระบวนการเกิด “ดอกเกลือ”
เริ่มในช่วงเช้าขณะพระอาทิตย์ส่องแสงอ่อน ๆ น้ำทะเลในผืนนาเกลือจะถูกแดดและลมพัดให้แห้งจนได้ความเค็มประมาณ 20-25 ดีกรี  สิ่งแวดล้อมและอุณหภูมินี้ น้ำทะเลที่ชาวนาเกลือนำมาขังไว้จะเกิดเกสรเกลือ หรือ เกลือแรกเริ่มตกผลึก ที่ชาวนาเกลือเรียกว่า ดอกเกลือ 

ดอกเกลือนี้ จะเป็นผงเล็กๆ ลอยจับตัวกันเป็นแพอยู่เหนือน้ำในผืนนาเกลือ หากมีลมพัดมา ดอกเกลือนั้นมักจะลอยมาอยู่ตามขอบคันนา  ดังนั้นชาวนาเกลือจึงต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อรีบช้อนดอกเกลือขึ้นมา ก่อนที่แสงแดด และสายลมจะทำให้ดอกเกลือจมลงด้านล่าง

กล่าวกันว่า ดอกเกลือที่ เก็บได้ในเวลาเช้าตรู่นี้จะมีไอโอดีนสูง มีสีสันขาวเป็นประกายแวววาว รสชาติเค็มอมหวาน เป็นดอกเกลือที่สะอาด เพิ่งเกิดใหม่ๆ ไม่ได้สัมผัสกับพื้นดิน หรือตากลม ตากฝุ่นอยู่นาน มีแร่ธาตุต่างๆสูงมาก จึงมีคุณภาพสูง อีกทั้งเพราะมีปริมาณน้อย ราคาจึงแพง

โดยปกติแล้วเกลือแกงบริโภค หากขายปลีกจะตกอยู่ที่ กิโลกรัมละ 4-5 บาท แต่หากเป็นดอกเกลือนี้จะราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 10 - 15 บาท   ส่วนราคาของ Fleur de Sel ของฝรั่งเศส  ราคาแพงเป็นหนึ่งร้อยเท่าของเกลือป่นผ่านกรรมวิธีที่ใช้บนโต๊ะอาหาร และ แพงเป็นสิบเท่าของเกลือทะเลธรรมดาๆ

ดอกเกลือ จึงเปรียบเสมือนอัญมณีที่ล้ำค่าของชาวนาเกลือ ซึ่งเป็นที่หวงแหนมาก เพราะมีน้อย ชาวนาเกลือจึงเก็บดอกเกลือไว้ใช้เองทั้งบริโภค และประทินผิวพรรณเปรียบเสมือนยาสามัญประจำบ้านของชาวนาเกลือ เก็บไว้ล้างแผลบ้าง เก็บไว้แจกจ่ายญาติพี่น้อง

ชาวนาเกลือ จะใช้ดอกเกลือ ในการทำกับข้าวแทนการใช้น้ำปลา และนำมาคลุกปลาย่าง เนื้อย่าง  ส่วน
พ่อครัวฝรั่งเศสชอบใช้ ดอกเกลือ ในการโรยหน้าอาหาร ก่อนเสิร์ฟ เพื่อเพิ่มรสชาติ

 
นอกจากดอกเกลือแล้ว  การแยกจำแนกเกลือที่ได้จากการทำนาเกลือ ซึ่งจะเกิดขึ้นตามขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำนาเกลือ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน
  1. เกลือขาว เกลือที่อยู่ส่วนบน ของกองเกลือขึ้นไป เพราะมีความขาวสะอาดกว่าที่อยู่ส่วนฐาน นิยมนำนำไปใช้เพื่อใช้ปรุงอาหาร
  2. เกลือกลาง เกลือที่อยู่ส่วนกลาง จะมีสีที่เข้มกว่าเกลือขาว นำไปใช้ ในการดองผัก และใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ
  3. เกลือดำ เกลือที่อยู่ส่วนล่าง ของกองเกลือเนื่องด้วยมีการปนของดินจากพื้นท้องนาเกลือ เกลือส่วนนี้จะถูกนำไปขาย เพื้อเป็นส่วนประกอบของปุ๋ย หรือชาวเกษตรกรนำไปบรรจุใส่ถุง ฝังลงโคนต้นไม้ผล ในช่วงผลไม้ออกดอก เพื่อให้ผลที่ได้มีความหวานมากยิ่งขึ้น
  4. เกสรเกลือตัวผู้ เกิดจากการตกผลึก มีลักษณะผลึกเป็นเกล็ด ๆ ยาวแหลม ใช้ในการทำ "สปาผิว" หรือใช้เป็นส่วนผสมของยา โดยเฉพาะยาสีฟัน
  5. เกสรเกลือตัวเมีย เกิดจากการตกผลึก เช่นกัน แต่จะมีลักษณะผลึกทรงเหลี่ยมแบน ใช้ในการดองผัก ดองน้ำปลา
  6. ดีเกลือ เป็นเกลือที่มีความเข้มข้นสูง กว่า 27 ดีกรี และจะตกผลึกในช่วงกลางคืนที่มีอากาศเย็นลง ชาวนาเกลือจะเก็บดีเกลือในช่วงเช้า ก่อนที่ความร้อนจะละลายดีเกลือ ไปกับน้ำ ใช้ในส่วนประกอบของยาระบาย และใช้ในส่วนผสมการแข็งตัวของเต้าหู้
  7. เกลือจืด เป็นเกลือที่มีความเค็มต่ำ ซึ่งมักทำในช่วงฤดูฝน เมื่อเกลือมีน้ำจืดเจือปน และตกผลึกพอที่จะร่อนแยกเอาเฉพาะเกลือจืดเท่านั้น ใช้ในอุตส่าหกรรมยิบซั่ม หรือสมัยก่อนอาจจะคุ้นเคยกับกระปุกออมสินโบราณ 
  8. ขี้แดดนาเกลือ เผ็นผิวดินสุดท้ายหลังจากการทำนาเกลือ เมื่อนาเกลือแห้งและเริ่มร่อนเป็นแผ่น นิยมไปใส่เป็นปุ่ยในไร่สวนผลไม้ต่าง ๆ   

สุดท้ายนี้ น้องขอขอบคุณ
เจ้เค่ย.      คุณกาญจนา รงคะประยูร
เจ้เนี้ยว.    คุณจารีต องคะสุวรรณ
เจ้เหน่ง.    คุณศิรี  ศิริผันแก้ว
พี่ปิ้ด.       คุณอุไรวรรณ จันทร์ผ่อง
พี่ยักษ์      คุณพยัคฆ์ วรศิริ
พี่ปื้ด.       คุณสมยศ สรรพอุดม

ที่ช่วยดูแลหนู ในช่วงเด็กมาด้วยดี ความสำเร็จในชีวิตของน้องคนนี้  
ส่วนหนึ่ง มาจากการสั่งสอนอบรมจากทุกท่านค่ะ

                     Lily Huahin
 

กลับเมืองเพชร กันเถอะ คิดถึงบ้านแล้ว



ขอขอบคุณรูป และข้อมูลจาก 
http://ladluang.blogspot.com/2009/06/blog-post_7740.html

วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

Kuzuzangpo la สวัสดีภูฏาน

Kuzuzangpo la กูซูซางโป ลา สวัสดีจากภูฏาน 


สวัสดีแบบไทยๆก่อนค่ะ  หลังจากหายหน้าไปหลายวัน เนื่องจากไปปีนเขาเล่นที่ ภูฏาน หลังกลับมาต้องใช้เวลาพักให้หายเหนื่อยอยู่หลายวัน  กว่าจะมาเล่าเรื่องเมืองภูฏานได้  เอาล่ะวันนี้ไปเที่ยวด้วยกันเลยนะ

ฉันเดินทางไปภูฏานในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2555  ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศยังหนาวอยู่  ก่อนไปก็พยายามทำการบ้านล่วงหน้าพอสมควร  แต่การไปเที่ยวโดยบริษัททัวร์ ก็คืออะไรที่ต้องทำตามแผนที่เขาวางไว้  ดูว่าเป็นระเบียบแบบแผนสำเร็จรูปเกินไป  ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ปลอดภัยสำหรับคนที่ไปครั้งแรก  แต่มันทำให้เวลาที่เราจะใช้กับที่ใดที่หนึ่งสั้นลงไป  จึงทำให้มีความคิดว่า  แน่นอน .....ที่นี่ต้องมีครั้งต่อไป แต่จะไปด้วยตัวเอง  ใช้เวลาในแต่ละที่อย่างสบายใจ


เอาล่ะ เรามาเริ่มตั้งแต่เตรียมตัวก่อนเดินทางกันเลย  ได้ข่าวว่าอาหารการกินอาจจะไม่ถูกปากคนไทยนัก
 ฉันเลยเตรียมเสบียงไปหลายขนาน ทั้งอาหารและขนม  แต่ที่ขาดไม่ได้คือ กระดาษทิชชู  
ที่คนลือกันว่าทิชชูที่นั่นออกจะไม่สุภาพ ( หยาบกระด้าง)สักหน่อย เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเอง จึงต้องขนทิชชูไปให้พอดีกับกิจกรรมที่ต้องใช้
( ที่ผ่านมา คุณภาพทิชชู ก็พอใช้ได้ แต่บางแห่งทิชชู มีกลิ่นเล็กน้อย จึงต้องใช้ที่เราเอาไปเอง - ห้องน้ำที่ภูฏาน เป็นสถานที่หวงแหนของเจ้าของกิจการมาก  เพราะมักจะเพิ่งสร้างใหม่ ตามมาตรฐานสากล จึงดูใหม่  ใหญ่ อลังการ สะอาด และทุกที่ จะใส่กุญแจตัวใหญ่มากไว้  ห้ามพนักงาน หรือคนอื่นเข้าเด็ดขาด -ยกเว้นตามนอกเมือง ต้องเข้าป่าเก็บดอกไม้ ซึ่งทุกคน รวมทั้งฉันก็ใช้บริการบ้าง ) 


ที่สำคัญมากที่นำไปด้วยคือ หมูแดดเดียว 2 กล่องใหญ่ ที่น้องสาวทำมาให้ ฉันแยกทำเป็น 5 ถุง เพื่อจะได้งัดออกมากินวันละถุง


การเดินทาง เราเดินทางโดยสายการบินแห่งชาติภูฏาน  
ชื่อ Druk Air

คงไม่ต้องแนะนำให้ใช้บริการสายการบินอื่น  เพราะมีสายการบินเดียวที่จะนำเราไปภูฏานได้  
สายการบินนี้มีเครื่องบิน 3 ลำ ใหญ่ 2 เล็ก 1  ลำ  และโดยส่วนตัวแล้ว  แม้จะมีสายการบินอื่นก็ไม่แนะนำให้ใช้  ควรจะใช้ Druk Air อย่างยิ่ง เพราะกัปตันเขามีความชำนาญในการขับเครื่องบินในพื้นที่แถบนี้มาก  ไม่เชื่อต้องดูรูปข้างล่างนี้



ระหว่างทางหลังจากแวะสนามบินบักโดกร้า เขตดาร์จีลิ่ง รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดียแล้ว  เครื่องบินก็เริ่มบินเข้าสู่แนวเทือกเขาสูงๆ   เราก็จะเห็นแต่เทือกเขาที่มีหิมะปกคลุมตลอดทาง แอร์โฮสเตส บอกว่าเป็นเทือกเขาหิมาลัย และยอดสูงๆนั่นคือ เมาท์ เอเวอร์เรสต์.... ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกนี้ ว๊าววว  ดีใจจัง แม้จะไม่มีโอกาสได้ขึ้น แค่เห็นยอดไกลๆก็ยังดี



เราใช้เวลาบินประมาณ 3 ชั่วโมง  พอใกล้เครื่องบินจะลงที่สนามบินซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองพาโร แต่กว่าจะถึงสนามบิน  เครื่องบินจะต้องบินเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา และเลี้ยวซ้าย ยังกับรถวิ่งเข้าซอยอย่างนั้นแหละ   อิฉันนั่งข้างหน้าต่าง ถึงกับตกใจที่เห็นยอดเขาอยู่ห่างปีกเครื่องบินนิดเดียว อย่างนี้ อย่างนี้


หลุดจากยอดเขานี้ เครื่องจะเลี้ยวซ้าย เห็นเมืองพาโรอยู่ข้างล่าง

มองลงไปเห็นคนเดินอยู่ด้วยล่ะ 


เครื่องใกล้ลง ผ่านเมืองพาโร ซึ่งไม่ใช่เมืองหลวง แต่เป็นเมืองเดียวที่มีที่ราบยาวพอสร้างสนามบิน
 บ้านผู้คนอยู่ใกล้สนามบินมาก เพราะเป็นหุบเขาแคบๆ ที่เรียกว่า
หุบเขาพาโร (Paro Valley)   ความที่เป็นช่วงฤดูหนาว แม้แดดจะร้อนเปรี้ยง แต่หนาวยะเยือก  สีของดินทุ่งนา และต้นไม้ที่ยังไร้ใบก็จะออกสีน้ำตาล ๆ ดูแล้วแห้งแล้งนิดหน่อย ยังโชคดีที่มีต้นสนสีเขียวให้ชื่นใจบ้าง

เมื่อ ลงจากเครื่องบิน ก็พบกับป้ายต้อนรับใหญ่มากที่สนามบิน เป็นป้ายแสดงความยินดีในวโรกาสแห่งการอภิเษกสมรส ของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และต่อจากนี้ไป เราจะเห็นรูปนี้ ในทุกที่ทั่วประเทศ รวมทั้งที่เข็มกลัดเสื้อของคนภูฏานทุกคน


เมืองพาโร มองจากยอดเขา

แม้แผ่นดินจะดูแห้งแล้ง แต่ก็ยังมีลำธารเล็กๆอย่างนี้ทั่วไปในเมือง เป็นน้ำที่มาจากการละลายของหิมะ  
ทุกหมู่บ้านจะมีลำธารไหลผ่านหน้าบ้าน โดยไม่ต้องใช้ท่อประปา น่าอิจฉามาก


มองจากสนามบิน จะเห็น ป้อมปราการเมืองพาโร หรือ Paro Dzong เป็นป้อมโบราณ สร้างไว้เพื่อป้องกันการรุกรานของข้าศึก ดูใหญ่โตสวยงาม
 ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำงานของส่วนราชการหลักของเขตพาโร  และก็เหมือนกับทุก ชอง ( Dzong) ที่ภายในจะแบ่งเป็นที่ทำงานของทั้งฆราวาส และฝ่ายสังฆาวาสด้วยอย่างละครึ่งหนึ่ง 
จะเห็นว่า ฝ่ายปกครอง กับฝ่ายสงฆ์  มีสถานะเท่าเทียมกัน เพราะประเทศนี้เคร่งในศาสนามาก  ได้ยินว่า การขอวีซ่าเข้าประเทศของชาวต่างชาติ  ก็ต้องได้รับอนุมัติจากฝ่ายสงฆ์ด้วย  ( มี 4 องค์กรที่มีส่วนในการอนุมัติวีซ่า   1.บริษัทการบินดรุ๊ก แอร์  ( มีตั๋วเครื่องบินมาแสดง)  2.บริษัทท่องเที่ยว ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลภูฏาน  3. หน่วยงานของรัฐบาล และ  4. หน่วยงานของสงฆ์ ) 

 ส่วนป้อมปราการข้างบน ที่เล็กลงมาหน่อยคือ ตาชอง (Ta Dzong) ซึ่งใช้เป็นพิพิทธภัณฑ์ แห่งชาติ 

เราเริ่มเที่ยวกันเลย ตา ซ็อง Ta Dzong เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับภูฏานในทุกด้าน  อาคารทรงกลมนี้เคยเป็นหอสังเกตการณ์รบ อายุเก่าแก่กว่า 350 ปี สร้างขึ้นในปี 1651  ภายหลังนำมาใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ ในปี 1968 โดย กษัตริย์ จิกมี่ ดอร์จิ วังชุก  รัชกาลที่ 3 
ภายในเป็นที่เก็บ ผ้าแห่งพระบท  หรือที่เรียกว่า ตังก้า  ที่ชาวภูฏานใช้มาตั้งแต่เริ่มสร้างประเทศ  นอกจากนั้นยังมี แผนภูมิศักดิ์สิทธิ์ ของชาวพุทธ นิกายวัชรยาน ที่เรียกว่า มันดาลา  ตลอดจนอาวุธที่เคยใช้ในยุคเก่า ที่ต้องสู้รบกับผู้รุกรายชาวธิเบต  รวมทั้งเสื้อผ้า เครื่องดนตรี และ คัมภีร์พระไตรปิฏก


วันแรกในภูฏาน  เราไปดูได้เพียงแค่นี้ เพราะเราไม่ได้พักเมืองนี้ แต่นั่งรถตลุยผ่านเมืองทิมพู  ซึ่งเป็นเมืองหลวงไปยังเมือง ปูนาคาก่อน  
ระหว่างทางผ่าน  หยุดชมจุดบรรจบของแม่น้ำสองสาย คือแม่น้ำพาโร และ แม่น้ำทิมพู  โดยมีการสร้างเจดีย์ไว้ 3 องค์ เป็นศิลปะของ 3 ชาติคือ ภูฏาน  ธิเบต และ อินเดีย  มองไกลๆนึกว่าเป็นด่านเจดีย์สามองค์บ้านเรา


หลังจากผ่านเมืองทิมพู ( เมืองหลวง) ระหว่างทาง เป็นภูเขาวกเวียน ไม่มีถนนตรงยาวเกิน 5 เมตรเลย นั่งเหวี่ยงกันไปตลอดทาง
ยิ่งไปก็ยิ่งสูง ยิ่งสูงก็ยิ่งหนาว 
ขณะแวะเข้าห้องน้ำและกินกาแฟยามบ่าย พวกเราต้องไปยืนผิงข้างเตาไฟ กลางร้านอาหาร  อากาศช่วงที่ไป กลางวัน 10 องศา กลางคืน ติดลบค่ะ
 กว่าจะถึงเมืองปูนาคา ก็ค่ำแล้ว  หลังอาหารเย็นเราก็เข้านอนกันแต่หัวค่ำ  เพราะไม่มีอะไรให้ทำเลย รอบโรงแรมเงียบสนิท (อยู่บนยอดเขา)  ดีเหมือนกัน เพราะเหนื่อยกับการเดินทางมาทั้งวัน

เช้าวันรุ่งขึ้น เรามีจุดหมายที่จะต้องไปชม ป้อมปราการแห่งเมืองปูนาคา  Punakha Dzong
 สาเหตุที่ต้องมาชมป้อมนี้ให้ได้ก็เพราะ  เมืองปูนาคา เป็นเมืองหลวงเดิม  และป้อมนี้ก็เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  ที่ทุกพิธีกรรมจะต้องมาดำเนินการที่นี่  ตั้งแต่ พิธีราชาภิเษก ของกษัตริย์ทุกพระองค์ และ พระราชพิธีอภิเษกสมรส ระหว่าง สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กับนางสาว เจตซุน เปมา  ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จพระราชินีเจตซุน เปมา วังชุก  
ป้อมนี้ใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ในฤดูหนาว เพราะจะอุ่นกว่าที่เมืองทิมพู 
และที่สำคัญคือ วันที่เราไปเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระราชาธิบดีฯ พอดี  บรรยากาศของป้อมจึงอบอวลไปด้วยพิธีกรรมทางศาสนา


ปูนาคาซ็องคือ ๑ ใน ๔ สุดยอดซ็องของภูฏาน .....ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ 2 สาย แม่น้ำด้านซ้ายชื่อว่า โมชู (แม่น้ำผู้หญิง) ด้านขวาคือแม่น้ำโพชู (แม่น้ำผู้ชาย) รวมกันเป็นสายแม่น้ำปูนาคาชู 

ข้อมูลปูนาคาซ็อง... Punakha Dzong ( จากอินเตอร์เนต)

     
ปูนาคาซ็อง เป็นดินแดนศักดิ์สิทธ์ที่มีตำนานเล่าว่า กูรู รินโปเช ได้เดินทางมาพบเข้าในกลางคริสตศตวรรษที่ ๘ และได้ทำนายทายทักว่า ณ เขารูปร่างงวงช้างแห่งนี้ในอนาคตจะมีบุรุษผู้มากบุญบารมี นาม นัมเกล มาสร้างซ็อง(ป้อมปราการ) ขึ้นที่นี่

      กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๑๕๙ ยุคที่ภูฏานแบ่งเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย พระลามะนาม งาวัง นัมเกล ที่ถูกปองร้ายหมายเอาชีวิตได้หลบหนีเข้ามาในภูฏาน ณ บริเวณจุดที่แม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกันคือแม่น้ำโพ (Pho Chu) และแม่น้ำโม(Mo Chu) ซึ่งก็คือปูนาคาซองในปัจจุบัน ..

       งา วัง นัมเกลเมื่อ มาถึง ณ จุดนี้ ทีมตามล่าก็ยิ่งกระชั้นชิดเข้ามา ท่านจึงออกอุบายแกล้งทิ้งพระบรมสารีริกธาตุลงในแม่น้ำ ทำให้ฝ่ายศัตรูพากันกระโดดลงไปงมหาพระบรมสารีริกธาตุจนถูกกระแสน้ำที่ไหล เชี่ยวคร่าชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ส่วนที่เหลือรอดก็หนีกลับทิเบตไป

       หลังศัตรูแพ้พ่าย งาวัง นัมเกลได้ตั้งค่ายพักแรมในบริเวณนี้ และท่านก็ได้ยินคำทำนายของกูรู รินโปเช ในความฝัน รุ่งขึ้นตัดสินใจว่าจะสร้างซ็องขึ้น ณ บริเวณนี้ที่อยู่หน้าเขารูปงวงช้าง

       ครั้นงาวัง นัมเกลสามารถรวบรวมภูฏานเป็นหนึ่งเดียว(ก่อนจะได้รับการยกย่องให้เป็น ซับดรุง งาวัง นัมเกล หลังจากได้รวบรวมภูฏานจากแคว้นเล็กแคว้นน้อยให้กลายเป็นหนึ่งเดียว) ท่านก็ได้สถาปนาปูนาคาเป็นเมืองหลวงและลงมือสร้างปูนาคาซ็อง ขึ้นในราว ปี พ.ศ. ๒๑๘๐ (คำว่าซับดรุง แปลว่าผู้ที่ทุกคนยอมสยบแทบเท้า) ...

       ปูนาคาซ็อง ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล ๑,๔๖๘ เมตร สภาพโดยทั่วไปมีอากาศอบอุ่นสบาย ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ท่าน ซับดรุง งาวัง นัมเกลนำ มาจากทิเบต ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพระบรมสารีริกธาตุที่ศักดิ์สิทธ์ยิ่งนัก (ในอดีตชาวทิเบต ได้ยกทัพมาตีเมืองปูนาคาอยู่บ่อยครั้งเพื่อเอาพระบรมสารีริกธาตุ
แต่ว่าไม่สำเร็จ)


การเข้าไปชม เราต้องปีนบันไดสูงชันขึ้นไป  จึงจะได้พบกับพื้นที่ลานกว้างใหญ่ ที่ปลูกต้นศรีมหาโพธิ์อายุกว่าร้อยปีไว้  มีโบสถ์และวิหาร ๒๑ หลัง โบสถ์หลังหนึ่งเป็นที่เก็บพระอัฐิของ ซับดรุง งาวังนัมเกล โดยผู้ที่จะเข้าโบสถ์หลังนี้มีเพียงสมเด็จพระสังราช  เจ้าอาวาส และพระราชาธบดี เท่านั้น  พระราชินี หรือราชวงค์องค์อื่น และ นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมได้เฉพาะบรรยากาศภายนอก  
การมาชมป้อมนี้ ถือว่าคุ้มค่ากับการเดินทางมาก   บอกไว้ก่อนเลยว่า  หากจะมาชมป้อมแห่งนี้  ควรมาชมเป็นที่สุดท้าย เพราะหากมาชมก่อน  ป้อมหรือสถานที่อื่นๆจะหมดความหมายไปทันที
เพราะปูนาคาซ็องถือเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันสำคัญของภูฏานที่ยิ่งใหญ่มาก
ที่สังเกตุคือ  ขณะที่เราจะเข้าไปชมป้อมนี้  ไกด์ทุกคน และประชาชนทุกคนที่จะเข้าป้อมนี้ จะเตรียมผ้าขาว เพื่อแต่งกายตามแบบฉบับชาวภูฏาน เพราะการเข้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ผู้ชายต้องพาดผ้าสีขาว ที่เรียกว่า แกบเน (Gabne) เพื่อแสดงความเคารพต่อสถานที่ ....ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะพาดผ้า ราชู (Rachu) คล้ายผ้าสะไบที่ปักสวยงาม


 ภายในโถงหลวง หรือท้องพระโรงหลวง  ที่ใช้ในพิธีราชาภิเษก  พระประธานในวัดเป็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า  ด้านซ้ายเป็นองค์กูรู รินโปเจ เบื้องขวาเป็น วับดรุง งาวัง นัมเกล รายล้อมด้วยพระพุทธรูปใหญ่น้อย ส่วนตามฝาผนัง และส่วนต่าง ๆ เป็นภาพวาดพุทธประวัติและลายสลักงดงามยิ่งนัก 
ในท้องพระโรงนี้  จะมีพระสงฆ์รูปหนึ่งนั่งประจำอยู่  เมื่อฉันเข้าไปไหว้พระประธาน พร้อมถวายดอกไม้ จากนั้นก็ถวายเงินทำบุญ เพื่อช่วยบูรณะป้อมศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้   ขณะที่ฉันกำลังวางธูปหอมลงในภาชนะทองเหลืองสำหรับวางธูป ( เขาไม่ใช้กระถางธูป) พระสงค์องค์ที่นั่งอยู่ ก็เดินถือกาทองเหลืองเล็กๆ เข้ามาหา ฉันอาจจะดูเงอะงะ สักหน่อยเพราะเข้าวัดน้อยเหลือเกิน  แต่สัญชาตญานก็บอกให้ฉันยกมือขึ้นพนมไหว้แล้วแบผ่ามือออก  พระท่านก็รินน้ำมนต์ลงบนผ่ามือฉัน จากนั้นฉันก็ยกมือขึ้นพรมน้ำมนต์นั้นลงบนหัว  

ฉันคิดว่าฉันทำถูกแล้วนะ  แต่พอหันไปมองคนภูฏานข้างๆ  เห็นเขาแบมือรับน้ำมนต์เช่นกัน  แต่เขาใช้มือข้างหนึ่งป้องปาก.... แล้วเอาอีกมือรับน้ำมนต์   จากนั้นก็ดื่มน้ำมนต์  เหลือไว้ติดผ่ามือ เขานำมาลูบศีรษะ   เอาล่ะ ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงแล้ว 
หลังจากไหว้พระ  ทำบุญ รดน้ำมนต์ เสร็จแล้วจึงชมภาพวาดและสถาปัตยกรรมแสนวิจิตรภายในและภายนอก ได้หลักคิดจากภาพวาดทางศาสนามากมาย แต่ที่ดีใจคือ การได้มาทำบุญในสถานที่เก่าแก่ และศักดิ์สิทธิ์ ดูขลังและสงบอย่างยิ่ง  นี่คือสถานที่ทางศาสนาที่ฉันแสวงหา ทุกวันนี้ยอมรับว่าเข้าวัดน้อยมาก  เพราะบรรยากาศของวัดบ้านเรา ทำให้ฉันไม่รู้สึกจิตใจสงบได้เลย 





ออกจากป้อมปูนาคา  เรามากินข้าวกลางวันในหมู่บ้านเล็กๆ  ที่มีวิวทุ่งนาสวยงามมาก นับเป็นวิวที่ชอบสุดๆ  เพราะช่วงที่ไป เป็นช่วงที่กำลังเปลี่ยนจากฤดูหนาวเป็นฤดูใบไม้ผลิ  ต้นไม้ ต้นหญ้ายังคงแห้งแล้ง  การได้เห็นทุ่งนาสีเขียวๆแบบนี้ชื่นใจมาก 

เสร็จ จากชมป้อมปูนาคา เราก็เดินทางกลับเมืองทิมพู ซึ่งเป็นเมืองหลวงของภูฏาน  ระหว่างทางผ่านสถานที่สำคัญคือ Dochula Pass หรือช่องเขา ดอชูล่า  เป็นจุดสูงสุดในเส้นทางสายทิมพู-ปูนาคา มีการสร้าง เจดีย์ 108 องค์ไว้  ซึ่งอยู่บนยอดเขาสูง ในวันที่อากาศดี  จากจุดนี้จะเห็นยอดเขาหิมาลัย  แต่วันนี้อากาศปิดมาก เราจึงไม่สามารถมองเห็นอะไรเกิน 4 เมตรเลย






 เมืองทิมพู 
ในที่สุดเราก็มาถึงเมืองทิมพู ซึ่งเป็นเมืองหลวงของภูฏานเสียที  หลังจากนั่งรถวนเวียนอยู่ตามยอดเขากว่า 4 ชั่วโมง  คืนนี้เราคงนอนไม่หลับ เพราะกระหายอยากเห็นเมืองหลวงเต็มทน  แม้อากาศจะหนาวสุดๆ แต่ฉันก็พันตัวเองด้วยสารพัดผ้า  ก่อนจะเดินออกจากโรงแรม เพื่อย่ำกรุงทิมพูยามราตรี 

ฉันค่อนข้างไม่กลัวกับสิ่งแวดล้อม เพราะคิดว่าคนภูฏานเป็นคนธรรมธรรมโม  การเดินเที่ยวยามค่ำคืนไม่น่ามีอันตราย   และก็ฉันก็คิดถูก เพราะแม้ถนนหนทางจะมืดสลัว เพราะบ้านเมืองเขาไม่ค่อยมีแสงสีเอา้เสียเลย แม้แต่ป้ายโฆษณาใหญ่ๆ ก็ไม่มีสักอัน 



คนภูฏานส่วนใหญยังคงแต่งกายตามแบบฉบับ คือผู้ชายใส่ชุด โก (Kho หรือ Go) ส่วนชุดของฝ่ายหญิงเรียกว่า คีร่า (Kira)     
 นอกจากนี้ชุดประจำชาติของชาวภูฏาน (ผู้ชาย) ที่สวมใส่ไปในงานพระราชพิธีหรือในงานพิธีที่เป็นทางการยังประกอบด้วย ผ้าพาดไหล่ (Scarf) ที่ภาษาภูฏานเรียกว่า แกบเน (Kabney) ซึ่งมีอยู่หลายสี แต่ละสีบอกชั้นยศและฐานันดรศักดิ์ของผู้ใช้ผ้าพาดไหล่นั้น ด้วย เช่น สีเหลืองอมส้ม (Saffron) เป็นสีที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์กับสมาชิกในพระราชวงศ์และพระสังฆราช(เจเคน โป) สีส้มสำหรับรัฐมนตรี สีน้ำเงินสำหรับองคมนตรี สีแดงสำหรับผู้มีบรรดาศักดิ์ที่พระราชาธิบดีทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สีขาวลายเส้นสีน้ำเงิน สำหรับสมาชิกรัฐสภา สีขาวลายเส้นสีแดงสำหรับหัวหน้าหมู่บ้านและข้าราชการทั่วไป ทหารนั้นใช้ผ้าผืนเล็กสีขาวขลิบริมสีแดง และสีขาวสำหรับประชาชนธรรมดา
 
ไกด์ของเราจะแต่งชุดประจำชาติทุกวัน แต่ที่แปลกตาก็จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่เริ่มแต่งตัวแบบสากลมากขึ้น   เรื่องเด็กวัยรุ่น เป็นเรื่องใหม่ที่ได้ยิน เพราะทันทีที่ไกด์รู้ว่าฉันเดินออกไปเที่ยวในเมืองยามราตรี  เขาก็รีบเตือนว่า  เดี๋ยวนี้ในเมืองไม่ปลอดภัยเหมือนก่อนแล้วนะ  เพราะเด็กวัยรุ่นเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว ให้ระวังตัวด้วย แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัว

สิ่งที่ฉันกลัวเอามากๆ  กลับไม่ใช่วัยรุ่น แต่เป็นหมาไม่มีเจ้าของ ที่เดินอยู่เต็มเมือง (ทุกเมือง)  พอเห็นคนแปลกหน้าอย่างเราเดินดุ่มๆในความมืดสลัว  เขาก็จะวิ่งออกมาเห่า  เหตุการณ์แบบนี้ในบ้านเราไม่มีนะ  ไหนๆ พูดเรื่องหมาแล้ว  ขอต่ออีกสักนิดว่า 


 
ที่ภูฏาน มีหมาไม่มีเจ้าของ ( เอ..ไม่เห็้นคนเลี้ยงหมาในบ้านนะ เห็นแต่นอนตามถนน) เยอะมาก แต่ทุกตัวอ้วนสมบูรณ์ดี เพราะคนภูฏานจะให้อาหารหมา เนื่องจากเขาเชื่อว่า หมาพวกนี้ชาติหน้าจะเกิดเป็นคน ดังนั้นต้องเลี้ยงเขาให้ดีๆ (แต่คนผอมนะ) ภาพที่ไม่คุ้นตาคือ หมาเดินเต็มถนน แม้แต่ในงานพิธีก็ยังมีมาเดินบนพรมแดงด้วย ทำให้นึกถึงภาพบ้านเราสมัยเป็นเด็กที่มีหมาตามถนนเยอะๆอย่างนี้ แต่หมาที่ภูฏานน่ารักทุกตัวนะ อ้วน ขนปุย ช่วงเช้าฉันเดินออกมาสำรวจเมือง เห็นหมานอนขดตัวตามหน้าบ้านคนแล้วน่าสงสาร เพราะมันหนาวมาก และไม่เห็นหมาใส่เสื้อกันหนาวแบบบ้านเราเลยนะ ทั้งๆที่อากาศตอนกลางคืน ติดลบ หมาบ้านเราแค่ 20 องศาก็รีบใส่เสื้อให้แล้ว
ฉันเดินอยู่ไม่นาน ร้านค้าก็ปิดไฟเข้านอน ถนนแทบร้างผู้คน จึงเดินกลับโรงแรม  มาภูฏานนี่ดีจริง ได้กินอิ่มนอนหลับหัวค่ำทุกวัน  เพราะไม่มีกิจกรรมบันเทิงอะไรจะทำได้เลย 
และก็เป็นเช่นทุกวัน ที่ฉันจะตื่นแต่ไก่ยังไม่โห่  เพื่อออกไปสำรวจเมืองยามเช้า กะว่าจะได้ภาพชีวิตเด็ดๆของชาวบ้าน แต่ก็พบกับเมืองที่ว่างเปล่า ไร้ผู้คน  ทำเอาออกจะกลัวนิดๆที่เหมือนเดินอยู่ในเมืองร้าง  
แข็งใจเดินไปสักพักเห็นเงาดำๆของกลุ่มคน 5-6 อยู่ข้างหน้า ใจอยากจะเดินหันหลังกลับ แต่ก็ต้องตกใจเมื่อมีอีกคนโผล่มาข้างๆ  เขาเดินแซงฉันขึ้นไป เห็นตัวหนังสือภาษาอังกฤษที่หลังเสื้อแจ๊คเก็ต เขียนว่า Police  แค่ตัวหนังสือก็ทำให้ฉันโล่งอกมากขึ้น  
ที่เมืองนี้ มีตำรวจเฝ้าถนนสายหลักตลอดทั้งคืน ท่ามกลางอากาศหนาว ตำรวจกลุ่มนี้คงแปลกใจที่เห็นฉันมาเดินอยู่ทำไมยามเช้าแบบนี้  เพราะฉันก็เพิ่งรู้ว่าคนภูฏานตื่นสาย  
เหตุผลก็เพราะ เมืองทิมพู ตั้งอยู่ในหุบเขา พระอาทิตย์จึงขึ้นช้ามาก  เพราะกว่าจะพ้นยอดเขา แถมยังมีเมฆหมอกที่ต้องต่อสู้กันอีก  จน 7 โมงเช้าแล้ว เมืองนี้ก็ยังอยู่ในความมืดอยู่เลย



เกือบแปดโมงแล้ว แสงอาทิตย์สว่างขึ้น สายแล้ว รถยังไม่มี จราจรก็ยังไม่มาทำงาน นานๆจึงจะเห็นรถวิ่งมาสักคัน หากเป็นกรุงเทพฯ ป่านนี้รถติดเป็นตังเมแล้ว
หลังอาหารเช้า  เราก็เริ่มเที่ยวเมืองหลวงกัน ที่แรกที่ไปคือ Big Buddha บนยอดเขาในเมืองทิมพู  เป็นพระพุทธรูปที่หลายๆประเทศในเอเชียร่วมกันสร้างให้  องค์พระดูเหมือนว่าสร้างเสร็จแล้ว แตฐานและสิ่งแวดล้อมยังคงมีการก่อสร้างอยู่




บนยอดเขาที่ตั้งองค์พระใหญ่  เมื่อมองลงมาด้านล่างจะเห็นเมืองทิมพูโดยรวม อย่างชัดเจน ซึ่งก็ไม่ใหญ่นัก  ขณะถ่ายรูปมีแสงแดดส่องลงมา พอดี  เราจึงได้ภาพเมืองทิมพูในแสงแดด เพียงเสี้ยววินาที จากนั้นก็ไม่มีอีกเลย


ลงจากยอดเขาหลวงพ่อโต  เราก็เข้ามาเที่ยวในเมือง  มีจุดหนึ่งที่คนอื่นไม่สนใจ แต่ฉันจำสถานที่นี้ได้จากข่าวทีวีบ้านเรา  ขณะที่รถจอดให้ผู้คนไปทำธุระ ฉันจึงรีบวิ่งเข้าไปยัง สนามกีฬากลาง   เท่าที่เห็นจากข่าวในทีวีบ้านเขา จะเห็นว่ากิจกรรมของส่วนราชการจะจัดที่สนามกีฬาทุกเมือง  สนามฯ ในเมืองทิมพู  ไม่ได้ใหญ่โตอะไรเลย  เล็กกว่าสนามกีฬาต่างจังหวัดบ้านเรามาก  แต่ประดับตกแต่งด้วยลวดลายและสถาปัตยกรรมที่สวยงามอลังการณ์จริง ๆ ตรงแท่นด้านหน้าจะเป็นที่ประทับของกษัตริย์และบรมวงศ์ รวมทั้งบุคคลสำคัญของชาติ  ทุกกิจกรรมใหญ่ ๆ โต ๆ เช่น พิธีสวนสนาม ฉลองทุกโอกาสก็จะจัดที่นี่  ช่วงที่ฉันเข้าไป เป็นเวลาที่เขากำลังเก็บอุปกรณ์ตกแต่ง  เนื่องจากช่วงเช้ามีงานเฉลิมพระชนม์พรรษา สมเด็จพระราชาธบดีจิ๊กมี  ( แต่พระองค์เสด็จไปต่างเมือง) แค่เห็นสนามก็นึกภาพออกแล้ว



มาถึงจุดสำคัญของเมือง  นั่นคือ ทาชิโชซ็อง (Trashichhoe Dzong)  
ทาชิโชซ็อง หรือ ทิมพูซ็องนั้น  เป็นอาคารที่ทำการของรัฐบาล คณะกรรมการบริหารเขตปกครองเมืองทิมพู ประกอบด้วยคณะสงฆ์และข้าราชการระดับสูง ภายในซ็องมีกลุ่มอาคารที่แยกออกเป็นเขตสังฆาวาสและเขตฆราวาส กับลานอเนกประสงค์ที่เรียกว่า โดเชย์ (Dochey) เป็นที่จัดกิจกรรมสำคัญทางศาสนารวมทั้งเทศกาล เซจู (Tsechu) ด้วย   ส่วนหอกลาง หรือ อุทเซ (Utse) เป็นหอสูงสามชั้นอยู่ตรงกลาง ข้างในหอกลางเป็นที่ตั้ง Lhakhang Sarpa และห้องบูชาที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ๆ
ปากทางเข้า จะมีทหารคอยตรวจสอบ ผ่านเครื่องสแกนอย่างเข้มงวด  เนื่องจากใกล้ๆป้อมนี้ เป็นเขตพระราชฐาน  ฉันพยายามองไปในทิศที่เขาห้ามถ่ายรูปเด็ดขาด  ทหารบอกว่าตรงนั้นคือที่ประทับของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก รัชกาลปัจจุบัน  ซึ่งเมื่อเห็นก็ต้องร้องอ๋อ.....เพราะดูๆแล้วเหมือนบ้านหลังเล็กๆ หลังหนึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำทิมพู  พระราชวังเล็กๆนี้ชื่อว่า พระตำหนักลิงคานา (Linghana) 
ไกด์บอกว่า พระองค์จะเสด็จมาว่าราชการที่ป้อมนี้ทุกวันราชการ หรือในบางวันที่เป็นวันหยุด  โดยเสด็จผ่านช่องบันไดปูนเล็ก ๆ เพราะพระตำหนักเล็กมาก
สำหรับซ็อง หรือป้อมปราการนี้  ดูใหญ่โตและสง่างามเหลือเกิน ส่วนตรงบันไดสูงของมุกด้านอาคารทรงงาน จะมีทหารคอยดูนักท่องเที่ยวห้ามสวมแว่นดำ ห้ามสวมหมวกเข้าซ็องเด็ดขาด  เพื่อเป็นการแสดงมารยาท และให้ความเคารพสถานที่ 
วันที่เราไป เป็นวันแรกที่ ทางประเทศไทยได้นำพระทันตธาตุ  ที่ทางภูฏานให้ยืมมา ไปคืน โดยเขาตั้งไว้ให้ประชาชนมาบูชาที่ลานโดเชย์ (Dochey) เราก็ได้เข้าไปไหว้ใกล้ๆด้วย  ( ตอนมาเมืองไทยไม่มีโอกาสอย่างนี้)  

 ประวัติการก่อ สร้างทาชิโชซ็อง ( จากอินเตอร์เนต)

              ประวัติการก่อ สร้างทาชิโชซ็องนั้นเริ่มขึ้นในช่วงศตวรรษที่ ๑๒ โดยพระลามะจากทิเบตมาสร้างอารามที่เป็นป้อมปราการด้วยขึ้นบนเนินเหนือเมือง ทิมพู ในปี ค.ศ.๑๖๔๑ ท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล (ผู้ที่รวบรวมแผ่นดินภูฏานให้เป็นปึกแผ่น) เข้ามาครอบครองซ็องนี้ และตั้งชื่อใหม่ว่า ทาชิโชซ็อง แปลว่า ปราการของศาสนาที่ยื่งใหญ่

         ต่อมาได้เกิดไฟใหม้จึงถูกทอดทิ้งเป็นเวลานาน จนกระทั่งสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ดอร์จี วังชุก รัชกาลที่ ๓ เสด็จขึ้นครองราชย์ และย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองทิมพู ทรงสั่งให้ฟื้นฟูก่อสร้างใหม่ โดยรักษาโบสถ์และหอกลางไว้ในสภาพเดิม

         ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และสำนักราชเลขาธิการท้องพระโรง ...

 มาภูฏาน แล้วไม่แวะมาเยี่ยมเพื่อน ก็ดูว่าจะขาดอะไรไปสักอย่าง  เพื่อนที่ว่านี้ชือ ทาคิน สัตว์ประจำชาติของภูฏาน  ซึ่งอยู่บนยอดเขาสูง ในเขตสงวนทาคินแห่งชาติโมธิธัง (Bhutan Takin Preserve Mothithang) 
ทาคิน (Takin) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีกระดูกสันหลัง(Phylum Chordata) ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม(Class Mammalia) เป็นสัตว์ประจำชาติของภูฏาน ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงในพื้นที่หนาวเย็น มีหน้าและเขาคล้ายแพะ แต่ว่าไม่มีเครา ตัวใหญ่ประมาณวัว เมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนักประมาณ ๒๕๐ กิโลกรัม ทาคินจะกินใบไผ่ หน่อไม้ เป็นอาหารหลัก
  มีตำนานเล่าว่ามีพระลามะองค์หนึ่งนามว่าท่านดรุกปา คุนเลย์ ได้สำแดงอิทธิฤทธิ์โดยการนำหัวแพะมาเสียบกระดูกวัว และชุบชีวิตมาเป็นสัตว์พันธุ์ใหม่คือทาคิน แต่เดิมทาคินมักหากินตามภูเขา ในอดีตทาคินอยู่ในสวนสัตว์ในกรุงทิมพู แต่ต่อมาพระเจ้าจิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก กษัตริย์องค์ก่อนของภูฏาน ทรงรับสั่งให้ปล่อยสัตว์ทั้งหมดกลับเข้าป่า แต่ความคุ้นเคยกับเมืองทาคินจึงเพ่นพ่านในเมืองเป็นจำนวนมาก จึงให้กลับมาอยู่ในสวนสัตว์ขึ้นอีกครั้ง โดยการเปลี่ยนสวนสัตว์เป็นศูนย์อนุรักษ์ทาคินแทน
ปัจจุบันยังพบทาคินเป็นจำนวนมากในเขตอนุรักษ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศภูฏาน
  ส่วนอาหารที่ ทาคินชื่นชอบมากคือใบโอ๊ค 
ตกบ่าย เราเข้าเมือง ก็พบว่าเริ่มมีรถราวิ่งกันแล้ว และตำรวจจราจรก็เข้าประจำที่   ในประเทศนี้ไม่มีไฟจราจร เพราะผู้คนสับสน จึงต้องใช้ตำรวจโบกมืออย่างนี้  และด้วยความแปลก ป้อมจราจรนี้จึงเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวไป 


เราเที่ยวในเมืองทิมพู จนเกือบเย็น ก็ต้องรีบเดินทางต่อไปยัง เมืองพาโร  เพราะวันรุ่งขึ้นเรามีการเดินทางมหาโหด รอเราอยู่
 

ตามธรรมเนียมของประเทศนี้คือ  เข้านอนหัวค่ำ ตื่นสาย แต่ฉันก็ตื่นเช้าตามปกติ วันนี้พยายามออมแรงไว้หน่อย  เนื่องจากวันนี้เป็นวันที่เราจะต้องขึ้นเขาไปชมวัดตั๊กซัง หรือ Tiger Nest  ที่มีชื่อเสียงมากเรื่องความหฤโหด  เพราะเป็นวัดที่สร้างอยู่บนหน้าผาที่สูง900 เมตร (ทางตรงดิ่ง 900 แต่เวลาขึ้นวกวนตามสันเขายาวเป็น 500 เท่า)

ก่อนจะขึ้นเขา เราแวะไปชมยอดหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ที่ชื่อ ยอดเขาจูโมฮารี เป็นยอดเขาที่อยู่ในเขตประเทศภูฏาน สูง 7340 เมตรจากระดับน้ำทะเล  ยอดเขานี้ยังไม่มีใครพิชิต เพราะถือเป็นยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ ห้ามคนขึ้นไป



และแล้วเราก็มาถึงการผจญภัยกับการขึ้นเขาเพื่อไปวัดตั๊กซัง


วัดตั๊กซัง เป็นภาษาภูฏาน แปลว่า รังเสืีอ Tiger Nest  วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มาก  สร้างอยู่บนหน้าผาสูง  3,120 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ที่เรียกว่า วัดรังเสือ เพราะ เล่ากันว่าท่าน
ลามะ กูรู รินโปเช (Padmasambhava - Guru Rinpoche) ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่นิกายมหายานในภูฏาน ได้เดินทางมาจากอินเดียด้วยการขี่หลังเสือมา และเมื่อมาถึงจุดนี้จึงสร้างวัดไว้เป็นพุทธบูชา  ภายในวัดจะประดิษฐานรูปหล่อพระพุทธเจ้า 3 องค์ไว้ เคารพบูชา

เส้นทางขึ้นเขา  มี 2 วิธี คือสามารถขี่ม้าไปได้ครึ่งทาง จากนั้นเดินต่ออีก 2 ช.ม. แต่มีคนเตือนว่า ขึ่ม้าน่าหวาดเสียวกว่า
เพราะม้าชอบเดินริมขอบทาง ที่มองลงไปจะเป็นเหว  ทางที่ดีเดินไปดีกว่า การเดิน  เดินขึ้นใช้เวลา 4 ช.ม. เดินลงลงอีก 4 ช.ม.  รวมเป็น 8 ช.ม.

นักท่องเที่ยวต้องเดิน ขึ้นเขาสูงชัน ขณะเดินขึ้นไปนั้น รู้สึกเหนื่อยมาก บางครั้งหายใจไม่ทัน เพราะความชันของเส้นทาง  และความสูงทำให้อากาศเบาบางลง 
เห็นคนภูฏานเดินขึ้นเดินลง สวนทางไปมาอย่างว่องไว ราวกับเดินช๊อปปิ้งในเมือง  จึงเข้าใจแล้วว่า

วัดตั๊กซังนี้ ต้องมีแรงศรัทธา เท่านั้น ที่จะพาขึ้นไปได้ คนที่จะขึ้นไปต้องมี ศรัทธา 2 อย่าง
1. ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ  แรงศรัทธาในศาสนา ไปให้ถึงวัด  เพื่อกราบพระแล้วมีความสุข เหนื่อยแค่ไหนก็จะไป
2. ศรัทธาในอุดมการณ์ของนักท่องเที่ยว ที่ต้องไปพิชิตวัดนี้ให้ได้ เพราะเวลาใครพูดถึง ก็สามารถยืดอกตอบได้ว่า ไปมาแล๊ว





แต่.....   ยังมีคนอยู่นอกกรอบทั้งสองข้อนี้อยู่ 1 คน  คือคนที่ไม่มีแรงใดมาดึงดูดให้ขึ้นไปถึงวัดนี้ได้ คนๆนั้นคือฉันเอง
เพราะขณะเดินตามทาง
  ฉันก็เอาแต่เดินชมวิว และถ่ายรูปจึงอยู่รั้งท้ายตลอดๆ  แค่นี้ก็มี ความสุขเพียงพอแล้ว  การได้เดินเงียบๆท่ามกลางธรรมชาติที่สวยสงบ นี่ประเสริฐสุด 


ดังนั้น เมื่อถึงจุดพักครึ่งทาง ซึ่งเป็นคาเฟทีเรีย เล็กๆ ฉันจึงไปนั่งมองวัดตั๊กซัง ซึ่งตั้งอยู่บนหน้าผา ที่มีสิ่งแวดล้อมเป็นองค์ประกอบโดยรวมที่งดงามและ ดูดีกว่าไปถ่ายรูปตึกใกล้ๆ  ซึ่งก็จะได้รูปตึกเหมือนๆตึกบนพื้นดิน ที่ไม่มีอะไรแตกต่าง

ช่วงลงมาจากเขา เห็นชาวภูฏาน พาครอบครัวมาปิคนิคกันทั่วไปตาม ทุ่งหญ้าป่าเขา เนื่องจากวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวภูฏาน เป็นภาพที่สวยงามมาก



เรื่อง ที่ขาดไม่ได้เมื่อเดินทางไปทุกที่คือ เรื่องอาหาร แม้จะมีคนบอกว่าอาหารภูฏานไม่อร่อย แต่พวกเราก็พอกล้ำกลืนกินกันไปได้  เพราะดูแล้วรสชาติก็ไม่ต่างกับของเราเท่าใดนัก  มีสาเหตุเดียวที่ทำให้ทุกคนแย่ก็คือ  อาหารทุกมื้อ ทุกวันจะคล้ายๆกัน  ทำให้เบื่อมั่ก มั่ก   เชิญชมอาหารของเขาค่ะ




พริกผัดชีส หรือ เอมา ดาตซี Ema Datsi  ที่มีให้ทานทุกมื้อ ทุกวัน คล้ายกับเป็นพริกน้ำปลาบ้านเรา หรือกิมจิ ของเกาหลี น่าจะเป็นอาหารที่คนภูฏานต้องกินทุกวัน รสชาติเผ็ดเค็ม  วันแรกมื้อแรกก็อร่อยดี  พอเข้าวันที่สาม มื้อที่ 9 แค่เห็นก็แย่แล้ว


หมี่เจ กับไก่ผัดเครื่องเทศ

ซุปถั่วใส่เครื่องเทศ และผงกะหรี่

มะเขือยาวผัดซ๊อสมะเขือเทศ   ( ที่นี่มีอาหารที่ทำจากมะเขือยาว อีกชนิดคือ มะเขือยาวชุบแป้งทอดกรอบ) 

เกวา ดาตซี  มันฝรั่งผัดชีส เพิ่งกินครั้งเดียว อร่อยดี  แต่หากทุกมื้อคงเบื่อเช่นเดียวกับพริกผัดชีส


หมี่ผัดแบบเจ  นึกว่าจะพออาศัยได้บ้าง  แต่ก็อาศัยอะไรไม่ได้เลย

ผัดผักรวมแบบเจ มีทุกมื้อ



ไข่เจียวมีให้  3 มื้อ 5 วันติดกัน
วันแรก : อร่อยจัง
วันที่สอง : ก็โอเคนะ
วันที่สาม : พอแหลกล่าย
วันที่สี่ : แหลกม่ายลงแล้วอ่ะ
วันที่ห้า : แค่ได้กลิ่นก็เวียนหัวแย๊ว 
อ๊ากกกก.... ผีไข่เจียวตามมาหลอกหลอน กัวอ่ะ กัว กัว กัว



นี่คือจานของอิฉัน ตักมาก็กิง ม่ายลง  
อาหารชนิดหนึ่งคล้ายขนมจีบ เป็นไส้ผัก จืดสนิท
 ไข่เจียวหน้าตาเหมือนเครปเค็ก ทำให้คิดถึงขนมเค็กอีกต่างหาก


ขนมที่นี่ ไม่ต้องพูดถึง  นอกจากผลไม้รสจืดๆแล้ว บ่อยครั้งที่เขาเสริฟ ขนมจำพวกคัสตาร์ดกับผลไม้
ที่จริงอิฉันเป็นคนชอบคัสตาดมาก  แต่มาที่นี่รู้สึกคิดถึงขนมเมืองไทยมาก ถึงมากที่สุด

สรุปแล้ว อาหารที่เรานำติดตัวไป ดูจะเป็นของมีค่ายิ่ง เพราะไม่เหลือกลับมาเลย  แถมทุกวันนี้ ยังเป็นโรคกลัวไข่เจียวไม่หาย  ต้องรีบไปกินสเต็ก เป็นการบำบัดโดยด่วน





ขอพูดเรื่องวิวทิวทันศ์อีกหน่อย

 ช่วงที่ไป  วิวสวยไม่เท่าที่หวังไว้  เป็นเพราะเราไปช่วงที่เพิ่งจะผ่านจากฤดูหนาว  หิมะเพิ่งละลายหายไป ต้นไม้ใบหญ้าจึงดูแห้งแล้ง แต่บนเขาบางแห่งเรายังเห็นหิมะกองอยู่ข้างถนน รวมทั้งน้ำตกที่ยังคงเป็นน้ำแข็ง ค้างอยู่ตามซอกเขา
แต่โดยทั่วไปแล้ว บรรยากาศก็ไม่เลวเลยทีเดียว โดยเฉพาะบ้านพักที่เราพัก อยู่ในป่าสน สวย สงบดีมาก
หากไม่ต้องเดินทางไปชมโน่น นี่ เราคงได้นอน อ่านหนังสือ หรือจิบชาอร่อยๆท่ามกลางแสงแดดอุ่นๆนะ









โดยเฉพาะลำธารที่น้ำใส ไหลเย็น ( เย็นมาก) ที่ไหลผ่านไปทั่วทุกหน้าบ้าน เป็นอะไรที่ชอบมาก เวลารถวิ่งเลียบลำธาร หลายคนบ่นอยากจะลงไปกระโดดน้ำเล่นจริงๆ



ที่ภูฏาน ชาวบ้านจะติดธงมนต์ ไว้ทุกที่ เป็นสีต่างๆล้วนสดใส  โดยจะแขวนไว้ในที่ที่มีลมพัดผ่าน  เพื่อให้ธงโบกสบัด เสมือนกำลังสวดมนต์ตลอดเวลา  เราเห็นจนเป็นภาพที่คุ้นตา 



แต่บางครั้ง อีกมุมมองหนึ่งที่ เตะตาอิฉันคือภาพที่ชาวบ้านที่ตากผ้าไว้หน้าบ้าน ดูแล้วให้อารมณ์เหมือนกันนะ  - อารมณ์คิดถึงบ้านต่างจังหวัด 


แถม เรื่องรถหน่อย  ในภูฏานใช้รถกันมาก  แต่ส่วนใหญ่เป็นรถคันเล็ก  แม้แต่รถเมล์ที่วิ่งระหว่างเมืองไกลๆ ก็เป็นรถตู้ เพราะทางในประเทศภูฏานเป็นทางที่วกวน หาทางตรงเกิน 5 เมตรแทบไม่มี  อีกทั้งแคบ และสูงต่ำตามระดับของภูเขา เวลาขับรถน่าหวาดเสียวมาก  ใครขับรถที่ภูฏานได้ถือว่าเก่งสุดๆ  แต่คงมาขับบ้านเราไม่ได้ เพราะเขาชินกับถนนคดเตี้ยว  มาบ้านเราคงขับไป ก็หลับไปแน่นอน

 รูปนี้ไม่ค่อยชัด แต่อยากให้ดูว่า ทะเบียนรถที่ภูฏานเป็นสีแดงทุกคัน  คนไทยชอบมาก เพราะให้ความรู้สึกดีเหมือนว่า ได้ขับรถใหม่ป้ายแดงตลอดชีพ ฮา ฮา 


ขอจบการเล่าเรื่องภูฏานแค่นี้นะจ๊ะ ที่จริงมีรูปอีกมาก 
แต่ขอตัวไปเข้าคอร์สเค้กบำบัด ให้หายคิดถึงก่อนค่ะ